แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
หนี้ของจำเลยเป็นหนี้ตามตั๋วสัญญาใช้เงิน ซึ่งถึงกำหนดใช้เงินเมื่อสิ้นระยะเวลาอันกำหนดไว้นับแต่วันที่ลงในตั๋ว เป็นหนี้ที่มีกำหนดเวลาแน่นอนตามวันแห่งปฏิทินคือในวันที่ครบกำหนดในตั๋วสัญญาใช้เงิน เมื่อครบกำหนดแล้วจำเลยไม่ชำระหนี้ตามตั๋วเงินดังกล่าว จึงตกเป็นผู้ผิดนัดทันทีโดยไม่ต้องบอกกล่าวตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 204 วรรคสอง และต้องรับผิดใช้ดอกเบี้ยตั้งแต่วันที่ครบกำหนดตามตั๋วสัญญาใช้เงิน เมื่อลูกหนี้ผิดนัดเจ้าหนี้มีสิทธิเรียกให้ผู้ค้ำประกันชำระหนี้ได้ทันทีโดยมิต้องบอกกล่าว ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 686 สัญญาค้ำประกันมีใจความว่า ผู้ค้ำประกันยอมรับค้ำประกันในวงเงิน 500,000 บาท และหากมีความเสียหายแก่โจทก์อย่างใดผู้ค้ำประกันยอมรับผิดชดใช้ดอกเบี้ยให้แก่โจทก์ในอัตราร้อยละ 18ซึ่งหมายความว่า ผู้ค้ำประกันยอมรับผิดในเงินต้นในวงเงิน500,000 บาท แทนลูกหนี้พร้อมทั้งดอกเบี้ย เมื่อลูกหนี้ต้องรับผิดในดอกเบี้ยตั้งแต่วันครบกำหนดตามตั๋วสัญญาใช้เงิน ผู้ค้ำประกันก็ต้องรับผิดชำระดอกเบี้ยตั้งแต่วันเดียวกันด้วย
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 หุ้นส่วนผู้จัดการนำตั๋วสัญญาใช้เงินรวม 4 ฉบับ มาขายลดให้แก่โจทก์ โดยมีข้อตกลงว่า เมื่อตั๋วสัญญาใช้เงินดังกล่าวครบกำหนด จำเลยที่ 1 ไม่ชำระเงินให้แก่โจทก์ จำเลยที่ 1 ยอมให้โจทก์หักเงินฝากจากบัญชีของจำเลยที่ 1 ได้ทันทีและยอมให้โจทก์คิดดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 19ต่อปี โดยมีจำเลยที่ 3 เป็นผู้ค้ำประกันหนี้ตามสัญญาขายลดตั๋วสัญญาใช้เงินดังกล่าว และจำเลยที่ 1 ได้มอบเช็คที่จำเลยที่ 4เป็นผู้สั่งจ่าย รวม 4 ฉบับ และเช็คที่จำเลยที่ 5 เป็นผู้สั่งจ่ายรวม 3 ฉบับ ให้แก่โจทก์ไว้เป็นการชำระหนี้ขายลดตั๋วสัญญาใช้เงินเมื่อครบกำหนดใช้เงินตามตั๋วสัญญาใช้เงินดังกล่าว จำเลยที่ 1ไม่ชำระหนี้ เงินในบัญชีเงินฝากของจำเลยที่ 1 มีไม่พอให้โจทก์หักบัญชีชำระหนี้ เช็คที่จำเลยที่ 1 นำมาชำระหนี้ทั้ง 7 ฉบับเรียกเก็บเงินไม่ได้ จำเลยทั้งห้าจึงต้องร่วมกันรับผิดต่อโจทก์ขอให้จำเลยทั้งห้าร่วมกัน หรือแทนกันชำระหนี้ให้แก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ย จำเลยทั้งห้าขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 ร่วมกันชำระเงิน1,125,712.90 บาท แก่โจทก์ พร้อมด้วยดอกเบี้ยร้อยละ 19 ต่อปีในต้นเงิน 998,060 บาท