คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7045/2553

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภคฯ เป็นกฎหมายที่บัญญัติขึ้นเพื่อคุ้มครองผู้บริโภคโดยรวม คดีตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภคจึงเป็นคดีที่มีลักษณะพิเศษต่างจากคดีแพ่งทั่วไป โดยมีคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคเป็นโจทก์ดำเนินคดีแทนผู้บริโภคเป็นส่วนรวม การพิจารณาทุนทรัพย์ที่ฟ้องคดีว่าจะอยู่ในเขตอำนาจของศาลใดจึงต้องคิดคำนวณทุนทรัพย์ในลักษณะทุนทรัพย์รวมกลุ่มคดี มิใช่คิดแยกทุนทรัพย์ของผู้บริโภคแต่ละราย ดังนี้ แม้ทุนทรัพย์ที่ผู้บริโภคเรียกร้องมาแต่ละรายจะมีจำนวนรายละไม่เกิน 300,000 บาท แต่เมื่อทุนทรัพย์รวมกลุ่มคดีมีจำนวน 610,709 บาท กรณีจึงเป็นคดีมีทุนทรัพย์ที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลจังหวัด

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคมีอำนาจหน้าที่ดำเนินคดีเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิของผู้บริโภค จำเลยเป็นนิติบุคคลผู้ประกอบธุรกิจจัดสรรที่ดินทำการก่อสร้างที่อยู่อาศัยเพื่อจำหน่าย โดยได้โฆษณาประกาศชักชวนประชาชนทั่วไปให้ซื้อที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้าง “โครงการรังสิยา รังสิตคลอง 9” ของจำเลย มีประชาชนผู้บริโภคหลายรายรวมทั้งนายสกล นางสาวสุพรรณ และนางสาวนิตยา หลงเชื่อการโฆษณาเข้าทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างกับจำเลย มีการชำระเงินในวันจอง วันทำสัญญาจะซื้อจะขาย และผ่อนชำระค่างวดแก่จำเลยตามสัญญา แต่จำเลยไม่ดำเนินการก่อสร้างให้แล้วเสร็จตามที่ได้โฆษณาไว้ จำเลยได้รับเงินทั้งหมดจากนายสกลรวมจำนวน 144,000 บาท จากนางสาวสุพรรณรวมจำนวน 97,700 บาท และจากนางสาวนิตยารวมจำนวน 97,700 บาท ขอให้บังคับจำเลยชำระเงินคืนให้แก่นายสกลจำนวน 144,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวถึงวันฟ้องเป็นเงิน 108,177.53 บาท รวมเป็นเงิน 252,177.53 บาท และชำระเงินคืนให้แก่นางสาวสุพรรณจำนวน 97,700 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปีของต้นเงินดังกล่าวถึงวันฟ้องเป็นเงิน 81,566.11 รวมเป็นเงิน 179,266.11 บาท และชำระเงินคืนให้แก่นางสาวนิตยาจำนวน 97,700 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปีของต้นเงินดังกล่าวถึงวันฟ้องเป็นเงิน 81,566.11 บาท รวมเป็นเงิน 179,266.11 บาท และให้จำเลยชำระดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จากต้นเงินที่รับไว้ให้แก่ผู้บริโภคทั้งสามราย นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยให้การว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง โจทก์บอกเลิกสัญญาไม่ชอบด้วยกฎหมาย และคดีที่โจทก์ฟ้องขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้อง
