คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 126/2540

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จากสาระสำคัญของสัญญาที่ระบุว่าโจทก์ต้องจัดหาพร้อมทั้งติดตั้งหินอ่อนจนสำเร็จโดยช่างที่มีฝีมือชำนาญและเมื่องานสำเร็จแล้วจะต้องมีการตรวจรับงานแล้วผู้ว่าจ้างจึงจะให้สินจ้างโจทก์ตอบแทนหากต่อมาเกิดความเสียหายโจทก์ยังต้องมีหน้าที่ทำการแก้ไขซึ่งจะเห็นได้ว่าเป็นการแก้ไขในผลงานของโจทก์หลังจากที่โจทก์ได้ทำการติดตั้งเสร็จแล้วมิได้เกี่ยวข้องกับตัวหินอ่อนที่โจทก์เป็นผู้ผลิตส่งมอบให้แก่ลูกค้าย่อมเป็นการสนับสนุนให้เห็นว่าเข้าลักษณะของสัญญาจ้างทำของสัญญาพิพาทจึงเป็นสัญญารับจ้างทำของตามบัญชีอัตราภาษีการค้าแห่งประมวลรัษฎากรโจทก์จึงมีหน้าที่ตามกฎหมายที่จะต้องเสียภาษีการค้าในการรับจ้างทำของโดยโจทก์ไม่ได้รับลดหย่อนภาษีการค้าในการค้าประเภทนี้เนื่องจากบัตรส่งเสริมการลงทุนลดหย่อนให้เฉพาะการค้าประเภทการขายของเท่านั้น โจทก์ชำระภาษีการค้าโดยมิได้มีการประเมินของเจ้าพนักงานประเมินดังนั้นโจทก์จึงมีอำนาจฟ้องขอคืนภาษีการค้าโดยไม่ต้องอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ก่อนเพราะตามมาตรา30แห่งประมวลรัษฎากรกรณีที่จะต้องอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์นั้นได้แก่กรณีที่มีการประเมินของเจ้าพนักงานประเมินเมื่อโจทก์มีอำนาจฟ้องขอคืนภาษีการค้าโดยไม่ต้องอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ก่อนปัญหาว่าโจทก์ได้อุทธรณ์ภาษีการค้าหรือไม่จึงไม่เป็นสาระแก่คดีอันควรได้รับการวินิจฉัยศาลฎีกาจึงไม่รับวินิจฉัยให้ โจทก์นำหินอ่อนที่โจทก์ผลิตเพื่อขายและทำหน้าที่ติดตั้งให้แก่ลูกค้าด้วยนั้นตามมาตรา79ทวิ(3)แห่งประมวลรัษฎากรให้ถือว่าเป็นการขายเพื่อป้องกันมิให้หลบเลี่ยงการเสียภาษีอากรและให้ถือมูลค่าของสินค้าดังกล่าวเป็นรายรับและต้องเสียภาษีการค้าประเภทการค้า1การขายของและเมื่อสัญญาพิพาทเป็นสัญญารับจ้างทำของการที่โจทก์เป็นผู้ผลิตหินอ่อนและเป็นผู้นำหินอ่อนที่โจทก์ผลิตไปรับจ้างทำของด้วยเครื่องมือเครื่องใช้ค่าแรงและอื่นๆโดยโจทก์คิดเป็นราคาเดียวกันในสินจ้างไม่แยกราคาเป็นค่าวัสดุกับค่าแรงจึงถือว่าเป็นการรับจ้างทำของตามประเภทการค้า4แห่งบัญชีอัตราภาษีการค้าอีกประเภทหนึ่งซึ่งการค้าประเภทนี้ระบุรายการประกอบการค้าว่าการรับจ้างทำของรวมทั้งการขายส่วนประกอบและวัตถุพลอยได้ประมวลรัษฎากรก็มิได้บัญญัติห้ามว่าเมื่อผู้ประกอบการค้าต้องเสียภาษีการค้าประเภทหนึ่งไปแล้วไม่ต้องเสียภาษีการค้าประเภทอื่นที่เข้าลักษณะอื่นด้วยอีกฉะนั้นโจทก์จึงต้องเสียภาษีการค้าประเภทการค้า4การรับจ้างทำของชนิด1(ฉ)ด้วยเงินได้จำนวน23,441,571.50บาทเป็นรายรับจากการรับจ้างทำของและตามบัตรส่งเสริมการลงทุนโจทก์ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเฉพาะรายได้จากการขายของเงินได้จำนวนดังกล่าวจึงเป็นเงินได้ที่ไม่ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลและต้องแยกคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลต่างหากจากเงินได้ที่ได้รับยกเว้นภาษี