คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2222/2553

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยรับผิดชำระค่าไฟฟ้า เพราะเหตุเครื่องวัดหน่วยไฟฟ้าเสียหายหรือแสดงหน่วยน้อยกว่าความเป็นจริง จึงเป็นการฟ้องให้ชำระหนี้ให้ถูกต้องหาใช่ฟ้องให้จำเลยรับผิดฐานลาภมิควรได้ เมื่อโจทก์มีฐานะเป็นรัฐวิสาหกิจมีวัตถุประสงค์จัดให้ได้มาและจำหน่ายพลังงานไฟฟ้าแก่ประชาชนอันมีลักษณะเป็นกิจการสาธารณูปโภค โจทก์จึงไม่ใช่ผู้ประกอบการค้าที่จะต้องฟ้องคดีภายใน 2 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/34 (1) แต่เป็นการฟ้องเรียกค่าไฟฟ้าส่วนที่ขาดเพราะเหตุเครื่องวัดหน่วยไฟฟ้าบกพร่องซึ่งมิได้มีกฎหมายบัญญัติอายุความไว้โดยเฉพาะจึงต้องใช้อายุความ 10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/30 คดีจึงไม่อยู่ภายใต้กำหนดอายุความฐานลาภมิควรได้
การที่เครื่องวัดหน่วยไฟฟ้าเสียหายหรือแสดงหน่วยน้อยกว่าความเป็นจริงเนื่องจากมีการตัดสายควบคุมกระแสไฟฟ้าเส้นสีเขียวที่คอสายในกล่องหม้อแปลงกระแสไฟฟ้า แต่ไม่ได้ความว่าเป็นการกระทำของผู้ใด ทำให้การชำระค่าไฟฟ้าของจำเลยไม่ถูกต้อง เมื่อจำเลยเป็นผู้ใช้ไฟฟ้าและได้ประโยชน์ในการชำระหนี้ค่าไฟฟ้าตั้งแต่เริ่มแรกใช้ไฟฟ้าตลอดมา แม้โจทก์จะมิได้ตรวจสอบเครื่องวัดหน่วยไฟฟ้าในเวลาอันสมควรก็ตาม แต่จำเลยได้ให้สัญญาในแบบขอใช้ไฟฟ้าว่า จำเลยยินยอมชำระเงินค่าไฟฟ้า ค่าเสียหาย เบี้ยปรับตามที่การไฟฟ้านครหลวงเรียกเก็บในกรณีที่มีการกระทำอย่างหนึ่งอย่างใดอันเป็นเหตุให้เครื่องวัดหน่วยไฟฟ้าเสียหายหรือแสดงหน่วยน้อยกว่าความเป็นจริงตามแบบขอใช้ไฟฟ้า จำเลยจึงต้องรับผิดชำระค่าไฟฟ้าให้ถูกต้องตามข้อสัญญาดังกล่าว

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวน 1,243,457 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 1,144,089 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง ฟ้องโจทก์เคลือบคลุม จำเลยไม่เคยผิดสัญญาและจำเลยไม่เคยติดค้างชำระค่าใช้ไฟฟ้าโจทก์ ฟ้องโจทก์ขาดอายุความฐานลาภมิควรได้ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน 181,450.25 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 3 มีนาคม 2543 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 15,000 บาท เฉพาะค่าขึ้นศาลให้จำเลยใช้แทนตามจำนวนทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดี
โจทก์และจำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระเงินจำนวน 1,144,089 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันที่ 3 มีนาคม 2543 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้จำเลยชำระค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลแทนโจทก์ตามทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดีในชั้นอุทธรณ์ โดยกำหนดค่าทนายความรวม 30,000 บาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่ได้โต้แย้งกันฟังได้ว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลตามพระราชบัญญัติการไฟฟ้านครหลวง พ.ศ.2501 มีวัตถุประสงค์ในการจัดให้ได้มาและจำหน่ายพลังงานไฟฟ้าอันเป็นกิจการสาธารณูปโภค เมื่อวันที่ 19 เมษายน 2537 จำเลยยื่นความจำนงขอใช้ไฟฟ้าต่อโจทก์เพื่อใช้ที่โรงงานของจำเลยที่นิคมอุตสาหกรรมลาดกระบัง ถนนฉลองกรุง แขวงลำปลาทิว เขตลาดกระบัง กรุงเทพมหานคร โจทก์อนุมัติและติดตั้งเครื่องวัดหน่วยไฟฟ้าเลขที่พิเศษ/ท-6359 และจ่ายกระแสไฟฟ้าให้จำเลยใช้ตั้งแต่วันที่ 5 กรกฎาคม 2537 ต่อมาวันที่ 19 พฤษภาคม 2542 พนักงานของโจทก์ตรวจสอบพบว่า เครื่องวัดหน่วยไฟฟ้าเลขที่พิเศษ/ท-6359 วัดกระแสไฟฟ้าที่สายควบคุมเส้นสีเขียวไม่ขึ้น ครั้นวันที่ 16 มิถุนายน 2542 โจทก์ตรวจหาสาเหตุพบว่ามีการทุจริตตัดสายควบคุมกระแสไฟฟ้าเส้นสีเขียวที่คอสายในกล่องหม้อแปลงกระแสไฟฟ้าตามอัตราส่วนเฟสบี มีปัญหาตามฎีกาของจำเลยเป็นข้อแรกว่า ฟ้องโจทก์บางส่วนขาดอายุความหรือไม่ คดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยรับผิดชำระค่าไฟฟ้าเพราะเหตุเครื่องวัดหน่วยไฟฟ้าเสียหายหรือแสดงหน่วยน้อยกว่าความเป็นจริง จำเลยให้การต่อสู้คดีไว้เฉพาะว่า ฟ้องโจทก์ขาดอายุความฐานลาภมิควรได้ เห็นว่า ตามคำฟ้องของโจทก์เป็นการฟ้องให้ชำระหนี้ให้ถูกต้อง หาใช่ฟ้องให้จำเลยรับผิดฐานลาภมิควรได้ เมื่อโจทก์มีฐานะเป็นรัฐวิสาหกิจมีวัตถุประสงค์จัดให้ได้มาและจำหน่ายพลังงานไฟฟ้าแก่ประชาชนอันมีลักษณะเป็นกิจการสาธารณูปโภค โจทก์จึงไม่ใช่เป็นผู้ประกอบการค้าที่จะต้องฟ้องคดีภายใน 2 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/34 (1) แต่เป็นการฟ้องเรียกค่าไฟฟ้าส่วนที่ขาดเพราะเหตุเครื่องวัดหน่ายไฟฟ้าบกพร่องซึ่งมิได้มีกฎหมายบัญญัติอายุความไว้โดยเฉพาะจึงต้องใช้อายุความ 10 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/30 ดังนั้นคดีจึงไม่อยู่ภายใต้กำหนดอายุความฐานลาภมิควรได้ดังที่จำเลยให้การต่อสู้ไว้ ฎีกาข้อนี้ของจำเลยฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาข้อต่อไปว่า จำเลยต้องรับผิดชำระค่าไฟฟ้าเพิ่มให้แก่โจทก์ตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์หรือไม่ ข้อเท็จจริงรับกันว่า เครื่องวัดหน่วยไฟฟ้าเสียหายหรือแสดงหน่วยน้อยกว่าความเป็นจริง เนื่องจากมีการตัดสายควบคุมกระแสไฟฟ้าเส้นสีเขียวที่คอสายในกล่องหม้อแปลงกระแสไฟฟ้า แต่ไม่ได้ความว่าเป็นการกระทำของผู้ใดทำให้การชำระค่าไฟฟ้าของจำเลยไม่ถูกต้อง เห็นว่า จำเลยเป็นผู้ใช้ไฟฟ้าและได้ประโยชน์ในการชำระหนี้ค่าไฟฟ้าตั้งแต่เริ่มแรกใช้ไฟฟ้าตลอดมา แม้โจทก์จะมิได้ตรวจสอบเครื่องวัดหน่วยไฟฟ้าในเวลาอันสมควรก็ตาม แต่จำเลยได้ให้สัญญาในแบบขอใช้ไฟฟ้าว่าจำเลยยินยอมชำระเงินค่าไฟฟ้า ค่าเสียหาย เบี้ยปรับตามที่การไฟฟ้านครหลวงเรียกเก็บในกรณีที่มีการกระทำอย่างหนึ่งอย่างใดอันเป็นเหตุให้เครื่องวัดหน่วยไฟฟ้าเสียหายหรือแสดงหน่วยน้อยกว่าความเป็นจริงตามแบบขอใช้ไฟฟ้าเอกสารหมาย จ.7 ดังนี้จำเลยต้องรับผิดชำระค่าไฟฟ้าให้ถูกต้องตามข้อสัญญาดังกล่าว ที่จำเลยฎีกาว่าการคิดคำนวณค่าไฟฟ้าเพิ่มเติมไม่ถูกต้องนั้น โจทก์มีนายลิขิต พนักงานของโจทก์เป็นพยานเบิกความว่า จากการติดตั้งเครื่องวัดหน่วยไฟฟ้าเปรียบเทียบตั้งแต่วันที่ 16 มิถุนายน 2542 ถึงวันที่ 25 มิถุนายน 2542 ผลปรากฏว่า เครื่องวัดหน่วยไฟฟ้าเลขที่พิเศษ/ท-6359 แสดงค่าความต้องการพลังไฟฟ้าน้อยไปร้อยละ 58.33 และแสดงค่าหน่วยการใช้ไฟฟ้าน้อยไปร้อยละ 40 ตามแบบติดตั้งเครื่องวัดหน่วยไฟฟ้าเปรียบเทียบเอกสารหมาย จ.19 กับมีนางสาวเยาวภา พนักงานของโจทก์เป็นพยานเบิกความว่า โจทก์คิดเพิ่มค่าหน่วยการใช้ไฟฟ้าเดือนละร้อยละ 66.67 ของหน่วยเครื่องวัดหน่วยไฟฟ้าเดิมตั้งแต่วันที่ 5 กรกฎาคม 2537 เป็นต้นไปจนถึงวันติดตั้งเครื่องวัดหน่วยไฟฟ้าเปรียบเทียบคือวันที่ 16 มิถุนายน 2542 หลังจากนั้นให้ใช้หน่วยจากเครื่องวัดหน่วยไฟฟ้าเปรียบเทียบจนถึงวันเปลี่ยนเครื่องวัดหน่วยไฟฟ้าใหม่ในวันที่ 30 พฤษภาคม 2542 และเพิ่มค่าความต้องการพลังไฟฟ้าเดือนละร้อยละ 140 ตั้งแต่เดือนมีนาคม 2538 ถึงเดือนพฤษภาคม 2542 โรงงานจำเลยเป็นกิจการขนาดกลางค่าพลังงานไฟฟ้าหน่วยละ 1.07 บาท ค่าความต้องการพลังไฟฟ้ากิโลวัตต์ละ 210 บาท ค่าเพาเวอร์แฟคเตอร์ส่วนที่เกินกว่าร้อยละ 63 ของความต้องการพลังไฟฟ้าแอคตีฟเฉลี่ยใน 15 นาทีสูงสุด คิดอัตรากิโลวาร์ละ 15 บาท เมื่อคำนวณค่าไฟฟ้าตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2537 