แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 2 เมื่อวันที่ 16 มิถุนายน 2540 และในวันเดียวกัน ส. ได้ใช้ตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรขอปล่อยชั่วคราวจำเลยที่ 2 ศาลชั้นต้นอนุญาต กรณีจึงไม่มีเหตุที่ศาลชั้นต้นจะออกหมายขังระหว่างพิจารณาจำเลยที่ 2 ตาม ป.วิ.อ. 88 (เดิม) ที่ใช้บังคับขณะนั้น แม้ในระหว่างพิจารณาจะปรากฏข้อเท็จจริงแก่ศาลชั้นต้นว่าจำเลยที่ 2 ถูกจับกุมและควบคุมตัวที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานครเพื่อดำเนินคดีที่ศาลอาญาก็ตาม แต่ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 116 บัญญัติว่า “การขอถอนสัญญาประกันหรือขอถอนหลักประกัน ย่อมทำได้เมื่อผู้ทำสัญญามอบตัวผู้ต้องหาหรือจำเลยคืนต่อเจ้าพนักงานหรือศาล” เมื่อผู้ประกันไม่ได้ยื่นคำร้องขอมอบตัวจำเลยที่ 2 คืนต่อศาล จึงยังถือไม่ได้ว่าผู้ประกันได้ส่งมอบหรือคืนตัวจำเลยที่ 2 ต่อศาลชั้นต้น และศาลชั้นต้นก็มิได้เพิกถอนสัญญาประกันแล้วออกหมายขังจำเลยไว้ในคดีนี้ เพราะเมื่อศาลชั้นต้นมีหนังสือขอให้ศาลอาญาส่งตัวจำเลยมาพิจารณาคดีนี้ ศาลอาญาแจ้งว่าจะส่งตัวจำเลยให้เมื่อพิจารณาคดีเสร็จแล้ว ดังนี้ ในระหว่างนั้นจึงไม่มีเหตุที่ศาลชั้นต้นต้องออกหมายขังระหว่างพิจารณาจำเลยที่ 2 จนกระทั่งเมื่อได้ตัวจำเลยที่ 2 มาและเมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า ส. ผู้ประกันจำเลยที่ 2 ได้พ้นจากสภาพการเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแล้ว ศาลชั้นต้นจึงมีคำสั่งให้เพิกถอนสัญญาประกันและออกหมายขังจำเลยที่ 2 ระหว่างพิจารณาจึงชอบแล้ว
ย่อยาว
คดีนี้เดิมศาลชั้นต้นพิจารณาพิพากษารวมกันกับคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 3153/2543 ของศาลชั้นต้น โดยให้เรียกจำเลยในคดีดังกล่าวว่าจำเลยที่ 1 และเรียกจำเลยคดีนี้ว่าจำเลยที่ 2 แต่คดีดังกล่าวยุติไปแล้วตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น คงขึ้นมาสู่ศาลฎีกาเฉพาะคดีนี้
คดีนี้สืบเนื่องมาจากโจทก์ฟ้องจำเลยที่ 2 เมื่อวันที่ 16 มิถุนายน 2540 และศาลชั้นต้นออกหมายขังระหว่างพิจารณาจำเลยที่ 2 วันที่ 14 มิถุนายน 2549 ต่อมาศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง คดีถึงที่สุดแล้ว
วันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2551 จำเลยที่ 2 ยื่นคำร้องว่า หมายขังระหว่างพิจารณาไม่ถูกต้อง เนื่องจากเจ้าพนักงานตำรวจจับกุมจำเลยที่ 2 เมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน 2542 และจำเลยที่ 2 ถูกควบคุมและคุมขังระหว่างพิจารณาของศาลอาญาในคดีอื่นที่เรือนจำตลอดมา และย้ายไปคุมขังที่เรือนจำจังหวัดเพชรบุรีเมื่อวันที่ 11 เมษายน 2549 คดีนี้จำเลยที่ 2 ถูกฟ้องต่อศาลจังหวัดเพชรบุรีเมื่อวันที่ 16 มิถุนายน 2540 และได้รับการปล่อยชั่วคราวโดยนายสิทธิพร ผู้ประกัน ใช้ตำแหน่งหน้าที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นหลักประกัน ต่อมานายสิทธิพรหมดสมาชิกภาพเมื่อปี 2543 กรณีถือได้ว่าผู้ประกันไม่สามารถส่งตัวจำเลยที่ 2 ต่อศาล จึงผิดสัญญาประกัน ศาลควรออกหมายขังระหว่างพิจารณาจำเลยที่ 2 นับตั้งแต่นั้น ขอให้แก้ไขหมายขังระหว่างพิจารณาให้ถูกต้องเพื่อจำเลยที่ 2 จะได้ใช้สิทธิเรียกร้องจากรัฐ
