แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
กฎกระทรวง ฉบับที่ 20 (พ.ศ.2534) ออกตามความใน พ.ร.บ.ควบคุมการแลกเปลี่ยนเงิน พ.ศ.2485 ข้อ 5 ได้ยกเลิกข้อ 11 แห่งกฎกระทรวง ฉบับที่ 13 (พ.ศ.2497) เป็นผลให้ผู้เดินทางไปต่างประเทศสามารถนำเงินตราต่างประเทศออกนอกประเทศไทยได้โดยเสรี ไม่ถือเป็นการส่งหรือนำของต้องจำกัดออกไปนอกประเทศ อันจะเป็นความผิดตามกฎหมายว่าด้วยศุลกากรตาม พ.ร.บ.ควบคุมการแลกเปลี่ยนเงิน พ.ศ.2485 มาตรา 8 ทวิ ส่วนการซื้อเงินตราต่างประเทศและการไม่ขายเงินตราต่างประเทศให้แก่ผู้ได้รับอนุญาต แล้วนำเงินตราต่างประเทศออกไปนอกประเทศไทยนั้น เป็นปัญหาการฝ่าฝืนหรือละเลยไม่ปฏิบัติตามกฎกระทรวงที่ออกตามความใน พ.ร.บ.ควบคุมการแลกเปลี่ยนเงิน พ.ศ.2485 ซึ่งมีความผิดและต้องรับโทษตามมาตรา 8 ไม่ใช่ความผิดเกี่ยวกับการส่งหรือนำของต้องจำกัดออกไปนอกหรือเข้ามาในประเทศไทย ซึ่งหมายถึงของที่มีกฎหมายกำหนดว่า การส่งหรือนำของนั้นออกไปหรือเข้ามาในประเทศไทยจะต้องได้รับอนุญาตหรือปฏิบัติให้ครบถ้วนตามที่กฎหมายนั้นกำหนดไว้ โดยผู้ฝ่าฝืนจะมีความผิดเกี่ยวกับการลักลอบหนีศุลกากรตามกฎหมายว่าด้วยศุลกากร อันจะเป็นความผิดมูลฐานตามบทนิยามของ “ความผิดมูลฐาน” ในมาตรา 3 วรรคหนึ่ง (7) แห่ง พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 จึงต้องคืนเงินตราต่างประเทศดังกล่าวแก่เจ้าของ
ย่อยาว
ผู้ร้องยื่นคำร้องว่า ขอให้ศาลมีคำสั่งให้เงินตราต่างประเทศตกเป็นของแผ่นดิน ผู้ร้องจึงขอให้ศาลไต่สวนและมีคำสั่งให้เงินตราต่างประเทศรวม 12 สกุล ซึ่งคิดเป็นเงินไทยได้ 7,223,448.65 บาท พร้อมดอกผลตกเป็นของแผ่นดิน
ศาลชั้นต้นประกาศนัดไต่สวนตามกฎหมายแล้ว
ผู้คัดค้านทั้งสามยื่นคำคัดค้านว่า ขอให้ยกคำร้อง และสั่งให้คืนเงินที่ยึดไว้แก่ผู้คัดค้านที่ 1 และที่ 2 ซึ่งเป็นเจ้าของที่แท้จริง
ศาลชั้นต้นไต่สวนแล้ว มีคำสั่งให้เงินจำนวน 7,223,448.65 บาท ที่คณะกรรมการธุรกรรมมีคำสั่งยึดไว้พร้อมดอกผลตกเป็นของแผ่นดิน ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
ผู้คัดค้านทั้งสามอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ยกคำร้อง ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
ผู้ร้องฎีกา
ศาลฎีกาคณะคดีปกครองวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงยุติเจ้าหน้าที่ของสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน ซึ่งสืบสวนติดตามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดและการลักลอบนำเงินตราต่างประเทศออกนอกประเทศอยู่ที่ท่าอากาศยานกรุงเทพตรวจสอบพบว่าผู้คัดค้านที่ 3 ซึ่งกำลังจะเดินทางไปฮ่องกงถือกระเป๋าซึ่งมีเงินตราต่างประเทศรวม 12 สกุลบรรจุอยู่ เงินตราต่างประเทศทั้งหมดคิดเป็นเงินไทยในอัตราแลกเปลี่ยน ณ วันดังกล่าวเป็นเงิน 7,223,448.65 บาท ปรากฏว่าผู้คัดค้านที่ 3 ไม่มีหลักฐานการซื้อเงินตราต่างประเทศ เจ้าหน้าที่จึงยึดเงินดังกล่าวไว้ตรวจสอบ ต่อมาคณะกรรมการธุรกรรมมีคำสั่งให้ยึดเงินดังกล่าวชั่วคราว และมีมติให้เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินส่งเรื่องให้ผู้ร้องพิจารณายื่นคำร้องขอให้ศาลสั่งให้เงินตราต่างประเทศตกเป็นของแผ่นดิน ผู้ร้องพิจารณาแล้วเห็นว่าเงินดังกล่าวมิใช่ทรัพย์สินที่ได้มาจากการกระทำความผิดที่กฎหมายให้ถือว่าเป็นความผิดตามกฎหมายว่าด้วยศุลกากร มิใช่ทรัพย์สินที่ได้มาจากการกระทำความผิดฐานลักลอบหนีศุลกากรตามกฎหมายว่าด้วยศุลกากร ไม่มีเหตุผลเพียงพอที่จะยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดิน จึงแจ้งให้เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินทราบ ต่อมาคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินมีมติให้ผู้ร้องยื่นคำร้องให้ศาลมีคำสั่งให้ทรัพย์สินดังกล่าวตกเป็นของแผ่นดิน
มีปัญหาตามฎีกาของผู้ร้องว่า เงินที่ถูกยึดไว้เป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดเกี่ยวกับการลักลอบหนีศุลกากรตามกฎหมายว่าด้วยศุลกากรอันเป็นความผิดมูลฐานตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 มาตรา 3 (7) ซึ่งศาลจะต้องมีคำสั่งให้ตกเป็นของแผ่นดินหรือไม่ ผู้ร้องฎีกาว่า ในการนำเงินตราต่างประเทศออกนอกประเทศ ผู้คัดค้านที่ 3 ไม่มีหลักฐานการซื้อเงินตราต่างประเทศตามแบบ ธต. 4 (ก) มาแสดง ไม่ได้ทำการซื้อขายอย่างถูกต้อง โดยผู้คัดค้านที่ 3 แจ้งว่าจะนำเงินตราต่างประเทศออกไปยังเขตบริหารพิเศษฮ่องกงเพื่อมอบให้แก่นายชาน ทำการโอนเงินไปยังธนาคารในกรุงนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา แล้วดำเนินการโอนเงินกลับเข้ามาในประเทศไทยเพื่อชำระหนี้ค่าน้ำมันให้แก่บริษัทอุตสาหกรรมปิโตรเคมีกัลไทย จำกัด (มหาชน) หรือบริษัททีพีไอ และผู้คัดค้านที่ 2 อ้างว่าเงินเป็นของผู้คัดค้านที่ 1 และที่ 2 ซึ่งได้มอบหมายให้ผู้คัดค้านที่ 3 นำไปส่งมอบให้แก่นายชาน ที่ฮ่องกงเพื่อให้ดำเนินการโอนเข้าธนาคารสแตนดาร์ด ชาร์เตอร์ด สาขานิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา จากนั้นจึงโอนกลับมายังธนาคารสแตนดาร์ด ชาร์เตอร์ด ประเทศไทย โดยจะดำเนินการเช่นนี้สัปดาห์ละครั้ง ครั้งละประมาณ 7,000,000 บาท ถึง 8,000,000 บาท และได้กระทำเช่นนี้มาตั้งแต่จัดตั้งบริษัทเมื่อประมาณปี 2543 รวมแล้วเป็นเงินหลายร้อยล้านบาท และผู้คัดค้านทั้งสามไม่ได้ขายเงินตราต่างประเทศให้แก่ผู้ได้รับอนุญาตภายใน 7 วัน นับแต่วันที่ได้มาหรือนำเข้า พฤติการณ์เป็นการลักลอบขนเงินหรือทรัพย์สินที่ได้มาจากการกระทำซึ่งเป็นความผิดมูลฐานหรือจากการสนับสนุนหรือช่วยเหลือการกระทำซึ่งเป็นความผิดมูลฐาน เงินจำนวนดังกล่าวจึงเป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดซึ่งต้องตกเป็นของแผ่นดิน เห็นว่า พระราชบัญญัติควบคุมการแลกเปลี่ยนเงิน พ.ศ. 2485 มาตรา 8 ทวิ ซึ่งเพิ่มเติมโดยพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติควบคุมการแลกเปลี่ยนเงิน พ.ศ. 2485 (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2527 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า เพื่อประโยชน์ในการป้องกันและปราบปรามการลักลอบส่งหรือนำเงินออกไปนอกหรือเข้ามาในประเทศไทย ให้ถือว่าเงินตราต่างประเทศเป็น “ของ” ตามกฎหมายว่าด้วยศุลกากร และวรรคสองบัญญัติว่า การส่งหรือนำหรือพยายามส่งหรือนำหรือช่วยเหลือหรือเกี่ยวข้องด้วยประการใด ๆ ในการส่งหรือนำเงินตราต่างประเทศออกไปนอกหรือเข้ามาในประเทศไทย โดยฝ่าฝืนหรือละเลยไม่ปฏิบัติตามกฎกระทรวง ประกาศ หรือคำสั่งที่ออกตามความในพระราชบัญญัตินี้ ไม่ว่าจะกระทำด้วยวิธีใด ๆ ให้ถือว่าเป็นการส่งหรือนำของต้องจำกัดออกไปนอกหรือเข้ามาในประเทศไทยอันเป็นความผิดตามกฎหมายว่าด้วยศุลกากรด้วย และให้นำบทกฎหมายว่าด้วยศุลกากรและอำนาจพนักงานศุลกากรตามกฎหมายว่าด้วยการนั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่ว่าด้วยการตรวจของและป้องกันลักลอบหนีศุลกากร การตรวจค้น การยึดและริบของหรือการจับกุมผู้กระทำผิด การแสดงเท็จและการฟ้องร้อง มาใช้บังคับแก่การกระทำดังกล่าวรวมทั้งบุคคลและสิ่งของที่เกี่ยวข้อง นอกจากนี้ในมาตรา 8 ก็ได้บัญญัติว่า ผู้ใดฝ่าฝืนหรือละเลยไม่ปฏิบัติตามกฎกระทรวง ประกาศหรือคำสั่งที่ออกตามความในพระราชบัญญัตินี้มีความผิดต้องระวางโทษทางอาญา โดยที่กฎกระทรวง ฉบับที่ 13 (พ.ศ. 2497) ออกตามความในพระราชบัญญัติควบคุมแลกเปลี่ยนเงิน พ.ศ. 2485 ข้อ 11 ออกมารองรับบทบัญญัติดังกล่าวในรายละเอียดว่า ห้ามมิให้บุคคลใดส่งหรือนำปัจจัยชำระเงินต่างประเทศออกนอกประเทศ เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงาน แต่ผู้เดินทางไปต่างประเทศสามารถนำปัจจัยชำระเงินต่างประเทศไม่เกินมูลค่าที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังประกาศได้ ต่อมากฎกระทรวง ฉบับที่ 20 (พ.ศ. 2534) ออกตามความในพระราชบัญญัติควบคุมการแลกเปลี่ยนเงิน พ.