นับถัดจากวันฟ้องไปจนกว่าจะชำระเสร็จให้จำเลยที่ 3 ร่วมกับจำเลยที่ 1 ชำระเงิน 500,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยร้อยละ 18 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จให้จำเลยที่ 4 ที่ 5 ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ชำระเงิน324,611.43 บาท 310,821.44 บาท แก่โจทก์ พร้อมด้วยดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีในต้นเงิน 290,000 บาท และ 296,150 บาท ตามลำดับนับถัดจากวันฟ้องไปจนกว่าจะชำระเสร็จ โจทก์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ไขต้นเงินจำนวน 998,060 บาท ตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นเป็นต้นเงิน 998,150 บาท นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติว่า เมื่อเดือนสิงหาคม 2527 จำเลยที่ 1 ได้นำตั๋วสัญญาใช้เงิน 4 ฉบับมาขายลดให้โจทก์ ฉบับแรกเป็นเงิน 180,000 บาท ฉบับที่สองเป็นเงิน 349,650บาท ฉบับที่สามเป็นเงิน 250,000 บาท และฉบับที่สี่เป็นเงิน 218,500บาท ลงวันที่ 20, 21, 27 และ 31 สิงหาคม 2527 ตามลำดับ และกำหนดชำระเงินภายใน 56, 62, 60 และ 60 วัน ตามลำดับ จำเลยที่ 1 ได้รับเงินค่าตอบแทนการขายลดตั๋วสัญญาใช้เงินดังกล่าวไปจากโจทก์แล้วโดยมีข้อตกลงว่าเมื่อตั๋วสัญญาใช้เงินดังกล่าวถึงกำหนดจำเลยที่ 1ไม่ชำระเงินให้แก่โจทก์ จำเลยที่ 1 ยอมให้โจทก์หักเงินจากบัญชีของจำเลยได้ทันที และยอมให้โจทก์คิดดอกเบี้ยร้อยละ 19 ต่อปีจำเลยที่ 3 ได้ทำสัญญาค้ำประกันจำเลยที่ 1 ในหนี้ตามสัญญาขายลดตั๋วสัญญาใช้เงินดังกล่าวโดยยอมรับผิดในวงเงินไม่เกิน 500,000บาท และยอมชำระดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 18 ต่อปี และจำเลยที่ 1ได้มอบเช็ค 7 ฉบับ ลงวันที่ล่วงหน้าชำระหนี้ขายลดตั๋วสัญญาใช้เงินดังกล่าวแก่โจทก์ด้วย เมื่อครบกำหนดใช้เงินตามตั๋วสัญญาใช้เงินดังกล่าว จำเลยที่ 1 ไม่ชำระหนี้แก่โจทก์เงินในบัญชีเงินฝากของจำเลยที่ 1 ก็มีไม่พอให้โจทก์หักบัญชีชำระหนี้ได้ และเช็คที่จำเลยที่ 1 ชำระหนี้ล่วงหน้าก็เรียกเก็บเงินไม่ได้
มีปัญหาในชั้นนี้ตามฎีกาของโจทก์เพียงว่าจำเลยที่ 3 จะต้องรับผิดใช้ดอกเบี้ยแก่โจทก์ในต้นเงิน 500,000 บาท นับตั้งแต่วันที่ตั๋วสัญญาใช้เงินถึงกำหนดหรือนับถัดจากวันฟ้องตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์
พิเคราะห์แล้ว เห็นว่า หนี้ของจำเลยที่ 1 เป็นหนี้ตามตั๋วสัญญาใช้เงิน ซึ่งมีระบุจำนวนวันขึ้นต้นแล้วมีข้อความตามว่า จากวันที่ในตั๋วสัญญาใช้เงิน สัญญาว่าจะใช้เงิน แล้วระบุจำนวนเงินเช่น ตั๋วสัญญาใช้เงินฉบับแรกมีข้อความว่า “ห้าสิบหกวันจากวันที่ในตั๋วสัญญาฉบับนี้ สัญญาว่าจะใช้เงินจำนวน 180,000 บาท…”จึงเป็นหนี้ที่มีกำหนดเวลาแน่นอนตามวันแห่งปฏิทิน คือในวันที่ครบกำหนดในตั๋วสัญญาใช้เงิน เมื่อครบกำหนดเมื่อใด และจำเลยที่ 1ไม่ชำระเงินตามตั๋วเงินดังกล่าว จำเลยที่ 1 จึงตกเป็นผู้ผิดนัดทันทีโดยไม่ต้องบอกกล่าวอย่างใด ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 204 วรรคสองซึ่งจำเลยที่ 1 จะต้องรับผิดใช้ดอกเบี้ยในระหว่างผิดนัดแล้วตั้งแต่วันที่ครบกำหนดตามตั๋วสัญญาใช้เงินของแต่ละฉบับ และตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 686 บัญญัติว่า ลูกหนี้ผิดนัดลงเมื่อใด เจ้าหนี้ชอบที่จะเรียกให้ผู้ค้ำประกันชำระหนี้ได้แต่นั้น ฉะนั้น โจทก์จึงมีสิทธิเรียกให้จำเลยที่ 3ชำระหนี้ได้ทันที โดยมิต้องบอกกล่าวแต่อย่างใด ซึ่งความรับผิดของจำเลยที่ 3 นั้น ตามสัญญามีใจความว่าจำเลยที่ 3 ยอมรับค้ำประกันในวงเงิน 500,000 บาท ทั้งว่า หากมีความเสียหายแก่โจทก์อย่างใด จำเลยที่ 3 ยอมรับผิดชอบชดใช้ดอกเบี้ยแก่โจทก์ในอัตราร้อยละ 18 จึงมีความหมายว่า จำเลยที่ 3 ยอมรับผิดในเงินต้นในวงเงิน 500,000 บาท แทนจำเลยที่ 1 พร้อมทั้งดอกเบี้ยด้วย เมื่อจำเลยที่ 1 จะต้องรับผิดในดอกเบี้ยตั้งแต่วันที่ครบกำหนดตามตั๋วสัญญาใช้เงิน จำเลยที่ 3 ก็จะต้องรับผิดชำระดอกเบี้ยตั้งแต่วันเดียวกันด้วย หากแต่ว่าสำหรับดอกเบี้ยนั้นจำเลยที่ 3 จะต้องรับผิดเพียงในอัตราร้อยละ 18 ต่อปีเท่านั้น มิใช่รับผิดในดอกเบี้ยนับจากวันถัดจากวันฟ้องตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ซึ่งปรากฏว่าตั๋วสัญญาใช้เงินฉบับแรกเป็นเงิน 180,000 บาท ครบกำหนดชำระในวันที่15 ตุลาคม 2527 ส่วนตั๋วสัญญาใช้เงินฉบับที่สองเป็นเงิน 349,650 บาทครบกำหนดชำระในวันที่ 22 ตุลาคม 2527 จำเลยที่ 3 จึงต้องรับผิดในเงินต้นของตั๋วสัญญาใช้เงินฉบับแรกทั้งหมด กับเงินต้นในตั๋วสัญญาใช้เงินฉบับที่สองอีก 320,000 บาท พร้อมทั้งดอกเบี้ยนับตั้งแต่วันที่ตั๋วสัญญาใช้เงินแต่ละฉบับถึงกำหนดชำระ ฎีกาโจทก์ฟังขึ้น”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 3 ร่วมกับจำเลยที่ 1 ชำระดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 18 ต่อปี ในต้นเงิน 180,000 บาท นับตั้งแต่วันที่ 15 ตุลาคม 2527 กับในต้นเงิน 320,000 บาท นับตั้งแต่วันที่22 ตุลาคม 2522 เป็นต้นไป จนกว่าจะชำระเสร็จ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์