คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1499/2492

แหล่งที่มา :

ย่อสั้น

เงินสินบลนำจับนี้ พ.ร.บ.ให้บำเหน็จในการปราบปรามผู้กระทำความผิด พ.ศ.2489 มาตรา 5 บัญญัติให้ใช้แก่ความผิดซึ่งเกิดขึ้นตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันการค้าเกินกำไรเกินควรด้วย และมาตรา 9 ให้พนักงานอัยยการร้องขอต่อศาลให้จ่ายเงินสินบลหรือเงินรางวัล คำว่าสินบลหรือรางวัลตาม พระราชบัญญัตินี้หมายความว่า สินบลหรือรางวัลตามที่ระบุไว้ในมาตรา 8 ซึ่งให้จ่ายจากเงินราคาของกลางหรือค่าปรับ แต่ พ.ร.บ.ป้องกันการค้าเกินกำไรเกินควร พ.ศ.2490 มาตรา 30 บัญญัติว่านอกจากโทษตามคำพิพากษาแล้ว ผู้กระทำผิดยังต้องเสียสินบลนำจับอีกนั้น พระราชบัญญัติ.ฉะบับหลังจึงบัญญัติเรื่องสินบลนำจับไว้เป็นพิเศษ แตกต่างไปจากที่บัญญัติไว้ในมาตรา 8 แห่ง พ.ร.บ.ให้บำเหน็จในการปราบปรามผู้กระทำความผิดฯ พนักงานอัยยการจะขอแทนได้ฉะเพาะกรณีที่ขอตามมาตรา 8 จะอ้างมาตรา 9 มาใช้แก่เรื่องนี้ไม่ได้ อัยยการจึงไม่มีทางจะขอแทนได้ (อ้างฎีกาที่ 1043/2492)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องหาว่า จำเลยไม่ทำป้ายแสดงราคาเนื้อสุกรที่จำเลยขาย เป็นการฝ่าฝืนประกาศคณะกรรมการส่วนจังหวัดป้องกันการค้ากำไรเกินควรจังหวัดราชบุรี ขอให้ลงโทษและเพิ่มโทษฐานไม่เข็ดหลาบ จำเลยให้การรับสารภาพ และรับว่าจำเลยเคยต้องโทษและพ้นโทษมาตามฟ้อง ศาลชั้นต้นพิพากษาปรับจำเลย 160 บาท ตาม พ.ร.บ.ป้องกันการค้ากำไรเกินควร พ.ศ.2490 มาตรา 17 กฎหมายลักษณะอาญามาตรา 72, 59 กับให้จ่ายเงินรางวัลแก่ผู้จับส่วนที่โจทก์ขอให้จำเลยเสียสินบลนำจับแก่ผู้แจ้งความนั้น ให้ยกเสียเพราะอัยยการไม่มีอำนาจขอ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาเห็นว่าตามพระราชบัญญัติให้บำเหน็จในการปราบปรามผู้กระทำผิด พ.ศ.2489 มาตรา 4 บัญญัติให้ใช้แก่ความผิดซึ่งเกิดขึ้นตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันการค้ากำไรเกินควร และมาตรา 9 ให้พนักงานอัยยการร้องขอต่อศาลให้จ่ายเงินสินบลหรือรางวัล แต่ตามพระราชบัญญัติป้องกันการค้ากำไรเกินควร พ.ศ.2490 มาตรา 30 บัญญัติว่านอกจากโทษที่จะได้รับตามคำพิพากษาแล้ว ผู้กระทำผิดยังจะต้องเสียเงินสินบลนำจับอีกกึ่งหนึ่งของค่าปรับด้วย พ.ร.บ.ฉะบับหลังนี้จึงบัญญัติถึงการบังคับให้ใช้เงินสินบลนำจับไว้เป็นพิเศษ แตกต่างไปจากที่บัญญัติไว้ในมาตรา 8 พระราชบัญญัติให้บำเหน็จในการปราบปรามผู้กระทำผิดฯ เมื่อพระราชบัญญัติฉะบับหลังมิได้ระบุอำนาจไว้ จึงไม่มีทางจะขอแทนได้ เพราะโจทก์หรือรัฐบาลไม่มีสิทธิในเงินสินบลนั้น
พิพากษายืน

Share