คำวินิจฉัยที่ 11/2555

แหล่งที่มา : ส่วนเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ

ย่อสั้น

ไม่มีย่อสั้น

ย่อยาว

(สำเนา)

คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
ที่ ๑๑/๒๕๕๕

วันที่ ๑ มีนาคม ๒๕๕๕

เรื่อง คดีเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน

ศาลปกครองนครราชสีมา
ระหว่าง
ศาลจังหวัดเดชอุดม

การส่งเรื่องต่อคณะกรรมการ
ศาลปกครองนครราชสีมาโดยสำนักงานศาลปกครองส่งเรื่องให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลวินิจฉัยชี้ขาดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๐ วรรคหนึ่ง (๓) ซึ่งเป็นกรณีคู่ความฝ่ายที่ถูกฟ้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลที่รับฟ้องคดี และศาลที่ส่งความเห็นและศาลที่รับความเห็นมีความเห็นแตกต่างกันในเรื่องเขตอำนาจศาลในคดีนั้น

ข้อเท็จจริงในคดี
เมื่อวันที่ ๒๒ ธันวาคม ๒๕๕๒ นายสุรสิทธิ์ ฉัตรวิไล ผู้ฟ้องคดี ยื่นฟ้องนายกเทศมนตรีเมืองเดชอุดม ผู้ถูกฟ้องคดีต่อศาลปกครองนครราชสีมา เป็นคดีหมายเลขดำที่ ๖๑๑/๒๕๕๒ ความว่า ผู้ฟ้องคดีเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินตามโฉนดที่ดินเลขที่ ๒๔๐๑๙ ตำบลเมืองเดช อำเภอเดชอุดม จังหวัดอุบลราชธานี เนื้อที่ ๒๓ ไร่ ๒ งาน ๔๖ ตารางวา แต่ถูกผู้ถูกฟ้องคดีรังวัดสอบเขตที่ดินสาธารณประโยชน์รุกล้ำเข้าไปในที่ดินดังกล่าว ตัดต้นไม้ ขุดดิน และปักเสารั้วคอนกรีตพร้อมทั้งขึงรั้วลวดหนามเป็นแนวเขตที่สาธารณประโยชน์ใหม่รุกล้ำที่ดินของผู้ฟ้องคดีประมาณ ๒ – ๗ เมตร ตลอดแนวถนนเป็นระยะทางประมาณ ๒๐๐ เมตร ผู้ฟ้องคดีได้มีหนังสือขอให้ผู้ถูกฟ้องคดีหยุดการกระทำดังกล่าว แต่ผู้ถูกฟ้องคดีเพิกเฉย ขอให้ผู้ถูกฟ้องคดีถอนแนวรั้วที่ทำขึ้นใหม่และให้กลับไปใช้แนวรั้วของผู้ฟ้องคดี
ผู้ถูกฟ้องคดีให้การว่า ผู้ถูกฟ้องคดีได้ขอให้เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดอุบลราชธานี สาขาเดชอุดม ตรวจสอบเขตทางหลวงเทศบาลบริเวณถนนศรีขรภูมิ ช่วงจากทางแยกถนนราษฎร์บูรณะถึงลำห้วยตลาดตามที่ได้รับหนังสือร้องเรียนจากราษฎรว่ามีผู้บุกรุกที่ดินสาธารณประโยชน์ห้วยตลาด เมื่อผู้ถูกฟ้องคดีได้รับการยืนยันแนวเขตที่ดินสาธารณประโยชน์จากสำนักงานที่ดินจังหวัดอุบลราชธานี สาขาเดชอุดม จึงดำเนินการปักแนวเขตที่ดินสาธารณประโยชน์ตามแนวเขตดังกล่าว อันเป็นการดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ตามกฎหมาย และเป็นการดำเนินการโดยชอบแล้ว
ผู้ถูกฟ้องคดียื่นคำร้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลว่า เมื่อผู้ถูกฟ้องคดีได้รับการยืนยันแนวเขตที่ดินสาธารณประโยชน์ในที่ดินพิพาทจากสำนักงานที่ดินจังหวัดอุบลราชธานี สาขาเดชอุดม ผู้ถูกฟ้องคดีจึงต้องปักแนวเขตที่ดินสาธารณประโยชน์ตามนั้น อันเป็นการดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ตามที่กฎหมายบัญญัติ และการที่ ผู้ฟ้องคดีขอให้ศาลมีคำสั่งให้ผู้ถูกฟ้องคดีรื้อถอนการปักแนวเขตที่ดินพิพาท ผู้ฟ้องคดีจะต้องพิสูจน์ให้ได้ก่อนว่าที่ดินพิพาทเป็นกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองของผู้ฟ้องคดี อันเป็นข้อพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
ศาลปกครองนครราชสีมาพิจารณาแล้วเห็นว่า เกณฑ์การพิจารณาในเรื่องเขตอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลปกครองและศาลยุติธรรมจะต้องพิจารณาเขตอำนาจของศาลปกครองเป็นสำคัญ หากคดีพิพาทใดอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครองแล้ว ศาลยุติธรรมย่อมไม่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีนั้น ตามนัยบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา ๒๑๘ ประกอบมาตรา ๒๒๓ วรรคหนึ่ง และพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง การดูแลรักษาที่สาธารณประโยชน์เป็นการดำเนินการตามอำนาจและหน้าที่ของเทศบาลตามมาตรา ๕๓ (๑) ประกอบมาตรา ๕๐ (๙) แห่งพระราชบัญญัติเทศบาล พ.ศ. ๒๔๙๖ และมาตรา ๑๖ (๒๗) แห่งพระราชบัญญัติกำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. ๒๕๔๒ เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า หลังจากเทศบาลเมืองเดชอุดมได้รับหนังสือร้องเรียนว่ามีผู้บุกรุกที่สาธารณประโยชน์ห้วยตลาดริมถนนศรีขรภูมิ ผู้ถูกฟ้องคดีจึงได้มีหนังสือขอให้สำนักงานที่ดินจังหวัดอุบลราชธานี สาขาเดชอุดม ทำการตรวจสอบเขตทางหลวง บริเวณถนนศรีขรภูมิ ช่วงจากทางแยกถนนราษฎร์บูรณะถึงลำห้วยตลาด และเมื่อสำนักงานที่ดินจังหวัดอุบลราชธานี สาขาเดชอุดม ได้ทำการรังวัดและแจ้งผลการรังวัดพร้อมส่งรูปแผนที่รังวัดให้ผู้ถูกฟ้องคดีทราบแล้ว ผู้ถูกฟ้องคดีได้เข้าปักแนวรั้วที่สาธารณประโยชน์ตามรูปแผนที่ (รว. ๙) ที่สำนักงานที่ดินจังหวัดอุบลราชธานี สาขาเดชอุดม ตรวจสอบและจัดส่งให้เพื่อเป็นการรักษาที่สาธารณประโยชน์ การกระทำดังกล่าวของผู้ถูกฟ้องคดีจึงเป็นการใช้อำนาจทางปกครองหรือดำเนินกิจการทางปกครองของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐตามที่กฎหมายบัญญัติ การที่ผู้ถูกฟ้องคดีฟ้องว่า ผู้ถูกฟ้องคดีรังวัดสอบเขตที่สาธารณประโยชน์เข้าไปในที่ดินของผู้ฟ้องคดี รวมทั้งตัดต้นไม้และทำลายรั้วซึ่งเป็นแนวเขตเดิมแล้วปักเสาคอนกรีตและขึงลวดหนามเป็นแนวเขตที่สาธารณประโยชน์ใหม่ รุกล้ำเข้าไปในที่ดินของผู้ฟ้องคดีประมาณ ๓ – ๑๐ เมตร ตลอดแนวถนนเป็นระยะทางประมาณ ๒๐๐ เมตร ทำให้ผู้ฟ้องคดีได้รับความเสียหาย ขอให้ศาลพิพากษาให้ผู้ถูกฟ้องคดีรื้อถอนแนวรั้วที่ทำขึ้นใหม่และให้กลับไปใช้แนวรั้วเดิมของผู้ฟ้องคดี จึงเห็นได้ชัดว่าเป็นคดีปกครองที่กล่าวหาว่าหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำละเมิดอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมายตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ดังนั้น