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า หมายขังและหมายปล่อยตามที่บรรยายไว้ในคำร้องศาลออกถูกต้องแล้ว ไม่มีเหตุที่จะเปลี่ยนแปลงแก้ไขดังที่จำเลยที่ 2 กล่าวอ้าง ยกคำร้อง
จำเลยที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษายืน
จำเลยที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 2 ว่า มีเหตุที่จะแก้ไขหมายขังระหว่างพิจารณาให้จำเลยที่ 2 หรือไม่ เห็นว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 2 เมื่อวันที่ 16 มิถุนายน 2540 ในวันเดียวกันนายสิทธิพร ผู้ประกัน ใช้ตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรขอปล่อยชั่วคราวจำเลยที่ 2 ศาลชั้นต้นอนุญาต กรณีจึงไม่มีเหตุที่ศาลชั้นต้นจะออกหมายขังระหว่างพิจารณาจำเลยที่ 2 ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 88 (เดิม) ที่ใช้บังคับขณะนั้น แม้ในระหว่างพิจารณาจะปรากฏข้อเท็จจริงแก่ศาลชั้นต้นว่า จำเลยที่ 2 ถูกจับกุมและควบคุมตัวที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานครเพื่อดำเนินคดีที่ศาลอาญาก็ตามแต่ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 116 บัญญัติว่า “การขอถอนสัญญาประกันหรือขอถอนหลักประกันย่อมทำได้เมื่อผู้ทำสัญญามอบตัวผู้ต้องหาหรือจำเลยคืนต่อเจ้าพนักงานหรือศาล” เมื่อผู้ประกันไม่ได้ยื่นคำร้องขอมอบตัวจำเลยที่ 2 คืนต่อศาล จึงยังถือไม่ได้ว่าผู้ประกันได้ส่งมอบหรือคืนตัวจำเลยที่ 2 ต่อศาลชั้นต้น และศาลชั้นต้นก็มิได้เพิกถอนสัญญาประกันแล้วออกหมายขังจำเลยไว้ในคดีนี้ เพราะเมื่อศาลชั้นต้นมีหนังสือขอให้ศาลอาญาส่งตัวจำเลยมาพิจารณาคดีนี้ ศาลอาญาแจ้งว่าจะส่งตัวจำเลยให้เมื่อพิจารณาคดีเสร็จแล้วดังนี้ ในระหว่างนั้นจึงไม่มีเหตุที่ศาลชั้นต้นต้องออกหมายขังระหว่างพิจารณาจำเลยที่ 2 จนกระทั่งเมื่อได้ตัวจำเลยที่ 2 มาและข้อเท็จจริงได้ความจากจำเลยที่ 2 ตามรายงานกระบวนพิจารณาฉบับลงวันที่ 13 มิถุนายน 2549 ว่า นายสิทธิพร ผู้ประกันจำเลยที่ 2 ได้พ้นจากสภาพการเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแล้ว ศาลชั้นต้นจึงมีคำสั่งให้เพิกถอนสัญญาประกันและออกหมายขังจำเลยที่ 2 ระหว่างพิจารณา การที่ศาลชั้นต้นออกหมายขังจำเลยที่ 2 ระหว่างพิจารณาที่ 216/2549 ลงวันที่ 14 มิถุนายน 2549 ดังกล่าวชอบแล้ว ไม่มีเหตุที่จะแก้ไขหมายขังระหว่างพิจารณาให้จำเลยที่ 2 ที่ศาลล่างทั้งสองยกคำร้องของจำเลยที่ 2 นั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยที่ 2 ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน