คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 110/2553

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

ป.วิ.พ. มาตรา 287 บัญญัติว่า “ภายใต้บังคับแห่งบทบัญญัติ มาตรา 288 และ 289 บทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้ว่าด้วยการบังคับคดีแก่ทรัพย์สินของลูกหนี้ตามคำพิพากษานั้น ย่อมไม่กระทบกระทั่งถึงบุริมสิทธิหรือสิทธิอื่น ๆ ซึ่งบุคคลภายนอกอาจร้องขอให้บังคับเหนือทรัพย์สินนั้นได้ตามกฎหมาย” ส่วนมาตรา 289 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “ถ้าบุคคลใดชอบที่จะบังคับการชำระหนี้เอาจากทรัพย์สินของลูกหนี้ตามคำพิพากษาที่เจ้าพนักงานบังคับคดีได้ยึดไว้ หรือชอบที่จะได้เงินที่ขายหรือจำหน่ายทรัพย์สินเหล่านั้นได้โดยอาศัยอำนาจแห่งการจำนองที่อาจบังคับได้ก็ดีหรืออาศัยอำนาจแห่งบุริมสิทธิก็ดี บุคคลนั้นอาจยื่นคำร้องขอต่อศาลที่ออกหมายบังคับคดีให้เอาเงินที่ได้มานั้นชำระหนี้ตนก่อนเจ้าหนี้อื่น ๆ ตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์…” และ ป.พ.พ. มาตรา 702 วรรคสอง บัญญัติว่า “ผู้รับจำนองชอบที่จะได้รับชำระหนี้จากทรัพย์สินที่จำนองก่อนเจ้าหนี้สามัญ มิพักต้องพิเคราะห์ว่ากรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินจะได้โอนไปยังบุคคลภายนอกแล้วหรือหาไม่” เมื่อพิเคราะห์ตามคำร้องของผู้ร้องที่ยื่นต่อศาลก่อนเอาทรัพย์สินจำนองออกขายทอดตลาดแล้ว การที่ผู้ร้องขอให้กันเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดทรัพย์สินจำนองโดยปลอดจำนองมาชำระหนี้แก่ผู้ร้องตามจำนวนภาระหนี้จำนองที่จำเลยมีต่อผู้ร้อง ถือได้ว่าเป็นการที่ผู้ร้องขอรับชำระหนี้จำนองจากการขายทอดตลาดทรัพย์จำนองโดยอาศัยอำนาจแห่งการจำนองตาม ป.พ.พ. มาตรา 702 วรรคสอง ซึ่งผู้ร้องมีบุริมสิทธิในการที่จะได้รับชำระหนี้ก่อนเจ้าหนี้รายอื่นตาม ป.วิ.พ. มาตรา 289 แม้ผู้ร้องจะอ้างว่าเป็นการร้องขอกันส่วนตาม ป.วิ.พ. มาตรา 287 แต่เมื่อคำร้องของผู้ร้องต้องด้วยบทบัญญัติมาตรา 289 ก็ไม่ทำให้คำร้องของผู้ร้องเสียไป ศาลมีอำนาจรับคำร้องของผู้ร้องไว้พิจารณา