รายรับของโจทก์ตามสัญญาพิพาทต้องเสียภาษีการค้าตามประเภทการค้า4การรับจ้างทำของชนิด1(ฉ)การที่จำเลยที่1ได้รับชำระภาษีการค้าไว้จากโจทก์จึงเป็นการรับชำระเนื่องจากโจทก์มีหน้าที่เสียภาษีตามกฎหมายโจทก์จึงไม่มีสิทธิที่จะเรียกภาษีการค้าที่ชำระไปแล้วและดอกเบี้ยตามคำขอท้ายฟ้องคืน

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนการประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ตามเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 2 กับให้จำเลยที่ 1 คืนเงินภาษีอากรจำนวน 1,160,357.80 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยร้อยละ 1 ต่อเดือนของต้นเงินจำนวน 1,160,357.80 บาท นับตั้งแต่วันถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จหรือคืนจำนวนต้นเงินดังกล่าวให้แก่โจทก์
จำเลยทั้งสี่ให้การว่า การประเมินของเจ้าพนักงานประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ชอบด้วยกฎหมายแล้วขอให้ยกฟ้อง
ศาลภาษีอากรกลางพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าโจทก์ประกอบกิจการเป็นผู้นำเข้าหรือผู้ผลิตและขายผลิตภัณฑ์หินอ่อนระหว่างปี 2524 ถึง 2529 โดยได้รับบัตรส่งเสริมจากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนให้ได้รับการลดหย่อนภาษีการค้าสำหรับการขายผลิตภัณฑ์หรือผลิตผลร้อยละห้าสิบและให้ได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับกำไรสุทธิเป็นระยะเวลา 5 ปี ในรอบรอบระยะเวลาบัญชีปี 2524 โจทก์มีรายรับจากการขายหินอ่อนตามสัญญาพิพาททั้งสามฉบับจำนวน 23,441,571.50 บาท และได้เสียภาษีการค้าประเภทการค้า 1 การขายของ ชนิด 1 (ก) ไว้แล้ว ตามอัตราบัตรส่งเสริมการลงทุน แต่เจ้าหน้าที่ตรวจสอบของจำเลยเห็นว่ารายรับของโจทก์ดังกล่าวเป็นรายรับจากการค้าประเภทการค้า 4การรับจ้างทำของชนิด 1(ฉ) ซึ่งเป็นกิจการที่โจทก์ไม่ได้รับการส่งเสริมการลงทุน โจทก์ต้องเสียภาษีในอัตราร้อยละ 3 โจทก์ได้ร้องขอความเป็นธรรมว่า เป็นการเสียภาษีซ้ำซ้อน อธิบดีของจำเลยที่ 1ให้โจทก์ปฏิบัติตามผลการตรวจสอบ โดยขยายเวลาชำระภาษีการค้างดเบี้ยปรับและลดเงินเพิ่ม ซึ่งโจทก์ยินยอมชำระเมื่อวันที่ 5เมษายน 2534 จำนวน 1,160,357.80 บาท ต่อมาเจ้าพนักงานประเมินนำรายได้ดังกล่าวไปคำนวณเพื่อเรียกเก็บภาษีเงินได้นิติบุคคลจากโจทก์อีก โจทก์ไม่เห็นพ้องด้วยกับการประเมินจึงได้ยื่นอุทธรณ์คัดค้านการประเมิน คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์วินิจฉัยว่า การประเมินของเจ้าพนักงานประเมินเป็นการถูกต้องและชอบด้วยกฎหมายแล้ว แต่มีเหตุอันควรผ่อนผันลดเบี้ยปรับให้คงเหลือเรียกเก็บเพียงร้อยละ50 ของเบี้ยปรับตามกฎหมาย
ปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยอุทธรณ์โจทก์ประการแรกมีว่าสัญญาพิพาททั้งสามฉบับเป็นสัญญาขายของหรือรับจ้างทำของตามบัญชีอัตราภาษีการค้าแห่งประมวลรัษฎากร โจทก์จึงไม่มีหน้าที่ตามกฎหมายที่จะต้องเสียภาษีจากการรับจ้างทำของอีกหรือไม่ โจทก์มีนายไกรศักดิ์ รุ่งทิวาสุวรรณ กรรมการและผู้จัดการทั่วไปของโจทก์เป็นพยานเบิกความว่า ปกติการซื้อขายสินค้าโจทก์กับลูกค้าไม่ได้ทำสัญญาซื้อขาย แต่ลูกค้ารายใหญ่จะมุ่งในการซื้อขายสินค้าโดยไม่ได้ถือชื่อของสัญญาเป็นสาระสำคัญโจทก์จะใช้วิธีพิจารณากำหนดพื้นที่ กำหนดราคาแล้วจึงจะถือว่าเป็นการโอนกรรมสิทธิ์สินค้าจึงเป็นการซื้อขายเสร็จเด็ดขาด และตามสัญญาพิพาททั้งสามฉบับโจทก์ต้องนำสินค้าหินอ่อน พนักงานและเครื่องมือของโจทก์ไปดำเนินการตกแต่งอาคารของลูกค้าทั้งหมด ไม่มีบุคคลภายนอกเกี่ยวข้องหินอ่อนยังคงอยู่ในสภาพเดิม ซึ่งโจทก์มีรายได้จากการขายอย่างเดียวและโจทก์มีนายณรงค์ ศรีวณิชชาการ ที่ปรึกษาทั่วไปของโจทก์เป็นพยานเบิกความว่า ตามสัญญาพิพาททั้งสามฉบับเป็นการขายส่งมอบสินค้าให้ลูกค้า โดยถือเป็นการผลิตเพื่อขาย ไม่มีการคิดค่าแรงและคิดค่าวัสดุโดยคิดราคาตามเนื้อที่ นอกจากนี้โจทก์มีนางวราวรรณ อุ่นจิตรเลิศ ผู้จัดการฝ่ายบัญชีและการเงินของโจทก์เป็นพยานอีกปากเบิกความตอบคำถามค้านทนายจำเลยว่า การขายสินค้าของโจทก์แบ่งเป็น 2 ประเภท คือประเภทหนึ่งลูกค้ามาซื้อหินอ่อนไปและนำไปติดตั้งเองกับอีกประเภทหนึ่งเมื่อลูกค้าซื้อหินอ่อนแล้วโจทก์จะนำไปส่งมอบพร้อมติดตั้งหน่วยงานให้ โดยทั้งสองวิธีราคาขายสินค้าเป็นราคาเดียวกัน จึงเห็นได้ว่าวิธีการขายสินค้าของโจทก์ให้แก่ลูกค้าตามที่นางวราวรรณเบิกความมานั้นขัดกับนายไกรศักดิ์และนายณรงค์ที่ว่าถือเกณฑ์กำหนดซื้อขายเสร็จเด็ดขาดโดยใช้วิธีกำหนดราคาตามพื้นที่ โดยถือเป็นการผลิตเพื่อขายไม่มีการคิดค่าแรง ค่าวัสดุที่ใช้ติดตั้ง ทำให้รับฟังเป็นที่แน่นอนไม่ได้ทั้งการขายสินค้าให้แก่ลูกค้าโดยคิดราคาสินค้าที่ขายทั้งประเภทที่ไม่ต้องติดตั้งให้ลูกค้ากับที่ต้องไปติดตั้งให้ลูกค้าในราคาเดียวกันนั้นย่อมเป็นการผิดปกติวิสัยของผู้เป็นพ่อค้าเช่นโจทก์และก็เชื่อว่าไม่มีลูกค้าคนใดที่จะเลือกซื้อสินค้าจากโจทก์โดยไปทำการติดตั้งเองในราคาเดียวกับที่โจทก์จะต้องไปทำการติดตั้งให้ด้วย นอกจากนี้เมื่อได้พิเคราะห์เนื้อหาสัญญาพิพาททั้งสามฉบับตามเอกสารหมาย ล.2 แผ่นที่ 174 ถึง 236 จากสาระสำคัญของสัญญาที่ระบุว่า