ศ. 2485 ข้อ 5 ได้ยกเลิกข้อ 11 แห่งกฎกระทรวง ฉบับที่ 13 โดยมีเหตุผลในการยกเลิกตามหมายเหตุท้ายกฎกระทรวง ฉบับที่ 20 (พ.ศ. 2534)ว่า โดยที่ฐานะทางเศรษฐกิจและการเงินของประเทศเจริญเติบโตและมีความมั่นคงเพิ่มขึ้นเป็นลำดับจนในปัจจุบันเงินสำรองระหว่างประเทศมีระดับสูงเป็นที่น่าพอใจ จึงสมควรที่จะผ่อนคลายการควบคุมการแลกเปลี่ยนเงินเพื่อให้การนำเงินตราต่างประเทศเข้าออกเป็นไปโดยเสรียิ่งขึ้น อันจะสร้างความคล่องตัวในการดำเนินธุรกิจกับต่างประเทศ และสร้างความมั่นใจให้แก่วงการการเงินระหว่างประเทศ ซึ่งจะเป็นผลดีต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ จึงจำเป็นต้องออกกฎกระทรวงฉบับนี้ โดยผลของกฎกระทรวง ฉบับที่ 20 (พ.ศ. 2534) ข้อ 5 ซึ่งยกเลิกข้อ 11 แห่งกฎกระทรวง ฉบับที่ 13 (พ.ศ. 2497) จึงทำให้ผู้เดินทางไปต่างประเทศสามารถนำเงินตราต่างประเทศออกนอกประเทศไทยได้โดยเสรี ไม่ต้องได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงานอีกต่อไป การที่ผู้เดินทางไปต่างประเทศนำเงินตราต่างประเทศออกนอกประเทศไทยจึงไม่เป็นการฝ่าฝืนกฎกระทรวง ฉบับที่ 13 (พ.ศ. 2497) อันจะเป็นการส่งหรือนำเงินตราต่างประเทศออกนอกประเทศไทย ซึ่งถือเป็นการส่งหรือนำของต้องจำกัดออกไปนอกประเทศไทย อันจะเป็นความผิดตามกฎหมายว่าด้วยศุลกากรตามพระราชบัญญัติควบคุมการแลกเปลี่ยนเงิน พ.ศ. 2485 มาตรา 8 ทวิ วรรคสอง ด้วย เหตุคดีนี้เกิดเมื่อวันที่ 18 ตุลาคม 2544 เป็นเวลาที่กฎกระทรวง ฉบับที่ 13 (พ.ศ. 2497) ข้อ 11 ถูกยกเลิกไปแล้ว การกระทำของผู้คัดค้านทั้งสามจึงไม่เป็นการฝ่าฝืนกฎกระทรวงที่ออกตามความในพระราชบัญญัติควบคุมการแลกเปลี่ยนเงิน พ.ศ. 2485 เกี่ยวกับการส่งหรือนำเงินตราต่างประเทศออกไปนอกประเทศไทย ซึ่งจะเป็นความผิดเกี่ยวกับการลักลอบหนีศุลกากรตามกฎหมายว่าด้วยศุลกากร อันจะเป็นความผิดมูลฐานตามบทนิยามของ “ความผิดมูลฐาน” ในมาตรา 3 วรรคหนึ่ง (7) แห่งพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 ซึ่งศาลจะมีคำสั่งให้เงินตราต่างประเทศตกเป็นของแผ่นดินได้ แม้ต่อมาในระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกาจะมีกฎกระทรวง ฉบับที่ 25 (พ.ศ. 2550) ออกตามความในพระราชบัญญัติควบคุมการแลกเปลี่ยนเงิน พ.ศ. 2485 ข้อ 2 เพิ่มความเป็นข้อ 10 แห่งกฎกระทรวง ฉบับที่ 13 (พ.