คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9093/2552

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

คดีนี้เริ่มต้นมาจากกรณีที่นายทะเบียนเครื่องหมายการค้าปฏิเสธไม่รับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าให้แก่โจทก์ เนื่องจากเครื่องหมายการค้าของโจทก์เหมือนหรือคล้ายกับเครื่องหมายการค้าของผู้อื่นที่ได้จดทะเบียนไว้แล้วตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า ฯ มาตรา 16 เมื่อโจทก์อุทธรณ์คำสั่งดังกล่าว และคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าได้มีคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์ในเวลาต่อมา จึงเป็นไปตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า ฯ มาตรา 16 เมื่อโจทก์อุทธรณ์คำสั่งดังกล่าว และคณะกรรมการเครื่องหมายการค้า ฯ มาตรา 18 วรรคหนึ่ง หาใช่เป็นเรื่องตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า ฯ มาตรา 27 แต่อย่างใดไม่ เพราะจะต้องเป็นเรื่องที่ต่างเจ้าของต่างได้ใช้มาแล้วด้วยกันโดยสุจริต หรือมีพฤติการณ์พิเศษที่นายทะเบียนเครื่องหมายการค้าเห็นสมควรรับจดทะเบียน และจะต้องเป็นกรณีที่นายทะเบียนเครื่องหมายการค้าพิจารณาและมีคำสั่งรับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าที่เหมือนหรือคล้ายกันให้แก่เจ้าของหลายคนผู้ขอจะทะเบียนเครื่องหรือเจ้าของเครื่องหมายการค้าที่ได้จดทะเบียนไว้แล้วจึงใช้สิทธิอุทธรณ์คำสั่งนั้นต่อคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าต่อไป

