คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 513/2553

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

การที่จำเลยล้วงอาวุธปืนในกระเป๋ากางเกงออกมาจะยิงลำคอของสิบตำรวจโท น. ที่เข้ามาล็อกคอจำเลยทางด้านหลับเพื่อจับกุม แต่ถูกสิบตำรวจโท น. ใช้มือดันปากกระบอกปืนไปทางอื่น และมีเสียงปืนดังขึ้น 1 นัด แล้วจำเลยยังดึงอาวุธปืนมาที่ลำตัวและยิงปืนอีก 1 นัด แม้กระสุนปืนที่จำเลยยิงจะไม่ถูกสิบตำรวจโท น. เพราะสิบตำรวจโท น. ดันข้อมือจำเลยไปก่อน ดังนี้ จำเลยย่อมเล็งเห็นผลของการกระทำนั้นได้ว่าอาจเป็นเหตุให้สิบตำรวจโท น. ถึงแก่ความตาย จำเลยจึงมีความผิดฐานพยายามฆ่าเจ้าพนักงานซึ่งกระทำการตามหน้าที่

ย่อยาว

โจทก์ฟ้อง ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 4, 7, 8, 15, 66, 102, พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 8 ทวิ, 72 ทวิ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32, 33, 80, 91, 138, 140, 289, 371, 376 ริบเมทแอมเฟตามีน อาวุธปืน ซองกระสุนปืน ซองปืน ปลอกกระสุนปืน และรถจักรยานยนต์ของกลาง
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคหนึ่ง, 66 วรรคหนึ่ง, 102 พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 8 ทวิ วรรคหนึ่ง, 72 ทวิ วรรคสอง ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 138 วรรคสอง ประกอบมาตรา 140 วรรคสาม, 289 (2) ประกอบมาตรา 80, 371, 376 การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมให้เรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายจำคุก 9 ปี ฐานต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงานในการปฏิบัติการตามหน้าที่โดยใช้อาวุธปืน และฐานพยายามฆ่าเจ้าพนักงานซึ่งกระทำการตามหน้าที่ เป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานพยายามฆ่าเจ้าพนักงานซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 ให้จำคุกตลอดชีวิต ฐานพาอาวุธปืนเป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบทให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 ปรับ 2,000 บาท ฐานยิงปืนโดยใช่เหตุในเมือง หมู่บ้านหรือที่ชุมนุมชน ปรับ 400 บาท รวมปรับ 2,400 บาท เมื่อลงโทษจำคุกตลอดชีวิตแล้ว จึงไม่อาจนำโทษจำคุกในกระทงอื่นมารวมได้ คงลงโทษจำคุกตลอดชีวิต และปรับ 2,400 บาท คำรับสารภาพของจำเลยในชั้นสอบสวนเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา ลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ประกอบมาตรา 53 คงจำคุก 33 ปี 4 เดือน ปรับ 1,600 บาท ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 ริบเมทแอมเฟตามีน อาวุธปืน ซองกระสุนปืน ซองปืน ปลอกกระสุนปืน และรถจักรยานยนต์ของกลาง
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคหนึ่ง (เดิม), 66 วรรคหนึ่ง (ที่แก้ไขใหม่) ให้จำคุก 8 ปี ฐานต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงานในการปฏิบัติการตามหน้าที่โดยใช้อาวุธปืน จำคุก 3 ปี รวมจำคุก 11 ปี ลดโทษให้หนึ่งในสาม
ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 แล้ว คงจำคุก 7 ปี 4 เดือน เมื่อรวมกับโทษฐานพาอาวุธปืนไปในที่สาธารณะโดยไม่ได้รับใบอนุญาตกับฐานยิงปืนโดยใช่เหตุในเมือง หมู่บ้าน หรือชุมนุมชนตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นแล้ว เป็นจำคุก 7 ปี 4 เดือน และปรับ 1,600 บาท ให้ยกฟ้องสำหรับความผิดฐานพยามยามฆ่าเจ้าพนักงานซึ่งกระทำการตามหน้าที่ นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์และจำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…พิเคราะห์แล้ว ที่จำเลยฎีกาในความผิดฐานต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงานใน
การปฏิบัติการตามหน้าที่โดยใช้อาวุธปืนนั้น คดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดฐานต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงานในการปฏิบัติการตามหน้าที่โดยใช้อาวุธปืน และฐานพยายามฆ่าเจ้าพนักงานซึ่งกระทำการตามหน้าที่ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 138 วรรคสอง ประกอบมาตรา 140 วรรคสาม, 289 (2) ประกอบมาตรา 80 เป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ลงโทษฐานพยายามฆ่าเจ้าพนักงานซึ่งกระทำการตามหน้าที่ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุด ให้จำคุกตลอดชีวิต ศาลอุทธรณ์ภาค 2
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยไม่มีความผิดฐานพยายามฆ่าเจ้าพนักงานซึ่งกระทำการตามหน้าที่ แต่มีความผิดฐานต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงานในการปฏิบัติการตามหน้าที่โดยใช้อาวุธปืน จำคุก 3 ปี เท่ากับศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นว่าจำเลยมีความผิดฐานต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงานในการปฏิบัติการตามหน้าที่โดยใช้อาวุธปืน การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 กำหนดโทษในความผิดฐานนี้จึงเป็นการแก้ไขเฉพาะโทษซึ่งถือว่าเป็นการแก้ไขเล็กน้อย เมื่อศาลอุทธรณ์ภาค 2 ลงโทษจำคุกจำเลยไม่เกินห้าปี จึงต้องห้ามคู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218 วรรคหนึ่ง ฎีกาของจำเลยว่าไม่ได้กระทำความผิดฐานต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงานในการปฏิบัติการตามหน้าที่โดยใช้อาวุธปืน จึงต้องห้ามตามบทบัญญัติดังกล่าว ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า จำเลยมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายหรือไม่ และมีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยพยายามฆ่าเจ้าพนักงานซึ่งกระทำการตามหน้าที่หรือไม่ โดยจะวินิจฉัยรวมกันไป ข้อเท็จจริงที่คู่ความมิได้โต้เถียงกันในชั้นนี้รับฟังเป็นยุติได้ว่า ในวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุตามฟ้อง จำเลยพาอาวุธปืนพกออโตเมติกขนาด 6.35 มม. หมายเลขทะเบียน กท 1925007 พร้อมกระสุนปืนขนาดเดียวกัน 7 นัด ของจำเลยที่ได้รับใบอนุญาตให้มีและใช้ ติดตัวไปในเมือง หมู่บ้าน หรือทางสาธารณะโดยไม่ได้รับใบอนุญาต แล้วจำเลยยิงปืนในที่เกิดเหตุโดยใช่เหตุและใช้อาวุธปืนต่อสู้ขัดขวางสิบตำรวจโทนิกรเจ้าพนักงานตำรวจในการปฏิบัติการตามหน้าที่เข้าตรวจค้นจับกุมจำเลยอันเป็นความผิดฐานต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงานในการปฏิบัติการตามหน้าที่โดยใช้อาวุธปืนตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2 ต่อมาเจ้าพนักงานตำรวจจับกุมจำเลยและยึดได้เมทแอมเฟตามีน 200 เม็ด น้ำหนัก 17.75 กรัม อาวุธปืน 1 กระบอก กระสุนปืน 5 นัด ซองกระสุนปืน ซองปืน ปลอกกระสุนปืน 2 ปลอก และรถจักรยานยนต์เป็นของกลาง ในปัญหาดังกล่าวที่ว่า จำเลยมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายหรือไม่ โจทก์มีสิบตำรวจเอกครรชิตและสิบตำรวจโทนิกร มุ่งกอดกลาง ผู้ร่วมจับกุมจำเลยเป็นพยานเบิกความทำนองเดียวกันได้ความว่า ก่อนจับกุมจำเลย เจ้าพนักงานตำรวจสืบทราบว่าจำเลยลักลอบจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนในวันเกิดเหตุเวลา 15 นาฬิกา เจ้าพนักงานตำรวจจึงวางแผนการจับกุมจำเลยโดยให้สายลับโทรศัพท์ติดต่อขอซื้อเมทแอมเฟตามีนจากจำเลย ต่อมาสายลับแจ้งว่าจำเลยตกลงจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนให้ 200 เม็ด และนัดส่งมอบที่ศูนย์การค้าดั๊กสแควร์ในเวลา 17 นาฬิกา สิบตำรวจเอกครรชิตจึงขับรถยนต์กระบะไปดักซุ่มที่ศูนย์การค้าดังกล่าว ขณะที่สิบตำรวจเอกครรชิตจอดรถอยู่ที่บริเวณหน้าร้านขายไอศครีม โดยมีสิบตำรวจโทนิกรและสายลับนั่งมาในรถด้วย เห็นจำเลยขับรถจักรยานยนต์เข้ามาในศูนย์การค้าดั๊กสแควร์แล้วขับแซงรถที่สิบตำรวจเอกครรชิตจอดอยู่ สายลับแจ้งว่าจำเลยคือผู้ที่ตกลงจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนให้แก่สายลับสิบตำรวจเอกครรชิตจึงขับรถตามจำเลยไปจนถึงตลาดนัดในบริเวณศูนย์การค้าซึ่งเป็นทางตัน จำเลยได้ขับรถย้อนกลับทางเดิมก่อนจะแล่นสวนกับรถของสิบตำรวจเอกครรชิตสิบตำรวจโทนิกรลงจากรถแล้วเดินหลบข้างรถดังกล่าวเพื่อไม่ให้
จำเลยเห็น เมื่อรถแล่นสวนกันสิบตำรวจโทนิกรก็วิ่งผ่านหน้ารถของสิบตำรวจเอกครรชิตออกไปแสดงตัวว่าเป็นเจ้าพนักงานตำรวจและยื่นบัตรให้จำเลยดูขณะอยู่ห่างกันประมาณ 1 เมตร จำเลยกลับเร่งเครื่องรถจักรยานยนต์เพื่อจะขับหลบหนี สิบตำรวจโทนิกรจึงคว้าแขนจำเลยไว้ แต่จำเลยสะบัดหลุดและกระโดดลงจากรถ สิบตำรวจโทนิกรก็เข้าล็อกคอจำเลยทางด้านหลังแล้วกอดปล้ำกันและมีเสียงปืนดังขึ้น 2 นัด สิบตำรวจเอกครรชิตก็เข้ามาช่วยจับจำเลยได้เมื่อตรวจค้นตัวจำเลยพบถุงพลาสติกสีม่วงอยู่ในกระเป๋ากางเกงด้านซ้าย ภายในถุงดังกล่าวมีถุงสีฟ้าบรรจุเมทแอมเฟตามีน 200 เม็ด ส่วนกระเป๋ากางเกงด้านขวาพบซองกระสุนปืน และพบอาวุธปืนกับปลอกกระสุนปืนตกอยู่บนพื้นถนน จึงยึดเป็นของกลาง เห็นว่า หากเจ้าพนักงานตำรวจไม่ได้สืบทราบมาก่อนว่าจำเลยลักลอบจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนหรือไม่ได้มีการวางแผนจับกุมโดยใช้สายลับติดต่อล่อซื้อเมทแอมเฟตามีนจากจำเลย ก็ยากที่จะจับกุมจำเลยได้พร้อมด้วยเมทแอมเฟตามีนของกลางเป็นหลักฐาน เพราะจำเลยจะต้องจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนให้แก่คนที่รู้จักเท่านั้น กรณีจึงเชื่อว่าพยานโจทก์ได้มีการวางแผนจับกุมจำเลยโดยใช้สายลับติดต่อล่อซื้อเมทแอมเฟตามีนจากจำเลย ประกอบกับบริเวณที่เกิดเหตุเป็นศูนย์การค้ามีตลาดนัดซึ่งมีผู้คนจำนวนมาก ไม่น่าเชื่อว่าพยานโจทก์จะกลั่นแกล้งนำเมทแอมเฟตามีนเป็นจำนวนมากถึง 200 เม็ด มาใส่ในกระเป๋ากางเกงของจำเลยเพื่อปรักปรำจำเลยในที่สาธารณะต่อหน้าผู้คนจำนวนมากเช่นนั้น ทั้งชั้นจับกุมและชั้นสอบสวนจำเลยก็ให้การรับสารภาพหลังเกิดเหตุทันทีโดยไม่มีเวลาคิดปรุงแต่งเรื่องให้ผิดไปจากความเป็นจริง ตามบันทึกการจับกุมและบันทึกคำให้การของจำเลยนอกจากนี้จำเลยยังนำชี้ที่เกิดเหตุประกอบคำรับสารภาพให้พนักงานสอบสวนถ่ายรูปไว้ด้วย ตามบันทึกการนำชี้ที่เกิดเหตุประกอบคำรับสารภาพโดยมีพันตำรวจตรีฐิติพงศ์พนักงานสอบสวนมาเบิกความรับรอง เชื่อว่าจำเลยให้การรับสารภาพด้วยความสมัครใจโดยไม่มีการทำร้ายบังคับขู่เข็ญให้รับสารภาพดังที่จำเลยต่อสู้ ส่วนที่จำเลยนำสืบอ้างว่าจำเลยมาที่เกิดเหตุเพราะจะนำโทรศัพท์เคลื่อนที่มาซ่อมนั้นขัดกับที่จำเลยฎีกาว่า จำเลยมาที่เกิดเหตุโดยไม่มีโทรศัพท์เคลื่อนที่ใช้ติดต่อ จึงไม่อาจรับฟังหักล้างพยานโจทก์ได้ พยานหลักฐานของโจทก์ประกอบกันฟังได้ว่า จำเลยมีเมทแอมเฟตามีนของกลางไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายดังฟ้อง
ส่วนความผิดฐานพยายามฆ่าเจ้าพนักงานซึ่งกระทำการตามหน้าที่นั้น ได้ความจากคำเบิกความของสิบตำรวจโทนิกรพยานโจทก์ว่า ระหว่างที่รถจักรยานยนต์ของจำเลยกำลังจะแล่นสวนกับรถของสิบตำรวจเอกครรชิต จำเลยหันมองทางซ้ายและทางขวาเข้าใจว่าจะมองหาสายลับ สิบตำรวจโทนิกรจึงแสดงตัวว่าเป็นเจ้าพนักงานตำรวจและยื่นบัตรให้จำเลยดูขณะอยู่ห่างกันประมาณ 1 เมตร จำเลยกลับเร่งเครื่องรถจักรยานยนต์เพื่อจะหลบหนี สิบตำรวจโทนิกรจึงคว้าแขนจำเลยไว้ แต่จำเลยสะบัดหลุดและกระโดดลงจากรถ สิบตำรวจโทนิกรเข้าล็อกคอจำเลยทางด้านหลัง ทำให้รถจักรยานยนต์เสียหลักไปชนประตูรถของสิบตำรวจเอกครรชิต แล้วจำเลยล้วงอาวุธปืนในกระเป๋ากางเกงออกมาสิบตำรวจโทนิกรจึงใช้มือซ้ายจับข้อมือจำเลยไว้ จำเลยดันอาวุธปืนขึ้นจะยิงลำคอของสิบตำรวจโทนิกร สิบตำรวจโทนิกรก็ดันปากกระบอกปืนหันไปทางอื่น มีเสียงปืนดังขึ้น 1 นัด แล้วจำเลยดึงอาวุธปืนมาที่ลำตัวและยิงอีก 1 นัด แต่สิบตำรวจโทนิกรดันข้อมือจำเลยไปก่อน ทำให้กระสุนปืนพลาดไม่ถูกผู้ใด หลังจากนั้นสิบตำรวจโทนิกรกับจำเลยได้กอดปล้ำกันจนล้มลงบนถนน และอาวุธปืนหลุดจากมือจำเลย สิบตำรวจเอกครรชิตจึงเข้ามาช่วยจับจำเลยได้ ซึ่งในชั้นสอบสวนจำเลยก็ให้การยอมรับว่า ขณะถูกเจ้าพนักงานตำรวจล็อกคอ จำเลยใช้มือขวาล้วงอาวุธปืนจากกระเป๋ากางเกงออกมาเพื่อยิงเจ้าพนักงานตำรวจดังกล่าวจริง ตามบันทึกคำให้การของจำเลยเอกสารหมาย จ.7 คำเบิกความของพยานโจทก์จึงมีน้ำหนักรับฟังได้ เห็นว่า การที่จำเลยล้วงอาวุธปืนในกระเป๋ากางเกงออกมาจะยิงลำคอของสิบตำรวจโทนิกรที่เข้ามาล็อกคอจำเลยทางด้านหลังเพื่อจับกุมแต่ถูกสิบตำรวจโทนิกรใช้มือดันปากกระบอกปืนไปทางอื่น และมีเสียงปืนดังขึ้น 1 นัด แล้วจำเลยยังดึงอาวุธปืนมาที่ลำตัวและยิงปืนอีก 1 นัด แม้กระสุนปืนที่จำเลยยิงจะไม่ถูกสิบตำรวจโทนิกร เพราะสิบตำรวจโทนิกรดันข้อมือจำเลยไปก่อน ดังนี้ จำเลยย่อมเล็งเห็นผลของการกระทำนั้นได้ว่าอาจเป็นเหตุให้สิบตำรวจโทนิกรถึงแก่ความตาย จำเลยจึงมีความผิดฐานพยายามฆ่าเจ้าพนักงานซึ่งกระทำการตามหน้าที่ดังฟ้อง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาแก้คำพิพากษาศาลชั้นต้นโดยให้ยกฟ้องความผิดฐานพยายามฆ่าเจ้าพนักงานซึ่งกระทำการตามหน้าที่นั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น
อนึ่ง ที่ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 138 วรรคสอง และมาตรา 140 วรรคสาม นั้น เห็นว่า การปรับบทลงโทษเพียงมาตรา 140 วรรคสาม ยังไม่ชัดเจนว่าจำเลยผู้กระทำความผิดต้องระวางโทษหนักกว่าโทษที่กฎหมายบัญญัติไว้กึ่งหนึ่งของมาตรา 140 วรรคแรกหรือวรรคสอง เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าจำเลยต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงานในการปฏิบัติการตามหน้าที่โดยใช้อาวุธปืน การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดตาม มาตรา 138 วรรคสอง, 140 วรรคแรกและวรรคสาม ปัญหานี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดอุทธรณ์ฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ ส่วนที่ศาลชั้นต้นกำหนดโทษปรับจำเลยในความผิดฐานพาอาวุธปืนฯและยิงปืนโดยใช่เหตุในเมืองฯ นั้น ยังไม่เหมาะสม จึงเห็นสมควรกำหนดโทษปรับใหม่ให้เหมาะสม และที่ศาลชั้นต้นพิพากษารวมโทษจำเลย 2 กระทง ในความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายและพยายามฆ่าเจ้าพนักงานซึ่งกระทำการตามหน้าที่โดยระบุว่า เมื่อลงโทษจำคุกตลอดชีวิตแล้ว จึงไม่นำโทษจำคุกกระทงอื่นมารวมได้ คงลงโทษจำคุกตลอดชีวิตและลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 33 ปี 4 เดือน แทนที่จะลดโทษก่อน แล้วจึงรวมโทษแต่ละกระทงเข้าด้วยกันนั้น ยังไม่ถูกต้อง เพราะคำว่าเว้นแต่กรณีที่ศาลลงโทษจำคุกตลอดชีวิตในมาตรา 91 (3) หมายความว่า การลงโทษกระทงใดซึ่งมีโทษสุทธิที่จะลงแก่จำเลยเป็นโทษจำคุกตลอดชีวิต เมื่อเอาโทษจำคุกที่มีกำหนดเวลาในกระทงอื่นมารวมแล้ว ศาลก็ลงโทษจำเลยได้เพียงจำคุกตลอดชีวิตเท่านั้น คดีนี้แม้ศาลชั้นต้นจะลงโทษจำคุกตลอดชีวิตกระทงหนึ่ง แต่ก็ลดโทษให้จนเหลือจำคุก 33 ปี 4 เดือน จึงอยู่ในเกณฑ์ที่จะนำโทษจำคุกที่มีกำหนดเวลาในความผิดกระทงอื่นมารวมอีกได้ หากการรวมโทษทุกกระทงนั้นจะจำคุกไม่เกิน 50 ปี อย่างไรก็ตาม เมื่อศาลชั้นต้นวางโทษจำคุกจำเลยในความผิดดังกล่าวข้างต้นมีกำหนด 33 ปี 4 เดือน และโจทก์มิได้อุทธรณ์ขอให้วางโทษให้ถูกต้องตามบทบัญญัติดังกล่าว ศาลฎีกาจึงไม่อาจแก้ไขให้ถูกต้องได้เพราะจะเป็นการเพิ่มเติมโทษจำเลย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 212 ประกอบมาตรา 225”
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคหนึ่ง (เดิม) , 66 วรรคหนึ่ง (ที่แก้ไขใหม่) พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 8 ทวิ วรรคหนึ่ง, 72 ทวิ วรรคสอง ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 138 วรรคสอง, 140 วรรคหนึ่งและวรรคสาม, 289 (2), 80, 371 และ 376 ให้เรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย จำคุก 8 ปี ฐานพาอาวุธปืนฯ เป็นการกระทำกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ มาตรา 8 ทวิ วรรคหนึ่ง, 72 ทวิ วรรคสอง อันเป็นบทกฎหมายที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 ปรับ 1,800 บาท ฐานยิงปืนโดยใช่เหตุในเมืองฯ ปรับ 300 บาท ฐานต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงานในการปฏิบัติการตามหน้าที่โดยใช้อาวุธปืนและพยายามฆ่าเจ้าพนักงานซึ่งกระทำการตามหน้าที่ เป็นการกระทำกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบทให้ลงโทษฐานพยายามฆ่าเจ้าพนักงานซึ่งกระทำการตามหน้าที่ตามมาตรา 289 (2), 80, 52 (1) อันเป็นบทกฎหมายที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 ให้จำคุกตลอดชีวิตเมื่อลดให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 แล้วฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย จำคุก 5 ปี 4 เดือน ฐานพาอาวุธปืน ฯ ปรับ 1,200 บาท ฐานยิงปืนโดยใช่เหตุในเมืองปรับ 200 บาท ฐานพยายามฆ่าเจ้าพนักงานซึ่งกระทำการตามหน้าที่จำคุก 33 ปี 4 เดือน รวมจำคุก 38 ปี 8 เดือน และปรับ 1,400 บาท แต่คงให้ลงโทษจำคุกจำเลยตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นมีกำหนด 33 ปี 4 เดือน และปรับ 1,400 บาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2

Share