แม้คดีมีประเด็นต้องพิจารณาว่า ที่ดินพิพาทเป็นที่ดินของผู้ฟ้องคดีหรือเป็นที่สาธารณประโยชน์ ประเด็นดังกล่าวก็เป็นปัญหาข้อเท็จจริงที่ศาลจะต้องพิจารณาในเนื้อหาของคดี อันเป็นเพียงประเด็นปัญหาย่อยหนึ่งในหลายประเด็นปัญหาที่จะพิจารณาว่าการดำเนินการรังวัดที่สาธารณประโยชน์พร้อมทั้งการปักเสาคอนกรีตและขึงรั้วลวดหนามของผู้ถูกฟ้องคดีเป็นการกระทำที่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ และแม้การพิจารณาว่าผู้ฟ้องคดีเป็นผู้มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทดังกล่าวหรือไม่จะต้องพิจารณาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์หรือประมวลกฎหมายที่ดินก็ตาม แต่การพิจารณาในปัญหาดังกล่าว ก็มิใช่เกณฑ์การพิจารณาว่าคดีอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลใด อีกทั้งไม่มีบทบัญญัติใดห้ามศาลปกครองมิให้นำบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าวมาใช้บังคับแก่คดีได้ หรือมีบทบัญญัติแห่งกฎหมายใดกำหนดให้เป็นอำนาจเฉพาะศาลหนึ่งศาลใดเท่านั้นที่จะนำบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าวมาใช้บังคับแก่คดีได้ ศาลปกครองจึงนำบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าวมาบังคับแก่คดีได้เช่นกัน นอกจากนี้มาตรา ๗๑ (๔) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ได้บัญญัติให้คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลปกครองที่เกี่ยวกับ สิทธิแห่งทรัพย์สินมีผลผูกพันบุคคลภายนอก คู่กรณีที่เกี่ยวข้องอาจอ้างกับบุคคลภายนอกได้ เว้นแต่บุคคลภายนอกจะมีสิทธิดีกว่า อันเป็นบทบัญญัติที่ยืนยันให้เห็นว่าศาลปกครองมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีที่เกี่ยวกับสิทธิแห่งทรัพย์สินและนำบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าวมาวินิจฉัยข้อพิพาทในคดีนี้ได้ ซึ่งศาลปกครองมีอำนาจออกคำบังคับตามคำขอของผู้ฟ้องคดีได้ตามมาตรา ๗๒ วรรคหนึ่ง (๓) แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว คดีนี้จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการที่เจ้าหน้าที่ของรัฐใช้อำนาจทางปกครองตามกฎหมายหรือดำเนินกิจการทางปกครองโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายตามมาตรา ๒๒๓ วรรคหนึ่ง ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ประกอบกับมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ และศาลปกครองมีอำนาจออกคำบังคับตามคำขอของ ผู้ฟ้องคดีได้ตามมาตรา ๗๒ วรรคหนึ่ง (๓) แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว อีกทั้งเทศบาลเมืองเดชอุดมหรือผู้ถูกฟ้องคดีมีหน้าที่ดูแลที่สาธารณประโยชน์ จึงมิได้อยู่ในฐานะเจ้าของหรือผู้มีสิทธิในที่ดินพิพาทซึ่งศาลจะพิพากษาเพียงเฉพาะสิทธิในที่ดิน