คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4432/2553

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

คดีก่อนโจทก์ฟ้องจำเลยทั้งห้ากล่าวหาว่าร่วมกันกระทำความผิดตาม ป.อ. มาตรา 271 และ พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้าฯ มาตรา 109 และ 110 ซึ่งเป็นความผิดเกี่ยวกับการจำหน่ายสินค้าโดยหลอกลวงในแหล่งกำเนิดของสินค้าและเลียนเครื่องหมายการค้าของผู้อื่น ส่วนคดีนี้เป็นคดีแพ่งพิพาทกันในเรื่องสิทธิในเครื่องหมายการค้าที่โจทก์และจำเลยที่ 3 ต่างได้รับการจดทะเบียนว่าใครมีสิทธิดีกว่าและมีเหตุเพิกถอนเครื่องหมายการค้าของจำเลยที่ 3 ได้หรือไม่ หรือเป็นข้อพิพาทเกี่ยวกับทะเบียนเครื่องหมายการค้าและชื่อทางการค้าโดยตรง ประเด็นในคดีนี้จึงมีว่าใครมีสิทธิในเครื่องหมายการค้าและชื่อทางการค้าดีกว่ากัน คดีนี้ย่อมมิใช่คดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา ซึ่งในการพิจารณาคดีส่วนแพ่งต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคดีส่วนอาญาตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่งประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศฯ มาตรา 26 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 46
เครื่องหมายการค้าของโจทก์และของจำเลยที่ 3 ประกอบด้วยคำว่า KOBE และ GOBE เป็นสาระสำคัญ ซึ่งคำทั้งสองต่างใช้อักษรโรมันตัวพิมพ์ใหญ่ 4 ตัว มีเสียงเรียกขานเหมือนกันว่า โกเบ และใช้กับสินค้าลวดเชื่อมโลหะเหมือนกัน กล่องบรรจุสินค้ามีสีเหมือนกัน ขนาดเท่ากัน ตัวอักษรบนกล่องและการวางตำแหน่งตัวอักษรคล้ายกัน เมื่อคำนึงถึงว่าส่วนใหญ่ของสาธารณชนมิได้มีความรู้ภาษาอังกฤษดีพอที่จะแยกความแตกต่างของตัวอักษรด้วยแล้ว ย่อมเป็นไปได้ง่ายที่สาธารณชนจะเกิดความสับสนหรือหลงผิดในความเป็นเจ้าของสินค้าหรือแหล่งกำเนิดของสินค้าได้ เครื่องหมายการค้าของจำเลยที่ 3 จึงเหมือนหรือคล้ายกับเครื่องหมายการค้าของโจทก์ คำว่า KOBE จนถึงกับเป็นการลวงสาธารณชนให้สับสนหรือหลงผิด โจทก์จึงมีสิทธิฟ้องขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของจำเลยที่ 3 ได้
คำว่า KOBE ที่โจทก์ใช้เป็นเครื่องหมายการค้าและชื่อทางการค้าในการประกอบการค้าของโจทก์เป็นทรัพย์สินอย่างหนึ่งของโจทก์ การที่จำเลยที่ 1 จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลเพื่อประกอบการค้าผลิตภัณฑ์ลวดเชื่อมโลหะเช่นเดียวกันกับโจทก์ โดยใช้ชื่อว่า บริษัทเค โอ บี อี เวลดิ้ง จำกัด ซึ่งเขียนด้วยอักษรโรมันว่า KOBE WELDING CO., LTD พ้องกับเครื่องหมายการค้าที่มีชื่อเสียงแพร่หลายทั่วไปและชื่อทางการค้าของโจทก์ กับนำชื่อภาษาอังกฤษของจำเลยที่ 1 ไปพิมพ์ที่กล่องบรรจุสินค้าของจำเลยที่ 1 ทำให้สาธารณชนสับสนหรือหลงผิดในความเป็นเจ้าของหรือแหล่งกำเนิดของสินค้าได้ เป็นการมุ่งแสวงหาประโยชน์จากชื่อเสียงเกียรติคุณของโจทก์โดยไม่สุจริต การกระทำของจำเลยที่ 1 จึงละเมิดสิทธิของโจทก์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 5, 18, 420 และ 421 โจทก์ผู้มีสิทธิโดยชอบที่จะใช้ชื่อทางการค้าดังกล่าวซึ่งต้องเสื่อมเสียประโยชน์จากการใช้ชื่อโดยมิชอบของจำเลยที่ 1 ย่อมมีสิทธิร้องขอต่อศาลให้สั่งห้ามจำเลยที่ 1 มิให้ใช้ชื่อ เค โอ บี อี เวลดิ้ง หรือ KOBE WELDING ได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 18 แต่บทบัญญัติดังกล่าวไม่ได้ให้สิทธิแก่โจทก์ในการบังคับจำเลยที่ 1 ให้จดทะเบียนเปลี่ยนแปลงชื่อนิติบุคคลด้วยที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาให้จำเลยที่ 1 จดทะเบียนเปลี่ยนแปลงชื่อของจำเลยที่ 1 โดยมิให้ใช้คำว่า เค โอ บี อี หรือ โกเบ ด้วยนั้น จึงไม่ถูกต้อง ปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้คู่ความไม่อุทธรณ์ ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศหยิบยกขึ้นวินิจฉัยได้ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศฯ มาตรา 45 ประกอบ ป.วิ.พ. มาตรา 246 และมาตรา 142 (5)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัดตามกฎหมายของประเทศญี่ปุ่น ใช้ชื่อทางการค้าว่า โกเบ สตีบ ลิมิเต็ด (KOBE STEEL LTD.) โจทก์เป็นผู้ผลิตและจำหน่ายลวดเชื่อมโลหะในประเทศต่างๆ ทั่วโลกมาตั้งแต่ปี 2483 โดยได้รับการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า ” .” , ” .”,
” .”, และ ” .” ในประเทศไทยตั้งแต่ปี 2522 ก่อนได้รับการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าดังกล่าวโจทก์ได้ก่อตั้งบริษัทสาขาในประเทศไทยใช้ชื่อว่า บริษัทไทยโกเบ เวลดิง จำกัด หรือเขียนด้วยอักษรโรมันว่า “THAI KOBE WELDING CO., LTD.” เพื่อผลิตและจำหน่ายลวดเชื่อมโลหะบรรจุกล่องสีแดงและดำที่มีเครื่องหมายการค้าดังกล่าว จำเลยที่ 1 ร่วมกับจำเลยที่ 2 กระทำละเมิดต่อโจทก์ด้วยการจดทะเบียนก่อตั้งบริษัทจำเลยที่ 1 โดยใช้ชื่อว่า บริษัท เค โอ บี อี เวลดิ้ง จำกัด หรือเขียนด้วยอักษรโรมันว่า “K O B E WELDING CO., LTD.” โดยไม่ได้รับอนุญาตจากโจทก์ นอกจากนี้จำเลยที่ 2 ร่วมกับจำเลยที่ 3 ถึงที่ 5 นำเครื่องหมายคำว่า “GOBE”, ” . “, ” .”ในลักษณะประดิษฐ์ไปขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าเพื่อใช้กับสินค้าลวดเชื่อมโชหะ และจำเลยทั้งห้าร่วมกันผลิตและจำหน่ายลวดเชื่อมโลหะโดยใช้กล่องบรรจุสีแดงและดำและมีเครื่องหมายการค้าคำว่า “GOBE STEEL WELDING ELECTRODES R-26” ซึ่งเหมือนหรือคล้ายกับเครื่องหมายการค้าของโจทก์ โดยเฉพาะคำว่า “R-26″ ของจำเลยทั้งห้า เป็นการเลียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์จากภาคส่วนคำว่า
