แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
การได้กรรมสิทธิ์ที่ดินตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1382 ย่อมหมายถึงการครอบครองที่ดินที่ผู้อื่นมีกรรมสิทธิ์ เมื่อที่ดินที่ผู้ร้องครอบครองไม่มีโฉนด หรือยังไม่เคยมีผู้ใดมีกรรมสิทธิ์ผู้ร้องก็ไม่มีสิทธิที่จะขอให้ศาลสั่งแสดงกรรมสิทธิ์ได้ (อ้างฎีกาที่ 1060/2507)
ย่อยาว
คดีนี้ ผู้ร้องยื่นคำร้องว่า เดิมนายแป้นนางปีสามีภรรยา นางสาวทองคำและนายต่อมบุตร เป็นเจ้าของที่ดินตามใบไต่สวน เนื้อที่ ๑๖ ไร่ ๒ งาน ๓๖ วา เมื่อประมาณ ๔๐ ปีเศษมานี้ นายแป้นได้ขายที่ดินดังกล่าวเฉพาะส่วนเนื้อที่ประมาณ ๘ ไร่ ๒ งาน ๒๐ วาให้แก่ผู้ร้อง โดยไม่ได้ทำหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ นายแป้นได้มอบที่ดินให้ผู้ร้องเข้าครอบครองเป็นส่วนสัดติดต่อกันเกิน ๑๐ ปีแล้ว จึงขอศาลไต่สวนและมีคำสั่งว่าที่ดินดังกล่าวเป็นของผู้ร้อง
ศาลชั้นต้นสั่งว่า ประมวลกฎหมายที่ดินและกฎกระทรวงมหาดไทย ฉบับที่ ๗ (พ.ศ.๒๔๙๗) ใช้บังคับเฉพาะที่ดินมีโฉนดแล้วเท่านั้น ไม่รวมถึงใบไต่สวน จึงยกคำร้อง
ผู้ร้องอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
ผู้ร้องฎีกา
ศาลฎีกาเห็นว่า ตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา ๓ และ ตามกฎหมายก่อนประมวลกฎหมายที่ดิน คือ พระราชบัญญัติออกโฉนดที่ดิน ร.ศ.๑๒๗ มาตรา ๓๕ ตราบใดที่ผู้ครอบครองที่ดินหรือเจ้าของที่ดินยังไม่ได้กรรมสิทธิ์ตามกฎหมายดังกล่าวแล้ว ที่ดินนั้นยังไม่เป็นกรรมสิทธิ์แก่ผู้ใด นอกจากนี้ การได้กรรมสิทธิ์ที่ดินตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๓๘๒ ย่อมหมายถึงการครอบครองที่ดินที่ผู้อื่นมีกรรมสิทธิ์ เมื่อที่ดินที่ผู้ร้องครอบครองไม่มีโฉนดหรือยังไม่เคยมีผู้ใดมีกรรมสิทธิ์ ก็ไม่มีกฎหมายสนับสนุนให้ผู้ร้องขอให้ศาลแสดงกรรมสิทธิ์ได้ และจะนำบทกฎหมายดังกล่าวมาอนุโลมใช้บังคับแก่ที่ดินที่มีใบไต่สวนดังที่ผู้ร้องฎีกาก็ไม่ได้ เพราะผู้ร้องมีแต่เพียงสิทธิครอบครองเท่านั้น ยังไม่มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินที่ร้องขอนั้น ตามนัยคำพิพากษาฎีกาที่ ๑๐๖๐/๒๕๐+ แต่ผู้ร้องมีทางที่จะดำเนินการตามประมวลกฎหมายที่ดินได้ ฎีกาผุ้ร้องฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ให้ยกฎีกาผู้ร้อง