คำวินิจฉัยที่ 5/2553

แหล่งที่มา : ส่วนเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ

ย่อสั้น

ไม่มีย่อสั้น

ย่อยาว

(สำเนา)

คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
ที่ ๕/๒๕๕๓

วันที่ ๒๔ มีนาคม ๒๕๕๓

เรื่อง เขตอำนาจศาลเกี่ยวกับพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓)

ศาลจังหวัดฉะเชิงเทรา
ระหว่าง
ศาลปกครองระยอง

การส่งเรื่องต่อคณะกรรมการ
ศาลจังหวัดฉะเชิงเทราโดยสำนักงานศาลยุติธรรมส่งเรื่องให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลวินิจฉัยชี้ขาดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๐ วรรคหนึ่ง (๓) ซึ่งเป็นกรณีคู่ความฝ่ายที่ถูกฟ้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลที่รับฟ้องคดี และศาลที่ส่งความเห็นและศาลที่รับความเห็นมีความเห็นแตกต่างกันในเรื่องเขตอำนาจศาลในคดีนั้น

ข้อเท็จจริงในคดี
เมื่อวันที่ ๒๓ มกราคม ๒๕๕๑ บริษัทประกันคุ้มภัย จำกัด (มหาชน) โจทก์ ยื่นฟ้อง การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคจังหวัดฉะเชิงเทรา จำเลย เป็นคดีหมายเลขดำที่ ๑๓๔/๒๕๕๑ ความว่า โจทก์เป็นผู้รับประกันภัยรถยนต์หมายเลขทะเบียน วฉ ๑๖๔๓ กรุงเทพมหานคร จากผู้เอาประกันภัย จำเลยเป็น นิติบุคคลตามพระราชบัญญัติการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค พ.ศ. ๒๕๐๓ และเป็นผู้ครอบครองดูแลเสาไฟฟ้าและสายไฟฟ้าริมถนนสุวินทวงศ์ – บางน้ำเปรี้ยว อำเภอบางน้ำเปรี้ยว จังหวัดฉะเชิงเทรา มีหน้าที่ดูแลสิ่งดังกล่าวมิให้เสียหายหรือชำรุดบกพร่องจนเป็นเหตุให้ทรัพย์สินของผู้อื่นเสียหาย เมื่อวันที่ ๔ เมษายน ๒๕๕๐ นายธเนศ ไชยพงษ์ ขับรถยนต์ดังกล่าว โดยความยินยอมของผู้เอาประกันภัยไปตามถนนสุวินทวงศ์ เมื่อถึงที่เกิดเหตุบริเวณตำบลศาลาแดง อำเภอบางน้ำเปรี้ยว จังหวัดฉะเชิงเทรา มีลมพัดแรง ทำให้เสาไฟฟ้าแรงสูงขนาด ๑๒ เมตร ซึ่งอยู่ในความครอบครองดูแลของจำเลย หักโค่นล้มขวางถนนจำนวน ๖ ต้น เป็นเหตุให้สายไฟฟ้าหรือลวดสลิงเกี่ยวกับรถยนต์คันที่โจทก์รับประกันภัยไว้ได้รับความเสียหาย จำเลยมีหน้าที่ดูแลบำรุงรักษาเสาไฟฟ้าดังกล่าวไม่ระมัดระวัง จึงเป็นการทำละเมิด โจทก์ชำระเงินค่าซ่อมรถไปจำนวน ๑๓,๖๐๐ บาท โจทก์จึงรับช่วงสิทธิตามสัญญาประกันภัย ขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวน ๑๔,๒๘๐ บาท แก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี จากต้นเงินจำนวน ๑๓,๖๐๐ บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยให้การว่า ขณะเกิดเหตุมีพายุฤดูร้อนซึ่งเป็นวาตภัยเป็นเหตุให้บ้านเรือนของประชาชนเสียหาย และเสาไฟฟ้าในที่เกิดเหตุจำนวนมากได้รับความเสียหาย ซึ่งจำเลยได้บำรุงรักษาเสาไฟฟ้าและสายไฟฟ้าเป็นอย่างดีแล้วมิได้ประมาทปราศจากความระมัดระวังแต่อย่างใด ประกอบกับ ขณะเกิดเหตุผู้ขับรถยนต์คันที่โจทก์รับประกันภัยไว้ขับรถด้วยความเร็วสูงจึงไม่สามารถหลบให้พ้นเสาไฟฟ้าและสายไฟฟ้าที่ล้มขวางทางอยู่ ค่าเสียหายสูงเกินส่วน ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยยื่นคำร้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลว่า คดีนี้เป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดอันเกิดจากการละเลยต่อหน้าที่ของหน่วยงานทางปกครองตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติ ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ คดีจึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง
ศาลจังหวัดฉะเชิงเทราพิจารณาแล้วเห็นว่า ศาลยุติธรรมมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีทั้งปวงตามมาตรา ๒๑๘ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐ เว้นแต่คดีที่อยู่ในเขตอำนาจของศาลอื่น ส่วนศาลปกครองมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีปกครองตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๒๒๓ ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) เห็นว่า เจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญบัญญัติให้ศาลยุติธรรมเป็นศาลที่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีทั้งปวง ส่วนศาลปกครองจะมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีที่เป็นการเฉพาะเท่านั้น กล่าวคือจะต้องเป็นคดีปกครอง ดังจะเห็นได้จากบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญได้บัญญัติไว้อย่างละเอียด เพื่อจำกัดประเภทคดีปกครองไว้ มิใช่ว่าคดีที่มีคู่ความเป็นเจ้าหน้าที่หรือหน่วยงานทางปกครองแล้ว จะเป็นคดีปกครองทุกคดีเสมอไป เพราะหากเป็นเช่นนั้นรัฐธรรมนูญคงกำหนดเพียงว่า คดีพิพาทคู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐให้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง นอกจากนี้ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ก็บัญญัติว่าคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดของเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติฯ ดังนั้นการทำละเมิดของเจ้าหน้าที่ที่จะอยู่ในอำนาจของศาลปกครองจะต้องเป็นกรณีที่เจ้าหน้าที่กระทำละเมิด โดยละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดไว้เท่านั้น การที่โจทก์ฟ้องว่าจำเลยทำละเมิดโดยไม่ดูแลบำรุงรักษาเสาไฟฟ้า แต่จำเลยให้การว่า ความเสียหายเกิดจากภัยธรรมชาติ กรณีจึงเป็นการไม่แน่ว่า จำเลยละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดไว้หรือไม่ และแม้จำเลยละเลยก็ตาม แต่การละเลยดังกล่าวก็มีลักษณะเป็นการกระทำทางกายภาพเท่านั้น กล่าวคือ เป็นกรณีที่มีสภาพเช่นเดียวกันกับเอกชนทำละเมิดต่อกันเอง มิใช่ละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดตามนัยคำวินิจฉัยของคณะกรรมการ วินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลที่ ๕/๒๕๔๕ ดังนั้นคดีนี้จึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
ศาลปกครองระยองพิจารณาแล้วเห็นว่า รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐ มาตรา ๒๒๓ บัญญัติให้ศาลปกครองมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีพิพาทระหว่างหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หรือองค์กรตามรัฐธรรมนูญ หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกับเอกชน หรือระหว่างหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หรือองค์กรตามรัฐธรรมนูญ หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐด้วยกัน อันเนื่องมาจากการใช้อำนาจทางปกครองตามกฎหมาย หรือเนื่องจากการดำเนินกิจการทางปกครองของหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หรือองค์กรตามรัฐธรรมนูญ หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ ทั้งนี้ ตามที่กฎหมายบัญญัติ รวมทั้งมีอำนาจพิจารณาพิพากษาเรื่องที่รัฐธรรมนูญหรือกฎหมายบัญญัติให้อยู่ในอำนาจของศาลปกครอง และมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ บัญญัติให้ศาลปกครองมีอำนาจพิจารณาพิพากษาหรือมีคำสั่งในคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดหรือความรับผิดอย่างอื่นของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมายหรือจากกฎ คำสั่งทางปกครองหรือคำสั่งอื่นหรือจากการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติหรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควร คดีนี้โจทก์ฟ้องว่า จำเลยมีหน้าที่ดูแลบำรุงรักษาเสาไฟฟ้าที่อยู่ในความครอบครองของจำเลย แต่จำเลยไม่ระมัดระวังทำให้เกิดความเสียหายแก่ประชาชน เป็นการกระทำละเมิด จึงมีประเด็น ที่ต้องวินิจฉัยว่า การที่เสาไฟฟ้าแรงสูงที่อยู่ในความครอบครองของจำเลยล้มลงบนพื้นจนเป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความเสียหายเป็นกรณีที่จำเลยละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติหรือไม่ เห็นว่า จำเลยเป็นรัฐวิสาหกิจที่จัดตั้งขึ้นโดยพระราชบัญญัติการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค พ.ศ. ๒๕๐๓ จำเลยจึงเป็นหน่วยงานทางปกครองตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ซึ่งตามมาตรา ๑๓ (๖) แห่งพระราชบัญญัติการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค พ.ศ. ๒๕๐๓ บัญญัติให้จำเลยมีหน้าที่ต้องจัดระเบียบเกี่ยวกับความปลอดภัยในการใช้และรักษาทรัพย์สินของจำเลย ซึ่งย่อมรวมถึงการบำรุงรักษาเสาไฟฟ้า สายไฟฟ้า และอุปกรณ์ต่าง ๆ ในระบบการส่งพลังงานไฟฟ้าของจำเลย มิให้ชำรุดบกพร่องและอยู่ในสภาพที่ดีมีความปลอดภัย เมื่อโจทก์ฟ้องว่าจำเลยละเลยต่อหน้าที่ ที่ต้องกระทำเพื่อป้องกันผลร้ายที่เกิดขึ้น การที่ลมพัดเสาไฟฟ้าหักโค่นล้มขวางถนนถึง ๖ ต้น เป็นเหตุให้สายไฟฟ้าหรือลวดสลิงเกี่ยวกับรถยนต์คันที่โจทก์รับประกันภัยไว้ได้รับความเสียหาย จึงเกิดจากการที่จำเลยกระทำละเมิดต่อโจทก์โดยละเลยไม่ปฏิบัติหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติอันเป็นคดีพิพาทตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง ทั้งนี้ตามแนวคำวินิจฉัยของคณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลที่ ๑๔/๒๕๔๗ ที่ ๑๕/๒๕๔๗ ที่ ๑๐/๒๕๔๘ ที่ ๒๔/๒๕๔๙ และที่ ๓๑/๒๕๔๙

คำวินิจฉัย
ปัญหาที่ต้องพิจารณา คดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมหรือศาลปกครอง
คณะกรรมการพิจารณาแล้วเห็นว่า พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) บัญญัติให้ศาลปกครองมีอำนาจพิจารณาพิพากษาหรือมีคำสั่งในคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดหรือความรับผิดอย่างอื่นของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย หรือจากกฎ คำสั่งทางปกครอง หรือคำสั่งอื่นหรือจากการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติหรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควร คดีนี้จำเลยเป็นรัฐวิสาหกิจจัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค พ.ศ. ๒๕๐๓ จำเลยจึงเป็นหน่วยงานทางปกครอง ตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มีวัตถุประสงค์ในการผลิต จัดให้ได้มา จัดส่ง และจำหน่ายพลังงานไฟฟ้าในเขตส่วนภูมิภาคซึ่งอยู่นอกเขตท้องที่ที่การไฟฟ้านครหลวงดำเนินการอยู่ และในประเทศใกล้เคียง ตามมาตรา ๖ และมาตรา ๗ และมีอำนาจกระทำการต่าง ๆ ภายในขอบแห่งวัตถุประสงค์ดังกล่าว ซึ่งรวมถึงอำนาจจัดระเบียบเกี่ยวกับความปลอดภัยในการใช้และรักษาทรัพย์สินของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ตามมาตรา ๑๓ (๖) เมื่อเหตุแห่งการฟ้องคดีนี้โจทก์อ้างว่า เสาไฟฟ้าแรงสูงขนาด ๑๒ เมตร จำนวน ๖ ต้น ซึ่งอยู่ในความครอบครองดูแลของจำเลยถูกลมพายุพัดหักโค่นล้มขวางถนน เป็นเหตุให้สายไฟฟ้าหรือลวดสลิงเกี่ยวกับรถยนต์คันที่โจทก์รับประกันภัยไว้ได้รับความเสียหาย โดยพฤติการณ์การกระทำของจำเลยที่โจทก์อ้าง กล่าวถึงการละเลยไม่ดูแลเสาไฟฟ้าที่อยู่ในความครอบครองให้อยู่ในสภาพมั่นคงแข็งแรง เป็นเหตุให้ล้มลงขวางถนนเมื่อถูกลมพายุพัดนั้น เป็นอำนาจโดยทั่วไปของจำเลยเท่านั้น เหตุละเมิดหาใช่เกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมายในการผลิต จัดให้ได้มา จัดส่ง และจำหน่ายพลังงานไฟฟ้าซึ่งเป็นอำนาจโดยตรงของจำเลยแต่อย่างใด ดังนั้น ข้อพิพาทในคดีนี้จึงมิใช่คดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย หรือจากการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติหรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควร ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) แต่เป็นคดีที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
จึงวินิจฉัยชี้ขาดว่า คดีระหว่างบริษัทประกันคุ้มภัย จำกัด (มหาชน) โจทก์ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคจังหวัดฉะเชิงเทรา จำเลย อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

(ลงชื่อ) สบโชค สุขารมณ์ (ลงชื่อ) สุวัฒน์ วรรธนะหทัย
(นายสบโชค สุขารมณ์) (นายสุวัฒน์ วรรธนะหทัย)
ประธานศาลฎีกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลยุติธรรม

(ลงชื่อ) อักขราทร จุฬารัตน (ลงชื่อ) จรัญ หัตถกรรม
(นายอักขราทร จุฬารัตน) (นายจรัญ หัตถกรรม)
ประธานศาลปกครองสูงสุด กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลปกครอง

(ลงชื่อ) พลโท ศานิต สร้างสมวงษ์ (ลงชื่อ) พลโท อาชวัน อินทรเกสร
(ศานิต สร้างสมวงษ์) (อาชวัน อินทรเกสร)
หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลทหาร

(ลงชื่อ) จิระ บุญพจนสุนทร
(นายจิระ บุญพจนสุนทร)
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ

Share