” .” และจำเลยทั้งห้ายังได้นำชื่อของจำเลยที่ 1 ที่เขียนด้วยอักษรโรมันคำว่า “K O B E WELDING CO., LTD.” ไปทำให้ปรากฏบนกล่องบรรจุลวดเชื่อมที่จำเลยทั้งห้าร่วมกันผลิตและจำหน่าย อันเป็นการนำชื่อและเครื่องหมายการค้าของโจทก์ไปใช้โดยไม่ได้รับอนุญาตจากโจทก์ ทำให้สาธารณชนสับสนในความเป็นเจ้าของสินค้า และทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายขาดรายได้จากการขายสินค้าของโจทก์ และยังเสียค่าใช้จ่ายในการโฆษณาเผยแพร่สินค้าและเครื่องหมายการค้าของโจทก์ ขอให้พิพากษาว่า โจทก์มีสิทธิในชื่อทางการค้าและเครื่องหมายการค้าคำว่า KOBE, KOBELO (ที่ถูกคือ KOBELCO), CKOBE STEEL (ที่ถูกคือ KOBE STEEL), RB-26 และ KOBE STEEL WELDING ELECTRODES RB-26 รวมทั้งรูปลักษณะภาชนะบรรจุภัณฑ์สินค้าตามเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 5 ถึงหมายเลข 9 ดีกว่าจำเลยทั้งห้า, เครื่องหมายการค้าคำว่า KOBE, KOBEL และ KOBEE ของจำเลยที่ 3 คล้ายกับเครื่องหมายการค้าคำว่า KOBE, KOBELCO หรือ KOBE STEEL ของโจทก์ จนอาจก่อให้เกิดความสับสนหรือหลงผิดในความเป็นเจ้าของหรือแหล่งกำเนิดของสินค้าได้, ชื่อบริษัทจำเลยที่ 1 มีเสียงเรียกขานหรือรูปลักษณะคล้ายกับชื่อทางการค้าคำว่า KOBE STEEL และเครื่องหมายการค้าคำว่า KOBE, KOBELCO หรือ KOBE STEEL ของโจทก์ จนอาจก่อให้เกิดความสับสนหรือหลงผิดในความเป็นเจ้าของหรือแหล่งกำเนิดของสินค้า และอาจก่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ได้ ขอให้เพิกถอนเครื่องหมายการค้าคำว่า GOBE, KOBEL และ KOBEE ของจำเลยที่ 3 และให้จำเลยที่ 1 จดทะเบียนเลิกบริษัทหรือเปลี่ยนชื่อจำเลยที่ 1 ไม่ให้เหมือนหรือคล้ายกับเครื่องหมายการค้าหรือชื่อทางการค้าของโจทก์หรือของบริษัทในเครือของโจทก์ในประเทศไทย ห้ามจำเลยทั้งห้าใช้หรือจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าหรือจดทะเบียนบริษัทจำกัดที่มีชื่อเหมือนหรือคล้ายกับเครื่องหมายการค้าคำว่า KOBE, KOBELCO และ KOBE STEEL หรือชื่อทางการค้าของโจทก์ ตลอดจนห้ามจำเลยทั้งห้าใช้ภาชนะบรรจุผลิตภัณฑ์สินค้าเหมือนหรือคล้ายกับของโจทก์ และให้จำเลยทั้งห้าร่วมกันรับผิดใช้ค่าเสียหายแก่โจกท์เดือนละ 200,000 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยที่ 1 จะจดทะเบียนเลิกบริษัทหรือจดทะเบียนเปลี่ยนชื่อจำเลยที่ 1 และจนกว่าจำเลยที่ 3 ถอนเครื่องหมายการค้าของจำเลยที่ 3 ออกจากทะเบียนเครื่องหมายการค้า กรมทรัพย์สินทางปัญญา
จำเลยทั้งห้าให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 จดทะเบียนเปลี่ยนแปลงชื่อของจำเลยที่ 1 มิให้ใช้คำว่า “เค โอ บี อี” หรือ “โกเบ” หรือคำอื่นใดที่เหมือนหรือคล้ายหรือออกเสียงเรียกขานหรือคล้ายกับชื่อบริษัทไทยโกเบ เวลดิ้ง จำกัด หรือเหมือนหรือคล้ายหรือออกเสียงเรียกขานเหมือนหรือคล้ายกับเครื่องหมายการค้าอักษรโรมันคำว่า ” .”
