คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9174/2552

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

มูลหนี้ตามฟ้องของโจทก์ในคดีนี้เป็นเรื่องที่โจทก์ฟ้องให้จำเลยทั้งสองรับผิดในมูลหนี้ค่าภาษีตามกฎหมายสำหรับโรงเรือนและที่ดินประจำปีภาษี 2541 ส่วนฟ้องแย้งของจำเลยที่ 1 เป็นการฟ้องเรียกค่าเช่าจากโจทก์ตามมูลหนี้สัญญาเช่าอาคารพิพาทซึ่งการที่โจทก์ผู้เช่าจะผิดสัญญาเช่าที่ทำไว้กับจำเลยที่ 1 หรือไม่ก็ไม่ได้ส่งผลต่อความรับผิดในมูลหนี้ค่าภาษีโรงเรือนและที่ดินของจำเลยที่ 1 สิทธิเรียกร้องค่าภาษีโรงเรือนและที่ดินตามที่โจทก์ฟ้อง และสิทธิเรียกร้องค่าเช่าตามที่จำเลยที่ 1 ฟ้องแย้งจึงเป็นคนละส่วนและมาจากคนละมูลหนี้ไม่เกี่ยวข้องกัน ดังนี้ ฟ้องแย้งของจำเลยที่ 1 ไม่เกี่ยวข้องกับฟ้องเดิมพอที่จะรวมการพิจารณาและชี้ขาดตัดสินเข้าด้วยกันได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลตามกฎหมาย มีอำนาจหน้าที่จัดเก็บภาษีโรงเรือนและที่ดินในเขตเทศบาลตำบลสำโรงเหนือ อำเภอเมืองสมุทรปราการ จังหวัดสมุทรปราการ จำเลยทั้งสองเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด โดยจำเลยที่ 1 เป็นเจ้าของที่ดินพร้อมโรงเรือนเลขที่ 1919/2 หมู่ที่ 4 ถนนสุขุมวิท ตำบลเทพารักษ์ อำเภอเมืองสมุทรปราการ จังหวัดสมุทรปราการ ซึ่งเป็นอาคาร 7 ชั้น 1 หลัง โดยชั้น 2 ถึง 5 จำเลยที่ 1 ให้โจทก์เช่าใช้ประโยชน์ตั้งแต่วันที่ 11 กันยายน 2538 ถึงวันที่ 30 กันยายน 2541 โดยในปี 2540 คิดค่าเช่าเดือนละ 118,250 บาท และโจทก์ได้ยกเลิกสัญญาเช่าเมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2540 หลังจากนั้นอาคารดังกล่าวไม่ได้ใช้ประโยชน์ จนกระทั่งเมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2545 อาคารพิพาทดังกล่าวได้ขายให้แก่จำเลยที่ 2 โรงเรือนและที่ดินของโจทก์ จึงมีค่ารายปีประจำปีภาษี 2541 จำนวน 1,182,500 บาท และค่าภาษีจำนวน 147,812.50 บาท จำเลยที่ 1 ไม่ได้ยื่นแบบแจ้งรายการเพื่อเสียภาษีโรงเรือนและที่ดินประจำปีภาษี 2541 โจทก์ได้แจ้งรายการประเมินภาษีโรงเรือนและที่ดินให้จำเลยที่ 1 ทราบแล้ว จำเลยที่ 1 ไม่ได้ยื่นคำร้องขอให้พิจารณาการประเมินใหม่ ค่าภาษีตามการประเมินจึงเป็นที่สุดส่วนจำเลยที่ 2 ในฐานะผู้รับโอนอาคารพิพาทจึงต้องร่วมรับผิดในหนี้ค่าภาษีโรงเรือนและที่ดินที่ค้างชำระ ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันใช้เงิน 147,812.50 บาท แก่โจทก์
จำเลยที่ 1 ให้การและฟ้องแย้งว่า โจทก์ไม่มีหลักฐานรับรองว่าเป็นนิติบุคคลตามกฎหมาย โจทก์ฟ้องคดีนี้เกิน 10 ปี จึงขาดอายุความ และเนื่องจากจำเลยที่ 1 นำที่ดินพร้อมอาคารพิพาทไปจดทะเบียนจำนองไว้แก่บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ศรีธนา จำกัด (มหาชน) ซึ่งต่อมาจำเลยที่ 1 ถูกฟ้องบังคับจำนอง และศาลแพ่งกรุงเทพใต้ได้มีคำพิพากษาให้บังคับจำนองโดยนำที่ดินพร้อมอาคารพิพาทออกขายทอดตลาด