โจทก์ต้องจัดหาพร้อมทั้งติดตั้งหินอ่อนจนสำเร็จโดยช่างที่มีฝีมือชำนาญและเมื่องานสำเร็จแล้วจะต้องมีการตรวจรับงานแล้วผู้ว่าจ้างจึงจะให้สินจ้างโจทก์ตอบแทน หากต่อมาเกิดความเสียหายโจทก์ยังต้องมีหน้าที่ทำการแก้ไข ซึ่งจะเห็นได้ว่าเป็นการแก้ไขในผลงานของโจทก์หลังจากที่โจทก์ได้ทำการติดตั้งเสร็จแล้วมิได้เกี่ยวข้องกับตัวหินอ่อนที่โจทก์เป็นผู้ผลิตส่งมอบให้แก่ลูกค้าตามที่นายไกรศักดิ์เบิกความแต่ประการใด การที่สัญญาพิพาททั้งสามฉบับมีข้อความกำหนดไว้เช่นนี้ก็ย่อมเป็นการสนับสนุนให้เห็นว่า เข้าลักษณะของสัญญาจ้างทำของสอดคล้องกับที่จำเลยนำสืบมาได้เป็นอย่างดี น้ำหนักพยานโจทก์สู้พยานจำเลยไม่ได้ข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้ว่า สัญญาพิพาททั้งสามฉบับเป็นสัญญารับจ้างทำของตามบัญชีอัตราภาษีการค้าแห่งประมวลรัษฎากร โจทก์จึงหน้าที่ตามกฎหมายที่จะต้องเสียภาษีการค้าในการรับจ้างทำของโดยโจทก์ไม่ได้รับลดหย่อนภาษีการค้าในการค้าประเภทนี้ เนื่องจากบัตรส่งเสริมการลงทุนลดหย่อนให้เฉพาะการค้าประเภทการขายของเท่านั้น
ปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์โจทก์ประการที่สองมีว่าโจทก์ได้อุทธรณ์ภาษีการค้าในปัญหาเรื่องการรับจ้างทำของที่โจทก์ได้ชำระแล้วจำนวน 2,072,185.32 บาท ตามใบเสร็จรับเงินเอกสารหมายจ.1 แผ่นที่ 7 ตอนล่างสีเหลืองต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์หรือไม่ข้อเท็จจริงได้ความจากการนำสืบของโจทก์และจำเลยว่า โจทก์ชำระภาษีการค้าโดยมิได้การประเมินของเจ้าพนักงานประเมิน ดังนั้นโจทก์จึงมีอำนาจฟ้องขอคืนภาษีการค้าโดยไม่ต้องอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ก่อน เพราะตามมาตรา 30 แห่งประมวลรัษฎากร กรณีที่จะต้องอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์นั้นได้แก่กรณีที่มีการประเมินของเจ้าพนักงานประเมิน เมื่อโจทก์มีอำนาจฟ้องขอคืนภาษีการค้าโดยไม่ต้องอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ก่อนปัญหาว่าโจทก์ได้อุทธรณ์ภาษีการค้าหรือไม่จึงไม่เป็นสาระแก่คดีอันควรได้รับการวินิจฉัยศาลฎีกาจึงไม่รับวินิจฉัยให้
ปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์โจทก์ประการที่สามมีว่ารายรับของโจทก์ตามสัญญาพิพาททั้งสามฉบับจำนวน 23,441,571.50 บาทเป็นรายรับที่ต้องเสียภาษีการค้าประเภทการค้า 1 การขายของชนิด 1(ก) หรือต้องเสียภาษีการค้าประเภทการค้า 4 การรับจ้างทำของชนิด 1 (ฉ) หรือต้องเสียภาษีการค้าอย่างอื่นหรือไม่ โจทก์มีนายไกรศักดิ์และนายณรงค์เบิกความทำนองเดียวกันว่ารายรับของโจทก์ตามสัญญาพิพาททั้งสามฉบับเกิดขึ้นจากสัญญาซื้อขาย เพราะลูกค้าซื้อสินค้าจากโจทก์ไปตกแต่งอาคารของลูกค้าและโจทก์เสียภาษีในอัตราร้อยละ 4.5 ตามที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนไปแล้วการที่จำเลยให้โจทก์เสียภาษีการค้าจากการรับจ้างทำของในอัตราร้อยละ 3ซึ่งเป็นอัตราที่ต่ำกว่า อีกจึงเป็นการเรียกเก็บภาษีซ้ำซ้อนจากรายรับเดียวกันส่วนจำเลยมีนายประยูร คล้ายแก้ว นายชัยโชคอังศธรรมรัตน์ และนางสาวเกดแก้ว สรรศรีเป็นพยานเบิกความทำนองเดียวกันว่า การรับจ้างทำของไม่ใช่เป็นการผลิตสินค้าเพื่อจำหน่าย ซึ่งจำเลยที่ 1 เคยมีมติ กพอ. ครั้งที่ 1/2528 ลงวันที่8 กุมภาพันธ์ 2528 ว่า นอกจากจะต้องเสียภาษีการค้าที่ผลิตขึ้นขายแล้วเมื่อไม่ได้นำไปขายแต่นำไปรับจ้างทำของก็ต้องเสียภาษีการรับจ้างทำของด้วยนั้น เห็นว่า จากข้อเท็จจริงที่โจทก์นำหินอ่อนที่โจทก์ผลิตเพื่อขายและทำหน้าที่ติดตั้งให้แก่ลูกค้าด้วยนั้นตามมาตรา 79 ทวิ(3) แห่งประมวลรัษฎากร ให้ถือว่าเป็นการขายเพื่อป้องกันมิให้หลบเลี่ยงการเสียภาษีอากรและให้ถือมูลค่าของสินค้าดังกล่าวเป็นรายรับและต้องเสียภาษีการค้าประเภทการค้า 1การขายของและจากปัญหาข้อแรกที่ได้วินิจฉัยมาว่า สัญญาพิพาททั้งสามฉบับเป็นสัญญารับจ้างทำของ การที่โจทก์เป็นผู้ผลิตหินอ่อนและเป็นผู้นำหินอ่อนที่โจทก์ผลิตไปรับจ้างทำของด้วยเครื่องมือเครื่องใช้ ค่าแรง และอื่น ๆ โดยโจทก์คิดเป็นราคาเดียวกันในสินจ้าง ไม่แยกราคาเป็นค่าวัสดุกับค่าแรง จึงถือว่าเป็นการรับจ้างทำของตามประเภทการค้า 4 แห่งบัญชีอัตราภาษีการค้าอีกประเภทหนึ่งซึ่งการค้าประเภทนี้ระบุรายการประกอบการค้าว่าการรับจ้างทำของรวมทั้งการขายส่วนประกอบและวัตถุพลอยได้ ประมวลรัษฎากรก็มิได้บัญญัติห้ามว่าเมื่อผู้ประกอบการค้าต้องเสียภาษีการค้าประเภทหนึ่งไปแล้วไม่ต้องเสียภาษีการค้าประเภทอื่นที่เข้าลักษณะอื่นด้วยอีกฉะนั้นโจทก์จึงต้องเสียภาษีการค้าประเภทการค้า 4 การรับจ้างทำของชนิด 1(ฉ) ด้วย
ปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์โจทก์ประการที่สี่มีว่าตามระบบบัญชีโจทก์ เงินมัดจำหรือเงินประกันเป็นรายได้ของโจทก์ที่จะต้องนำมาคำนวณกำไรสุทธิทันทีหรือไม่ โจทก์มีนายไกรศักดิ์และนายณรงค์เป็นพยานเบิกความทำนองเดียวกันว่าในการซื้อขายหินอ่อนระหว่างโจทก์กับลูกค้าในขณะที่ลูกค้ามาติดต่อซื้อหินอ่อนจากโจทก์ โจทก์ยังไม่มีสินค้าตรงกับที่ลูกค้าต้องการโจทก์มีหน้าที่จัดกาให้แก่ลูกค้า ซึ่งไม่แน่ใจว่าจะจัดหาให้ได้หรือไม่เพื่อป้องกันลูกค้าเปลี่ยนใจไม่ยอมซื้อสินค้าจากโจทก์จึงต้องเรียกเงินมัดจำจากลูกค้าไว้และในกรณีจัดหาสินค้าให้แก่ลูกค้าไม่ได้โจทก์ก็จะต้องคืนเงินมัดจำให้แก่ลูกค้า จึงถือไม่ได้ว่าเงินมัดจำเป็นรายได้จนกว่าโจทก์จะส่งมอบสินค้าให้แก่ลูกค้า การที่เจ้าพนักงานประเมินถือเงินมัดจำเป็นรายได้ในการคำนวณกำไรสุทธิทันทีโดยโจทก์ใช้ระบบบัญชีเกณฑ์เงินสดจึงไม่ถูกต้อง