คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7747/2553

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

ระหว่างพิจารณาของศาลแรงงานกลางโจทก์ที่ 3 ยื่นคำร้องขอถอนคำฟ้องและศาลแรงงานกลางอนุญาตให้โจทก์ที่ 3 ถอนคำฟ้องแล้ว การถอนคำฟ้องดังกล่าวย่อมลบล้างผลแห่งการยื่นคำฟ้องนั้น รวมทั้งกระบวนพิจารณาอื่นๆ อันมีมาต่อภายหลังยื่นคำฟ้อง และกระทำให้คู่ความกลับคืนสู่ฐานะเดิมเสมือนหนึ่งมิได้มีการยื่นฟ้องเลย ตามป.วิ.พ. มาตรา 176 ประกอบพ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 31 โจทก์ที่ 3 ไม่อยู่ในฐานะคู่ความและมิได้มีส่วนได้เสียในผลแห่งคดีตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลางโจทก์ที่ 3 จึงไม่มีอำนาจอุทธรณ์
ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่าขณะทำบันทึกการรับเงินค่าชดเชยและเงินอื่น ๆ ซึ่งมีข้อความว่าโจทก์แต่ละคนไม่ติดใจเรียกร้องหรือดำเนินคดีใดๆ กับนายจ้างอีก โจทก์ทราบอยู่แล้วว่าถูกจำเลยเลิกจ้าง ซึ่งโจทก์แต่ละคนย่อมมีอำนาจในการตัดสินใจโดยไม่อยู่ในภาวะที่ต้องเกรงกลัวจำเลยซึ่งเป็นนายจ้างอีกต่อไป การที่โจทก์ทุกคนลงลายมือชื่อในใบรับเงินจึงต้องผูกพันตามข้อความในหนังสือดังกล่าวดังนั้น อุทธรณ์ของโจทก์ที่ 1 ที่ 5 ถึงที่ 8 ที่ 10 และที่ 13 จึงเป็นการโต้แย้งดุลพินิจในการรับฟังข้อเท็จจริงของศาลแรงงานกลาง เพื่อให้ศาลรับฟังข้อเท็จจริงเป็นว่า ขณะโจทก์แต่ละคนลงชื่อในบันทึกการรับเงินค่าชดเชยและเงินอื่นๆ โจทก์แต่ละคนไม่มีอิสระในการตัดสินใจและยังอยู่ในภาวะที่ต้องเกรงกลัวจำเลยซึ่งเป็นนายจ้างเพื่อนำไปสู่ข้อกฎหมายตามอุทธรณ์ จึงเป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริง ต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตามพ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 54 วรรคหนึ่ง
บันทึกการรับเงินที่โจทก์ที่ 1 ที่ 5 ถึงที่ 8 ที่ 10 และที่ 13 ทำกับจำเลยเกิดจากการที่จำเลยเลิกจ้างลูกจ้างซึ่งร่วมถึงโจทก์บางคนและเกิดจากการที่โจทก์บางคนลาออกจารการเป็นลูกจ้างของจำเลยจำเลยจึงตกลงกับโจทก์ที่ 1 ที่ 5 ถึงที่ 8 ที่ 10 และที่ 13 เพื่อระงับสิทธิเรียกร้องต่าง ๆ ของโจทก์ที่ 1 ที่ 5 ถึงที่ 8 ที่ 10 และที่ 13 เกี่ยวกับสัญญาจ้างแรงงาน การเลิกจ้าง และการลาออก โดยในขณะที่ทำบันทึกโจทก์ทุกคนทราบอยู่แล้วว่าถูกจำเลยเลิกจ้าง การที่โจทก์ทุกคนลงลายมือชื่อในบันทึกรับเงินย่อมผูกพันตามข้อความในหนังสือนั้นดังนั้น คำว่า ข้าพเจ้าไม่ติดใจที่จะเรียกร้องหรือดำเนินคดีใดๆ กับนายจ้างอีกตามบันทึกการรับเงินค่าชดเชย ย่อมหมายความรวมถึงค่าครองชีพด้วย จำเลยจึงไม่ต้องนำเงินค่าครองชีพจำนวน 700 บาท ไปรวมคำนวณจ่ายค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าให้แก่โจทก์ที่ 1 ที่ 5 ถึงที่ 8 ที่ 10 และที่ 13

ย่อยาว

คดีทั้งสิบสามสำนวนนี้ ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งให้รวมการพิจารณาพิพากษาเข้าด้วยกัน โดยให้เรียกโจทก์เรียกตามลำดับสำนวนว่า โจทก์ที่ 1 ถึงโจทก์ที่ 13 และเรียกจำเลยทุกสำนวนว่า จำเลย
โจทก์ทั้งสิบสามสำนวนฟ้องว่า โจทก์ทุกคนเป็นพนักงานของจำเลย ค่าจ้างกำหนดจ่ายทุกวันที่ 15 และ 30 ของทุกเดือน ต่อมาวันที่ 1 มีนาคม 2547 จำเลยเลิกจ้างโจทก์ทั้งสิบสามโดยจ่ายค่าชดเชยให้ตามกฎหมายและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าคนละ 1 เดือน โดยคิดจากอัตราค่าจ้างสุดท้ายของโจทก์ทั้งสิบสามตามลำดับดังนี้ 6,099 บาท 6,231 บาท 12,540 บาท 9779 บาท 13,948 บาท 20,931 บาท 10,755 บาท 17,745 บาท 9,897 บาท 9,824 บาท 7,709 บาท และ 20,432 บาท ซึ่งในค่าจ้างสุดท้ายดังกล่าวนั้นรวมเงินค่าครองชีพคนละ 700 บาท อยู่ด้วย จำเลยจ่ายค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าโดยไม่รวมค่าครองชีพคนละ 700 บาท ให้โจทก์แต่ละคน จึงเป็นการจ่ายโดยไม่ถูกต้อง ขอให้บังคับจำเลยจ่ายเงินให้แก่โจทก์ทั้งสิบสามคนละเท่า ๆ กันคืนให้จ่ายค่าจ้างค้างจ่าย (ที่ถูกต้องคือค่าชดเชยในส่วนที่ยังขาดอยู่) เป็นเงินคนละ 5,600 บาท สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าที่ยังขาดอยู่คนละ 700 บาท รวมเป็นเงินคนละ 6,300 บาท พร้อมเงินเพิ่มในอัตราร้อยละ 15 ของเงินดังกล่าวทุกระยะ 7 วัน นับแต่วันที่เลิกจ้าง
จำเลยทั้งสิบสามสำนวนให้การว่า โจทก์ทั้งสิบสามไม่มีอำนาจฟ้องเนื่องจากใบมอบอำนาจไม่ถูกต้อง ลายมือชื่อผู้มอบอำนาจของโจทก์ทั้งสิบสามเป็นลายมือชื่อปลอม โจทก์ไม่มีสิทธิได้รับเงินในส่วนดังกล่าวอีกเนื่องจากโจทก์ที่ 1 ที่ 3 ที่ 4 ที่ 8 ที่ 9 ที่ 11 ที่ 12 และที่ 13 ได้ลาออกด้วยความสมัครใจ ส่วนโจทก์ที่เหลือซึ่งจำเลยเลิกจ้างก็แสดงเจตนาไม่ติดใจเรียกร้องเงินอื่นจากจำเลยอีก ขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างการพิจารณาของศาลแรงงานกลางโจทก์ที่ 2 ที่ 3 ที่ 9 ที่ 11 และที่ 12 ขอถอนฟ้อง ศาลแรงงานกลางอนุญาตเหลือโจทก์รวม 8 คน
ศาลแรงงานกลางพิพากษายกฟ้อง
โจทก์ที่ 1 ที่ 3 ที่ 5 ถึงที่ 10 และที่ 13 อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยเป็นประการแรกตามคำแก้อุทธรณ์ของจำเลยที่ตั้งประเด็นมาว่า โจทก์ที่ 3 มีอำนาจอุทธรณ์หรือไม่ เห็นว่า ระหว่างพิจารณาของศาลแรงงานกลางโจทก์ที่ 3 ยื่นคำร้องขอถอนคำฟ้องและศาลแรงงานกลางอนุญาตให้โจทก์ที่ 3 ถอนคำฟ้องแล้ว การถอนคำฟ้องดังกล่วย่อมลบล้างผลแห่งการยื่นคำฟ้องนั้น รวมทั้งกระบวนพิจารณาอื่นอันมีมาต่อภายหลังยื่นคำฟ้อง และกระทำให้คู่ความกลับคืนสู่ฐานะเดิมเสมือนหนึ่งมิได้มีการยื่นฟ้องเลย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 176 ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตราร 31 โจทก์ที่ 3 ไม่อยู่ในฐานะคู่ความและมิได้มีส่วนได้เสียในผลแห่งคดีตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง โจทก์ที่ 3 ไม่มีอำนาจอุทธรณ์ ที่ศาลแรงงานกลางรับอุทธรณ์ของโจทก์ที่ 3 จึงไม่ชอบ ให้ยกอุทธรณ์ของโจทก์ที่ 3 เสีย
ที่โจทก์ที่ 1 ที่ 5 ถึงที่ 8 ที่ 10 และที่ 13 อุทธรณ์ว่า บันทึกการรับเงินค่าชดเชยและเงินอื่นๆ ของโจทก์ที่ 1 ที่ 5 ถึงที่ 8 ที่ 10 และที่ 13 ขัดต่อพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 โดยอ้างว่าจำเลยอาศัยโอกาสที่มีการเลิกจ้างโจทก์ โจทก์กำลังเดือดร้อนเพราะถูกเลิกจ้าง จำเลยให้โจทก์ที่ 1 ที่ 5 ถึงที่ 8 ที่ 10 และที่ 13 ลงชื่อในบันทึกการรับเงินค่าชดเชยเป็นการกระทำที่ไม่สุจริตเอาเปรียบลูกจ้าง โจทก์ที่ 1 ที่ 5 ถึงที่ 8 ที่ 10 และที่ 13 ไม่สามารถทักท้วงในขณะนั้นได้และจากคำเบิกความของนายวิศาลก็ไม่ปรากฏว่าจำเลยได้ชี้แจงรายละเอียดการจ่ายเงินในการปรับลดพนักงานอย่างไร และการปรับลดพนักงานของจำเลยก็มิใช่เหตุที่จำเลยไม่สามารถดำเนินกิจการต่อไปได้ การที่จำเลยปฏิเสธไม่ยอมจ่ายเงินให้แก่โจทก์ เป็นการกระทำที่ขัดต่อพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 นั้น เห็นว่า ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่าขณะทำบันทึกการรับเงินค่าชดเชยและเงินอื่นๆ ซึ่งมีข้อความว่าโจทก์แต่ละคนไม่ติดใจเรียกร้องหรือดำเนินคดีใดๆ กับนายจ้างอีก โจทก์ทราบอยู่แล้วว่าถูกจำเลยเลิกจ้าง ซึ่งโจทก์แต่ละคนย่อมมีอำนาจในการตัดสินใจโดยไม่อยู่ในภาวะที่ต้องเกรงกลัวจำเลยซึ่งเป็นนายจ้างอีกต่อไป การที่โจทก์ดังกล่าวทุกคนลงลายมือชื่อในใบรับเงินดังกล่าสวจึงย่อมผูกพันตามข้อความในหนังสือดังกล่าว ดังนั้น อุทธรณ์ของโจทก์ที่ 1 ที่ 5 ถึงที่ 8 ที่ 10 และที่ 13 จึงเป็นกรโต้แย้งดุลพินิจในการรับฟังข้อเท็จจริงของศาลแรงงานกลาง เพื่อให้ศาลรับฟังข้อเท็จจริงเป็นว่า ขณะโจทก์แต่ละคนลงชื่อในบันทึกการรับเงินค่าชดเชยและเงินอื่นๆ โจทก์แต่ละคนไม่มีอิสระในการตัดสินใจและยังอยู่ในภาวะที่ต้องเกรงกลัวจำเลยซึ่งเป็นนายจ้างเพื่อนำไปสู่ข้อกฎหมายตามอุทธรณ์ ดังนั้นอุทธรณ์ของโจทก์ที่ 1 ที่ 5 ถึงที่ 8 ที่ 10 และที่ 13 ดังกล่าวเป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงจึงต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 54 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
คดีมีปัญหาวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ที่ 1 ที่ 5 ถึงที่ 8 ที่ 10 และที่ 13 ประการต่อไปว่า จำเลยจะต้องนำเงินค่าครองชีพจำนวน 700 บาท ไปรวมคำนวณค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าให้แก่โจทก์ที่ 1 ที่ 5 ถึงที่ 8 ที่ 10 และที่ 13 หรือไม่โจทก์ที่ 1 ที่ 5 ถึงที่ 8 ที่ 10 และที่ 13 อุทธรณ์ว่า บันทึกการรับเงินค่าชดเชยและเงินอื่นๆ ตามเอกสารหมาย จ.3 จ.5 จ.7 (ล.6) จ.9 (ล.8) จ.12 จ.14 และ จ.19 ตามลำดับ มีข้อความว่า ไม่ติดใจเรียกร้องเงินใดๆ อีก มิได้หมายความรวมถึงเงินค่าครองชีพที่เป็นค่าจ้างที่จำเลยมีหน้าที่ต้องจ่ายให้แก่โจทก์ดังกล่าว เห็นว่า ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยโดยฟังข้อเท็จจริงว่า โจทก์ดังกล่าวเป็นอดีตพนักงานของจำเลย ได้รับค่าจ้างสุดท้าย กำหนดการจ่ายค่าจ้างและการเลิกจ้างรวมทั้งการจ่ายเงินค่าชดเชขและสินจ้างแทนการบอกล่าวล่วงหน้าเป็นไปตามคำฟ้องสำหรับค่าจ้างสุดท้ายของโจทก์ร่วมค่าครองชีพคนละ700 บาทด้วย ซึ่งการจ่ายเงินค่าชดเชย สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าและเงินอื่น ๆ โจทก์ที่ 1 ที่ 5 ถึงที่ 8 ที่ 10 และที่ 13 ได้ทำบันทึกการรับเงินค่าชดเชยและเงินอื่นๆ ไว้ตามบันทึกเอกสารหมาย จ.5 จ.19 จ.9 (ล.8) จ.7 (ล.6) จ.12 จ.3 และ จ.14 ตามลำดับแต่การจ่ายเงินดังกล่าวจำเลยไม่ได้จ่ายในส่วนของค่าครองชีพจำนวน 700 บาท ให้แก่โจทก์ด้วย สำหรับปัญหาตามอุทธรณ์นั้น เห็นว่าบันทึกการรับเงินดังกล่าวเกิดจากการที่จำเลยเลิกจ้างลูกจ้างซึ่งรวมถึงโจทก์บางคน และเกิดจากการที่โจทก์บางคนลาออกจากการเป็นลูกจ้างของจำเลย จำเลยจึงตกลงกับโจทก์ที่ 1 ที่ 5 ถึงที่ 8 ที่ 10 และที่ 13 เพื่อระงับสิทธิเรียกร้องต่างๆ ของโจทก์ที่ 1 ที่ 5 ถึงที่ 8 ที่ 10 และที่ 13 เกี่ยวกับสัญญาจ้างแรงงาน การเลิกจ้าง และการลาออกโดยในขณะที่ทำบันทึกดังกล่าวโจทก์ทุกคุนทราบอยู่แล้วว่าถูกจำเลยเลิกจ้าง การที่โจทก์ทุกคนลงลายมือชื่อในบันทึกรับเงินย่อมผูกพันตามข้อความในหนังสือนั้น ดังนั้น คำว่า ข้าพเจ้าไม่ติดใจที่จะเรียกร้องหรือดำเนินคดีใดๆ กับนายจ้างอีกตามบันทึกการรับเงินค่าชดเชย เอกสารหมาย จ.3 จ.5 จ.7 (ล.6) จ.9 (ล.8) จ.12 จ.14 และ จ.19 ย่อมหมายความรวมถึงค่าครองชีพด้วย จำเลยจึงไม่ต้องนำเงินค่าครองชีพจำนวน 700 บาท ไปรวมคำนวณจ่ายค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าให้แก่โจทก์ที่ 1 ที่ 5 ถึงที่ 8 ที่ 10 และที่ 13 อุทธรณ์ของโจทก์ที่ 1 ที่ 5 ถึงที่ 8 ที่ 10 และที่ 13 ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share