ข้อพิพาทในคดีนี้จึงมีประเด็นการโต้แย้งเกี่ยวกับความมีอยู่หรือสถานะของที่สาธารณประโยชน์รวมอยู่ด้วย ทั้งนี้ เพื่อตรวจสอบการใช้อำนาจของหน่วยงานทางปกครองและเจ้าหน้าที่ของรัฐ ซึ่งมิใช่เรื่องพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดินแต่อย่างใด เมื่อคดีนี้เป็นคดีเกี่ยวกับการที่เจ้าหน้าที่ของรัฐใช้อำนาจปกครองตามกฎหมายหรือดำเนินกิจการทางปกครองโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายตามมาตรา ๒๒๓ วรรคหนึ่ง ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ประกอบกับมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครองแล้ว ศาลยุติธรรมจึงย่อมไม่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีนี้ได้ตามนัยมาตรา ๒๑๘ ประกอบมาตรา ๒๒๓ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ คดีนี้จึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง
ศาลจังหวัดเดชอุดมพิจารณาแล้วเห็นว่า ข้อเท็จจริงตามคำฟ้องและคำให้การปรากฏว่า ผู้ฟ้องคดีเป็นเจ้าของที่ดินโฉนดเลขที่ ๒๔๐๑๙ ตำบลเมืองเดช อำเภอเดชอุดม จังหวัดอุบลราชธานี เนื้อที่ ๑๓ – ๒ – ๔๖ ไร่ ต่อมาผู้ถูกฟ้องคดีมีหนังสือถึงสำนักงานที่ดินจังหวัดอุบลราชธานี สาขาเดชอุดม ให้รังวัดตรวจสอบแนวเขตที่ดินสาธารณประโยชน์ริมถนนศรีขรภูมิที่อยู่ติดกับที่ดินของผู้ฟ้องคดีทางด้านทิศตะวันออก ผู้ฟ้องคดีอ้างว่าแนวเขตที่ดินสาธารณประโยชน์ที่รังวัดใหม่รุกล้ำเข้าไปในที่ดินของผู้ฟ้องคดีเป็นเส้นตรงตลอดแนวจากหลักไม้ทางด้านทิศเหนือมายังหลักหมุดทางด้านทิศใต้ และผู้ถูกฟ้องคดีพร้อมพนักงานเทศบาลกระทำละเมิดโดยบุกรุกเข้ามาในที่ดินของผู้ฟ้องคดี ตัดต้นไม้และขุดดินพร้อมทั้งนำเสารั้วคอนกรีตมาปักแนวเขตที่ช่างรังวัดทำการรังวัด ผู้ฟ้องคดีจึงขอให้ผู้ถูกฟ้องคดีถอนแนวรั้วที่ทำขึ้นออกไป จะเห็นได้ว่าผู้ฟ้องคดียืนยันว่าที่ดินในส่วนที่พนักงานเทศบาลของผู้ถูกฟ้องคดีเข้าไปตัดต้นไม้ ขุดดินและปักเสาคอนกรีตตามแนวเขตที่ช่างรังวัดทำการรังวัดใหม่เป็นที่ดินของผู้ฟ้องคดี แต่ฝ่ายผู้ถูกฟ้องคดีโต้แย้งว่าไม่ได้รุกล้ำเข้าไปในที่ดินของผู้ฟ้องคดี โดยที่ดินส่วนที่พิพาทเป็นที่ดินสาธารณประโยชน์มิใช่ที่ดินของผู้ฟ้องคดี ดังนั้น การที่ศาลจะวินิจฉัยว่าผู้ถูกฟ้องคดีกระทำละเมิดต่อโจทก์หรือไม่และจะต้องรื้อถอนแนวรั้วหรือไม่ ศาลจำต้องพิจารณาให้ได้ข้อเท็จจริงที่เป็นหลักสำคัญในการชี้ขาดตัดสินคดีเสียก่อนว่า ที่ดินส่วนที่พิพาทเป็นที่ดินของผู้ฟ้องคดีหรือเป็นที่ดินสาธารณประโยชน์อันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน แล้วจึงจะพิจารณาได้ว่าการกระทำของผู้ถูกฟ้องคดีเป็นละเมิดหรือไม่ อันเป็นกรณีพิพาทที่เกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน คดีนี้จึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

คำวินิจฉัย
ปัญหาที่ต้องพิจารณา คดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมหรือศาลปกครอง
คณะกรรมการพิจารณาแล้วเห็นว่า คดีนี้แม้ผู้ถูกฟ้องคดีจะเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐก็ตาม แต่ตามคำฟ้องผู้ฟ้องคดีอ้างว่า ผู้ฟ้องคดีเป็นเจ้าของที่ดินตามโฉนดที่ดินเลขที่ ๒๔๐๑๙ ตำบลเมืองเดช อำเภอเดชอุดม จังหวัดอุบลราชธานี เนื้อที่ ๒๓ ไร่ ๒ งาน ๔๖ ตารางวา แต่ถูกผู้ถูกฟ้องคดีรังวัดสอบเขตที่ดินแล้วปักเสารั้วคอนกรีตพร้อมทั้งขึงรั้วลวดหนามเป็นแนวเขตที่สาธารณประโยชน์รุกล้ำที่ดินของผู้ฟ้องคดีประมาณ ๒ – ๗ เมตร ตลอดแนวถนน เป็นระยะทางประมาณ ๒๐๐ เมตร ขอให้ผู้ถูกฟ้องคดีถอนแนวรั้วที่ทำขึ้นใหม่และให้กลับไปใช้แนวรั้วของผู้ฟ้องคดี ส่วนผู้ถูกฟ้องคดีให้การว่า ผู้ถูกฟ้องคดีได้ขอให้เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดอุบลราชธานี สาขาเดชอุดม ตรวจสอบเขตทางหลวงเทศบาลบริเวณถนนศรีขรภูมิ ช่วงจากทางแยกถนนราษฎร์บูรณะถึงลำห้วยตลาดตามที่ได้รับหนังสือร้องเรียนจากราษฎรว่ามีผู้บุกรุกที่ดินสาธารณประโยชน์ห้วยตลาด เมื่อผู้ถูกฟ้องคดีได้รับการยืนยันแนวเขตที่ดินสาธารณประโยชน์จากสำนักงานที่ดินจึงดำเนินการปักแนวเขตที่ดินสาธารณประโยชน์ตามแนวเขตดังกล่าว อันเป็นการดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ตามกฎหมาย และเป็นการดำเนินการโดยชอบแล้ว เห็นว่า เป็นกรณีที่ผู้ฟ้องคดีกับผู้ถูกฟ้องคดีโต้แย้งกันเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน ซึ่งการที่ศาลจะมีคำพิพากษาหรือคำสั่งตามคำขอของผู้ฟ้องคดีได้นั้น จำต้องพิจารณาให้ได้ความเสียก่อนว่า ที่ดินส่วนที่พิพาทเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ฟ้องคดีหรือเป็นที่สาธารณประโยชน์เป็นสำคัญ แล้วจึงจะพิจารณาประเด็นอื่นต่อไป จึงเป็นคดีเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
จึงวินิจฉัยชี้ขาดว่า คดีระหว่างนายสุรสิทธิ์ ฉัตรวิไล ผู้ฟ้องคดี นายกเทศมนตรีเมืองเดชอุดม ผู้ถูกฟ้องคดี อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

(ลงชื่อ) ไพโรจน์ วายุภาพ (ลงชื่อ) สุวัฒน์ วรรธนะหทัย
(นายไพโรจน์ วายุภาพ) (นายสุวัฒน์ วรรธนะหทัย)
ประธานศาลฎีกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลยุติธรรม

(ลงชื่อ) หัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล (ลงชื่อ) จรัญ หัตถกรรม
(นายหัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล) (นายจรัญ หัตถกรรม)
ประธานศาลปกครองสูงสุด กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลปกครอง

(ลงชื่อ) พลโท จิระ โกมุทพงศ์ (ลงชื่อ) พลโท อาชวัน อินทรเกสร
(จิระ โกมุทพงศ์) (อาชวัน อินทรเกสร)
หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลทหาร

(ลงชื่อ) จิระ บุญพจนสุนทร
(นายจิระ บุญพจนสุนทร)
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ

Share