ศ. 2497) กำหนดให้บุคคลซึ่งนำเงินตราต่างประเทศอันมีมูลค่ารวมกันเกินจำนวนที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังกำหนดออกไปนอกหรือเข้ามาในประเทศไทย ต้องแจ้งรายการเกี่ยวกับเงินตราต่างประเทศต่อเจ้าหน้าที่ศุลกากรหรือเจ้าพนักงานประจำด่านตรวจคนเข้าเมือง ด่านพรมแดน หรือช่องทางอื่นใด ในขณะที่ผ่านด่านหรือช่องทางดังกล่าว โดยเงินตราต่างประเทศที่รัฐมนตรีกำหนดต้องไม่เกิน 50,000 ดอลลาร์สหรัฐหรือเทียบเท่า (ปัจจุบันรัฐมนตรีกำหนดให้นำเงินตราต่างประเทศติดตัวออกไปนอกประเทศไทยเกิน 20,000 ดอลล่าร์สหรัฐต้องสำแดงรายการที่ด่านทุกครั้ง) โดยมีเหตุผลในการออกกฎกระทรวงใหม่ตามหมายเหตุท้ายกฎกระทรวง ฉบับที่ 25 (พ.ศ. 2550) ว่า การที่ประชาชนสามารถนำเงินตราต่างประเทศออกไปนอกหรือเข้ามาในประเทศไทยโดยไม่จำกัด บางครั้งเกิดการลักลอบส่งหรือนำเงินตราต่างประเทศที่ได้มาโดยมิชอบด้วยกฎหมายออกไปนอกหรือเข้ามาในประเทศ อันเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายต่อความมั่นคงทางการเงินของประเทศ ดังนั้น เพื่อป้องกันการกระทำดังกล่าวและเพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายการปราบปรามการค้ายาเสพติดและการปราบปรามการฟอกเงินของรัฐ สมควรกำหนดมาตรการกำกับดูแลการเคลื่อนไหวของเงินตราต่างประเทศ ก็ไม่อาจนำกฎกระทรวง ฉบับที่ 25 (พ.ศ. 2550) มาใช้ย้อนหลังให้เป็นโทษแก่ผู้คัดค้านทั้งสามได้ ส่วนที่ผู้ร้องฎีกาอ้างว่า ผู้คัดค้านทั้งสามฝ่าฝืนกฎกระทรวง ฉบับที่ 13 (พ.ศ. 2497) ในส่วนที่เกี่ยวกับการซื้อเงินตราต่างประเทศมาและการไม่ขายเงินตราต่างประเทศให้แก่ผู้ได้รับอนุญาตแล้วนำเงินตราต่างประเทศออกไปนอกประเทศไทย เห็นว่า กรณีดังกล่าวเป็นปัญหาเกี่ยวกับการฝ่าฝืนหรือละเลยไม่ปฏิบัติตามกฎกระทรวงที่ออกตามความในพระราชบัญญัติควบคุมการแลกเปลี่ยนเงิน พ.ศ. 2485 ซึ่งมีความผิดและต้องรับโทษตามมาตรา 8 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว ไม่ใช่ความผิดเกี่ยวกับการส่งหรือนำของต้องจำกัดออกไปนอกหรือเข้ามาในประเทศไทย ซึ่งหมายถึงของที่มีกฎหมายกำหนดว่า การส่งหรือนำของออกไปหรือเข้ามาในประเทศไทยจะต้องได้รับอนุญาตหรือปฏิบัติให้ครบถ้วนตามที่กฎหมายกำหนดไว้ โดยผู้ฝ่าฝืนจะมีความผิดเกี่ยวกับการลักลอบหนีศุลกากรตามกฎหมายว่าด้วยศุลกากร อันจะเป็นความผิดมูลฐานตามบทนิยามของ “ความผิดมูลฐาน” ในมาตรา 3 วรรคหนึ่ง (7) แห่งพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 ซึ่งศาลจะมีคำสั่งให้เงินตราต่างประเทศที่ยึดไว้ในคดีนี้ตกเป็นของแผ่นดินได้ ศาลอุทธรณ์พิพากษามา ศาลฎีกาคณะคดีปกครองเห็นพ้องด้วยในผล ฎีกาของผู้ร้องฟังไม่ขึ้น
อนึ่ง เมื่อทรัพย์สินตามคำร้องไม่เป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด ศาลฎีกาเห็นสมควรคืนทรัพย์สินนั้นให้แก่เจ้าของที่แท้จริง
พิพากษายืน ส่วนทรัพย์สินตามคำร้องให้คืนแก่เจ้าของที่แท้จริง ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