แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
ตามหนังสือสัญญาเช่ามีหมายเหตุท้ายหนังสือสัญญาเช่าที่ระบุว่า “วันที่ 9 มีนาคม 2544 วางมัดจำ 200,000 บาท” โดยจำเลยผู้ให้เช่าได้ลงลายมือชื่อไว้ท้ายหมายเหตุด้วยและในวันดังกล่าวจำเลยก็ได้ออกใบรับเงินระบุว่า วางมัดจำค่าเช่าดำเนินกิจการ 200,000 บาท โดยมิได้มีข้อความตอนใดที่จะทำให้เห็นว่าเป็นเงินกินเปล่าที่จำเลยไม่ต้องคืนแก่โจทก์ผู้เช่าก็ตาม แม้เงินจำนวน 200,000 บาท จะฟังว่าเป็นเงินมัดจำค่าเช่าดำเนินการก็ตาม แต่ข้อเท็จจริงก็ไม่ปรากฏว่าเป็นกรณีที่โจทก์ให้ไว้แก่จำเลยเพื่อเป็นประกันการที่จะปฏิบัติตามสัญญาหรือเป็นพยานหลักฐานว่า สัญญานั้นได้ทำกันขึ้นแล้ว เพราะในวันดังกล่าวได้มีการทำสัญญาเช่ากันขึ้นด้วย จึงไม่ต้องมีสัญญามัดจำอีกเงินจำนวน 200,000 บาท ที่โจทก์วางให้แก่จำเลยดังกล่าวจึงต้องถือเป็นค่าเช่าที่โจทก์ชำระให้แก่จำเลยล่วงหน้า มิใช่เงินมัดจำตามความหมายของ ป.พ.พ. มาตรา 377 และมาตรา 378 ที่จำเลยจะริบได้ ทั้งไม่มีข้อสัญญาให้จำเลยมีสิทธิริบเงินที่โจทก์ชำระไว้ล่วงหน้านี้ได้ด้วย
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน 250,310 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 249,500 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 223,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ (ฟ้องวันที่ 6 ธันวาคม 2544) กับให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ เฉพาะค่าขึ้นศาลให้ใช้ตามทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดี โดยกำหนดค่าทนายความ 4,000 บาท ส่วนคำขออื่นให้ยก
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงในเบื้องต้นฟังได้ว่า โจทก์ตกลงเช่าร้านซีบร้าบาร์ พลาซ่า ของจำเลยมีกำหนดระยะเวลา 12 เดือน ตั้งแต่วันที่ 9 มีนาคม 2544 ถึงวันที่ 9 มีนาคม 2545 ตกลงชำระค่าเช่าเป็นรายเดือน เดือนละ 15,000 บาท โดยในวันทำสัญญาโจทก์ได้วางเงินมัดจำค่าเช่าดำเนินกิจการจำนวน 200,000 บาท ให้แก่จำเลย และต่อมาวันที่ 3 เมษายน 2544 โจทก์วางเงินมัดจำค่าน้ำประปา ค่าไฟฟ้าและค่ามัดจำของเสียหายจำนวน 60,000 บาท พร้อมทั้งชำระค่าเช่าเดือนเมษายน ค่าน้ำประปา ค่าไฟฟ้าจำนวน 22,000 บาท และชำระค่าโฆษณา 4,500 บาท รวมเป็นเงิน 86,500 บาท
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยประการแรกว่า โจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญาทำให้สัญญาเช่าเลิกกันแล้วหรือไม่ โจทก์บรรยายฟ้องในข้อ 3 ว่า “ต่อมาโจทก์ได้เข้าดำเนินกิจการได้ประมาณ 2 เดือนเศษ เนื่องจากโจทก์ไม่สามารถดำเนินกิจการต่อไปได้เพราะโจทก์เจ็บป่วยบ่อย ๆ ต้องนอนพักรักษาตัวในโรงพยาบาลกรุงเทพพัทยา และแพทย์เห็นควรให้โจทก์หยุดพักผ่อนเพื่อรักษาตัวประกอบกับโจทก์ได้ชำระค่าเช่าให้จำเลยล่าช้า จำเลยจึงตัดน้ำ ตัดไฟ ทำให้โจทก์ไม่สามารถดำเนินกิจการต่อไปได้…” เห็นว่า เหตุผลการเจ็บป่วยที่โจทก์กล่าวอ้างในคำฟ้องว่า ทำให้โจทก์ไม่สามารถดำเนินกิจการต่อไปได้ดังกล่าว เป็นเรื่องส่วนตัวของโจทก์เอง ซึ่งไม่อาจถือเป็นเหตุสุดวิสัยในอันที่จะทำให้โจทก์มีสิทธิบอกเลิกสัญญาเช่ากับจำเลยได้ ประกอบกับในชั้นพิจารณาโจทก์ก็เบิกความตอบทนายจำเลยถามค้านยอมรับว่าในเดือนพฤษภาคม 2544 โจทก์ไม่ได้ชำระค่าเช่า ค่าน้ำประปาและค่าไฟฟ้าแล้ว หลังจากนั้นก็ไม่ได้ชำระอีกเลยอันเจือสมกับคำบรรยายฟ้องของโจทก์เองที่ว่า โจทก์ได้ชำระค่าเช่าให้จำเลยล่าช้าซึ่งก็คือยังไม่ชำระนั่นเอง