คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3578/2553

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

คำว่า “จำหน่าย” ตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษฯ หมายถึง การจำหน่ายให้แก่บุคคลภายนอกที่ไม่ใช่ผู้ร่วมกระทำความผิดด้วยกัน ดังนั้น การที่จำเลยส่งมอบเมทแอมเฟตามีนของกลางให้แก่ ส. ผู้ร่วมกระทำความผิดด้วยกันจึงไม่อาจลงโทษจำเลยในความผิดฐานจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนของกลางได้ ปัญหานี้แม้จำเลยจะมิได้ยกขึ้นฎีกา แต่เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกายกขึ้นวินิจฉัยได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบด้วยมาตรา 225

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 4, 7, 8, 15, 66, 67, 97, 102 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32, 33, 83 ริบเมทแอมเฟตามีนที่เหลือจากการตรวจวิเคราะห์และโทรศัพท์เคลื่อนที่ของกลาง
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง กับให้ยกคำขออื่นของโจทก์ด้วย
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษากลับว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 15 วรรคสาม (2), 66 วรรคสอง, 100 /1 วรรคสอง ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 ให้จำคุก 12 ปี และปรับ 60,000 บาท จำเลยให้การรับสารภาพในชั้นจับกุมและชั้นสอบสวนเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 8 ปี และปรับ 40,000 บาท ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30ให้ยกคำขอริบทรัพย์ของกลาง เพราะได้ริบไว้แล้วในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 280 /2546 ของศาลชั้นต้น จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…หากข้อเท็จจริงเป็นดังที่โจทก์นำสืบ ข้อเท็จจริงก็รับฟังไม่ได้ว่า จำเลยร่วมกับนายสุรพงษ์จำหน่ายเมทแอมเฟตามีนของกลางให้แก่สายลับผู้ล่อซื้อ แต่เป็นกรณีที่จำเลยส่งมอบเมทแอมเฟตามีนของกลางแก่นายสุรพงษ์ผู้กระทำความผิดด้วยกันซึ่งไม่อยู่ในความหมายของการจำหน่ายยาเสพติดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 4 เนื่องจากตามบทบัญญัติดังกล่าว คำว่า “จำหน่าย” หมายถึง การจำหน่ายให้แก่บุคคลภายนอกที่ไม่ใช่ผู้ร่วมกระทำความผิดด้วยกัน ดังนี้ จึงไม่มีทางที่จะลงโทษจำเลยในความผิดฐานจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนของกลางได้ ปัญหานี้แม้จำเลยจะมิได้ยกขึ้นฎีกา แต่เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกายกขึ้นวินิจฉัยได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบด้วยมาตรา 225″
พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง

Share