ส่วนจำเลยมีนายชัยโชคเป็นพยานเบิกความว่าจากการตรวจสอบบัญชีโจทก์ปรากฏว่าโจทก์ได้นำเงินมัดจำจากการขายหินอ่อนที่ผลิตลงเป็นรายรับของโจทก์ทันทีที่ได้รับเงินตามสัญญาที่พิพาททั้งสามฉบับ และระหว่างโจทก์ยื่นคำร้องขอความเป็นธรรมต่ออธิบดีกรมสรรพากร โจทก์ก็ยอมรับว่าโจทก์ไม่ได้นำรายรับเงินมัดจำไปเสียภาษีอากรทันที่ เนื่องจากเข้าใจข้อกฎหมายผิดและโจทก์ก็ยินยอมเสียภาษีการค้าประเภทรับจ้างทำของด้วยความสมัครใจโดยไม่มีข้อโต้แย้งแต่ประการใด จะเห็นได้ว่าข้ออ้างของโจทก์ตามที่นำสืบมาเป็นการนำสืบลอย ๆ ไม่มีพยานหลักฐานใดมาสนับสนุน ซึ่งต่างกับจำเลยที่มีพยานบุคคลและพยานเอกสารคือสัญญาพิพาททั้งสามฉบับตามเอกสารหมาย ล.2 แผ่นที่ 228 ข้อ 19ซึ่งพอสรุปว่าเป็นส่วนหนึ่งของสินจ้างสนับสนุน และตามเอกสารหมายล.3 แผ่นที่ 195 ถึง 199 ข้อ 3.1 โจทก์ก็ยอมรับว่าโจทก์ไม่ได้นำรายรับเงินมัดจำไปเสียภาษีอากรทันทีที่ได้รับเงินมัดจำเพราะเข้าใจผิดในข้อกฎหมายและเมื่อโจทก์ได้รับคำชี้แจงจากอธิบดีกรมสรรพากรที่โจทก์ได้ร้องขอความเป็นธรรมแล้ว โจทก์ได้ยินยอมเสียภาษีการค้าประเภทจ้างทำของด้วยความสมัครใจของโจทก์เองโดยมิได้ทำการโต้แย้ง ซึ่งเป็นการเจือสมกับที่จำเลยนำสืบมา พยานจำเลยจึงมีน้ำหนักดีกว่าพยานโจทก์ ข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้ว่า ตามระบบบัญชีโจทก์เงินมัดจำหรือเงินประกันเป็นรายได้ของโจทก์ที่จะต้องนำมาคำนวณกำไรสุทธิทันที
ปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์โจทก์ประการที่ห้ามีว่าเงินได้จำนวน 23,441,571.50 บาท ต้องแยกคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลต่างหากจากเงินได้ที่ได้รับยกเว้นภาษีตามบัตรส่งเสริมการลงทุนหรือไม่ เมื่อได้วินิจฉัยมาว่าเงินได้จำนวน 23,441,571.50 บาท เป็นรายรับจากการรับจ้างทำของและตามบัตรส่งเสริมการลงทุนโจทก์ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเฉพาะรายได้จากการขายของ เงินได้จำนวนดังกล่าวจึงเป็นเงินได้ที่ไม่ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลและต้องแยกคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลต่างหากจากเงินได้ที่ได้รับยกเว้นภาษี
ปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยอุทธรณ์ตามอุทธรณ์โจทก์ประการสุดท้ายมีว่าโจทก์มีสิทธิเรียกภาษีการค้าที่ชำระไปแล้วและดอกเบี้ยตามคำขอท้ายฟ้องคืนหรือไม่ จากที่ได้วินิจฉัยปัญหาข้อที่ 3 ว่ารายรับของโจทก์ตามสัญญาพิพาททั้งสามฉบับต้องเสียภาษีการค้าตามประเภทการค้า 4 การรับจ้างทำของ ชนิด 1(ฉ) การที่จำเลยที่ 1ได้รับชำระภาษีการค้าไว้จากโจทก์ จึงเป็นการรับชำระเนื่องจากโจทก์มีหน้าที่เสียภาษีตามกฎหมาย ฉะนั้น โจทก์จึงไม่มีสิทธิที่จะเรียกภาษีการค้าที่ชำระไปแล้วและดอกเบี้ยตามคำขอท้ายฟ้องคืน
พิพากษายืน

Share