คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2504/2553

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

การพิจารณาเครื่องหมายการค้าว่าเหมือนหรือคล้ายกันหรือไม่ ต้องพิจารณาจากเครื่องหมายนั้นทั้งเครื่องหมาย มิใช่พิจารณาเฉพาะส่วนใดส่วนหนึ่ง และต้องพิจารณาเสียงเรียกขานเครื่องหมายดังกล่าวตลอดจนจำพวกและรายการสินค้าที่ขอจดทะเบียนโดยคำนึงถึงกลุ่มผู้บริโภคสินค้านั้นๆ ว่าสามารถแยกแยะเจ้าของสินค้าหรือแสดงความเชื่อมโยงระหว่างสินค้ากับเจ้าของสินค้านั้นได้หรือไม่
เครื่องหมายสินค้าของโจทก์เป็นอักษรโรมันคำว่า MAGNUM ส่วนเครื่องหมายการค้าของบริษัท อ. ซึ่งได้จดทะเบียนไว้แล้วเป็นอักษรไทยคำว่า แมกนั่มแม้เสียงเรียกขานเครื่องหมายการค้าทั้งสองเหมือนหรือคล้ายกันมากและโจทก์กับบริษัท อ. ขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของตนเพื่อใช้กับสินค้าจำพวกเดียวกันแต่รายการสินค้าที่ขอจดทะเบียนนั้นแตกต่างกัน โดยของโจทก์เป็นไอศกรีมหวานเย็นขนมแช่แข็งและสิ่งที่ใช้ผสมในการทำขนมดังกล่าว ส่วนของบริษัท อ. เป็นชา กาแฟซึ่งลักษณะของการวางจำหน่ายสินค้าดังกล่าวในร้านค้าโดยทั่วไปไม่ได้วางใกล้ชิดกันกลุ่มผู้บริโภคสินค้าของโจทก์และบริษัท อ. ไม่น่าจะเกิดความสับสนได้ เครื่องหมายการค้าของโจทก์จึงไม่คล้ายกับเครื่องหมายการค้าของบริษัท อ. จนอาจทำให้สาธารณชนสับสนหลงผิดในความเป็นเจ้าของหรือแหล่งกำเนิดของสินค้า ไม่มีลักษณะต้องห้ามมิให้รับจดทะเบียน

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลตามกฎหมายของประเทศเนเธอร์แลนด์ และเป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้าคำว่า MAGNUM ซึ่งได้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าดังกล่าวสำหรับสินค้าไอศกรีมและอื่นๆ ในประเทศต่างๆ ทั่วโลก สำหรับประเทศไทยโจทก์ได้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าต่างๆ ที่มีคำว่า MAGNUM อยู่ด้วยมาตั้งแต่ปี 2534 เมื่อวันที่ 4 กันยายน 2541 โจทก์ยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าคำว่า MAGNUM เพื่อใช้กับสินค้าจำพวก 30 รายการสินค้า ไอศกรีม หวานเย็น ขนมหวานแช่แข็ง สิ่งที่ใช้ผสมในการทำไอศกรีมหรือหวานเย็นหรือขนมหวานแช่แข็งตามคำขอเลขที่ 368774 บริษัทโอสถสภา จำกัด ยื่นคำคัดค้านอ้างว่า เครื่องหมายการค้าดังกล่าวเหมือนหรือคล้ายกับเครื่องหมายการค้าของตนซึ่งได้จดทะเบียนไว้แล้วนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าวินิจฉัยให้ยกคำคัดค้าน บริษัทโอสถสภา จำกัด อุทธรณ์คณะกรรมการเครื่องหมายการค้ามีคำวินิจฉัยให้ระงับการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าตามคำขอของโจทก์ ขอให้พิพากษาว่าเครื่องหมายการค้าตามคำขอเลขที่ 368774 ของโจทก์ไม่เหมือนหรือคล้ายกับเครื่องหมายการค้าทะเบียนเลขที่ ค 106069, ค 106067, ค 106065, ค 106066, ค 92225, ค 106080, ค 106073, ค 147705, ค 89564, ค 116651 และ ค 116652 ของบริษัทโอสถสภา จำกัด ที่ได้รับการจดทะเบียนไว้แล้วจนอาจทำให้สาธารณชนสับสนหลงผิดในความเป็นเจ้าของหรือแหล่งกำเนิดของสินค้า โจทก์เป็นผู้มีสิทธิจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าตามคำขอเลขที่ 368774 ให้เพิกถอนคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าที่ 1346/2545 และบังคับให้จำเลยทั้งสองดำเนินการเกี่ยวกับคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าตามคำขอเลขที่ 368774 เพื่อรับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าต่อไป
จำเลยทั้งสองให้การว่า บริษัทโอสถสภา จำกัด เป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้าคำว่า MAGNUM, MACNUM, แม็กนั่ม, แมกนั่ม และเครื่องหมายการค้าที่ประกอบด้วยคำว่า MAGNUM หรือ แม็กนั่ม เป็นสาระสำคัญ และได้จดทะเบียนไว้แล้วรวม 12 เครื่องหมาย ก่อนที่โจทก์จะยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าคำว่า MAGNUM เครื่องหมายการค้าคำว่า MAGNUM ของโจทก์กับเครื่องหมายการค้าคำว่า แมกนั่มของบริษัทโอสถสภา จำกัด มีเสียงเรียกขานคล้ายกันจนอาจทำให้สาธารณชนสับสนหรือหลงผิดในความเป็นเจ้าของหรือแหล่งกำเนิดของสินค้า เมื่อโจทก์ยื่นขอจดทะเบียนสำหรับสินค้าจำพวกเดียวกับเครื่องหมายการค้าของบริษัทโอสถสภา จำกัด จึงต้องห้ามมิให้รับจดทะเบียนตามมาตรา 13 แห่งพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 คำวินิจฉัยของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าชอบด้วยกฎหมายแล้ว ขอให้ยกฟ้อง
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษายกฟ้องค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า “…พิเคราะห์แล้ว คดีมีข้อเท็จจริงรับฟังเป็นที่ยุติในเบื้องต้นตามที่คู่ความไม่โต้แย้งกันว่าโจทก์ได้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าที่มีคำว่า MAGNUM และแม็กนั่ม เป็นภาคส่วนประกอบกับคำหรือรูปอื่นในลักษณะต่างๆ เพื่อใช้กับสินค้าจำพวก 30 รายการสินค้าไอศกรีม ต่อมาโจทก์ยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าเฉพาะคำว่า MAGNUM เพื่อใช้กับสินค้าจำพวก 30 รายการสินค้า ไอศกรีม หวานเย็น ขนมหวานแช่แข็งและสิ่งที่ใช้ผสมในการทำไอศกรีมหรือหวานเย็นหรือขนมหวานแช่แข็ง บริษัทโอสถสภา จำกัด ยื่นคำคัดค้าน นายทะเบียนเครื่องหมายการค้าวินิจฉัยให้ยกคำคัดค้าน บริษัทโอสถสภา จำกัด อุทธรณ์ คณะกรรมการเครื่องหมายการค้าพิจารณาโดยเปรียบเทียบเครื่องหมายการค้าของโจทก์ เอกสารหมาย จ.11 กับเครื่องหมายการค้าของบริษัทโอสถสภา จำกัด เอกสารหมาย จ.49 แผ่นที่ 5 แล้วมีคำวินิจฉัยให้ระงับการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าตามคำขอของโจทก์
ปัญหาที่เห็นสมควรวินิจฉัยมีว่า คำวินิจฉัยของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าชอบด้วยกฎหมายหรือไม่… เห็นว่า ในการพิจารณาเปรียบเทียบเครื่องหมายการค้าว่าเหมือนหรือคล้ายกันหรือไม่นี้ศาลจะต้องพิจารณาจากเครื่องหมายการค้าทั้งเครื่องหมายมิได้พิจารณาเฉพาะส่วนใดส่วนหนึ่งเท่านั้น และยังต้องพิจารณาเสียงเรียกขาน ตลอดจนจำพวกและรายการสินค้าที่ขอจดทะเบียนด้วย เพราะศาลต้องคำนึงถึงกลุ่มผู้บริโภคสินค้านั้นๆ เป็นสำคัญว่าเครื่องหมายการค้าดังกล่าวจะช่วยให้กลุ่มผู้บริโภคสามารถแยกแยะเจ้าของสินค้าหรือแสดงความเชื่อมโยงระหว่างสินค้ากับเจ้าของสินค้านั้นได้หรือไม่เครื่องหมายการค้าของโจทก์เป็นอักษรโรมันคำว่า MAGNUM ส่วนของบริษัทโอสถสภา จำกัด เป็นอักษรไทยคำว่า แมกนั่ม จึงไม่เหมือนหรือคล้ายกันในรูปลักษณะของเครื่องหมายการค้า เมื่อพิจารณาถึงเสียงเรียกขาน เครื่องหมายการค้าของโจทก์กับของบริษัทโอสถสภา จำกัด มีเสียงเรียกขานที่เหมือนหรือคล้ายกันมาก เพราะเครื่องหมายการค้าคำว่า แมกนั่ม ของบริษัทโอสถสภา จำกัด เป็นอักษรไทยที่สะกดเลียนเสียงภาษาอังกฤษคำว่า MAGNUM นั่นเอง เมื่อพิจารณาต่อไปว่ากลุ่มผู้บริโภคจะสามารถแยกแยะสินค้าหรือเจ้าของสินค้าออกจากกันได้หรือไม่ เห็นว่า สินค้าของโจทก์เป็นจำพวก 30 รายการสินค้า ไอศกรีม หวานเย็น ขนมแช่แข็ง และสิ่งที่ใช้ผสมในการทำไอศกรีม หรือหวานเย็น หรือขนมหวานแช่แข็ง ส่วนสินค้าของบริษัทโอสถสภา จำกัด ตามที่ระบุไว้ในเอกสารหมาย จ.49 เป็นสินค้าจำพวก 30 รายการสินค้า ชา กาแฟ จึงเป็นรายการสินค้าที่แตกต่างกัน ซึ่งลักษณะของการวางจำหน่ายในร้านค้าโดยทั่วไปน่าจะไม่ได้วางใกล้ชิดกันหรือบนชั้นวางสินค้าเดียวกัน ดังนั้น กลุ่มผู้บริโภคสินค้าของโจทก์กับของบริษัทโอสถสภา จำกัด แม้จะเกี่ยวข้องสัมพันธ์กันบ้าง แต่ก็ไม่น่าจะเกิดความสับสนได้ทั้งได้ความจากทางนำสืบของโจทก์และจำเลยว่า สินค้าส่วนใหญ่ของบริษัทโอสถสภา จำกัด ภายใต้เครื่องหมายการค้าที่เกี่ยวกับคำว่า MAGNUM นี้ เป็นสินค้าประเภทเครื่องดื่มบำรุงกำลัง เมื่อไม่ปรากฏว่าเครื่องหมายการค้าของบริษัทโอสถสภา จำกัด เป็นเครื่องหมายการค้าที่มีชื่อเสียงแพร่หลายทั่วไป ย่อมจะไม่ได้รับความคุ้มครองในสินค้าต่างจำพวกที่ขอจดทะเบียนไว้ และพยานโจทก์กับพยานจำเลยทั้งสองเบิกความในทำนองว่าบริษัทโอสถสภา จำกัด ไม่เคยนำสินค้าประเภทชา หรือกาแฟ ออกจำหน่ายภายใต้เครื่องหมายการค้านี้ ความสับสนในหมู่ผู้บริโภคดังที่คณะกรรมการเครื่องหมายการค้าวินิจฉัยมาจึงไม่มี ประกอบกับโจทก์ได้ใช้คำว่า MAGNUM เป็นส่วนหนึ่งของเครื่องหมายการค้ากับสินค้าไอศกรีมของตนในประเทศไทยมาเป็นระยะเวลาหนึ่งแล้วไม่น่าเชื่อว่าโจทก์ประสงค์ที่จะใช้เครื่องหมายการค้าคำว่า MAGNUM เพื่อแอบอิง หรือแสวงหาประโยชน์จากชื่อเสียงเกียรติคุณในเครื่องหมายการค้าของบริษัทโอสถสภา จำกัด ดังนี้ แม้เครื่องหมายการค้าของโจทก์กับเครื่องหมายการค้าของบริษัทโอสถสภา จำกัด จะมีเสียงเรียกขานคล้ายกัน แต่ก็ยังไม่ทำให้เครื่องหมายการค้าของโจทก์คล้ายกับเครื่องหมายการค้าของบริษัทโอสถสภา จำกัด จนเป็นเหตุให้ไม่อาจรับจดทะเบียนได้… ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษามานั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ อุทธรณ์ของโจทก์ฟังขึ้น”
พิพากษากลับว่า เครื่องหมายการค้าตามคำขอเลขที่ 368774 ของโจทก์ไม่เหมือนหรือคล้ายกับเครื่องหมายการค้าที่ได้รับการจดทะเบียนไว้แล้วของบริษัทโอสถสภา จำกัด ทะเบียนเลขที่ ค 106069, ค 106067, ค 106065, ค 106066, ค 92225, ค 106080, ค 106073, ค147705, ค 89564, ค 89561, ค 116651 และ ค 116652 จนอาจทำให้สาธารณชนสับสนหลงผิดในความเป็นเจ้าของหรือแหล่งกำเนิดของสินค้า ให้เพิกถอนคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าที่ 1346/2545 และให้นายทะเบียนเครื่องหมายการค้าดำเนินการเกี่ยวกับคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าตามคำขอเลขที่ 368774 ต่อไป ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลให้เป็นพับ

Share