ก่อนสืบพยานศาลชั้นต้นพิจารณาคำฟ้องแล้วเห็นว่ามูลหนี้ของผู้บริโภคแต่ละรายสามารถแบ่งแยกกันได้ ไม่มีผลประโยชน์ร่วมกันในมูลความแห่งคดี จึงต้องพิจารณาทุนทรัพย์ของผู้บริโภคแต่ละรายเป็นเกณฑ์ ปรากฏว่าทุนทรัพย์ของผู้บริโภคแต่ละรายที่ฟ้องมาไม่เกินสามแสนบาท คดีจึงไม่อยู่ในอำนาจพิจารณาและพิพากษาของศาลแพ่งกรุงเทพใต้ อาศัยอำนาจตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 27 จึงให้เพิกถอนคำสั่งรับฟ้องของโจทก์ไว้พิจารณาแล้วมีคำสั่งใหม่ว่า ไม่รับฟ้องคืนฟ้องแก่โจทก์เพื่อนำไปฟ้องใหม่ยังศาลที่มีเขตอำนาจ ส่วนค่าขึ้นศาลโจทก์ได้รับการยกเว้นจึงไม่ต้องสั่ง ส่วนค่าฤชาธรรมเนียมอื่นๆ ให้เป็นพับ จำหน่ายคดีเสียจากสารบบความ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า คดีนี้อยู่ในอำนาจของศาลแพ่งกรุงเทพใต้ที่จะพิจารณาพิพากษาหรือไม่ โจทก์ฎีกาว่า คดีนี้มีโจทก์เพียงรายเดียวไม่ได้ร่วมกับใครฟ้องคดี โดยผู้บริโภคทั้งสามรายเป็นเพียงผู้ร้องเรียนต่อคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค คณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคเป็นโจทก์ การดำเนินคดีตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ.2522 เป็นกฎหมายพิเศษแตกต่างจากคดีแพ่งทั่วไป ดังนั้น จึงจะนำหลักเกณฑ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 59 มาใช้กับโจทก์คดีนี้ไม่ได้ การคิดทุนทรัพย์ว่าคดีอยู่ในอำนาจของศาลใดจึงต้องคิดรวมทั้งคดีนั้น ศาลฎีกาโดยมติที่ประชุมใหญ่ เห็นว่า พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ.2522 เป็นกฎหมายที่บัญญัติขึ้นเพื่อคุ้มครองผู้บริโภคโดยรวมซึ่งมีฐานะทางเศรษฐกิจด้อยกว่าผู้ประกอบธุรกิจ รัฐจึงจัดให้มีคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคเป็นผู้ดำเนินคดีเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิผู้บริโภคดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 10 (7) และการที่คณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคเห็นสมควรจะเข้าดำเนินคดีเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิของผู้บริโภค หรือเมื่อได้รับคำร้องขอจากผู้บริโภคที่ถูกละเมิดสิทธิก็ต่อเมื่อเห็นว่าการดำเนินคดีนั้นจะเป็นประโยชน์แก่ผู้บริโภคเป็นส่วนรวม และการดำเนินคดีในศาลได้รับยกเว้นค่าฤชาธรรมเนียมทั้งปวงดังที่บัญญัติไว้ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ.2522 มาตรา 39 การดำเนินคดีเกี่ยวกับคดีคุ้มครองผู้บริโภคมีวัตถุประสงค์เพื่อให้มีความสะดวก รวดเร็ว และประหยัดไม่ต้องเสียค่าฤชาธรรมเนียม โดยมีคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคเป็นโจทก์ดำเนินคดีแทนผู้บริโภคเป็นส่วนรวม คดีตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ.2522 จึงเป็นคดีที่มีลักษณะพิเศษต่างจากคดีแพ่งทั่วไป เมื่อคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคเป็นโจทก์ฟ้องคดีในลักษณะรวมกลุ่มคดี ดังนั้นหลักเกณฑ์ในการพิจารณาว่าทุนทรัพย์ที่ฟ้องคดีอยู่ในเขตอำนาจของศาลใด จึงต้องคิดคำนวณทุนทรัพย์ในลักษณะทุนทรัพย์รวมกลุ่มคดี มิใช่คิดแบ่งแยกทุนทรัพย์ของผู้บริโภคแต่ละรายดังคำวินิจฉัยของศาลล่างทั้งสอง คดีนี้แม้ทุนทรัพย์ที่ผู้บริโภคเรียกร้องมาแต่ละรายจะมีจำนวนรายละไม่เกิน 300,000 บาท แต่ก็มีทุนทรัพย์รวมกลุ่มคดีจำนวน 610,709 บาท จึงเป็นคดีมีทุนทรัพย์ที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลแพ่งกรุงเทพใต้ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น”
พิพากษากลับ ให้ศาลชั้นต้นรับคดีโจทก์ไว้พิจารณาและดำเนินการต่อไป ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share