คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4537/2553

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

ป.พ.พ. มาตรา 653 วรรคแรก (เดิม) บัญญัติว่า “การกู้ยืมเงินกว่าห้าสิบบาทขึ้นไปนั้น ถ้ามิได้มีหลักฐานแห่งการกู้ยืมเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อผู้ยืมเป็นสำคัญ ท่านว่าจะฟ้องร้องให้บังคับคดีหาได้ไม่” สาระสำคัญของหลักฐานเป็นหนังสือตาม ป.พ.พ. มาตรา 653 วรรคแรก อยู่ที่ว่า มีการแสดงให้เห็นว่ามีการกู้ยืมเงินกันก็เพียงพอแล้ว ไม่ได้บังคับถึงกับจะต้องระบุชื่อของผู้ให้กู้ไว้ ดังนั้น เมื่อโจทก์นำหนังสือสัญญากู้และค้ำประกันมาฟ้องจำเลยทั้งสาม และปรากฏชัดว่าเอกสารพิพาทมีสาระสำคัญแสดงให้เห็นว่า จำเลยที่ 1 กู้ยืมเงินจากผู้ให้กู้ แม้จะไม่ได้ระบุชื่อผู้ให้กู้ไว้ให้ถูกต้อง แต่ระบุจำนวนเงินและจำเลยที่ 1 ลงลายมือชื่อไว้ในฐานะผู้กู้ครบถ้วน จึงถือว่าเป็นหลักฐานแห่งการกู้ยืมและค้ำประกันของโจทก์ได้แล้ว

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงินแก่โจทก์ 181,656 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงิน 111,674 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยที่ 1 ให้การว่า จำเลยที่ 1 เคยเช่าซื้อรถยนต์จากโจทก์แล้วผิดนัดชำระค่าเช่าซื้อ โจทก์รับรถยนต์คืนไปแล้วมาฟ้องให้จำเลยที่ 1 ชำระหนี้ตามสัญญากู้ยืมเงินซึ่งไม่สมบูรณ์มาแต่ต้น เพราะขณะที่จำเลยที่ 1 ลงชื่อในสัญญายังไม่มีการกรอกข้อความโจทก์เพิ่งมาเติมข้อความภายหลัง ผู้รับมอบอำนาจไม่มีอำนาจฟ้อง ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 และที่ 3 ให้การว่า จำเลยที่ 1 เคยเช่าซื้อรถยนต์ไปจากโจทก์โดยมีจำเลยที่ 2 และที่ 3 ทำสัญญาค้ำประกัน โจทก์ให้จำเลยทั้งสามลงชื่อในแบบพิมพ์สัญญาต่างๆ รวมทั้งสัญญากู้ยืมเงินและสัญญาค้ำประกันตามฟ้อง โดยยังไม่กรอกข้อความในสัญญา โจทก์เพิ่งมากรอกข้อความภายหลังจึงเป็นเอกสารปลอม ผู้ลงนามในช่องผู้ให้กู้ทำในฐานะส่วนตัว โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงินแก่โจทก์ 111,674 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันที่ 2 พฤศจิกายน 2539 จนกว่าจะชำระเสร็จ ดอกเบี้ยคิดถึงวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 23 มกราคม 2544) ให้ไม่เกิน 69,982 บาท ตามที่โจทก์ขอมา กับให้จำเลยทั้งสามร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 5,000 บาท
จำเลยทั้งสามอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษายืน ให้จำเลยทั้งสามร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์แทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 3,000 บาท
จำเลยที่ 1 และที่ 3 ฎีกา โดยผู้พิพากษาที่ได้นั่งพิจารณาคดีในศาลอุทธรณ์ภาค 8 รับรองว่ามีเหตุสมควรที่จะฎีกาในข้อเท็จจริงได้
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…คดีมีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 และที่ 3 ว่าโจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ โดยจำเลยที่ 1 และที่ 3 ฎีกาว่า ที่โจทก์มอบอำนาจให้นายกัมปนาท ทำหนังสือสัญญากู้แทนโจทก์ตามเอกสารหมาย ล.1 ลายมือชื่อของนายเชาวลิตนั้น เซ็นแตกต่างกับที่นายเชาวลิตเคยเซ็นไว้ในสัญญาซื้อขายรถยนต์และใบส่งมอบรถยนต์เอกสารหมาย ล.2 ทั้งสองแผ่น ประกอบทั้งในการมอบอำนาจของโจทก์ตามเอกสารหมาย ล.3 ไม่ได้มีการประทับตราสำคัญของบริษัทและลงลายมือชื่อผู้รับมอบไว้ให้ครบถ้วนด้วย แสดงว่าเอกสารหมาย ล.1 เป็นเอกสารปลอมนั้น เห็นว่า คำฟ้องโจทก์บรรยายว่า จำเลยที่ 1 ทำสัญญากู้ยืมเงินโจทก์ 111,674 บาท ยอมเสียดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ตกลงชำระหนี้คืนวันที่ 2 พฤศจิกายน 2540 มีจำเลยที่ 2 และที่ 3 ทำสัญญาค้ำประกันยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมแล้วจำเลยที่ 1 ไม่ชำระหนี้ตามกำหนด จึงฟ้องขอบังคับจำเลยทั้งสามชำระหนี้โดยอาศัยสำเนาหนังสือกู้ยืมและค้ำประกันเอกสารหมาย จ.4 ซึ่งในการกู้ยืมเงินนี้ ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 653 วรรคแรก (เดิม) บัญญัติว่า “การกู้ยืมเงินกว่าห้าสิบบาทขึ้นไปนั้นถ้ามิได้มีหลักฐานแห่งการกู้ยืมเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อผู้ยืมเป็นสำคัญ ท่านว่าจะฟ้องร้องบังคับคดีหาได้ไม่” สาระสำคัญของหลักฐานเป็นหนังสือตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 653 วรรคแรก อยู่ที่ว่ามีการแสดงให้เห็นว่ามีการกู้ยืมเงินกันก็เพียงพอแล้ว ไม่ได้บังคับถึงกับจะต้องระบุชื่อของผู้ให้กู้ไว้ ดังนั้น เมื่อโจทก์นำหนังสือสัญญากู้และค้ำประกันมาฟ้องจำเลยทั้งสามและปรากฏชัดว่าเอกสารพิพาทมีสาระสำคัญแสดงให้เห็นว่า จำเลยที่ 1 ลงลายมือชื่อไว้ในฐานะผู้กู้ครบถ้วน จึงถือว่าเป็นหลักฐานแห่งการกู้ยืมและค้ำประกันของโจทก์ได้แล้ว ประกอบทั้งจำเลยที่ 1 และที่ 3 ก็เบิกความตอบทนายโจทก์ถามค้านว่า ลายมือชื่อในเอกสารหมาย จ.4 เป็นลายมือชื่อของจำเลยที่ 1 และที่ 3 จริง และผู้ค้ำประกันได้ลงลายมือชื่อไว้ในเอกสารจริง จึงไม่ต้องวินิจฉัยว่าลายมือชื่ผู้ให้กู้ในสัญญากู้ยืมเงินสมบูรณ์หรือไม่ เมื่อโจทก์มีหลักฐานการกู้ยืมและค้ำประกันเป็นหนังสือลงลายมือชื่อผู้ยืมและผู้ค้ำประกันมาฟ้องจำเลยทั้งสาม จึงต้องถือว่าโจทก์มีอำนาจฟ้อง…”
พิพากษายืน ให้จำเลยที่ 1 และที่ 3 ร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 2,000 บาท

Share