แหล่งที่มา : ส่วนเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ
ย่อสั้น
ไม่มีย่อสั้น
ย่อยาว
(สำเนา)
คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
ที่ ๑๐/๒๕๕๕
วันที่ ๑ มีนาคม ๒๕๕๕
เรื่อง คดีเกี่ยวกับพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ. ๒๕๒๘
ศาลปกครองกลาง
ระหว่าง
ศาลภาษีอากรกลาง
การส่งเรื่องต่อคณะกรรมการ
ศาลปกครองกลางโดยสำนักงานศาลปกครองส่งเรื่องให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลพิจารณาวินิจฉัยชี้ขาดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๐ วรรคหนึ่ง (๓) ซึ่งเป็นกรณีคู่ความฝ่ายที่ถูกฟ้องคดีโต้แย้งอำนาจศาลที่รับฟ้องคดี และศาลที่ส่งความเห็นและศาลที่รับความเห็นมีความเห็นแตกต่างกันในเรื่องอำนาจศาลในคดีนั้น
ข้อเท็จจริงในคดี
เมื่อวันที่ ๑๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๓ นายวิสารท อังคทะวานิช ที่ ๑ นางสาวจิรวรรณ จิรวัฒน์สถิตย์ ที่ ๒ ผู้ฟ้องคดี ยื่นฟ้อง กรมสรรพากร ที่ ๑ อธิบดีกรมสรรพากร ที่ ๒ ผู้ถูกฟ้องคดี ต่อศาลปกครองกลาง เป็นคดีหมายเลขดำที่ ๒๙๓/๒๕๕๓ ความว่า เมื่อประมาณปี ๒๕๓๙ ผู้ฟ้องคดีที่ ๑ ได้นำโฉนดที่ดินจำนวน ๗ แปลง ไปขอกู้เงินจากนายทุน ผู้ฟ้องคดีที่ ๑ ไม่สามารถนำเงินไปไถ่ถอนโฉนดที่ดินคืนได้จึงลงลายมือชื่อโอนลอยให้นายทุนไป นายทุนได้นำโฉนดที่ดินไปขายให้ผู้อื่นโดยไม่แจ้งให้ผู้ฟ้องคดีที่ ๑ ทราบ ประมาณปี ๒๕๔๖ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ได้อายัดเงินในบัญชีของผู้ฟ้องคดีที่ ๑ รวม ๔ บัญชี เป็นเงิน ๒๔๖,๐๑๓.๘๕ บาท ผู้ฟ้องคดีที่ ๑ จึงทราบว่าเป็นหนี้กรมสรรพากร เป็นเงินจำนวน ๑,๖๖๖,๙๔๓.๖๕ บาท ผู้ฟ้องคดีที่ ๑ จึงมีหนังสืออุทธรณ์ต่อผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ได้พิจารณาลดเบี้ยปรับ ให้คงเหลือเงินที่ยังต้องชำระจำนวน ๘๓๑,๐๒๙.๑๖ บาท หักเงินที่ถูกอายัดจำนวน ๒๔๖,๐๑๓.๘๕ บาท คงเหลือเงินจำนวน ๕๘๕,๐๑๕.๓๑ บาท ซึ่งผู้ฟ้องคดีที่ ๑ ได้ผ่อนชำระไปแล้ว ๑๒ เดือน เดือนละ ๓,๐๐๐ บาท คงเหลือเงินที่ต้องชำระจำนวน ๕๔๙,๐๑๕.๓๑ บาท ต่อมาผู้ฟ้องคดีที่ ๑ ได้รับทราบจากสำนักงานสรรพากรพื้นที่กรุงเทพมหานคร ๗ ว่า ได้อายัดเงินในบัญชีเงินฝากประจำเลขที่ ๐๐-๐๐๓๔-๓๖-๐๐๑๐๕๗-๙ ซึ่งเป็นบัญชีเงินฝากของผู้ฟ้องคดีที่ ๒ ที่ได้ถอนเงินจากบัญชีเงินฝากบัญชีอื่นมาฝากไว้โดยมีผู้ฟ้องคดีที่ ๑ ลงลายมือชื่อร่วม เพื่อที่หากผู้ฟ้องคดีที่ ๒ ป่วยกะทันหันหรือป่วยหนักไม่สามารถเบิกเงินได้ผู้ฟ้องคดีที่ ๑ จะได้ถอนเงินมาจ่ายค่ารักษาพยาบาลของผู้ฟ้องคดีที่ ๒ มิได้มีเจตนาที่จะยกเงินในบัญชีดังกล่าวให้ผู้ฟ้องคดีที่ ๑ กึ่งหนึ่งดังที่เจ้าหน้าที่สันนิษฐาน ผู้ฟ้องคดีทั้งสองจึงมีหนังสือถึงสำนักงานสรรพากรพื้นที่กรุงเทพมหานคร ๗ คัดค้านการอายัดเงินในบัญชีเงินฝากประจำดังกล่าว แต่สำนักงานสรรพากรพื้นที่กรุงเทพมหานคร ๗ แจ้งว่ากรณีดังกล่าวเข้าข้อสันนิษฐานของกฎหมายว่าผู้ฟ้องคดีทั้งสองมีกรรมสิทธิ์ในเงินในบัญชีเงินฝากประจำดังกล่าวคนละกึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๓๕๗ การกระทำของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองทำให้ผู้ฟ้องคดีทั้งสองได้รับความเสียหาย ไม่สามารถเบิกจ่ายเงินในบัญชีชื่อดังกล่าวได้ ขอให้ศาลพิพากษาหรือมีคำสั่งให้เพิกถอนคำสั่งอายัดเงินในบัญชีเงินฝากประจำ ธนาคารออมสิน สาขามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เลขที่บัญชี ๐๐-๐๐๓๔-๓๖-๐๐๑๐๕๗-๙ และให้ศาลมีคำสั่งทุเลาการบังคับตามคำสั่งอายัดเงินในบัญชีเงินฝากประจำดังกล่าว
ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองให้การว่า คดีนี้มีมูลเหตุมาจากการที่ผู้ฟ้องคดีที่ ๑ ได้ค้างชำระภาษีธุรกิจเฉพาะเนื่องจากการขายอสังหาริมทรัพย์ภายในระยะเวลา ๕ ปี นับแต่วันที่ได้อสังหาริมทรัพย์นั้นมา จึงเข้าลักษณะเป็นการขายอสังหาริมทรัพย์เป็นทางการค้าหรือหากำไร ตามมาตรา ๓ (๖) แห่งพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการขายอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นทางการค้าหรือหากำไร (ฉบับที่ ๒๔๔) พ.ศ. ๒๕๓๔ จากการเร่งรัดของเจ้าหน้าที่พบว่าผู้ฟ้องคดีที่ ๑ มีสิทธิเรียกร้องในบัญชีเงินฝากประจำของธนาคารออมสิน สาขามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บัญชีเลขที่ ๐๐-๐๐๓๔-๓๖-๐๐๑๐๕๗-๙ ซึ่งสำนักงานสรรพากรภาค ๑ ได้พิจารณาแล้วเห็นว่าทรัพย์สินที่สอบสวนพบดังกล่าวไม่เป็นทรัพย์สินที่ห้ามอายัด ตามข้อ ๘ แห่งระเบียบกรมสรรพากร ว่าด้วยการอายัดทรัพย์สิน ตามความในมาตรา ๑๒ แห่งประมวลรัษฎากร พ.ศ. ๒๕๔๖ จึงอนุมัติให้สำนักงานสรรพากรพื้นที่กรุงเทพมหานคร ๗ อายัดสิทธิเรียกร้องของผู้ฟ้องคดีที่ ๑ ในบัญชีเงินฝากดังกล่าว สำนักงานสรรพากรพื้นที่กรุงเทพมหานคร ๗ จึงมีคำสั่งอายัดสิทธิของผู้ฟ้องคดีที่ ๑ ในบัญชีเงินฝากดังกล่าว โดยอาศัยอำนาจตามมาตรา ๑๒ แห่งประมวลรัษฎากร และระเบียบกรมสรรพากรว่าด้วยการอายัดทรัพย์สิน ตามความในมาตรา ๑๒ แห่งประมวลรัษฎากร พ.ศ. ๒๕๔๖ เมื่อผู้ฟ้องคดีทั้งสองมีคำขอให้ศาลมีคำพิพากษาเพิกถอนคำสั่งอายัดที่ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองใช้สิทธิตามมาตรา ๑๒ ของประมวลรัษฎากร มูลคดีจึงเป็นการพิจารณาเกี่ยวกับสิทธิเรียกร้องของรัฐในหนี้ค่าภาษีอากร ข้อพิพาทดังกล่าวจึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลภาษีอากร นอกจากนี้บัญชีเงินฝากประจำดังกล่าวได้ระบุเงื่อนไขในการสั่งจ่ายว่า “คนใดคนหนึ่งถอนปิดบัญชี” ย่อมเป็นการแสดงเจตนาว่าผู้ฟ้องคดีที่ ๒ ยินยอมให้ผู้ฟ้องคดีที่ ๑ สามารถเป็นผู้มีกรรมสิทธิ์ในบัญชีเงินฝากประจำดังกล่าวร่วมกับผู้ฟ้องคดีที่ ๒ กฎหมายต้องสันนิษฐานไว้ก่อนว่าทั้งสองมีกรรมสิทธิ์ในเงินในบัญชีดังกล่าวคนละกึ่งหนึ่งเท่ากัน ทั้งนี้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๓๕๗ เมื่อผู้ฟ้องคดีที่ ๑ เป็นผู้มีชื่อเป็นเจ้าของบัญชีร่วมกันผู้ฟ้องคดีที่ ๒ คนละกึ่งหนึ่งอันมีต่อธนาคารออมสิน ที่จะถอนเงินจากบัญชีดังกล่าวได้ กรมสรรพากรในฐานะเจ้าหนี้ของผู้ฟ้องคดีที่ ๑ จึงมีสิทธิตามมาตรา ๑๒ แห่งประมวลรัษฎากร ที่จะอายัดเงินจำนวนกึ่งหนึ่งในบัญชีเงินฝากประจำดังกล่าวมาชำระภาษีอากรค้างได้ ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองได้กระทำการตามหน้าที่ หลักเกณฑ์และขั้นตอนชอบด้วยกฎหมายแล้ว ขอให้ยกฟ้อง
ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองยื่นคำร้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลว่า คดีนี้เป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิเรียกร้องของรัฐในหนี้ค่าภาษีอากรและอำนาจหน้าที่ของเจ้าหน้าที่สรรพากรว่าใช้อำนาจหน้าที่ตามมาตรา ๑๒ แห่งประมวลกฎหมายรัษฎากรถูกต้องตามขั้นตอนและหลักเกณฑ์ของกฎหมายหรือไม่ และการพิจารณาคดีดังกล่าวนั้น ศาลจำต้องพิจารณาถึงประมวลรัษฎากร ประกอบกับระเบียบข้อบังคับกรมสรรพากรเป็นหลักในการพิจารณาพิพากษาคดี ประกอบกับมาตรา ๗ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ. ๒๕๒๘ บัญญัติว่า ศาลภาษีอากรมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีแพ่งในเรื่องต่อไปนี้ (๒) คดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิเรียกร้องของรัฐในหนี้ค่าภาษีอากร ฉะนั้น เมื่อกรณีดังกล่าวมีศาลชำนัญการพิเศษเฉพาะอยู่แล้ว คือศาลภาษีอากร กรณีจึงไม่ใช่คดีตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ ผู้ฟ้องคดีทั้งสองไม่มีอำนาจฟ้องคดีนี้ต่อศาลปกครองกลาง และเป็นคดีที่ไม่อยู่ในอำนาจของศาลปกครองกลางที่จะพิจารณาพิพากษาคดีนี้
ศาลปกครองกลางพิจารณาแล้วเห็นว่า ข้อพิพาทในคดีนี้เกิดจากการที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ซึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครอง และผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ ได้ออกคำสั่งกรมสรรพากร ที่ (สภ. ๑) ๗๑๘๓-๗๑๘๔/๒๕๕๒ เรื่อง ให้อายัดทรัพย์สินของผู้ค้างภาษีอากร ลงวันที่ ๓๐ ตุลาคม ๒๕๕๒ โดยได้ทำการอายัดสิทธิเรียกร้องของผู้ฟ้องคดีที่ ๑ ในบัญชีเงินฝากธนาคารออมสิน สาขามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เพื่อชำระหนี้ภาษีอากรตามมาตรา ๑๒ แห่งประมวลรัษฎากร จึงเป็นเรื่องเกี่ยวกับการอายัดทรัพย์ตามอำนาจหน้าที่ของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองว่าชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ โดยมิได้มีประเด็นโต้แย้งเรื่องจำนวนเงินค่าภาษีที่ผู้ถูกฟ้องคดีประเมินเรียกเก็บแต่อย่างใด การที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ออกคำสั่งอายัดทรัพย์สินดังกล่าวเป็นการใช้อำนาจตามมาตรา ๑๒ แห่งประมวลรัษฎากร และระเบียบกรมสรรพากร ว่าด้วยการอายัดทรัพย์สิน ตามความในมาตรา ๑๒ แห่งประมวลรัษฎากร พ.ศ. ๒๕๔๖ และเป็นมาตรการบังคับทางปกครองตามมาตรา ๕ แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. ๒๕๓๙ เมื่อผู้ฟ้องคดีทั้งสองฟ้องว่า การที่ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองได้ออกคำสั่งดังกล่าวเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายจึงขอให้เพิกถอนคำสั่งของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองดังกล่าว ข้อพิพาทในคดีนี้จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการใช้อำนาจตามกฎหมายของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองในการอายัดทรัพย์สินว่าชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ มิใช่ข้อพิพาทเกี่ยวกับภาษีอากรที่จะอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลภาษีอากรตามมาตรา ๗ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ. ๒๕๒๘ จึงถือว่าผู้ฟ้องคดีทั้งสองได้รับความเดือดร้อนเสียหายจากการกระทำของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐตามมาตรา ๔๒ วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีทางปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ เป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง ตามมาตรา๙ วรรคหนึ่ง (๑) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒
ศาลภาษีอากรกลางพิจารณาแล้วเห็นว่า การที่ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองได้มีคำสั่งอายัดบัญชีเงินฝาก ธนาคารออมสิน สาขามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เลขที่ ๐๐-๐๐๓๔-๓๖-๐๐๑๐๕๗-๙ ของผู้ฟ้องคดีทั้งสองนั้น เป็นกรณีที่สืบเนื่องจากการที่ผู้ฟ้องคดีที่ ๑ ถูกประเมินภาษีโดยผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ และเมื่อผู้ฟ้องคดีที่ ๑ มีชื่ออยู่ในบัญชีเงินฝากดังกล่าวร่วมกับผู้ฟ้องคดีที่ ๒ ผู้ฟ้องคดีทั้งสองจึงได้อุทธรณ์คัดค้านคำสั่งของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองจนเกิดเป็นข้อพิพาทในคดีนี้ ซึ่งเมื่อพิเคราะห์แล้วเห็นว่า การที่ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองได้ทำการอายัดบัญชีเงินฝากของผู้ฟ้องคดีทั้งสองเป็นการใช้อำนาจในการออกคำสั่งทางปกครองเพื่อบังคับชำระหนี้ค่าภาษีค้างโดยการอายัดทรัพย์สินของผู้ต้องรับผิดในหนี้ค่าภาษี ตามมาตรา ๑๒ แห่งประมวลรัษฎากร จึงเป็นมาตรการที่เกี่ยวกับการบังคับตามสิทธิเรียกร้องในหนี้ค่าภาษีอากรของรัฐ เมื่อมีข้อโต้แย้งว่าเป็นการใช้อำนาจอายัดโดยที่มิชอบด้วยกฎหมาย ก็ย่อมถือเป็นคดีที่มีข้อพิพาทเกี่ยวกับสิทธิเรียกร้องของรัฐในหนี้ค่าภาษีอากร ซึ่งจะต้องมีการวินิจฉัยว่าการใช้อำนาจของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองเป็นการกระทำที่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ โดยการวินิจฉัยดังกล่าวก็จะต้องพิจารณาถึงมูลหนี้ค่าภาษีตามประมวลรัษฎากรอันเป็นที่มาของการบังคับชำระหนี้ที่พิพาท เมื่อคดีนี้ผู้ฟ้องคดีทั้งสองอ้างว่าคำสั่งอายัดของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองเป็นไปโดยมิชอบด้วยกฎหมาย จึงเป็นคดีอุทธรณ์คำวินิจฉัยของเจ้าพนักงานตามกฎหมายเกี่ยวกับภาษีอากร และเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิเรียกร้องของรัฐในหนี้ค่าภาษีอากรซึ่งอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลภาษีอากร ตามมาตรา ๗ (๑) และ (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ. ๒๕๒๘
คำวินิจฉัย
ปัญหาที่ต้องพิจารณา คดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมหรือศาลปกครอง
คณะกรรมการพิจารณาแล้วเห็นว่า คดีนี้ ผู้ฟ้องคดีทั้งสองฟ้องว่า เดิมเจ้าพนักงานประเมินได้ประเมินเรียกเก็บภาษีธุรกิจเฉพาะแก่ผู้ฟ้องคดีที่ ๑ และได้มีคำสั่งอายัดเงินในบัญชีของผู้ฟ้องคดีที่ ๑ รวม ๔ บัญชี ตั้งแต่ประมาณปี ๒๕๔๖ ซึ่งผู้ฟ้องคดีที่ ๑ ได้อุทธรณ์การประเมินดังกล่าว คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ได้พิจารณางดเบี้ยปรับ และผู้ฟ้องคดีที่ ๑ ได้ผ่อนชำระภาษีอากรค้างในส่วนที่เหลือดังกล่าว ต่อมาผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ได้มีคำสั่งที่ (สภ. ๑) ๗๑๘๓-๗๑๘๔/๒๕๕๒ ลงวันที่ ๓๐ ตุลาคม ๒๕๕๒ ให้อายัดสิทธิเรียกร้องในบัญชีเงินฝากธนาคารออมสิน สาขามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เลขที่ ๐๐-๐๐๓๔-๓๖-๐๐๑๐๕๗-๙ ซึ่งผู้ฟ้องคดีทั้งสองมีชื่อเป็นเจ้าของบัญชีร่วมกัน โดยผู้ฟ้องคดี