ดังนั้น ในช่วงระหว่างรอการขายทอดตลาดโจทก์มีหน้าที่ต้องชำระค่าเช่าอาคารพิพาทของเดือนพฤษภาคม 2540 ถึงกันยายน 2540 ซึ่งหักภาษี ณ ที่จ่ายแล้วจำนวน 585,337.40 บาท ให้แก่จำเลยที่ 1 การที่โจทก์ส่งเงินค่าเช่าดังกล่าวไปให้เจ้าพนักงานบังคับคดีทั้งที่ไม่มีหน้าที่และใช้สิทธิยกเลิกสัญญาเช่าถือเป็นการผิดสัญญาเช่าและเป็นการกระทำโดยไม่สุจริตและไม่ชอบด้วยกฎหมาย ทำให้จำเลยที่ 1 ได้รับความเสียหาย และเมื่อโจทก์ยกเลิกสัญญาเช่าเมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2541 โจทก์จึงต้องชำระค่าเช่าของเดือนตุลาคม 2540 ซึ่งหักภาษี ณ ที่จ่ายแล้วอีกจำนวน 117,067.50 บาท ให้แก่จำเลยที่ 1 ด้วย ขอให้ยกฟ้อง และขอให้บังคับโจทก์ชำระเงิน 702,405 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันที่ฟ้องแย้งโจทก์เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่จำเลยที่ 1
ศาลภาษีอากรกลางมีคำสั่งรับคำให้การของจำเลยที่ 1 แต่ในส่วนฟ้องแย้งได้พิเคราะห์แล้ว เห็นว่า ประเด็นตามฟ้องแย้งไม่เกี่ยวข้องกับคำฟ้องขอให้ชำระภาษีโรงเรือนและที่ดินของโจทก์ จึงไม่รับฟ้องแย้งไว้พิจารณา
จำเลยที่ 1 อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้วมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 ว่า ฟ้องแย้งของจำเลยที่ 1 เกี่ยวข้องกับฟ้องเดิมหรือไม่ เห็นว่า ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ.2528 มาตรา 17 ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 177 วรรคสาม กำหนดให้จำเลยจะฟ้องแย้งมาในคำให้การก็ได้ แต่ถ้าฟ้องแย้งนั้นเป็นเรื่องอื่นไม่เกี่ยวกับฟ้องเดิมแล้ว ให้ศาลสั่งให้จำเลยฟ้องเป็นคดีใหม่ต่างหากและพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ.2528 มาตรา 17 ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 179 วรรคสาม กำหนดห้ามมิให้คู่ความเสนอฟ้องแย้งต่อศาล เว้นแต่คำฟ้องเดิมและฟ้องแย้งจะเกี่ยวข้องกันพอที่จะรวมการพิจารณาและชี้ขาดตัดสินเข้าด้วยกันได้ โดยมูลหนี้ตามฟ้องของโจทก์ในคดีนี้เป็นเรื่องที่โจทก์ฟ้องให้จำเลยทั้งสองรับผิดในมูลหนี้ค่าภาษีตามกฎหมายสำหรับโรงเรือนและที่ดินประจำปีภาษี 2541 ส่วนฟ้องแย้งของจำเลยที่ 1 เป็นการฟ้องเรียกค่าเช่าจากโจทก์ตามมูลหนี้สัญญาเช่าอาคารพิพาท ซึ่งการที่โจทก์ผู้เช่าจะผิดสัญญาเช่าที่ทำไว้กับจำเลยที่ 1 หรือไม่ก็ไม่ได้ส่งผลต่อความรับผิดในมูลหนี้ค่าภาษีโรงเรือนและที่ดินของจำเลยที่ 1 สิทธิเรียกร้องค่าภาษีโรงเรือนและที่ดินตามที่โจทก์ฟ้องและสิทธิเรียกร้องค่าเช่าตามที่จำเลยที่ 1 ฟ้องแย้งจึงเป็นคนละส่วนและมาจากคนละมูลหนี้ไม่เกี่ยวข้องกัน ดังนั้น ฟ้องแย้งของจำเลยที่ 1 ไม่เกี่ยวข้องกับฟ้องเดิมพอที่จะรวมการพิจารณาและชี้ขาดตัดสินเข้าด้วยกันได้ ที่ศาลภาษีอากรกลางมีคำสั่งไม่รับฟ้องแย้งของจำเลยที่ 1 ไว้พิจารณานั้นชอบแล้ว อุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ

Share