ถึงเดือนพฤษภาคม 2542 เป็นเงินค่าไฟฟ้าที่ถูกต้องจำนวน 2,371,520.50 บาท จำเลยชำระค่าไฟฟ้าในช่วงดังกล่าวเป็นเงิน 1,216,491.50 บาท จำเลยคงรับผิดชำระค่าไฟฟ้าเพิ่มให้แก่โจทก์อีกจำนวน 1,144,089 บาท ตามอัตราค่าไฟฟ้าและรายการเก็บเงินเพิ่มเอกสารหมาย จ.21 และ จ.23 เห็นว่า โจทก์ได้ตรวจสอบและคำนวณหาค่าคลาดเคลื่อนได้ตามรายการตรวจสอบการใช้ไฟฟ้าเอกสารหมายจ.16 แบบติดตั้งเครื่องวัดหน่วยไฟฟ้าเปรียบเทียบเอกสารหมาย จ.19 และเอกสารประกอบการชี้แจงเรื่อง การคิดเปอร์เซ็นต์เพิ่มเอกสารหมาย จ.31 ซึ่งเป็นการคำนวณตามหลักวิศวกรรมไฟฟ้าโดยอาศัยหลักฐานข้อมูลซึ่งตรวจสอบได้จึงน่าเชื่อถือ เมื่อจำเลยปฏิเสธว่าการคำนวณข้างต้นไม่ถูกต้อง แต่จำเลยก็มิได้นำสืบพยานหลักฐานหักล้างพยานโจทก์ให้เห็นว่า หลักการคิดคำนวณของโจทก์ไม่ถูกต้องตามหลักวิชาหรือไม่น่าเชื่อถือเพราะเหตุใด กลับได้ความจากคำเบิกความของนายนิพนธ์พยานจำเลยตอบทนายโจทก์ถามค้านว่า กรณีพิพาทนี้สายไฟฟ้าเส้นสีเขียวในกล่องหม้อแปลงกระแสไฟฟ้าตามอัตราส่วนขาดไปน่าจะเกิดตั้งแต่ขั้นตอนการติดตั้งการวัดค่าน่าจะลดไป 1 ใน 3 คิดเป็นประมาณร้อยละ 30 โดยไม่ปรากฏว่าการคำนวณค่าไฟฟ้าย้อนหลังที่ถูกต้องจะต้องมีอัตราส่วนเท่าใด แต่กลับเจือสมกับพยานโจทก์ที่ว่าการวัดหน่วยไฟฟ้าคลาดเคลื่อนลดลง ดังนี้ พยานหลักฐานของโจทก์มีน้ำหนักดีกว่าพยานหลักฐานของจำเลย ข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้ว่า จำนวนค่าไฟฟ้าเพิ่มเติมตามเอกสารหมาย จ.23 เป็นจำนวนค่าไฟฟ้าที่โจทก์เรียกเก็บขาดไปตามฟ้องจริง ฎีกาข้อนี้ของจำเลยฟังไม่ขึ้นเช่นกัน
มีปัญหาข้อสุดท้ายว่า จำเลยต้องรับผิดในดอกเบี้ยหรือไม่ เห็นว่า หนี้รายนี้มิได้กำหนดเวลาชำระหนี้ไว้ แต่โจทก์ได้บอกกล่าวทวงถามให้จำเลยชำระหนี้รายนี้ภายในวันที่ 2 มีนาคม 2543 ตามเอกสารหมาย จ.11 ซึ่งจำเลยได้รับคำบอกกล่าวแล้วแต่ไม่ยอมชำระหนี้ กรณีจึงเป็นเรื่องที่จำเลยผิดนัดนับแต่วันที่ 3 มีนาคม 2543 เป็นต้นไป จำเลยต้องรับผิดชำระดอกเบี้ยเพราะเหตุจำเลยผิดนัดให้แก่โจทก์ดังที่ศาลอุทธรณ์พิพากษา ฎีกาข้อนี้ของจำเลยฟังไม่ขึ้นดุจกัน
ส่วนฎีกาข้ออื่นของจำเลยเป็นฎีกาซ้ำซ้อนกับที่ได้วินิจฉัยมาแล้ว และเป็นฎีกาข้อปลีกย่อย ไม่มีผลเปลี่ยนแปลงคำวินิจฉัยของศาลฎีกาได้ จึงไม่จำต้องวินิจฉัยที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้นชอบแล้ว ฎีกาทุกข้อของจำเลยฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share