และคำว่า ” .” ของโจทก์ หากจำเลยทั้งสองไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลแทนการแสดงเจตนา โดยให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันรับผิดในค่าธรรมเนียมจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงชื่อของจำเลยที่ 1 ให้เพิกถอนเครื่องหมายการค้าคำว่า “GOBE” ตามคำขอจดทะเบียนเลขที่ 501947 ทะเบียนเลขที่ ค 132029 และตามคำขอจดทะเบียนเลขที่ 501947 ทะเบียนเลขที่ ค 180611 ของจำเลยที่ 3 ยกฟ้องจำเลยที่ 4 และที่ 5 คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยทั้งห้าอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า “…คดีนี้กับคดีอาญาหมายเลขแดงที่ อ. 6879/2549 ของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางซึ่งถึงที่สุดแล้ว เป็นคดีแพ่งเกี่ยวเนื่องกับคดีอาญาและในการพิพากษาคดีส่วนแพ่ง ศาลจะต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญาตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 26 ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 46 หรือไม่ เห็นว่า คดีอาญาดังกล่าวโจทก์ฟ้องจำเลยทั้งห้าตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 271 ในความผิดฐานขายของโดยหลอกลวงด้วยประการใดๆ ให้ผู้ซื้อหลงเชื่อในแหล่งกำเนิด สภาพ คุณภาพหรือปริมาณแห่งของนั้นอันเป็นเท็จ และความผิดตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 109 และ 110 โดยกล่าวหาว่าจำเลยทั้งห้าร่วมกันผลิต ขาย และมีไว้เพื่อขายซึ่งผลิตภัณฑ์ลวดเชื่อมและลวดเชื่อมไฟฟ้าที่เลียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์ ซึ่งเป็นข้อพิพาทเกี่ยวกับการจำหน่ายสินค้าโดยหลอกลวงในแหล่งกำเนิดหรือเลียนเครื่องหมายการค้าของผู้อื่น ส่วนคดีแพ่งนี้พิพาทกันในเรื่องสิทธิในเครื่องหมายการค้าที่ทั้งโจทก์และจำเลยที่ 3 ต่างก็ได้รับการจดทะเบียนว่าใครมีสิทธิดีกว่าและมีเหตุเพิกถอนเครื่องหมายการค้าของจำเลยที่ 3 ได้หรือไม่ หรือเป็นข้อพิพาทเกี่ยวกับชื่อทางการค้าและทะเบียนเครื่องหมายการค้าโดยตรง ประเด็นในคดีนี้จึงมีว่า ใครมีสิทธิในเครื่องหมายการค้าและชื่อทางการค้าดีกว่ากัน คดีนี้จึงไม่ใช่คดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา ซึ่งในการพิพากษาคดีส่วนแพ่งจะต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญาตามที่จำเลยทั้งห้าอุทธรณ์ไม่
มีปัญหาต้องวินิจฉัยในประการต่อไปว่า มีเหตุที่จะเพิกถอนเครื่องหมายการค้าของจำเลยที่ 3 ทะเบียนเลขที่ ค 132029 และทะเบียนเลขที่ ค 180611 ตามคำพิพากษาศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางหรือไม่ เห็นว่า แม้เครื่องหมายการค้าของโจทก์ทะเบียนเลขที่ ค 76231 และทะเบียนเลขที่ ค 76229 จะมีคำว่า KOBE ซึ่งเป็นภาคส่วนสำคัญ โดยเขียนและเรียกขานตรงกับชื่อเมืองท่า KOBE ของประเทศญี่ปุ่นซึ่งประชาชนโดยทั่วไปรู้จักอันเป็นชื่อทางภูมิศาสตร์อื่นๆ ตามประกาศกระทรวงพาณิชย์ ฉบับที่ 5 (พ.