คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 975/2554

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

แม้ผู้เสียหายที่ 2 จะเบิกความว่า ผู้เสียหายที่ 2 เห็นจำเลยที่ 1 ถืออาวุธปืนเฉพาะตอนอยู่หน้าร้าน ขณะที่อยู่ในห้องผู้เสียหายที่ 2 ไม่ทันสังเกต แต่ในชั้นสอบสวนจำเลยที่ 1 ให้การว่าขณะที่จำเลยที่ 1 กระทำชำเราผู้เสียหายที่ 2 จำเลยที่ 1 เก็บอาวุธปืนไว้ใต้ที่นอนที่ผู้เสียหายที่ 2 นอนอยู่ และได้บอกผู้เสียหายที่ 2 ด้วยว่ามีกระสุนปืน 4 นัด ซึ่งการเก็บอาวุธปืนพกไว้ใกล้ชิดกับตัวเช่นนั้นเป็นการมีอาวุธปืนอยู่ในครอบครองของจำเลยที่ 1 และฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 มีความผิดฐานข่มขืนกระทำชำเราโดยมีอาวุธปืนแล้ว ซึ่งความผิดดังกล่าวไม่เป็นความผิดอันยอมความได้ตามบทบัญญัติแห่ง ป.อ. มาตรา 281 แม้มารดาและผู้เสียหายที่ 2 มาถอนคำร้องทุกข์ สิทธินำคดีอาญามาฟ้องของโจทก์ก็ไม่ระงับ

