คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5303/2553

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษตาม ป.อ. มาตรา 317 วรรคสาม โดยอ้างว่าจำเลยทั้งสี่พรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปี แต่เมื่อทางพิจารณาได้ความว่าจำเลยทั้งสี่กระทำความผิดพรากผู้เสียหายที่ 1 โดยเข้าใจผิดว่าผู้เสียหายที่ 1 อายุกว่าสิบห้าปี อันเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 319 วรรคแรก ศาลย่อมปรับบทลงโทษจำเลยทั้งสี่ตาม ป.อ. มาตรา 319 วรรคแรก ซึ่งมีการกระทำอันเป็นความผิดรวมอยู่ในความผิดตามที่โจทก์ฟ้องและมีโทษเบากว่าตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคท้ายได้ หาใช่เป็นเรื่องที่โจทก์ไม่ประสงค์ให้ลงโทษไม่

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสี่ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 91, 277, 279, 317 วรรคแรก และวรรคสาม
จำเลยทั้งสี่ให้การต่อสู้อ้างเหตุสำคัญผิดในข้อเท็จจริงของอายุผู้เสียหายที่ 1 แต่ก่อนสืบพยานโจทก์ จำเลยทั้งสี่ขอถอนคำให้การเดิมและให้การใหม่เป็นรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 277 วรรคแรก, 317 วรรคสาม, 83 จำเลยที่ 1 ยังมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 279 วรรคแรก และจำเลยที่ 4 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 277 วรรคแรก, 317 วรรคสาม การกระทำของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ลงโทษจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ฐานร่วมกันกระทำชำเราเด็กหญิงอายุยังไม่เกินสิบห้าปี จำคุกคนละ 5 ปี ฐานร่วมกันพรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าไปเสียจากมารดาเพื่อการอนาจาร จำคุกคนละ 5 ปี ลงโทษจำเลยที่ 1 ฐานกระทำอนาจารแก่เด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปี จำคุก 1 ปี รวมจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 11 ปี จำคุกจำเลยที่ 2 และที่ 3 คนละ 10 ปี การกระทำของจำเลยที่ 4 เป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานพรากเด็กอายุไม่เกินสิบห้าปีไปเสียจากมารดาเพื่อการอนาจาร ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 5 ปี จำเลยทั้งสี่ให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้คนละกึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 5 ปี 6 เดือน จำคุกจำเลยที่ 2 และที่ 3 คนละ 5 ปี และจำคุกจำเลยที่ 4 มีกำหนด 2 ปี 6 เดือน
จำเลยทั้งสี่อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยทั้งสี่มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 319 วรรคแรก ให้จำคุกคนละ 2 ปี จำเลยทั้งสี่ให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ลดโทษให้คนละกึ่งหนึ่ง คงจำคุกคนละ 1 ปี ข้อหาอื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยทั้งสี่ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ที่จำเลยทั้งสี่ฎีกาประการแรกว่า โจทก์ไม่ได้ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสี่ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 319 วรรคแรก เมื่อทางพิจารณาได้ความว่าจำเลยทั้งสี่กระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 319 วรรคแรก จึงไม่ใช่เป็นเรื่องที่โจทก์ประสงค์ให้ลงโทษจำเลยทั้งสี่ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 วรรคสี่ การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 ลงโทษจำเลยทั้งสี่ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 319 วรรคแรก จึงไม่ชอบนั้น เห็นว่า แม้ความผิดที่โจทก์ฟ้องจะขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 317 วรรคสาม โดยอ้างว่าจำเลยทั้งสี่พรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปี แต่เมื่อทางพิจารณาได้ความว่าจำเลยทั้งสี่กระทำความผิดพรากผู้เสียหายที่ 1 โดยเข้าใจผิดว่าผู้เสียหายที่ 1 อายุกว่าสิบห้าปี อันเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 319 วรรคแรก ศาลย่อมปรับบทลงโทษจำเลยทั้งสี่ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 319 วรรคแรก ซึ่งมีการกระทำอันเป็นความผิดรวมอยู่ในความผิดตามที่โจทก์ฟ้องและมีโทษเบากว่าตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 วรรคท้ายได้ มิใช่เป็นเรื่องที่โจทก์ไม่ประสงค์จะให้ลงโทษดังที่จำเลยทั้งสี่ฎีกา ฎีกาของจำเลยทั้งสี่ฟังไม่ขึ้น
ที่จำเลยทั้งสี่ฎีกาประการต่อไปขอให้รอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลยทั้งสี่นั้น เห็นว่า ในวันเกิดเหตุผู้เสียหายที่ 1 ออกจากบ้านเนื่องจากมีปัญหาภายในครอบครัว เมื่อจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 พบผู้เสียหายที่ 1 จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ซึ่งมีวุฒิภาวะมากกว่าควรพาผู้เสียหายที่ 1 ไปส่งบ้านหรือแนะนำให้ผู้เสียหายที่ 1 กลับบ้าน แต่จำคุกที่ 1 ถึงที่ 3 กลับพาผู้เสียหายที่ 1 ไปเที่ยวงานประจำปีที่วัดสระเพลง หลังจากนั้นจำเลยที่ 1 และที่ 2 ได้กระทำชำเราผู้เสียหายที่ 1 แล้วพาผู้เสียหายที่ 1 ไปพักอาศัยที่บ้านของเด็กหญิง ร. ต่อมาจำเลยทั้งสี่ยังได้พาผู้เสียหายที่ 1 ไปเที่ยวอีก และจำเลยที่ 4 ได้กระทำชำเราผู้เสียหายที่ 1 กับจำเลยที่ 1 ได้กระทำอนาจารผู้เสียหายที่ 1 จนกระทั้งทราบว่าผู้เสียหายที่ 2 ตามหาผู้เสียหายที่ 1 จึงพาผู้เสียหายที่ 1 ไปส่งที่อนุสาวรีย์วีรกรรมทุ่งสัมฤทธิ์เพื่อให้ผู้เสียหายที่ 1 กลับบ้าน การกระทำของจำเลยทั้งสี่เป็นการฉกฉวยโอกาสโดยอาศัยความอ่อนวัยไร้เดียงสาและขาดวุฒิภาวะที่จะพิจารณาไตร่ตรองของผู้เสียหายที่ 1 อันก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้เสียหายทั้งสองเป็นอย่างมาก พฤติการณ์แห่งคดีเป็นเรื่องที่ร้ายแรง แม้จำเลยที่ 2 จะแต่งงานกับผู้เสียหายที่ 1 และจำเลยทั้งสี่ได้ชดใช้ค่าเสียหายให้ผู้เสียหายที่ 2 กับมีภาระเลี้ยงดูบุคคลในครอบครัว ก็ไม่มีเหตุที่จะรอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลยทั้งสี่ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 ใช้ดุลพินิจไม่รอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลยทั้งสี่นั้น ชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยทั้งสี่ข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน”
พิพากษายืน

Share