ศ.2535) แต่โจทก์ใช้เครื่องหมายการค้าคำว่า KOBE หรือ KOBE STEEL กับสินค้าลวดเชื่อม ลวดเชื่อมไฟฟ้าของโจทก์ในต่างประเทศและในประเทศมาเป็นเวลาช้านานแล้ว โจทก์ตั้งบริษัทสาขาในประเทศไทยเพื่อผลิตและจำหน่ายสินค้าลวดเชื่อมโลหะลวดเชื่อมไฟฟ้าภายใต้เครื่องหมายการค้าดังกล่าวมาเป็นเวลากว่า 46 ปี จำเลยที่ 2 ยอมรับว่า จำเลยที่ 2 รู้จักสินค้าลวดเชื่อมของโจทก์ซึ่งบรรจุกล่องวัตถุพยานหมาย วจ.1 โดยไม่เปลี่ยนรูปแบบของกล่องมาจนถึงปัจจุบันเป็นเวลา 26 ปี โจทก์ได้พิสูจน์ลักษณะบ่งเฉพาะตามหลักเกณฑ์ที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์กำหนด จึงถือได้ว่าเครื่องหมายการค้าของโจทก์มีลักษณะบ่งเฉพาะ และโจทก์ได้รับการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าไว้แล้วเมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2531 โจทก์จึงเป็นผู้มีสิทธิแต่ผู้เดียวในอันที่จะใช้เครื่องหมายการค้านั้นสำหรับสินค้าที่ได้จดทะเบียนไว้ตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 44 จำเลยที่ 3 จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าคำว่า GOBE เมื่อปี 2543 และ 2545 เป็นเวลาภายหลังจากที่โจทก์จดทะเบียน โดยเครื่องหมายการค้าของโจทก์และของจำเลยที่ 3 ประกอบด้วยคำว่า KOBE และ GOBE เป็นสาระสำคัญ ซึ่งคำ 2 คำนี้ต่างใช้ตัวอักษรโรมัน 4 ตัว และเป็นตัวพิมพ์ใหญ่เหมือนกัน เสียงเรียกขานเหมือนกันว่า โกเบ ใช้กับสินค้าลวดเชื่อมโลหะเหมือนกัน กล่องบรรจุลวดเชื่อมโลหะสีเหมือนกัน ขนาดเท่ากัน ตัวอักษรบนกล่องและการวางตำแหน่งตัวอักษรคล้ายกัน และเมื่อคำนึงถึงว่าส่วนใหญ่ของสาธารณชนมิได้มีความรู้ภาษาอังกฤษหรือตัวอักษรโรมันดีพอที่จะแยกความแตกต่างของตัวอักษรด้วยแล้ว ย่อมเป็นไปได้ง่ายที่สาธารณชนจะเกิดความสับสนหรือหลงผิดในความเป็นเจ้าของสินค้าหรือแหล่งกำเนิดของสินค้าได้ เครื่องหมายการค้าของจำเลยที่ 3 จึงเหมือนหรือคล้ายกับเครื่องหมายการค้าของโจทก์คำว่า KOBE จนถึงกับเป็นการลวงสาธารณชนให้สับสนหรือหลงผิดแล้ว การที่จำเลยที่ 3 ใช้เครื่องหมายการค้าคล้ายกับเครื่องหมายการค้าของโจทก์ย่อมแสดงให้เห็นถึงเจตนาของจำเลยที่ 3 ที่จะเลียนแบบเครื่องหมายการค้าของโจทก์ เป็นการละเมิดสิทธิในเครื่องหมายการค้าของโจทก์ โจทก์จึงมีสิทธิฟ้องขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าดังกล่าวของจำเลยที่ 3