ย่อยาว

คดีทั้งสองสำนวนนี้ ศาลชั้นต้นพิจารณาและพิพากษารวมกัน โดยให้เรียกจำเลยในสำนวนแรกว่า จำเลยที่ 1 และให้เรียกจำเลยในสำนวนหลังว่า จำเลยที่ 2
โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสองสำนวนเป็นใจความว่า ขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32, 33, 83, 91, 276, 278, 335, 362, 364, 365, 371 พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 7, 8 ทวิ, 72, 72 ทวิ ริบอาวุธปืนของกลาง ให้จำเลยที่ 2 คืนเครื่องดื่มเบียร์ยี่ห้อช้าง 30 ขวด และเครื่องดื่มฉลาม 4 ขวด หรือใช้ราคาทรัพย์ที่ยังไม่ได้คืน 2,480 บาท แก่ผู้เสียหายที่ 1
จำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพในข้อหามีและพาอาวุธปืน ส่วนข้อหาอื่นนอกจากนี้ให้การปฏิเสธ จำเลยที่ 2 ให้การรับสารภาพในข้อหากระทำอนาจาร ส่วนข้อหาอื่นนอกจากนี้ให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 7, 8 ทวิ วรรคหนึ่ง, 72 วรรคหนึ่ง, 72 ทวิ วรรคสอง ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 371, 91 ฐานมีอาวุธปืนจำคุก 1 ปี ฐานพาอาวุธปืนเป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบทให้ลงโทษความผิดตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 6 เดือน รวมจำคุก 1 ปี 6 เดือน จำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา นับเป็นเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 9 เดือน จำเลยที่ 2 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 278, 365 (2) (3) ประกอบมาตรา 362 (ที่ถูกประกอบมาตรา 364), 83 ฐานกระทำอนาจาร จำคุก 1 ปี ฐานร่วมกันบุกรุก จำคุก 1 ปี จำเลยที่ 2 ให้การรับสารภาพในข้อหากระทำอนาจารนับเป็นเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 6 เดือน รวมจำคุก 1 ปี 6 เดือน ข้อหาอื่นสำหรับจำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้ยก คำขออื่นให้ยก
โจทก์และจำเลยที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 276 วรรคสอง จำคุก 15 ปี ทางนำสืบของจำเลยที่ 1 เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 แล้วคงจำคุก 10 ปี เมื่อรวมกับโทษจำคุกฐานมีอาวุธปืนและพาอาวุธปืนตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นแล้ว รวมเป็นจำคุก 10 ปี 9 เดือน ส่วนจำเลยที่ 2 ฐานร่วมกันบุกรุก จำคุก 6 เดือน เมื่อรวมกับโทษจำคุกฐานกระทำอนาจารตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นแล้ว รวมเป็นจำคุก 12 เดือน ริบอาวุธปืนของกลาง นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยทั้งสองฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้จำเลยที่ 2 ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติในเบื้องต้นได้ว่า ผู้เสียหายที่ 1 เป็นเจ้าของร้านอาหารบ้านเพลงที่เกิดเหตุ และเป็นนายจ้างของผู้เสียหายที่ 2 และที่ 3 ในวันเวลาเกิดเหตุตามฟ้อง ร้านที่เกิดเหตุปิดเนื่องในวันวิสาขบูชา มีคนร้ายงัดประตูเหล็กร้านที่เกิดเหตุเข้าไปลักเอาทรัพย์ตามบัญชีทรัพย์ถูกประทุษร้ายไป ผู้เสียหายที่ 2 และที่ 3 กลับมาที่ร้านที่เกิดเหตุ พบกลุ่มวัยรุ่นอยู่ในร้านและพบจำเลยที่ 1 จึงขอให้จำเลยที่ 1 พาเข้าไปในร้าน จำเลยที่ 1 แสดงอาวุธปืนพกของกลางให้กลุ่มวัยรุ่นเห็น แล้วพาผู้เสียหายที่ 2 และที่ 3 เข้าไปในร้าน ไปส่งผู้เสียหายที่ 3 ที่ห้อง จากนั้นจึงไปส่งที่ห้องผู้เสียหายที่ 2 และกระทำชำเราผู้เสียหายที่ 2 ส่วนจำเลยที่ 2 กับพวกมาที่ร้านที่เกิดเหตุ จำเลยที่ 2 ได้จับมือและหอมแก้มกระทำอนาจารผู้เสียหายที่ 3
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ว่า จำเลยที่ 1 กระทำความผิดข้อหาข่มขืนกระทำชำเราผู้เสียหายที่ 2 โดยมีอาวุธปืนหรือไม่ เห็นว่า ผู้เสียหายที่ 2 เป็นผู้หญิง การถูกกระทำชำเราเป็นเรื่องอับอายที่ต้องปิดบัง เว้นแต่จะถูกกระทำโดยไม่สมัครใจและต้องการให้ผู้กระทำถูกลงโทษจึงจะเปิดเผยหรือนำเรื่องน่าอับอายดังกล่าวไปแจ้งให้ผู้อื่นทราบ ซึ่งผู้เสียหายที่ 1 ก็ได้เบิกความว่า เมื่อผู้เสียหายที่ 1 พบกับผู้เสียหายที่ 2 หลังเกิดเหตุ ผู้เสียหายที่ 2 นั่งร้องไห้ตรงม้านั่งหินอ่อนหน้าร้าน ผู้เสียหายที่ 2 แจ้งว่า สิ่งของภายในร้านถูกเอาไปหมดแล้วและผู้เสียหายที่ 2 ถูกจำเลยที่ 1 ข่มขืนกระทำชำเรากับประสงค์จะไปแจ้งความ ซึ่งหากผู้เสียหายที่ 2 สมัครใจให้จำเลยที่ 1 กระทำชำเราแล้วก็ไม่น่าที่จะเล่าเรื่องดังกล่าวให้ผู้เสียหายที่ 1 ฟัง และพากันไปแจ้งความดำเนินคดีแก่จำเลยที่ 1 พยานหลักฐานโจทก์จึงฟังได้โดยปราศจากสงสัยว่าจำเลยที่ 1 ข่มขืนกระทำชำเราผู้เสียหายที่ 2 ส่วนที่จำเลยที่ 1 จะมีอาวุธปืนในการข่มขืนกระทำชำเราผู้เสียหายที่ 2 ด้วยหรือไม่นั้น เห็นว่า แม้ว่าผู้เสียหายที่ 2 จะเบิกความว่า ผู้เสียหายที่ 2 เห็นจำเลยที่ 1 ถืออาวุธปืนเฉพาะตอนอยู่หน้าร้าน ขณะที่อยู่ในห้องผู้เสียหายที่ 2 ไม่ทันสังเกต แต่ในชั้นสอบสวนจำเลยที่ 1 ให้การว่า ขณะที่จำเลยที่ 1 กระทำชำเราผู้เสียหายที่ 2 จำเลยที่ 1 เก็บอาวุธปืนไว้ใต้ที่นอนที่ผู้เสียหายที่ 2 นอนอยู่ และได้บอกกับผู้เสียหายที่ 2 ด้วยว่ามีกระสุนปืน 4 นัด ซึ่งสอดคล้องกับบันทึกคำให้การของผู้ต้องหาที่จำเลยที่ 1 ได้ให้การต่อพนักงานสอบสวนไว้หลังวันเกิดเหตุเพียง 1 วัน กับได้ลงลายมือชื่อรับรองความถูกต้องไว้ด้วยจึงเชื่อว่าเป็นจริงตามนั้น ซึ่งการเก็บอาวุธปืนพกไว้ใกล้ชิดกับตัวเช่นนั้นเป็นการมีอาวุธปืนอยู่ในความครอบครองของจำเลยที่ 1 และฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 มีความผิดฐานข่มขืนกระทำชำเราโดยมีอาวุธปืนแล้ว ซึ่งความผิดข้อหาดังกล่าวไม่เป็นความผิดอันยอมความได้ตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 281 ดังนั้นแม้มารดาและผู้เสียหายที่ 2 มาถอนคำร้องทุกข์ สิทธินำคดีอาญามาฟ้องของโจทก์ก็ไม่ระงับไป ฎีกาของจำเลยที่ 1 ฟังไม่ขึ้น…
พิพากษายืน

Share