ทั้งสองได้คัดค้านการอายัดในครั้งนี้ว่าเงินฝากในบัญชีดังกล่าวเป็นของผู้ฟ้องคดีที่ ๒ โดยมีผู้ฟ้องคดีที่ ๑ ลงชื่อร่วมเพื่อความสะดวกในการถอนเงินสำหรับการจ่ายค่ารักษาพยาบาลของผู้ฟ้องคดีที่ ๒ ในกรณีจำเป็นเท่านั้น โดยผู้ฟ้องคดีที่ ๒ ไม่มีเจตนาที่จะยกเงินในบัญชีให้แก่ผู้ฟ้องคดีที่ ๑ แต่อย่างใด ผู้ฟ้องคดีทั้งสองได้คัดค้านการอายัดสิทธิเรียกร้องในบัญชีเงินฝากดังกล่าวแต่ไม่เป็นผล ขอให้ศาลพิพากษาหรือมีคำสั่งให้เพิกถอนคำสั่งของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองที่ให้อายัดสิทธิเรียกร้องในบัญชีเงินฝากดังกล่าว เห็นว่า คดีนี้ผู้ฟ้องคดีทั้งสองฟ้องขอให้เพิกถอนคำสั่งอายัดเงินในบัญชีเงินฝากประจำ ธนาคารออมสิน สาขามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เลขที่บัญชี ๐๐-๐๐๓๔-๓๖-๐๐๑๐๕๗-๙ ของตน ซึ่งผู้ถูกฟ้องคดีได้ออกคำสั่งตามประมวลรัษฎากร มาตรา ๑๒ อันเนื่องมาจากผู้ฟ้องคดีที่ ๑ ค้างชำระหนี้ค่าภาษีอากรเพื่อให้ได้รับชำระภาษีอากรค้าง ซึ่งเป็นการใช้สิทธิเรียกร้องของรัฐในหนี้ค่าภาษีอากร เมื่อผู้ฟ้องคดีทั้งสองโต้แย้งว่าการใช้สิทธิเรียกร้องของรัฐดังกล่าวเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย กรณีจึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิเรียกร้องของรัฐในหนี้ค่าภาษีอากร ตามมาตรา ๗ (๒) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ. ๒๕๒๘ ซึ่งอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลภาษีอากร และไม่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครองตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ วรรคสอง (๓) คดีนี้จึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
จึงวินิจฉัยชี้ขาดว่า คดีระหว่าง นายวิสารท อังคทะวานิช ที่ ๑ นางสาวจิรวรรณ
จิรวัฒน์สถิตย์ ที่ ๒ ผู้ฟ้องคดี กรมสรรพากร ที่ ๑ อธิบดีกรมสรรพากร ที่ ๒ อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
(ลงชื่อ) ไพโรจน์ วายุภาพ (ลงชื่อ) สุวัฒน์ วรรธนะหทัย
(นายไพโรจน์ วายุภาพ) (นายสุวัฒน์ วรรธนะหทัย)
ประธานศาลฎีกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลยุติธรรม
(ลงชื่อ) หัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล (ลงชื่อ) จรัญ หัตถกรรม
(นายหัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล) (นายจรัญ หัตถกรรม)
ประธานศาลปกครองสูงสุด กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลปกครอง
(ลงชื่อ) พลโท จิระ โกมุทพงศ์ (ลงชื่อ) พลโท อาชวัน อินทรเกสร
(จิระ โกมุทพงศ์) (อาชวัน อินทรเกสร)
หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลทหาร
(ลงชื่อ) จิระ บุญพจนสุนทร
(นายจิระ บุญพจนสุนทร)
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