มีปัญหาต้องวินิจฉัยในประการต่อไปว่า จำเลยที่ 1 มีสิทธิใช้คำว่า เค โอ บี อี เวลดิ้ง หรือเขียนเป็นอักษรโรมันว่า K O B E WELDING เป็นชื่อของจำเลยที่ 1 ได้หรือไม่ เห็นว่า ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 18 บัญญัติว่า สิทธิของบุคคลในการที่จะใช้นามอันชอบที่จะใช้ได้นั้น ถ้ามีบุคคลอื่นโต้แย้งก็ดี หรือบุคคลผู้เป็นเจ้าของนามนั้นต้องเสื่อมเสียประโยชน์เพราะการที่มีผู้อื่นมาใช้นามเดียวกันโดยมิได้รับอำนาจให้ใช้ได้ก็ดี บุคคลผู้เป็นเจ้าของนามจะเรียกให้บุคคลนั้นระงับความเสียหายก็ได้ ถ้าและเป็นที่พึงวิตกว่าจะต้องเสียหายอยู่สืบไป จะร้องขอต่อศาลให้สั่งห้ามก็ได้ นอกจากนี้ในกรณีสิทธิในการใช้ชื่อทางการค้าก็ยังมีกฎหมายให้ความคุ้มครองโดยประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 272 (1) บัญญัติว่า ผู้ใดเอาชื่อ รูป รอยประดิษฐ์ หรือข้อความใดๆ ในการประกอบการค้าของผู้อื่นมาใช้ หรือทำให้ปรากฏที่สินค้า หีบ ห่อ วัตถุที่ใช้หุ้มห่อ แจ้งความ รายการแสดงราคา จดหมายเกี่ยวกับการค้าหรือสิ่งอื่นทำนองเดียวกันเพื่อให้ประชาชนหลงเชื่อว่าเป็นสินค้าหรือการค้าของผู้อื่นนั้นเป็นความผิดที่มีโทษทางอาญา โจทก์เป็นผู้ผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ลวดเชื่อมชั้นนำของประเทศญี่ปุ่นโดยผลิตสินค้าที่มีคุณภาพเป็นที่ยอมรับและมีชื่อเสียงออกจำหน่ายในประเทศต่างๆ แทบทั่วโลกมาตั้งแต่ปี 2483 โจทก์ใช้เครื่องหมายการค้าว่า KOBE STEEL และรูปฉลาก KOBE STEEL WELDING ELECTRODES ที่มีพื้นสีแดงและดำ เครื่องหมายการค้าของโจทก์ได้รับการจดทะเบียนไว้แล้วทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศหลายประเทศ โดยในประเทศไทยจดทะเบียนเมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2531 สำหรับการใช้และจำหน่ายสินค้าผลิตภัณฑ์ลวดเชื่อมนั้น เมื่อวันที่ 23 มกราคม 2511 โจทก์ได้ก่อตั้งบริษัทสาขาขึ้นในประเทศไทยโดยใช้ชื่อว่า บริษัทไทยโกเบ เวลดิ้ง จำกัด กิจการผลิตและจำหน่ายสินค้าของโจทก์ภายใต้เครื่องหมายการค้าและชื่อทางการค้าดังกล่าวเป็นกิจการขนาดใหญ่ได้รับความนิยมเชื่อมั่นในสินค้า ซึ่งสาธารณชนผู้บริโภคใช้เป็นปัจจัยสำคัญอันหนึ่งในการตัดสินใจเลือบริโภคสินค้าจากกิจการของโจทก์ คำว่า KOBE ที่โจทก์ใช้เป็นเครื่องหมายการค้าและชื่อทางการค้าในการประกอบการค้าของโจทก์นับได้ว่าเป็นทรัพย์สินอย่างหนึ่งของโจทก์ จำเลยที่ 2 เป็นกรรมการผู้มีอำนาจของจำเลยที่ 1 เคยเห็นสินค้าของโจทก์ภายใต้เครื่องหมายการค้าดังกล่าวเป็นเวลา 26 ปีแล้ว การที่จำเลยที่ 1 จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัดเมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2546 เพื่อประกอบการค้าขายสินค้าผลิตภัณฑ์ลวดเชื่อมเช่นเกียวกับโจทก์โดยใช้ชื่อบริษัทพ้องกับเครื่องหมายการค้าที่มีชื่อเสียงแพร่หลายทั่วไปและชื่อทางการค้าของโจทก์ดังกล่าวกับนำชื่อภาษอังกฤษของบริษัทจำเลยที่ 1 ไปพิมพ์ไว้ที่กล่องบรรจุสินค้าของจำเลยที่ 1 ตามวัตถุพยานหมาย วจ.2 ทำให้สาธารณชนสับสนหรือหลงผิดในความเป็นเจ้าของหรือแหล่งกำเนิดของสินค้าได้ การที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ยังใช้ชื่อดังกล่าวเป็นชื่อบริษัทจำเลยที่ 1 โดยไม่คำนึงถึงความเสียหายของผู้อื่น ส่อแสดงให้เห็นว่าจำเลยทั้งสองมุ่งแสวงหาประโยชน์จากชื่อเสียงเกียรติคุณของโจกท์โดยไม่สุจริต จำเลยที่ 1 จึงไม่ใช่ผู้มีสิทธิใช้นามหรือชื่อดังกล่าวได้โดยชอบ การกระทำของจำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นการละเมิดต่อสิทธิในชื่อทางการค้าคำว่า KOBE ของโจทก์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 5, 18, 420 และ 421 โจทก์ผู้มีสิทธิโดยชอบที่จะใช้ชื่อทางการค้าดังกล่าว ซึ่งต้องเสื่อมเสียประโยชน์จากการใช้ชื่อโดยมิชอบของจำเลยที่ 1 ย่อมมีสิทธิห้ามจำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 กรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนจำเลยที่ 1 มิให้ใช้ชื่อ เค โอ บี อี เวลดิ้ง หรือ K O B E WELDING ได้ อย่างไรก็ตามที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 จดทะเบียนเปลี่ยนแปลงชื่อของจำเลยที่ 1 มิให้ใช้คำว่า “เค โอ บี อี ” หรือ “โกเบ” หรือคำอื่นใดที่เหมือนหรือคล้ายหรือออกเสียงเรียกขานเหมือนหรือคล้ายกับชื่อบริษัทไทย โกเบ เวลดิ้ง จำกัด หรือเหมือนหรือคล้ายหรือออกเสียงเรียกขานเหมือนหรือคล้ายกับเครื่องหมายโรมันคำว่า “KOBE STEEL” และคำว่า “KOBELCO” ของโจทก์ หากจำเลยที่ 1 และที่ 2 ไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลแทนการแสดงเจตนา โดยให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันรับผิดในค่าธรรมเนียมจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงชื่อของจำเลยที่ 1 นั้น ไม่ถูกต้องเพราะบทบัญญัติมาตรา 18 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์เพียงให้สิทธิโจทก์ร้องขอต่อศาลสั่งห้ามจำเลยที่ 1 ใช้ชื่อนิติบุคคลที่มีชื่อเหมือนหรือคล้ายกับเครื่องหมายการค้าหรือชื่อทางการค้าของโจทก์เท่านั้น มิได้ให้สิทธิแก่โจทก์ในการบังคับให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 จดทะเบียนเปลี่ยนแปลงชื่อนิติบุคคลของจำเลยที่ 1 ปัญหานี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดอุทธรณ์ ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศเห็นสมควรหยิบยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องได้ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 45 ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 246 และมาตรา 142 (5)”
พิพากษาแก้เป็นว่า ห้ามมิให้จำเลยที่ 1 ใช้คำว่า “เค โอ บี อี เวลดิ้ง” หรือ “K O B E WELDING” เป็นส่วนหนึ่งของชื่อบริษัทจำเลยที่ 1 ให้ยกคำพิพากษาศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางในส่วนที่ให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 จดทะเบียนเปลี่ยนแปลงชื่อของจำเลยที่ 1 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง

Share