คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2495/2516

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องจำเลย 6 คนโดยมิได้กล่าวหาว่าจำเลยที่ 1, 2, 3, 4ได้ร่วมข่มขืนใจ หรือหน่วงเหนี่ยวกักขังผู้เสียหายให้ปราศจากเสรีภาพตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 309, 310 จึงลงโทษจำเลยที่ 1, 2, 3, 4ฐานนี้ไม่ได้ และตามฟ้องโจทก์ก็มิได้บรรยายว่าจำเลยที่ 5, 6 ได้ข่มขืนใจผู้เสียหายโดยทำให้เกิดความกลัวว่าจะเกิดอันตรายต่อชีวิต ร่างกายเสรีภาพ ชื่อเสียง หรือทรัพย์สินของผู้เสียหายหรือของผู้อื่น หรือโดยใช้กำลังประทุษร้าย อันเป็นองค์ประกอบความผิดตามมาตรา 309ก็ลงโทษจำเลยที่ 5, 6 ตามมาตรา 309 ไม่ได้เช่นกัน แม้จำเลยที่ 1, 3, 4, 5, 6 มิได้ฎีกา แต่เป็นเหตุในลักษณะคดีศาลฎีกามีอำนาจพิพากษาถึงจำเลยที่ 1, 3, 4, 5 และ 6 ได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 213 ประกอบด้วยมาตรา 225

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ ๑, ๒, ๓ ร่วมกันข่มขืนกระทำชำเราผู้เสียหายอายุ ๑๙ ปี อันมีลักษณะเป็นการโทรมหญิง และจำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๕ ร่วมกันเป็นธุระจัดหาผู้เสียหายเพื่อการอนาจาร โดยจำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๔ นำผู้เสียหายไปขายให้แก่จำเลยที่ ๕ เพื่อบังคับให้ค้าประเวณี และจำเลยที่ ๕ ใช้อำนาจครอบงำผิดคลองธรรม เป็นธุระจัดหาผู้เสียหายเพื่อสำเร็จความใคร่ของชายได้บังคับข่มขืนใจให้ผู้เสียหายรับจ้างค้าประเวณี และหน่วงเหนี่ยวกักขังผู้เสียหายให้ปราศจากความเป็นอิสระแก่ตน และจำเลยที่ ๕ ที่ ๖ ร่วมกันเพื่อสำเร็จความใคร่ของชาย เป็นธุระจัดหาผู้เสียหายเพื่อการอนาจารโดยจำเลยที่ ๕ พาผู้เสียหายไปขายให้จำเลยที่ ๖ เพื่อบังคับให้ผู้เสียหายรับจ้างค้าประเวณี และจำเลยที่ ๖ ใช้อำนาจครอบงำผิดคลองธรรมเป็นธุระจัดหาผู้เสียหายเพื่อสำเร็จความใคร่ของชายได้บังคับข่มขืนใจให้ผู้เสียหายรับจ้างค้าประเวณีและหน่วงเหนี่ยวกักขังผู้เสียหายให้ปราศจากความเป็นอิสระแก่ตน ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๗๖, ๒๘๑,๒๘๒, ๒๘๓, ๓๐๙, ๓๑๐
จำเลยทุกคนให้การปฏิเสธ จำเลยที่ ๒ ให้การรับข้อที่เคยต้องโทษและขอให้นับโทษต่อ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยที่ ๑, ๒, ๓ มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๗๖, ๒๘๓, ๓๐๙, ๓๑๐ ให้ลงโทษตามมาตรา ๒๗๖ ซึ่งเป็นกระทงหนักที่สุด จำเลยที่ ๔, ๕, ๖ มีความผิดตามมาตรา ๒๘๓, ๓๐๙, ๓๑๐ ให้ลงโทษตามมาตรา ๒๘๓ ซึ่งเป็นกระทงหนักที่สุด
จำเลยทุกคนอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยที่ ๒ ผู้เดียวฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยเชื่อว่าจำเลยที่ ๒ ได้ร่วมทำผิดกับจำเลยที่ ๑ ที่ ๓ จริงแต่ที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ลงโทษจำเลยที่ ๑, ๒, ๓, ๔ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๐๙, ๓๑๐ ด้วยนั้น เห็นว่าฟ้องโจทก์มิได้กล่าวหาว่าจำเลยที่ ๑, ๒, ๓, ๔ ได้ร่วมข่มขืนใจ หรือได้หน่วงเหนี่ยวกักขังผู้เสียหายให้ปราศจากเสรีภาพ จึงลงโทษจำเลยที่ ๑, ๒, ๓, ๔ ฐานนี้ไม่ได้และที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ลงโทษจำเลยที่ ๕, ๖ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๐๙ ด้วยนั้น ก็เห็นว่าตามฟ้องมิได้บรรยายว่าจำเลยที่ ๕, ๖ ได้ข่มขืนใจผู้เสียหายโดยทำให้เกิดความกลัวว่าจะเกิดอันตรายต่อชีวิต ร่างกาย เสรีภาพ ชื่อเสียง หรือทรัพย์สินของผู้เสียหายหรือของผู้อื่น หรือโดยใช้กำลังประทุษร้ายอันเป็นองค์ประกอบความผิดตามมาตรา ๓๐๙ จึงลงโทษจำเลยที่ ๕ ที่ ๖ ตามมาตรา ๓๐๙ ไม่ได้ แม้จำเลยที่ ๑, ๓, ๔, ๕, ๖ มิได้ฎีกา แต่เป็นเหตุในลักษณะคดี ศาลฎีกามีอำนาจพิพากษาถึงจำเลยที่ ๑, ๓, ๔, ๕, ๖ ได้ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๒๑๓ ประกอบด้วยมาตรา ๒๒๕
พิพากษาแก้คำพิพากษาศาลอุทธรณ์เป็นว่า จำเลยที่ ๑, ๒, ๓มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๗๖, ๒๘๓ แต่ให้ลงโทษจำเลยที่ ๑, ๒, ๓ ตามมาตรา ๒๗๖ ซึ่งเป็นกระทงหนักตามมาตรา ๙๑จำเลยที่ ๔ มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๘๓ จำเลยที่ ๕, ๖มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๘๓, ๓๑๐ แต่ให้ลงโทษจำเลยที่ ๕, ๖ ตามมาตรา ๒๘๓ ซึ่งเป็นกระทงหนักตามมาตรา ๙๑นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share