คำวินิจฉัยที่ 37/2554

แหล่งที่มา : ส่วนเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ

ย่อสั้น

ไม่มีย่อสั้น

ย่อยาว

(สำเนา)

คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
ที่ ๓๗/๒๕๕๔

วันที่ ๙ มิถุนายน ๒๕๕๔

เรื่อง คดีเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน

ศาลจังหวัดศรีสะเกษ
ระหว่าง
ศาลปกครองนครราชสีมา

การส่งเรื่องต่อคณะกรรมการ
ศาลจังหวัดศรีสะเกษส่งเรื่องให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลวินิจฉัยชี้ขาดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๐ วรรคหนึ่ง (๓) ซึ่งเป็นกรณีคู่ความฝ่ายที่ถูกฟ้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลที่รับฟ้องคดี และศาลที่ส่งความเห็นและศาลที่รับความเห็นมีความเห็นแตกต่างกันในเรื่องเขตอำนาจศาลในคดีนั้น

ข้อเท็จจริงในคดี
เมื่อวันที่ ๑๓ มกราคม ๒๕๕๓ นายคำตา สรรพศรี โจทก์ ยื่นฟ้องกระทรวงมหาดไทย ที่ ๑ นายอำเภอกันทรารมย์ ที่ ๒ องค์การบริหารส่วนตำบลดูน ที่ ๓ จำเลย ต่อศาลจังหวัดศรีสะเกษ เป็น คดีหมายเลขดำที่ ๗๗/๒๕๕๓ ความว่า โจทก์เป็นผู้ครอบครองที่ดินมือเปล่า เนื้อที่ประมาณ ๔๑ ไร่ ๗๗ ตารางวา ตั้งอยู่บริเวณริมหนองคะนะ ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของหนองตำบลดูน อำเภอกันทรารมย์ จังหวัด ศรีสะเกษ โดยซื้อมาจากผู้มีชื่อเมื่อปี ๒๕๐๘ ส่วนหนึ่ง ปี ๒๕๓๖ ส่วนหนึ่ง และปี ๒๕๔๐ อีกส่วนหนึ่ง โจทก์ครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินตั้งแต่ได้ที่ดินแต่ละส่วนโดยสงบเปิดเผย ในฐานะเจ้าของและเสียภาษีบำรุงท้องที่มาโดยตลอด จำเลยที่ ๓ สำรวจ รังวัดพื้นที่หนองคะนะแล้วรายงานไปยังจำเลยที่ ๒ ว่า หนองคะนะมีเนื้อที่ประมาณ ๘๐๐ ไร่ ขอให้จำเลยที่ ๒ ดำเนินการออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง จำเลยที่ ๒ มีหนังสือถึงอธิบดีกรมที่ดินซึ่งเป็นหน่วยงานราชการในสังกัดของจำเลยที่ ๑ ขอให้เจ้าพนักงานที่ดินรังวัดพื้นที่หนองคะนะ เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดศรีสะเกษรังวัดพื้นที่หนองคะนะโดยมีจำเลยที่ ๒ และที่ ๓ ร่วมชี้แนวเขต จำเลยที่ ๒ และที่ ๓ นำชี้ว่าที่ดินที่โจทก์มีสิทธิครอบครองเป็นที่ดินของหนองคะนะด้วย ทั้งที่ที่ดินที่โจทก์ครอบครองไม่ได้อยู่ในพื้นที่หนองคะนะ แต่อยู่บริเวณริมหนองคะนะ โจทก์คัดค้านการรังวัด จำเลยที่ ๓ ตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริง ต่อมาเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดศรีสะเกษ ออกประกาศเรื่องแจกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงหนองคะนะ โจทก์คัดค้านอีก เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดศรีสะเกษแจ้งว่าเอกสารหลักฐานที่โจทก์นำส่งไม่ใช่เอกสารสิทธิตามประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ. ๒๔๙๗ ไม่สามารถนำไปประกอบการคัดค้านได้ และจะดำเนินการออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงให้แก่จำเลยที่ ๒ ที่ดินตามแผนที่ที่เจ้าพนักงานที่ดินจะออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงนั้นทับที่ดินของโจทก์ และที่ดินของโจทก์อยู่นอกเขตของหนองคะนะ จำเลยที่ ๒ และที่ ๓ ไม่มีอำนาจโดยชอบด้วยกฎหมายที่จะนำที่ดินของโจทก์ไปรวมเป็นส่วนหนึ่งของหนองคะนะ เพื่อออกเป็นหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง การกระทำของจำเลยทั้งสามเป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ในที่ดินพิพาท ขอให้พิพากษาว่า โจทก์เป็นผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินแปลงดังกล่าว และให้เพิกถอนแผนที่ที่เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดศรีสะเกษจัดทำขึ้นจากการนำชี้รังวัดของจำเลยที่ ๒ และที่ ๓ เฉพาะส่วนที่เป็นที่ดินของโจทก์
จำเลยทั้งสามให้การว่า โจทก์ไม่มีหลักฐานเอกสารที่แสดงถึงการได้ที่ดินพิพาทมา โดยชอบด้วยกฎหมาย ที่ดินพิพาทเป็นส่วนหนึ่งของที่ดินสาธารณสมบัติของแผ่นดินสำหรับพลเมือง ใช้ร่วมกัน “หนองคะนะ” เป็นแหล่งเก็บน้ำฝน และเป็นที่ดินสาธารณประโยชน์มาแต่บรรพบุรุษ การรังวัดเพื่อออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงของจำเลยที่ ๒ และที่ ๓ ได้กระทำโดยชอบด้วยกฎหมาย ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยทั้งสามยื่นคำร้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลว่า โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสามซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐให้เพิกถอนแผนที่ที่เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดศรีสะเกษจัดทำขึ้นจากการรังวัดของ จำเลยที่ ๒ และที่ ๓ เพื่อนำไปออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง โดยอ้างว่าเป็นการออกคำสั่งรังวัดที่ดินทับที่ดินของโจทก์ จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับหน่วยงานทางปกครองและเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายในการออกคำสั่งดังกล่าว คดีจึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง
