แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
แม้จำเลยที่ 1 ระบุให้คำร้องขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์ว่า ครบกำหนดยื่นอุทธรณ์ในวันที่ 26 มกราคม 2552 ก็เป็นความเข้าใจผิดของจำเลยที่ 1 เอง ดังนี้เมื่อจำเลยที่ 1 ขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์ออกไปอีก 30 วัน นับแต่วันครบกำหนดและศาลชั้นต้นสั่งอนุญาตโดยมิได้กำหนดวันเริ่มต้นแห่งระยะเวลาที่ขยายออกไปกรณีดังกล่าวจึงต้องนับกำหนดระยะเวลาเดิมกับระยะเวลาที่ขยายออกไปติดต่อกันซึ่งจะครบกำหนดขยายระยะเวลาที่จำเลยที่ 1 มีสิทธิยื่นอุทธรณ์ได้ในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2552 เมื่อจำเลยที่ 1 ยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์ครั้งที่สามในวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2552 จึงเป็นการยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์ครั้งที่สามเมื่อพ้นกำหนดที่ศาลชั้นต้นขยายระยะเวลาอุทธรณ์ให้แล้ว ทั้งตามคำร้องก็อ้างเหตุเพียงว่าประเด็นที่จำเลยที่ 1 จะเสนอต่อศาลอุทธรณ์มีหลายประเด็นซึ่งเป็นประเด็นสำคัญต่อการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ ยังถือไม่ได้ว่าเป็นเหตุสุดวิสัยที่มิอาจยื่นคำร้องก่อนสิ้นระยะเวลานั้น จึงไม่มีเหตุที่จะขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์ให้ตามคำร้องของจำเลยที่ 1 ที่ยื่นเมื่อพ้นกำหนดเวลาได้ การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตตามคำร้องของจำเลยที่ 1 ดังกล่าว จึงเป็นการไม่ชอบตาม ป.วิ.พ. มาตรา 23 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15 และปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยแม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ภาค 5 ก็ยกขึ้นวินิจฉัยได้เองตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องและแก้ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 15, 66, 101/1, 102 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 91 ริบเมทแอมเฟตามีนของกลาง และนับโทษจำเลยที่ 1 ต่อจากโทษในคดีอาญาดังกล่าว
จำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพ และรับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีที่โจทก์ขอให้นับโทษต่อ
จำเลยที่ 2 ให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 15 วรรคสาม (3) (ที่ถูกมาตรา 15 วรรคหนึ่ง วรรคสาม (2)), 66 วรรคสองและวรรคสาม ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 การกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย จำคุกคนละตลอดชีวิต และปรับคนละ 1,800,000 บาท ฐานร่วมกันจำหน่ายเมทแอมเฟตามีน จำคุกคนละ 5 ปี และปรับคนละ 600,000 บาท จำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพและคำรับชั้นสอบสวนของจำเลยที่ 2 เป็นประโยชน์แก่การพิจารณามีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้จำเลยที่ 1 กึ่งหนึ่ง และจำเลยที่ 2 หนึ่งในสาม ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ประกอบมาตรา 53 ฐานร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย จำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 25 ปี และปรับ 900,000 บาท จำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 33 ปี (ที่ถูก 33 ปี 4 เดือน) และปรับ 1,200,000 บาท ฐานร่วมกันจำหน่ายเมทแอมเฟตามีน จำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 2 ปี 6 เดือน และปรับ 300,000 บาท จำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 3 ปี (ที่ถูก 3 ปี 4 เดือน) และปรับ 400,000 บาท รวมจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 27 ปี 6 เดือน และปรับ 1,200,000 บาท จำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 36 ปี 8 เดือน และปรับ 1,600,000 บาท ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 กรณีจำเลยทั้งสองไม่ชำระค่าปรับให้กักขังแทนค่าปรับได้เกิน 1 ปี แต่ไม่เกิน 2 ปี ริบของกลาง นับโทษจำเลยที่ 1 ต่อจากโทษจำคุกของจำเลยที่ 1 ในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 1333/2551 ของศาลชั้นต้น (ที่ถูกระบุด้วยว่า คำขออื่นให้ยก)
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษายกคำสั่งศาลชั้นต้นที่อนุญาตให้ขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์แก่จำเลยทั้งสอง และยกอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสอง
จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติโดยคู่ความไม่โต้เถียงกันในชั้นฎีกาว่า เมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 2551 ศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษาให้คู่ความฟัง ต่อมาวันที่ 26 ธันวาคม 2551 จำเลยทั้งสองยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์ มีกำหนด 30 วัน นับแต่วันดังกล่าว ศาลชั้นต้นอนุญาต วันที่ 23 มกราคม 2552 จำเลยทั้งสองยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์ครั้งที่ 2 อีก 30 วันนับแต่วันที่ครบกำหนด โดยอ้างในคำร้องว่าครบกำหนดอุทธรณ์วันที่ 26 มกราคม 2552 ศาลชั้นต้นอนุญาต วันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2552 จำเลยทั้งสองยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์ครั้งที่ 3 อีก 30 วัน นับแต่วันครบกำหนด ศาลชั้นต้นอนุญาต ต่อมาวันที่ 23 มีนาคม 2552 จำเลยทั้งสองยื่นอุทธรณ์ ศาลชั้นต้นสั่งรับอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสอง คดีนี้ศาลจังหวัดเชียงใหม่อ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 5 ให้จำเลยที่ 2 ฟังเมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2553 จำเลยที่ 2 ต้องยื่นฎีกาภายในกำหนดหนึ่งเดือนนับแต่วันอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 5 ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 216 วรรคหนึ่ง ซึ่งครบกำหนดวันที่ 2 กรกฎาคม 2553 จำเลยที่ 2 ยื่นฎีกาเมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม 2553 พ้นกำหนดระยะเวลาฎีกา ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งรับฎีกาของจำเลยที่ 2 จึงเป็นการไม่ชอบ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ว่า จำเลยที่ 1 ยื่นอุทธรณ์ภายในกำหนดระยะเวลาขยายอุทธรณ์หรือไม่ เห็นว่า คดีนี้ศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษาให้คู่ความฟังเมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 2551 คู่ความย่อมยื่นอุทธรณ์ต่อศาลชั้นต้นได้ภายในกำหนดหนึ่งเดือนนับแต่วันอ่านคำพิพากษาดังกล่าวให้คู่ความฟังตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 198 วรรคหนึ่ง ครบกำหนดยื่นอุทธรณ์วันที่ 26 ธันวาคม 2551 ซึ่งในวันดังกล่าวจำเลยที่ 1 ยื่นคำร้องต่อศาลชั้นต้นขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์ออกไปอีก 30 วัน นับแต่วันที่ครบกำหนดอุทธรณ์ ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาต ดังนี้ ระยะเวลาที่ขยายออกไปจึงเริ่มนับแต่วันที่ครบกำหนดอุทธรณ์คือวันที่ 26 ธันวาคม 2551 โดยเริ่มนับหนึ่งตั้งแต่วันที่ 27 ธันวาคม 2551 ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/3 วรรคสอง จึงครบกำหนดระยะเวลาขยายอุทธรณ์วันที่ 25 มกราคม 2552 ต่อมาจำเลยที่ 1 ยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์ครั้งที่สองออกไปอีก 30 วัน นับแต่วันครบกำหนดศาลชั้นต้นอนุญาต แม้จำเลยที่ 1 ระบุในคำร้องขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์ว่า ครบกำหนดยื่นอุทธรณ์ในวันที่ 26 มกราคม 2552 ก็เป็นความเข้าใจผิดของจำเลยที่ 1 เอง ดังนี้ เมื่อจำเลยที่ 1 ขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์ออกไปอีก 30 วัน นับแต่วันครบกำหนด และศาลชั้นต้นสั่งอนุญาตโดยมิได้กำหนดวันเริ่มต้นแห่งระยะเวลาที่ขยายออกไป กรณีดังกล่าวจึงต้องนับกำหนดระยะเวลาเดิมกับระยะเวลาที่ขยายออกไปติดต่อกันซึ่งจะครบกำหนดขยายระยะเวลาที่จำเลยที่ 1 มีสิทธิยื่นอุทธรณ์ได้ในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2552 เมื่อจำเลยที่ 1 ยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์ครั้งที่สาม ในวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2552 จึงเป็นการยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์ครั้งที่สามเมื่อพ้นกำหนดที่ศาลชั้นต้นขยายระยะเวลาอุทธรณ์ให้แล้ว ทั้งตามคำร้องก็อ้างเหตุเพียงว่า ประเด็นที่จำเลยที่ 1 จะเสนอต่อศาลอุทธรณ์มีหลายประเด็นซึ่งเป็นประเด็นสำคัญต่อการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ยังถือไม่ได้ว่าเป็นเหตุสุดวิสัยที่มิอาจยื่นคำร้องก่อนสิ้นระยะเวลานั้น จึงไม่มีเหตุที่จะขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์ให้ตามคำร้องของจำเลยที่ 1 ที่ยื่นเมื่อพ้นกำหนดเวลาได้ การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตตามคำร้องของจำเลยที่ 1 ดังกล่าวจึงเป็นการไม่ชอบตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 23 ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 เมื่อจำเลยที่ 1 ยื่นอุทธรณ์วันที่ 23 มีนาคม 2552 จึงเป็นการยื่นอุทธรณ์เมื่อพ้นกำหนดระยะเวลาขยายอุทธรณ์ ไม่ชอบที่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 จะรับไว้พิจารณาพิพากษาและปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ภาค 5 ก็ยกขึ้นวินิจฉัยได้เอง ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง คำพิพากษาศาลฎีกาที่จำเลยที่ 1 อ้างเป็นคดีแพ่งข้อเท็จจริงไม่ตรงกับคดีนี้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษามานั้นชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยที่ 1 ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน