แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
โจทก์บรรยายฟ้องว่า เมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2544 จำเลยนำบัตรประจำตัวประชาชนปลอมไปใช้อ้างแสดงต่อเจ้าพนักงานกระทรวงการต่างประเทศเพื่อขอออกหนังสือเดินทาง เจ้าพนักงานหลงเชื่อว่าเป็นบัตรประจำตัวประชาชนที่แท้จริงและได้ออกหนังสือเดินทางให้แก่จำเลย ต่อมาวันที่ 6 มีนาคม 2545 จำเลยนำบัตรประจำตัวประชาชนปลอมไปใช้อ้างแสดงต่อร้อยตำรวจเอก ส. ว่าจำเลยเป็นผู้มีชื่อตามบัตรประจำตัวประชาชนปลอม อันเป็นการฟ้องว่าจำเลยใช้บัตรประจำตัวประชาชนปลอม 2 ครั้ง การกระทำของจำเลยจึงเป็นการใช้เอกสารราชการปลอมตามวันและเวลาทั้งเจตนาในการใช้จึงเป็นการกระทำที่ต่างกรรมกัน การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน แต่โจทก์ไม่ฎีกา ศาลฎีกาเห็นสมควรปรับบทลงโทษจำเลยให้ถูกต้องโดยไม่แก้โทษ เพราะจะเป็นการเพิ่มเติมโทษจำเลย ต้องห้ามตาม ป.วิ.อ. มาตรา 221 ประกอบมาตรา 225 ปัญหาข้อที่ว่า จำเลยกระทำความผิดกรรมเดียวหรือหลายกรรมนี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เองตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225
สำหรับบัตรประจำตัวประชาชนปลอม หนังสือเดินทางปลอม และแผ่นฟิล์มของกลางที่โจทก์ขอให้มีคำสั่งริบนั้น เมื่อศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องและศาลอุทธรณ์พิพากษาว่าจำเลยมีความผิดฐานใช้บัตรประจำตัวประชาชนปลอม แต่ให้ยกฟ้องฐานปลอมบัตรประจำตัวปลอมและปลอมหนังสือเดินทาง ศาลล่างทั้งสองก็ชอบที่จะต้องมีคำสั่งเกี่ยวกับของกลางต้องมีคำสั่งเกี่ยวกับของกลางที่โจทก์ขอให้ริบด้วยตาม ป.วิ.อ. มาตรา 186 (9) และมาตรา 215 การที่ศาลล่างทั้งสองไม่วินิจฉัยเกี่ยวกับของกลางดังกล่าวจึงเป็นการไม่ชอบ ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไขให้ถูกต้อง เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าบัตรประจำตัวประชาชนของกลางเป็นทรัพย์ที่ใช้ในการกระทำความผิด สำหรับหนังสือเดินทางปลอมและแผ่นฟิล์มเป็นทรัพย์ที่ได้มาจากการกระทำความผิด และมีไว้เพื่อใช้ในการกระทำความผิดตามลำดับ จึงให้ริบ
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32, 33, 91, 264, 265, 268 ริบของกลาง
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 268 วรรคแรก ประกอบมาตรา 265 จำคุก 4 ปี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…ข้อเท็จจริงรับฟังได้ตามที่คู่ความนำสืบรับกันมาและไม่ได้ฎีกาโต้แย้งว่า ตามวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุในฟ้อง ร้อยตำรวจเอกสุเทพ รองสารวัตรงาน 4 กองกำกับการ 5 กองบังคับการตำรวจสันติบาล 2 กับพวก ร่วมกันจับจำเลยที่บริเวณปากซอย 95 ถนนเจริญกรุง แขวงบางคอแหลม เขตบางคอแหลม กรุงเทพมหานคร และยึดหนังสือเดินทางของประเทศสหราชอาณาจักร (อังกฤษ) เลขที่ 0177739 จำนวน 1 เล่ม สำเนาหนังสือเดินทางของประเทศสหภาพพม่า 1 ชุด และฟิมล์สำหรับทำวีซ่า 1 แผ่น ในชั้นจับกุมและชั้นสอบสวนเจ้าพนักงานตำรวจแจ้งข้อหาแก่จำเลยว่าปลอมเอกสาร ปลอมเอกสารราชการ และใช้เอกสารราชการปลอม จำเลยให้การปฏิเสธ เมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2530 ศาลจังหวัดระนองพิพากษา จำคุกจำเลย 3 เดือน และปรับ 400 บาท ให้รอการลงโทษจำคุกไว้ 1 ปี ฐานหลบหนีเข้าเมือง โดยจำเลยใช้ชื่อว่า “นายชาม” ตามคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 446/2530 เอกสารหมาย จ.26 (แผ่นที่ 2) จำเลยแจ้งเกิดเมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม 2541 และมีบัตรประจำตัวประชาชน วันออกบัตรคือวันที่ 30 กรกฎาคม 2541 วันหมดอายุคือวันที่ 29 กรกฎาคม 2547 ตามสำเนาข้อมูลส่วนบุคคลขณะขอมีบัตรและส่วนบัตรประจำตัวประชาชน เอกสารหมาย ป.จ.3 และ จ.23 ตามลำดับ วันหมดอายุถูกแก้เป็นวันที่ 20 มีนาคม 2548 ตามบัตรประจำตัวประชาชน เอกสารหมาย ป.