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้พิพากษาว่า เครื่องหมายการค้าอักษรโรมันคำว่า “GAS” และรูปประดิษฐ์ ตามคำขอเลขที่ 514180 มีลักษณะที่ชอบที่จะได้รับการจดทะเบียนให้เพิกถอนคำสั่งของนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าและเพิกถอนคำวินิจฉัยของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้า และให้นายทะเบียนเครื่องหมายการค้าดำเนินการเกี่ยวกับคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าตามคำขอเลขที่ 514180 ของโจทก์ต่อไป
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาให้เพิกถอนคำสั่งของนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าและเพิกถอนคำวินิจฉัยของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าที่ 241/2548 และให้นายทะเบียนเครื่องหมายการค้าดำเนินการรับจดทะเบียนตามคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าเลขที่ 514180 ของโจทก์ต่อไป ค่าฤชาธรรมเนียมและค่าทนายความระหว่างโจทก์และจำเลยให้เป็นพับ
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว คดีมีข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติในเบื้องต้นตามที่คู่ความไม่โต้แย้งกันว่า โจทก์ยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าอักษรโรมันคำว่า “GAS” เพื่อใช้กับสินค้าจำพวก 25 รายการสินค้า เครื่องแต่งกายต่าง ๆ นายทะเบียนเครื่องหมายการค้ามีคำสั่งรับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์สำหรับสินค้าจำพวกอื่นแล้ว แต่ไม่รับจดทะเบียนให้สำหรับสินค้าจำพวก 25 เพราะเครื่องหมายการค้าของโจทก์เหมือนหรือคล้ายกับเครื่องหมายการค้าของผู้อื่นที่ได้จดทะเบียนไว้แล้ว โจทก์อุทธรณ์ คณะกรรมการเครื่องหมายการค้ามีคำวินิจฉัยยืนตามคำสั่งของนายทะเบียนเครื่องหมายการค้า
ปัญหาที่ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศเห็นควรหยิบยกขึ้นวินิจฉัยในเบื้องต้นมีว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องคดีนี้หรือไม่ โดยโจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนคำวินิจฉัยของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้า และดำเนินการเกี่ยวกับการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์ต่อไปตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 27 เห็นว่า ข้อเท็จจริงปรากฏว่า ในชั้นขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า โจทก์ระบุว่า โจทก์เป็นเจ้าของหรือเป็นผู้มีสิทธิโดยชอบด้วยกฎหมายในเครื่องหมายการค้า ต่อมาในชั้นอุทธรณ์คำสั่งของนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าต่อคณะกรรมการเครื่องหมายการค้า โจทก์ระบุในข้อ 5 ว่าอุทธรณ์คำสั่ง/คำวินิจฉัยของนายทะเบียนเครื่องหมายการค้า ตามมาตรา 13 และระบุต่อไปว่า “ผู้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้ารายนี้มีเจตนาไม่สุจริตในการยื่นขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าดังกล่าว โดยผู้จดทะเบียนได้นำเอาคำว่า “GAS” ซึ่งเป็นคำเดียวกันกับสาระสำคัญในเครื่องหมายการค้าคำว่า “GAS” ในลักษณะประดิษฐ์” ของข้าพเจ้าไปยื่นขอจดทะเบียนไว้ โดยไม่สุจริต … ด้วยเหตุนี้ ข้าพเจ้าจึงกำลังดำเนินการยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า …” และในคำแถลงการณ์ปิดคดี ฉบับลงวันที่ 6 กันยายน 2550 โจทก์ระบุเหตุผลประการหนึ่งว่า เครื่องหมายการค้าของโจทก์ไม่เหมือนหรือคล้ายกับเครื่องหมายการค้าของผู้อื่นที่ได้จดทะเบียนไว้แล้ว เท่ากับว่าคดีนี้เริ่มต้นมาจากกรณีที่นายทะเบียนเครื่องหมายการค้าปฏิเสธไม่รับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าให้แก่โจทก์ เนื่องจากเครื่องหมายการค้าของโจทก์เหมือนหรือคล้ายกับเครื่องหมายการค้าของผู้อื่นที่ได้จดทะเบียนไว้แล้ว ตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 16 เมื่อโจทก์อุทธรณ์คำสั่งดังกล่าว และคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าได้มีคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์ในเวลาต่อมา จึงเป็นไปตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 18 วรรคหนึ่ง หาใช่เป็นเรื่องตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 27 แต่อย่างใดไม่ เพราะตามกฎหมายดังกล่าวนี้จะต้องเป็นเรื่องที่ต่างเจ้าของต่างได้ใช้มาแล้วด้วยกันโดยสุจริต หรือมีพฤติการณ์พิเศษที่นายทะเบียนเครื่องหมายการค้าเห็นสมควรรับจดทะเบียน และจะต้องเป็นกรณีที่นายทะเบียนเครื่องหมายการค้าพิจารณาและมีคำสั่งรับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าที่เหมือนหรือคล้ายกันให้แก่เจ้าของหลายคน ผู้ขอจดทะเบียนหรือเจ้าของเครื่องหมายการค้าที่ได้จดทะเบียนไว้แล้วจึงใช้สิทธิอุทธรณ์คำสั่งนั้นต่อคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าต่อไป การดำเนินการในชั้นจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์จึงไม่ได้ดำเนินการตามหลักเกณฑ์แห่งพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 27 เรื่องที่ต่างเจ้าของต่างได้ใช้มาแล้วด้วยกันโดยสุจริตแต่อย่างใด และไม่ปรากฏพยานหลักฐานในกรณีจะมีพฤติการณ์พิเศษที่นายทะเบียนเครื่องหมายการค้าเห็นสมควรรับจดทะเบียนหรือไม่ด้วย ดังนั้น โจทก์จะมาฟ้องคดีนี้ต่อศาลโดยตรงเพื่อขอให้เพิกถอนคำวินิจฉัยของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าและให้ศาลมีคำพิพากษาเกี่ยวกับการดำเนินการจดทะเบียนตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 27 ไม่ได้ กรณีเป็นปัญหาเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดยกขึ้นอ้าง ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศมีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยเองได้ ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 45 ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 246 และมาตรา 142 (5) ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางวินิจฉัยมานั้น ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศไม่เห็นพ้องด้วย คดีไม่จำต้องวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยต่อไป”
พิพากษากลับให้ยกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลให้เป็นพับ

Share