แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
งานสถาปัตยกรรมต้องเป็นงานที่เกี่ยวข้องกับอาคารหรือสิ่งปลูกสร้าง (Building) ไม่ใช่เป็นเพียงการออกแบบตกแต่งสถานที่ที่ใช้ในการผลิตรายการ ซึ่งไม่ได้เกี่ยวข้องกับอาคารหรือสิ่งปลูกสร้างใด ๆ โดยตรง งานภาพร่างและงานภาพประกอบต้องเกี่ยวกับภูมิศาสตร์ ภูมิประเทศหรือวิทยาศาสตร์ด้วย เมื่อรูปแบบรายการเกมโชว์ไม่อาจพิจารณาว่าเป็นงานภาพร่าง งานภาพประกอบ และงานสถาปัตยกรรมแล้ว ย่อมไม่อาจเป็นงานศิลปประยุกต์ได้
การเล่นเกมโชว์นับเป็นการแข่งขันภายใต้กรอบกติกาที่กำหนดไว้ ซึ่งผู้เล่นเกมโชว์มีอิสระที่จะกระทำการใด ๆ ภายใต้กรอบกติกาดังกล่าวเพื่อให้ตนชนะการเล่นเกมโชว์นั้น มิใช่ว่าผู้เล่นเกมโชว์จะต้องปฏิบัติตนไปตามรูปแบบและกฎกติกาที่กำหนดไว้ เพราะมิเช่นนั้นแล้วการเล่นเกมโชว์ย่อมจะไม่ใช่การแข่งขันอย่างแท้จริง การเล่นเกมโชว์จึงเป็นเช่นเดียวกับการแข่งขันกีฬา มิใช่งานเกี่ยวกับการรำการเต้น การทำท่า หรือการแสดงที่ประกอบขึ้นเป็นเรื่องราวอันจะถือได้ว่าเป็นงานนาฏกรรม รูปแบบรายการเกมโชว์ของโจทก์จึงไม่ใช่งานนาฏกรรม
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลตามกฎหมายของประเทศสาธารณรัฐฝรั่งเศส เมื่อประมาณปี 2505 ถึง 2546 นายกี และนายคลอเด ได้ร่วมกันคิดสร้างสรรค์รูปแบบรายการเกมโชว์ขึ้น มีชื่อรายการว่า Intercities อ่านว่า “อินเตอร์ซิตี้ส์” และหรือ Intervills ในภาษาฝรั่งเศสอ่านว่า “แองแตร์วิลส์” โดยแต่ละรูปแบบของเกมจะเริ่มต้นด้วยการเขียนเป็นภาพร่างและหรือภาพประกอบ มีการสร้างสรรค์หุ่นจำลองของวัสดุอุปกรณ์ตามภาพร่างและหรือภาพประกอบ รวมทั้งการออกแบบตกแต่งสถานที่ที่ใช้ในการผลิตรายการ รูปแบบของรายการดังกล่าวจึงเป็นงานสร้างสรรค์ทางศิลปกรรมประเภทงานภาพร่าง งานภาพประกอบ และงานสถาปัตยกรรมรวมกัน อันเป็นงานศิลปประยุกต์ที่มีลิขสิทธิ์ตามกฎหมายของประเทศสาธารณรัฐฝรั่งเศส และเป็นกรรมการแข่งขันตามรูปแบบและกฎกติกาที่กำหนดไว้ จึงเป็นงานสร้างสรรค์ประเภทงานนาฏกรรมที่มีลิขสิทธิ์ตามกฎหมายของประเทศสาธารณรัฐฝรั่งเศส ทั้งยังมีการนำรายการดังกล่าวออกแพร่เสียงแพร่ภาพทางโทรทัศน์ในประเทศสาธารณรัฐฝรั่งเศส จึงเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ประเภทงานแพร่เสียงแพร่ภาพด้วย ทั้งนี้ประเทศสาธารณรัฐฝรั่งเศสเป็นประเทศภาคีในอนุสัญญากรุงเบอร์นว่าด้วยการคุ้มครองงานวรรณกรรมและศิลปกรรมอันเป็นอนุสัญญาว่าด้วยการคุ้มครองลิขสิทธิ์ซึ่งประเทศไทยเป็นภาคีอยู่ด้วย โจทก์ได้รับอนุญาตจากนายกี และนายคลอเด ให้เป็นผู้มีสิทธิแต่เพียงผู้เดียวในการดำเนินการใด ๆ เกี่ยวกับรูปแบบและรายการเกมโชว์ดังกล่าว รวมทั้งสิทธินำรายการออกเผยแพร่ต่อสาธารณชน และมีสิทธิดำเนินการทางกฎหมายแก่ผู้กระทำละเมิดสิทธิในรายการดังกล่าวด้วย เมื่อประมาณเดือนมกราคม 2548 จำเลยได้นำรูปแบบของรายการเกมโชว์อินเตอร์ซิตี้ส์ และหรือแองแตร์วิลส์ ของโจทก์ ไปทำซ้ำหรือดัดแปลงโดยการจัดทำรายการเกมโชว์ชื่อว่า ไทยแลนด์อเมซซิ่งเกมส์ (Thailand Amazing Games) ซึ่งมีลักษณะของรูปแบบรายการลอกเลียนแบบรายการอินเตอร์ซิตี้ส์ และหรือแองแตร์วิลส์ ในส่วนที่เป็นสาระสำคัญทั้งหมด โดยไม่ได้รับความยินยอมจากโจทก์ และจำเลยได้นำเอาเทปบันทึกรายการไทยแลนด์อเมซซิ่งเกมส์ที่จัดทำขึ้นนั้นไปทำให้ปรากฏแก่สาธารณชนด้วยการนำออกโฆษณาและแพร่เสียงแพร่ภาพทางสถานีโทรทัศน์สีช่อง 3 ทุกวันเสาร์ เวลาประมาณ 15.45 ถึง 16.45 นาฬิกา โดยเริ่มตั้งแต่วันเสาร์ที่ 15 มกราคม 2548 เป็นต้นมา โดยไม่ได้รับอนุญาตจากโจทก์ โจทก์มีหนังสือห้ามไม่ให้จัดทำรายการไทยแลนด์อเมซซิ่งเกมส์ดังกล่าวแล้ว แต่จำเลยเพิกเฉย ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์รวมเป็นเงิน 730,005,316 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์เป็นรายเดือน เดือนละ 672,672,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะหยุดการกระทำละเมิดต่อโจทก์ ให้จำเลยหยุดผลิตและหรือแพร่เสียงแพร่ภาพรายการไทยแลนด์อเมซซิ่งเกมส์ ให้ยึดหรืออายัดเครื่องมือ อุปกรณ์ และเอกสารต่าง ๆ ที่ใช้ในการจัดทำรายการไทยแลนด์อเมซซิ่งเกมส์ รวมทั้งวิดีโอเทปที่ได้แพร่เสียงแพร่ภาพออกอากาศไปแล้ว และที่ยังมิได้นำฉายออกอากาศ ให้จำเลยลงโฆษณาคำพิพากษาของศาลในหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ เดลินิวส์ กรุงเทพธุรกิจ บางกอกโพสต์ และเดอะเนชั่นเป็นเวลา 15 วัน
จำเลยให้การว่า โจทก์อ้างว่า ตนได้รับอนุญาตให้ใช้สิทธิจากเจ้าของลิขสิทธิ์ จึงไม่ใช่ผู้รับโอนสิทธิในงานอันมีลิขสิทธิ์ และไม่มีสิทธินำคดีขึ้นสู่ศาลในฐานะผู้เสียหายโดยตรง เอกสารท้ายคำฟ้องไม่ใช่หนังสือมอบอำนาจที่นายกี และนายคลอเด ได้มอบอำนาจให้โจทก์ดำเนินคดีนี้แทนโดยเฉพาะเจาะจง หรือเป็นหนังสือมอบอำนาจให้มีการดำเนินคดีโดยชัดแจ้ง จำเลยไม่ได้กระทำละเมิดลิขสิทธิ์ต่อโจทก์ จำเลยในฐานะผู้สร้างสรรค์และผลิตรายการไทยแลนด์อเมซซิ่งเกมส์ให้กับสถานีโทรทัศน์สีช่อง 3 ซึ่งเป็นเกมการแข่งขัน และการละเล่น โดยจำเลยได้ความคิด แนวความคิดมาจากซอนแดต โปรดักชั่น ลิมิเต็ด (SONDAT PRODUCTION LEMITED) ซึ่งเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในงานวรรณกรรมไทยแลนด์อเมซซิ่งเกมส์ โดยทีมงานสร้างสรรค์ได้ประยุกต์ใช้ให้เหมาะสมกับสภาพแนวความคิดในรูปแบบรายการบันเทิง เพื่อแพร่เสียงแพร่ภาพรายการเกมโชว์ “อินเตอร์ซิตี้ส์” หรือ “แองแตร์วิลส์” ของโจทก์ มีเค้าโครงเป็นเรื่องของการแข่งขันเกมธรรมดา ไม่มีสาระเพียงพอที่กฎหมายจะให้ความคุ้มครอง ไม่เป็นเรื่องเป็นราวและมิได้แสดงออกให้เห็นถึงลักษณะเฉพาะของงานที่อ้างว่าเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ อันจะได้รับความคุ้มครองตามกฎหมาย หากรายการเกมโชว์ตามคำฟ้องจะได้รับความคุ้มครองในฐานะงานศิลปประยุกต์ตามที่โจทก์กล่าวอ้าง ก็สิ้นอายุการคุ้มครองตามกฎหมาย และตกเป็นสมบัติสาธารณะแล้ว ค่าเสียหายที่โจทก์เรียกร้องเกินกว่าความเป็นจริง ขอให้ยกฟ้อง
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์และจำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว คดีมีข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติในเบื้องต้นตามที่คู่ความไม่โต้แย้งกันว่า นายกี และนายคลอเด ได้สร้างสรรค์รายการเกมโชว์ทางโทรทัศน์ ภายใต้ชื่อว่า “อินเตอร์ซิตี้ส์” และหรือ “แองแตร์วิลส์” จำเลยผลิตรายการเกมโชว์ ไทยแลนด์อเมซซิ่งเกมส์ เผยแพร่ทางโทรทัศน์ ปรากฏตามวัตถุพยานหมาย วจ.1 ถึง วจ.11
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์มีว่า รูปแบบรายการเกมโชว์ที่ใช้ชื่อว่า “อินเตอร์ซิตี้ส์” เป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ที่ได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายหรือไม่ สำหรับประเด็นว่า รูปแบบรายการเกมโชว์ของโจทก์เป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ประเภทศิลปประยุกต์ที่นำเอางานศิลปกรรมประเภทงานภาพร่าง ภาพประกอบ และหรืองานสถาปัตยกรรม อย่างใดอย่างหนึ่งหรือหลายอย่างมารวมกันหรือไม่ เห็นว่า ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 4 ได้ให้นิยามศัพท์คำว่า “ศิลปกรรม” ไว้โดย (4) งานสถาปัตยกรรม ได้แก่ งานออกแบบอาคารหรือสิ่งปลูกสร้าง งานออกแบบตกแต่งภายในหรือภายนอก ตลอดจนบริเวณของอาคารหรือสิ่งปลูกสร้าง หรือการสร้างสรรค์หุ่นจำลองของอาคารหรือสิ่งปลูกสร้าง (6) งานภาพประกอบ แผนที่ โครงสร้าง ภาพร่าง หรืองานสร้างสรรค์รูปทรงสามมิติ อันเกี่ยวกับภูมิศาสตร์ ภูมิประเทศ หรือวิทยาศาสตร์ และ (7) งานศิลปประยุกต์ ได้แก่ งานที่นำเอางานตาม (1) ถึง (6) อย่างใดอย่างหนึ่งหรือหลายอย่างรวมกันไปใช้ประโยชน์อย่างอื่น นอกเหนือจากการชื่นชมในคุณค่าของตัวงานดังกล่าวนั้น เช่น นำไปใช้สอย นำไปตกแต่งวัสดุหรือสิ่งของอันเป็นเครื่องใช้ หรือนำไปใช้เพื่อประโยชน์ทางการค้า จะเห็นได้ว่า ในส่วนของงานสถาปัตยกรรมนั้นจะต้องเป็นงานที่เกี่ยวข้องกับอาคารหรือสิ่งปลูกสร้าง (Building) ไม่ใช่เป็นเพียงการออกแบบตกแต่งสถานที่ที่ใช้ในการผลิตรายการ ซึ่งไม่ได้เกี่ยวข้องกับอาคารหรือสิ่งปลูกสร้างใด ๆ โดยตรง สำหรับงานภาพร่างและงานภาพประกอบนั้น ตามนิยามศัพท์ข้างต้น งานภาพร่าง และงานภาพประกอบจะต้องเกี่ยวกับภูมิศาสตร์ ภูมิประเทศ หรือวิทยาศาสตร์ด้วย ไม่ใช่งานภาพร่างหรืองานภาพประกอบใด ๆ ก็ได้ตามที่โจทก์อุทธรณ์โดยอ้างกฎหมายของประเทศสาธารณรัฐฝรั่งเศส เมื่อรูปแบบรายการเกมโชว์ไม่อาจพิจารณาว่าเป็นงานภาพร่าง งานภาพประกอบ และงานสถาปัตยกรรมแล้ว ย่อมไม่อาจเป็นงานศิลปประยุกต์ตามฟ้องได้
สำหรับประเด็นว่า รูปแบบรายการเกมโชว์ของโจทก์เป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ประเภทงานนาฏกรรมหรือไม่ เห็นว่า นิยามศัพท์คำว่า งานนาฏกรรม หมายความว่า “งานเกี่ยวกับการรำ การเต้น การทำท่า หรือการแสดงที่ประกอบขึ้นเป็นเรื่องราว” แม้โจทก์จะนำสืบในทำนองว่า การเล่นเกมโชว์เป็นไปตามรูปแบบและกฎกติกาที่มีการกำหนดเอาไว้ ถือเป็นการแสดงที่ประกอบขึ้นเป็นเรื่องราว แต่จะเห็นได้ว่า การเล่นเกมโชว์นับเป็นการแข่งขันภายใต้กรอบกติกาที่กำหนดไว้ ซึ่งผู้เล่นเกมโชว์มีอิสระที่จะกระทำการใด ๆ ภายใต้กรอบกติกาดังกล่าวเพื่อให้ตนชนะการเล่นเกมโชว์นั้น หาใช่ว่าผู้เล่นเกมโชว์จะต้องปฏิบัติตนไปตามรูปแบบและกฎกติกาที่กำหนดไว้ เพราะมิเช่นนั้นแล้ว การเล่นเกมโชว์ย่อมจะไม่ใช่การแข่งขันอย่างแท้จริง การเล่นเกมโชว์จึงเป็นเช่นเดียวกับการแข่งขันกีฬา หาใช่งานเกี่ยวกับการรำ การเต้น การทำท่า หรือการแสดงที่ประกอบขึ้นเป็นเรื่องราวอันจะถือได้ว่าเป็นงานนาฏกรรมได้ รูปแบบรายการเกมโชว์ตามฟ้องของโจทก์จึงไม่ใช่งานนาฏกรรม
สำหรับประเด็นเรื่องงานแพร่เสียงแพร่ภาพนั้น แม้จะรับฟังว่ารูปแบบรายการเกมโชว์เป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ดังที่โจทก์กล่าวอ้าง แต่โจทก์บรรยายฟ้องและนำสืบว่า จำเลยทำซ้ำหรือดัดแปลงรูปแบบรายการเกมโชว์ดังกล่าว โดยการจัดรายการเกมโชว์ชื่อว่า “ไทยแลนด์อเมซซิ่งเกมส์” ซึ่งไม่ปรากฏว่าการกระทำของจำเลยนั้นจะเป็นการละเมิดงานที่นำออกสู่สาธารณชนโดยการแพร่เสียงแพร่ภาพทางโทรทัศน์ตามมาตรา 29 (1) – (3) แห่งพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 แต่อย่างใด จึงไม่อาจรับฟังว่า การกระทำของจำเลยเป็นการละเมิดอันจะต้องรับผิดต่อโจทก์ได้ ดังนั้น ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางวินิจฉัยมาจึงชอบแล้ว ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศเห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของโจทก์ในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ส่วนที่โจทก์อุทธรณ์ว่า รูปแบบรายการเกมโชว์ตามฟ้องของโจทก์เป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ประเภทศิลปประยุกต์ที่นำเอางานศิลปกรรมประเภทงานภาพร่าง ภาพประกอบ งานสถาปัตยกรรม งานจิตรกรรม และหรืองานประติมากรรม อย่างใดอย่างหนึ่งหรือหลายอย่างมารวมกัน และเป็นงานวรรณกรรมด้วยนั้น เห็นว่า โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่า รูปแบบรายการเกมโชว์ “อินเตอร์ซิตี้ส์” และหรือ “แองแตร์วิลส์” เริ่มต้นการสร้างสรรค์งานด้วยการเขียนเป็นภาพร่างและหรือภาพประกอบ มีการสร้างสรรค์หุ่นจำลองของวัสดุอุปกรณ์ตามภาพร่างและหรือภาพประกอบ รวมทั้งการออกแบบตกแต่งสถานที่ที่ใช้ในการผลิตรายการ รูปแบบรายการเกมโชว์ดังกล่าวจึงเป็นงานสร้างสรรค์ทางศิลปกรรมประเภทงานภาพร่าง งานประกอบ และงานสถาปัตยกรรมรวมกัน อันเป็นงานศิลปประยุกต์ที่มีลิขสิทธิ์ตามกฎหมายของประเทศสาธารณรัฐฝรั่งเศส และเป็นเกมการแข่งขันตามรูปแบบและกฎกติกาที่กำหนดไว้ จึงเป็นงานสร้างสรรค์ประเภทงานนาฏกรรมที่มีลิขสิทธิ์ตามกฎหมายของประเทศสาธารณรัฐฝรั่งเศส ทั้งยังมีการนำรายการดังกล่าวออกแพร่เสียงแพร่ภาพทางโทรทัศน์ในประเทศสาธารณรัฐฝรั่งเศส จึงเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ประเภทงานแพร่เสียงแพร่ภาพด้วย คำฟ้องของโจทก์ไม่ได้บรรยายไว้เลยว่า รูปแบบรายการเกมโชว์ “อินเตอร์ซิตี้ส์” และหรือ “แองแตร์วิลส์” เป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ในส่วนของงานศิลปกรรมซึ่งใช้ประโยชน์จากงานจิตรกรรม หรืองานประติมากรรม และเป็นงานวรรณกรรม ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางก็ไม่ได้วินิจฉัยเกี่ยวกับงานอันมีลิขสิทธิ์ในลักษณะดังกล่าวไว้ อุทธรณ์ของโจทก์ในส่วนนี้จึงเป็นข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 45 ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 วรรคหนึ่ง แม้ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางจะรับอุทธรณ์ของโจทก์ในส่วนนี้มาด้วย ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศก็ไม่รับวินิจฉัยให้ และกรณีไม่จำต้องวินิจฉัยอุทธรณ์ข้ออื่น ๆ ของโจทก์และจำเลยต่อไป เพราะไม่เป็นสาระและไม่ทำให้ผลแห่งคดีเปลี่ยนแปลง”
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นนี้ให้เป็นพับ