ศาลจังหวัดศรีสะเกษพิจารณาแล้วเห็นว่า คดีนี้โจทก์เป็นเอกชนยื่นฟ้องกระทรวงมหาดไทย นายอำเภอกันทรารมย์และองค์การบริหารส่วนตำบลดูน ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐและเจ้าหน้าที่ของรัฐ ข้อเท็จจริงตามคำฟ้องสรุปได้ว่า โจทก์เป็นเจ้าของที่ดินมือเปล่า ไม่มีเอกสารสิทธิในที่ดิน ตั้งอยู่ที่บริเวณริมหนองคะนะ ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของหนอง ตำบลดูน อำเภอกันทรารมย์ จังหวัดศรีสะเกษ ได้รับความเสียหายอันเนื่องมาจากกรณีจำเลยทั้งสามมีคำสั่งให้รังวัดหนองคะนะเพื่อออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงรุกล้ำเข้าไปในที่ดินของโจทก์ ทั้งที่โจทก์คัดค้านการรังวัดแล้ว ขอให้ศาลพิพากษาให้โจทก์เป็นผู้มีสิทธิในที่ดินแปลงพิพาทตามฟ้อง ให้เพิกถอนแผนที่ที่เจ้าพนักงานที่ดินจัดทำขึ้นจากการนำชี้รังวัดของจำเลยที่ ๒ และที่ ๓ เฉพาะส่วนที่เป็นที่ดินของโจทก์
ดังนั้น การที่ศาลจะมีคำพิพากษาตามคำขอของโจทก์ได้หรือไม่นั้น ศาลจำต้องพิจารณาให้ได้ความเสียก่อนว่า ที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์หรือเป็นที่สาธารณประโยชน์เป็นสำคัญ จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดินระหว่างคู่กรณี อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
ศาลปกครองนครราชสีมาพิจารณาแล้วเห็นว่า เกณฑ์การพิจารณาในเรื่องเขตอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลปกครองและศาลยุติธรรมจะต้องพิจารณาเขตอำนาจของศาลปกครองเป็นสำคัญ หากคดีพิพาทใดอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครองแล้ว ศาลยุติธรรมย่อมไม่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีนั้น ตามนัยบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา ๒๑๘ ประกอบมาตรา ๒๒๓ วรรคหนึ่ง และพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง การออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง (น.ส.ล.) เป็นการรับรองเขตที่ดินของรัฐซึ่งเป็นอำนาจหน้าที่ของอธิบดีกรมที่ดิน และต้องดำเนินการตามมาตรา ๘ ตรี แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน ประกอบกับกฎกระทรวง ฉบับที่ ๒๖ (พ.ศ. ๒๕๑๖) ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ ๔๕ (พ.ศ. ๒๕๓๗) ออกตามความในพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ. ๒๔๙๗ และระเบียบกรมที่ดินว่าด้วยการออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง พ.ศ. ๒๕๑๗ เมื่อข้อเท็จจริงในคดีนี้ปรากฏว่าจำเลยที่ ๑ โดยจำเลยที่ ๒ ได้มีหนังสือถึงอธิบดีกรมที่ดิน ขอให้เจ้าพนักงานที่ดินรังวัดพื้นที่หนองคะนะเพื่อออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง และจำเลยที่ ๒ กับที่ ๓ ได้ร่วมกันนำชี้แนวเขตที่ดินหนองคะนะจนเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดศรีสะเกษ สาขากันทรารมย์ ประกาศการออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงแปลงพิพาทแล้ว การกระทำดังกล่าวของจำเลยทั้งสามจึงเป็นการใช้อำนาจทางปกครองหรือดำเนินกิจการทางปกครองของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐตามที่กฎหมายบัญญัติ การที่โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งสามร่วมกันรังวัดออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงแปลงหนองคะนะสาธารณประโยชน์โดยนำชี้แนวเขตทับที่ดินมือเปล่าของโจทก์ ซึ่งโจทก์ครอบครองทำประโยชน์มาโดยสงบเปิดเผยในฐานะเจ้าของ และเสียภาษีบำรุงท้องที่ตลอดมาทุกปี ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ขอให้ศาลพิพากษาว่าโจทก์เป็นผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินแปลงดังกล่าว และขอให้เพิกถอนแผนที่ที่เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดศรีสะเกษ สาขากันทรารมย์ จัดทำขึ้นจากการนำชี้รังวัดของจำเลยที่ ๒ และที่ ๓ เฉพาะส่วนที่เป็นที่ดินของโจทก์ ซึ่งเป็นกรณีที่โจทก์ประสงค์จะให้ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งให้หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐงดเว้นการออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงแปลงหนองคะนะสาธารณประโยชน์ทับที่ดินของโจทก์ จึงเห็นได้ชัดเจนว่าเป็นคดีปกครองที่กล่าวหาว่าหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายและกระทำละเมิดอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย ตามมาตรา ๙ (๑) และ (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ดังนั้น แม้คดีมีประเด็นต้องพิจารณาว่าที่ดินพิพาทเป็นที่ดินของโจทก์หรือเป็นที่ดินสาธารณประโยชน์ ประเด็นดังกล่าวก็เป็นปัญหาข้อเท็จจริงที่ศาลจะต้องพิจารณาในเนื้อหาของคดี อันเป็นเพียงประเด็นปัญหาย่อยหนึ่งในหลายประเด็นปัญหาที่จะพิจารณาว่าการดำเนินการรังวัดที่ดินเพื่อออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงแปลงพิพาทของจำเลยทั้งสามเป็นการกระทำที่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ และแม้การพิจารณาว่าโจทก์เป็นผู้มีสิทธิครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทดังกล่าวหรือไม่จะต้องพิจารณาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ หรือประมวลกฎหมายที่ดิน ก็ตาม แต่การพิจารณาในปัญหาดังกล่าวมิใช่เกณฑ์การพิจารณาว่าคดีอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลใด อีกทั้งไม่มีบทบัญญัติใดห้ามศาลปกครองมิให้นำบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าวมาใช้บังคับ แก่คดีได้ หรือมีบทบัญญัติแห่งกฎหมายใดกำหนดให้เป็นอำนาจเฉพาะศาลหนึ่งศาลใดเท่านั้นที่จะนำบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าวมาใช้บังคับแก่คดีได้ ศาลปกครองจึงนำบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าวมาใช้บังคับแก่คดีได้เช่นเดียวกัน นอกจากนี้ มาตรา ๗๑ (๔) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ได้บัญญัติให้คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลปกครองที่เกี่ยวกับสิทธิแห่งทรัพย์สินมีผลผูกพันบุคคลภายนอก คู่กรณีที่เกี่ยวข้องอาจอ้างกับบุคคลภายนอกได้ เว้นแต่บุคคลภายนอกจะมีสิทธิดีกว่า อันเป็นบทบัญญัติที่ยืนยันให้เห็นว่า ศาลปกครองมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีที่เกี่ยวกับสิทธิแห่งทรัพย์สินและนำบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าวมาวินิจฉัยข้อพิพาทในคดีได้ ซึ่งศาลปกครองมีอำนาจออกคำบังคับตามคำขอของโจทก์ได้ ตามมาตรา ๗๒ วรรคหนึ่ง (๑) และ (๓) และวรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว คดีนี้จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐใช้อำนาจทางปกครองตามกฎหมายหรือดำเนินกิจการทางปกครองไม่ชอบด้วยกฎหมายตามมาตรา ๒๒๓ วรรคหนึ่ง ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐ ประกอบมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๑) และ (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ และศาลปกครองมีอำนาจออกคำบังคับตามคำขอของโจทก์ได้ ตามมาตรา ๗๒ วรรคหนึ่ง (๑) และ (๓) และวรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว อีกทั้งจำเลยทั้งสามมีหน้าที่ดำเนินการให้ออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง จึงมิได้อยู่ในฐานะเจ้าของหรือผู้มีสิทธิในที่ดินพิพาทซึ่งศาลจะพิพากษาเพียงเฉพาะสิทธิในที่ดินแต่อย่างใด ข้อพิพาทใน คดีนี้จึงเป็นการโต้แย้งเกี่ยวกับความมีอยู่หรือสถานะของที่สาธารณประโยชน์รวมอยู่ ทั้งนี้เพื่อตรวจสอบการใช้อำนาจของหน่วยงานทางปกครองและเจ้าหน้าที่ของรัฐ ซึ่งมิใช่เรื่องพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดินแต่อย่างใด เมื่อคดีนี้เป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐใช้อำนาจทางปกครองตามกฎหมายหรือดำเนินกิจการทางปกครองโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายตามมาตรา ๒๒๓ วรรคหนึ่ง ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐ ประกอบมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๑) และ (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครองแล้ว ศาลยุติธรรมจึงย่อมไม่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีนี้ได้ตามนัยมาตรา ๒๑๘ ประกอบมาตรา ๒๒๓ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐ และพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒

คำวินิจฉัย
ปัญหาที่ต้องพิจารณา คดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมหรือศาลปกครอง
คณะกรรมการพิจารณาแล้วเห็นว่า คดีนี้แม้จำเลยที่ ๑ และที่ ๓ จะเป็นหน่วยงานทางปกครอง และจำเลยที่ ๒ จะเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐก็ตาม แต่ตามคำฟ้องโจทก์อ้างว่า โจทก์เป็นผู้ครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดินมือเปล่าเนื้อที่ประมาณ ๔๑ ไร่ ๗๗ ตารางวา ตั้งอยู่บริเวณริมหนองคะนะทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของหนอง ตำบลดูน อำเภอกันทรารมย์ จังหวัดศรีสะเกษ โดยซื้อมาจากผู้มีชื่อ และเสียภาษีบำรุงท้องที่ตลอดมา แต่ถูกจำเลยที่ ๒ และที่ ๓ นำชี้รังวัดแนวเขตเพื่อออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง “หนองคะนะ” ทับที่ดินของโจทก์ ทั้งที่ที่ดินของโจทก์อยู่นอกเขตของหนองคะนะ จำเลยที่ ๒ และที่ ๓ ไม่มีอำนาจโดยชอบด้วยกฎหมายที่จะนำที่ดินของโจทก์ไปรวมเป็นส่วนหนึ่งของหนองคะนะ ขอให้พิพากษาว่า โจทก์เป็นผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินแปลงดังกล่าว และให้เพิกถอนแผนที่ที่เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดศรีสะเกษจัดทำขึ้นจากการนำชี้รังวัดของจำเลยที่ ๒ และที่ ๓ เฉพาะส่วนที่เป็นที่ดินของโจทก์ ส่วนจำเลยทั้งสามให้การว่า โจทก์ไม่มีหลักฐานเอกสารที่แสดงถึงการได้ที่ดินพิพาทมาโดยชอบด้วยกฎหมาย ที่ดินพิพาทเป็นส่วนหนึ่งของที่ดินสาธารณสมบัติของแผ่นดินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกัน “หนองคะนะ” เป็นแหล่งเก็บน้ำฝน และเป็นที่ดินสาธารณประโยชน์มาแต่บรรพบุรุษ การรังวัดเพื่อออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงของจำเลยที่ ๒ และที่ ๓ ได้กระทำโดยชอบด้วยกฎหมาย ขอให้ยกฟ้อง เห็นว่า การที่ศาลจะมีคำพิพากษาหรือคำสั่งในคดีนี้ได้นั้น ศาลจำต้องพิจารณาให้ได้ความเสียก่อนว่า ที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์ตามที่กล่าวอ้างหรือเป็นที่สาธารณสมบัติของแผ่นดินเป็นสำคัญ แล้วจึงจะพิจารณาประเด็นอื่นต่อไป จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
จึงวินิจฉัยชี้ขาดว่า คดีระหว่างนายคำตา สรรพศรี โจทก์ กระทรวงมหาดไทย ที่ ๑ นายอำเภอกันทรารมย์ ที่ ๒ องค์การบริหารส่วนตำบลดูน ที่ ๓ จำเลย อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

(ลงชื่อ) สบโชค สุขารมณ์ (ลงชื่อ) สุวัฒน์ วรรธนะหทัย
(นายสบโชค สุขารมณ์) (นายสุวัฒน์ วรรธนะหทัย)
ประธานศาลฎีกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลยุติธรรม

(ลงชื่อ) หัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล (ลงชื่อ) จรัญ หัตถกรรม
(นายหัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล) (นายจรัญ หัตถกรรม)
ประธานศาลปกครองสูงสุด กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลปกครอง

(ลงชื่อ) พลโท ศิลปชัย สรภักดี (ลงชื่อ) พลโท อาชวัน อินทรเกสร
(ศิลปชัย สรภักดี) (อาชวัน อินทรเกสร)
หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลทหาร

(ลงชื่อ) จิระ บุญพจนสุนทร
(นายจิระ บุญพจนสุนทร)
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ

Share