จึงต้องฟังว่าโจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญาเพราะไม่ชำระค่าเช่าให้แก่จำเลยตามที่ระบุไว้ในสัญญาเช่าเอกสารหมาย จ.4 ข้อ 2 ว่า โจทก์ตกลงชำระค่าเช่าเป็นรายเดือน เดือนละ 15,000 บาท ทุกต้นเดือน และจะไม่เกินวันที่ 5 ของทุก ๆ เดือน ซึ่งตามสัญญาเช่าข้อ 9 ระบุว่า หากผู้เช่ากระทำผิดสัญญาเช่าแม้เพียงข้อหนึ่งข้อใดให้ถือว่าสัญญาเช่าฉบับนี้เป็นอันสิ้นสุดลงในทันทีโดยจำเลยผู้ให้เช่าต้องบอกกล่าวล่วงหน้า ดังนี้ สัญญาเช่าระหว่างโจทก์กับจำเลยจึงเลิกกันโดยโจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญา
ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยต่อไปมีว่า โจทก์มีสิทธิเรียกร้องเงินค่ามัดจำค่าเช่า และค่ามัดจำของเสียหายคืนจากจำเลยหรือไม่ เพียงใด โจทก์ฟ้องและนำสืบอ้างว่า เงินจำนวน 200,000 บาท ที่โจทก์วางไว้แก่จำเลยในวันทำสัญญาเช่าเป็นเงินมัดจำค่าเช่าดำเนินกิจการ ซึ่งจำเลยจะคืนให้โจทก์เมื่อสัญญาเช่าสิ้นสุดลง แต่จำเลยนำสืบอ้างว่าเป็นเงินกินเปล่าที่จำเลยไม่ต้องคืนให้แก่โจทก์ เห็นว่า ตามหนังสือสัญญาเช่ามีหมายเหตุท้ายสัญญาว่า “วันที่ 9 มีนาคม 2544 วางมัดจำ 200,000 บาท” โดยจำเลยได้ลงลายมือชื่อไว้ท้ายหมายเหตุด้วย และในวันดังกล่าวจำเลยก็ได้ออกใบรับเงิน ระบุว่าวางมัดจำค่าเช่าดำเนินกิจการ 200,000 บาท โดยมิได้มีข้อความตอนใดที่จะทำให้เห็นว่าเป็นเงินกินเปล่าที่จำเลยไม่ต้องคืนแก่โจทก์ คงมีเพียงคำเบิกความลอย ๆ ของจำเลยปากเดียวเท่านั้นที่อ้างว่าเป็นเงินกินเปล่าโดยไม่มีพยานหลักฐานอื่นสนับสนุน จึงไม่อาจรับฟังหักล้างพยานเอกสารของโจทก์ได้ ข้อเท็จจริงต้องฟังว่า เงินจำนวนดังกล่าวเป็นเงินที่โจทก์วางเป็นมัดจำค่าเช่าดำเนินกิจการ แต่ศาลฎีกาเห็นต่อไปว่า แม้เงินจำนวน 200,000 บาท นี้จะฟังว่าเป็นเงินมัดจำค่าเช่าดำเนินกิจการก็ตาม แต่ข้อเท็จจริงก็ไม่ปรากฏว่าเป็นกรณีที่โจทก์ให้ไว้แก่จำเลยเพื่อเป็นประกันการที่จะปฏิบัติตามสัญญาหรือเป็นพยานหลักฐานว่า สัญญานั้นได้ทำกันขึ้นแล้ว เพราะในวันดังกล่าวได้มีการทำสัญญาเช่ากันขึ้นด้วย จึงไม่จำต้องมีสัญญามัดจำอีกเงินจำนวน 200,000 บาท ที่โจทก์วางให้แก่จำเลยจึงต้องถือเป็นค่าเช่าที่โจทก์ชำระให้แก่จำเลยล่วงหน้า มิใช่เงินมัดจำตามความหมายของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 377 และมาตรา 378 ที่จำเลยจะริบได้ ทั้งไม่มีข้อสัญญาให้จำเลยมีสิทธิริบเงินที่โจทก์ชำระไว้ล่วงหน้านี้ได้ด้วย สำหรับเงินมัดจำค่าน้ำประปา ค่าไฟฟ้า และค่ามัดจำของเสียหายจำนวน 60,000 บาท ที่โจทก์วางให้แก่จำเลยก็เห็นได้ชัดว่าเป็นเงินที่โจทก์วางไว้เพื่อประกันความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นเท่านั้น จึงมิใช่เงินมัดจำที่จำเลยจะริบได้เช่นกัน เมื่อสัญญาเช่าสิ้นสุดลงจำเลยจึงต้องคืนเงินทั้งสองจำนวนนี้แก่โจทก์แต่ข้อเท็จจริงปรากฏว่า ภายหลังจากสัญญาเช่าเลิกกันเพราะโจทก์ไม่ชำระค่าเช่าในเดือนพฤษภาคม 2544 แล้ว โจทก์เพิ่งจะขนย้ายทรัพย์สินออกจากสถานที่เช่าเมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2544 จึงเห็นควรให้จำเลยได้รับค่าเสียหายส่วนนี้โดยกำหนดเท่ากับค่าเช่า 2 เดือน เป็นเงิน 30,000 บาท และให้โจทก์ชำระค่าน้ำประปาค่าไฟฟ้าที่ได้ความว่า โจทก์ยังไม่ได้ชำระอีก 1 เดือน เป็นเงิน 7,000 บาท โดยให้หักเงินจำนวน 37,000 บาท ดังกล่าวออกจากเงินทั้งสองจำนวนที่จำเลยจะต้องคืนให้โจทก์ก่อน จึงคงเหลือเงินที่จำเลยต้องคืนแก่โจทก์จำนวน 223,000 บาท ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษามานั้น ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ.