คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11096/2553

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

แม้ผู้เสียหายจะอ้างว่ายอมลงชื่อในเอกสารเพราะถูกจำเลยรบเร้า แต่ก็มิใช่ลงชื่อเพราะถูกกลฉ้อฉล หลอกลวง หรือถูกข่มขู่ การลงชื่อในเอกสารจึงสมบูรณ์เมื่อเอกสารดังกล่าวแสดงว่าผู้เสียหายตกลงยอมความกับจำเลยทั้งสอง สิทธินำคดีอาญามาฟ้องย่อมระงับไปทันทีที่ผู้เสียหายลงชื่อและเขียนข้อความในหนังสือชี้แจงข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39 (2) การที่ผู้เสียหายยืนยันต่อศาลในภายหลังว่าความจริงแล้วยังติดใจเอาความแก่จำเลยทั้งสองและไม่ถอนคำร้องทุกข์นั้น หาทำให้สิทธินำคดีมาฟ้อง ซึ่งระงับไปแล้ว กลับเป็นไม่ระงับไปไม่ ปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยศาลฎีกายกขึ้นวินิจฉัยได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341, 80, 83
จำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษา จำคุกจำเลยทั้งสองคนละ 1 ปี 6 เดือน จำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 9 เดือน
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษายืน
จำเลยทั้งสองฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษา ศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า เนื่องจากฎีกาของจำเลยทั้งสอง มีหนังสือชี้แจงข้อเท็จจริงของผู้เสียหายเอกสารท้ายฎีกาหมายเลข 1 ที่มีข้อความระบุว่า “หลังเกิดเหตุ ผู้บริหารนิตยสารจักรวาลตำรวจและจำเลยทั้งสองได้มาชี้แจงให้ผู้เสียหายทราบว่า ที่จำเลยทั้งสองอ้างอิง “ผู้การ” คือ “ผู้การเฉลียว” หรือพลตำรวจตรีเฉลียว อักษรดี ประธานนิตยสารจักรวาลตำรวจ ไม่ใช่ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดสมุทรสงครามแต่อย่างใด ที่ผู้เสียหายดำเนินคดีกับจำเลยทั้งสองเกิดจากความเข้าใจผิดในข้อเท็จจริง มิได้มีเจตนากลั่นแกล้งจำเลยทั้งสองแม้แต่น้อย และไม่ติดใจเอาความแก่จำเลยทั้งสองอีกต่อไป” กับมีข้อความกำกับท้ายลายมือชื่อผู้เสียหายด้วยว่า “ขอยืนยันว่าไม่ติดใจเอาความ” ซึ่ง ข้อความข้อนี้ศาลฎีกาจึงจดรายงานกระบวนพิจารณาฉบับลงวันที่ 24 มีนาคม 2553 ให้ศาลชั้นต้นไต่สวนข้อเท็จจริงให้ชัดเจนเสียก่อนว่าผู้เสียหายประสงค์จะถอนคำร้องทุกข์หรือไม่ ศาลชั้นต้นไต่สวนแล้วได้ความตามรายงานกระบวนพิจารณาฉบับลงวันที่ 15 มิถุนายน 2553 ว่า ผู้เสียหายแถลงรับว่าลายมือชื่อและข้อความที่ว่าขอยืนยันว่า ไม่ติดใจเอาความที่ปรากฏในหนังสือชี้แจงข้อเท็จจริงดังกล่าวเป็นลายมือชื่อของผู้เสียหาย ที่เขียนเอง เมื่อข้อความในหนังสือดังกล่าวมีถ้อยคำเป็นทำนองว่าผู้เสียหายกับจำเลยทั้งสองประสงค์ที่จะยอมความกันโดยไม่ติดใจดำเนินคดีกันต่อไป ทั้งเหตุที่ศาลฎีกามีคำสั่งให้ศาลชั้นต้น ไต่สวนข้อเท็จจริงตามหนังสือชี้แจงข้อเท็จจริงเอกสารท้ายฎีกาหมายเลข 1 ก็เพื่อให้ได้ความแน่ชัดว่าผู้เสียหายประสงค์ที่จะให้เกิดผลตามข้อความในหนังสือดังกล่าวหรือไม่ ซึ่งผู้เสียหายก็มิได้โต้แย้งหรือแสดงความประสงค์ว่าไม่ต้องการให้เกิดผลดังข้อความในเอกสารดังกล่าวแต่อย่างใด แม้จะได้ความว่าเหตุที่ผู้เสียหายยอมลงลายมือชื่อก็เพราะผู้เสียหายทนจำเลยทั้งสองรบเร้าไม่ไหวก็ตาม ก็ไม่ทำให้ความประสงค์ตามข้อความในเอกสารดังกล่าวเสียไป เมื่อไม่ปรากฏว่าเอกสารดังกล่าวทำขึ้นโดยถูกกลฉ้อฉล หลอกลวงหรือข่มขู่ กรณีย่อมต้องถือว่าผู้เสียหายได้แสดงเจตนายอมความกับจำเลยทั้งสองโดยถูกต้องตามกฎหมายแล้ว คดีนี้เป็นคดีความผิดต่อส่วนตัว เมื่อผู้เสียหายตกลงยอมความกับจำเลยทั้งสองแล้ว สิทธินำคดีอาญา มาฟ้องย่อมระงับไปทันทีที่ผู้เสียหายลงชื่อและเขียนข้อความลงในหนังสือชี้แจงข้อเท็จจริง ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39 (2) ดังนั้น การที่ผู้เสียหายกลับมายืนยันต่อศาลชั้นต้นในภายหลังว่า ความจริงแล้วผู้เสียหายยังติดใจเอาความแก่จำเลยทั้งสองและไม่ถอนคำร้องทุกข์นั้น หามีผลทำให้สิทธินำคดีอาญามาฟ้องซึ่งได้ระงับไปตามหนังสือชี้แจงข้อเท็จจริงดังกล่าว กลับเป็นไม่ระงับไปไม่ ปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกายกขึ้นวินิจฉัยได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225
จึงให้จำหน่ายคดีจากสารบบความของศาลฎีกา

Share