จ.1 วันที่ 8 มกราคม 2544 นายประสิทธิ์ เดชรวิทย์ ปลัดอำเภอ ผู้ลงนามอนุมัติรับแจ้งเกิดถูกปลดออกจากราชการฐานทุจริตต่อหน้าที่ราชการ ตามบันทึกคำให้การของนายวินัย เอกสารหมาย จ.17 วันที่ 22 เมษายน 2545 บัตรประจำตัวประชาชนของจำเลยถูกยกเลิกเนื่องจากมีชื่อในทะเบียนบ้านโดยมิชอบ ตามสำเนาส่วนบัตรประจำตัวประชาชน เอกสารหมาย จ.24 สำหรับความผิดฐานปลอมเอกสารราชการ (บัตรประจำตัวประชาชน) และความผิดฐานปลอมเอกสาร (หนังสือเดินทางของประเทศสหราชอาณาจักร) นั้น ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้อง ความผิดทั้งสองฐานดังกล่าวนี้จึงยุติไป คดีคงมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า จำเลยกระทำความผิดฐานใช้เอกสารปลอมหรือไม่… สำหรับที่จำเลยฎีกาว่าคดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยในข้อหาความผิดตามพระราชบัญญัติประจำตัวประชาชน พ.ศ.2526 แต่โจทก์กลับนำสืบในประเด็นที่จำเลยอ้างเป็นบุตรคนไทยและขอมีบัตรประจำตัวประชาชนโดยไม่ชอบ จึงเป็นการนำสืบนอกฟ้องนอกประเด็นนั้น ข้อเท็จจริงปรากฏว่าการนำสืบของโจทก์ประกอบด้วยพยานบุคคลและพยานเอกสารจำนวนมาก ซึ่งล้วนแต่เกี่ยวข้องกับประเด็นแห่งคดีอันจะนำไปสู่ข้อเท็จจริงให้ฟังเป็นยุติและบ่งชี้การกระทำความผิดของจำเลยได้ การนำสืบของโจทก์จึงไม่นอกฟ้องนอกประเด็น ฎีกาของจำเลยข้ออื่นไม่มีผลทำให้คำวินิจฉัยดังกล่าวมาข้างต้นเปลี่ยนแปลงไปจึงไม่เป็นสาระแก่คดีอันควรได้รับการวินิจฉัยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น
อนึ่ง โจทก์บรรยายฟ้องว่า เมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2544 จำเลยนำบัตรประจำตัวประชาชนปลอมไปใช้อ้างแสดงต่อเจ้าพนักงานกระทรวงการต่างประเทศเพื่อขอออกหนังสือเดินทาง เจ้าพนักงานหลงเชื่อว่าเป็นบัตรประจำตัวประชาชนที่แท้จริงและได้ออกหนังสือเดินทางให้แก่จำเลย ต่อมาวันที่ 6 มีนาคม 2545 จำเลยนำบัตรประจำตัวประชาชนปลอมไปใช้อ้างแสดงต่อร้อยตำรวจเอกสุภาพ บุญเวช ว่าจำเลยเป็นผู้มีชื่อตามบัตรประจำตัวประชาชนปลอม อันเป็นการฟ้องว่าจำเลยใช้บัตรประจำตัวปลอม 2 ครั้ง เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ตามฟ้อง การกระทำของจำเลยจึงเป็นการใช้เอกสารราชการปลอมต่างวันและเวลา ทั้งต่างเจตนาในการใช้จึงเป็นการกระทำที่ต่างกรรมกัน การกระทำของจำเลยในส่วนนี้จึงเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน มิใช่เป็นความผิดกรรมเดียวดังที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัย แต่โจทก์ไม่ฎีกา ศาลฎีกาเห็นสมควรปรับบทลงโทษจำเลยให้ถูกต้องโดยไม่แก้โทษ เพราะจะเป็นการเพิ่มเติมโทษจำเลย ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 212 ประกอบมาตรา 225 ปัญหาข้อที่ว่า จำเลยกระทำความผิดกรรมเดียวหรือหลายกรรมนี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เองตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225 สำหรับบัตรประจำตัวประชาชนปลอม หนังสือเดินทางปลอมและแผ่นฟิล์มของกลางที่โจทก์ขอให้มีคำสั่งริบนั้น เมื่อศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องและศาลอุทธรณ์พิพากษาว่า จำเลยมีความผิดฐานใช้บัตรประจำตัวประชาชนปลอม แต่ให้ยกฟ้องฐานปลอมบัตรประจำตัวประชาชนและปลอมหนังสือเดินทาง ศาลล่างทั้งสองก็ชอบที่จะต้องมีคำสั่งเกี่ยวกับของกลางที่โจทก์ขอให้ริบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 186 (9) และมาตรา 215 การที่ศาลล่างทั้งสองไม่วินิจฉัยเกี่ยวกับของกลางดังกล่าวจึงเป็นการไม่ชอบ ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไขให้ถูกต้อง เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าบัตรประจำตัวประชาชนของกลางที่จำเลยใช้เป็นเอกสารราชการปลอม จึงเป็นทรัพย์ที่จำเลยใช้ในการกระทำความผิด สำหรับหนังสือเดินทางปลอมและแผ่นฟิล์มเป็นทรัพย์ที่ได้มาจากการกระทำความผิด และมีไว้เพื่อใช้ในการกระทำความผิดตามลำดับ จึงให้ริบเสียด้วย”
พิพากษาแก้เป็นว่า การกระทำของจำเลยเป็นความ 2 กระทง และให้ริบของกลาง นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์