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องจากศาลมีคำพิพากษาให้จำเลยชำระหนี้ตามคำพิพากษาแก่โจทก์แต่จำเลยไม่ชำระ โจทก์จึงนำเจ้าพนักงานบังคับคดีห้องชุดจำนวน 200 ห้องชื่ออาคารชุดเอเชียซิตี้ไลฟ์ คอนโดมีเนียม ตำบลบางบัวทอง อำเภอบางบัวทอง จังหวัดนนทบุรี
ผู้ร้องยื่นคำร้องว่า ผู้ร้องเป็นผู้รับจำนองห้องชุดจำนวน 2,177 ห้อง ชื่ออาคารชุดเอชียซิตี้ไลฟ์ คอนโดมิเนียม ตำบลบางบัวทอง อำเภอบางบัวทอง จังหวัดนนทบุรี เจ้าพนักงานบังคับคดี สำนักงานบังคับคดีจังหวัดนนทบุรี เข้าทำการยึดกรรมสิทธิ์ในห้องชุดดังกล่าวบางส่วนจำนวน 200 ห้อง ตามหมายบังคับคดีของศาลแพ่งธนบุรีคดีหมายเลขแดงที่ 756/2547 และมีหนังสือให้ผู้ร้องนำส่งต้นฉบับหนังสือกรรมสิทธิ์ห้องชุดจำนวน 200 ห้องดังกล่าว ผู้ร้องนำส่งต้นฉบับหนังสือกรรมสิทธิ์ต่อเจ้าพนักงานบังคับคดีจำนวน 197 ห้อง ส่วนอีก 3 ห้อง มีการไถ่ถอนจำนองแล้ว ต้นฉบับหนังสือกรรมสิทธิ์จึงไม่อยู่ที่ผู้ร้อง พร้อมกับแจ้งให้เจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการขายทอดตลาดทรัพย์หลักประกันโดยปลอดจำนอง เมื่อขายทอดตลาดแล้ว ขอให้ศาลกันส่วนเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดทรัพย์ดังกล่าวให้แก่ผู้ร้อง
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ยกคำร้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
ผู้ร้องอุทธรณ์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกาโดยได้รับอนุญาตจากศาลชั้นต้นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 223 ทวิ
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงตามทางไต่สวนได้ความว่า จำเลยทำสัญญากู้เงินจากผู้ร้องในวงเงินไม่เกิน 532,660,000 บาท เพื่อใช้ในการประกอบธุรกิจหมู่บ้านจัดสรรและอาคารชุด ใช้ชื่อโครงการว่า “โครงการเอเชียซิตี้ บางบัวทอง” เพื่อเป็นประกันหนี้เงินกู้ดังกล่าว ในวันที่ 29 ธันวาคม 2544 จำเลยจดทะเบียนจำนองที่ดินเป็นประกันรวม 18 แปลง ซึ่งตั้งอยู่ที่ตำบลบางบัวทอง (หนองเชียงโคตร) อำเภอบางบัวทอง จังหวัดนนทบุรี พร้อมสิ่งปลูกสร้างในวงเงินจำนวน 532,660,000 บาท นอกจากนั้นในวันที่ 28 ธันวาคม 2544 จำเลยจดทะเบียนจำนองห้องชุดเป็นประกันเพิ่มหลักทรัพย์โดยไม่เพิ่มวงเงินจำนวน 2,177 ห้อง ชื่ออาคารชุดเอเชียซิตี้ไลฟ์คอนโดมีเนียม ตำบลบางบัวทอง อำเภอบางบัวทอง จังหวัดนนทบุรี หลังจากจำเลยทำสัญญากู้เงินและได้รับเงินกู้ไปจากผู้ร้องแล้ว จำเลยผิดนัดไม่ชำระเงินตามสัญญาต่อมาจำเลยทำสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้และยังคงชำระหนี้ให้แก่ผู้ร้องเรื่อยมา ขณะยื่นคำร้องยังไม่มีการผิดนัดตามสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้ จำเลยคงค้างชำระหนี้เงินต้นจำนวน 410,243,534.40 บาท และดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 10 ต่อปี ดอกเบี้ยถึงวันยื่นคำร้องเป็นเงินจำนวน 36,342,098.50 บาท ต่อมาเจ้าพนักงานบังคับคดีสำนักงานบังคับคดีจังหวัดนนทบุรีเข้าทำการยึดกรรมสิทธิ์ในห้องชุดในอาคารชุดเอเชียซิตี้ไลฟ์ คอนโดมิเนียม ที่จดทะเบียนจำนองไว้แก่ผู้ร้องบางส่วน จำนวน 200 ห้อง ตามหมายบังคับคดีของศาลแพ่งธนบุรี คดีหมายเลขแดงที่ 756/2547 และมีหนังสือให้ผู้ร้องนำส่งต้นฉบับหนังสือกรรมสิทธิ์ห้องชุดทั้ง 200 ห้อง ดังกล่าว ผู้ร้องนำส่งต้นฉบับหนังสือกรรมสิทธิ์ต่อเจ้าพนักงานบังคับคดีจำนวน 197 ห้อง ส่วนอีก 3 ห้องมีการไถ่ถอนจำนองแล้ว ต้นฉบับหนังสือกรรมสิทธิ์จึงไม่อยู่ที่ผู้ร้อง พร้อมแจ้งให้ดำเนินการขายทอดตลาดทรัพย์หลักประกันดังกล่าวโดยปลอดจำนอง และกันเงินในส่วนของผู้ร้องในฐานะผู้รับจำนองไว้เมื่อขายทอดตลาดเสร็จ
พิเคราะห์แล้ว คดีมีปัญหาข้อกฎหมายต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของผู้ร้องว่า ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้องของผู้ร้องชอบหรือไม่ เห็นว่า ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 287 บัญญัติว่า “ภายใต้บังคับแห่งบทบัญญัติมาตรา 288 และ 289 บทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้ว่าด้วยการบังคับคดีแก่ทรัพย์สินของลูกหนี้ตามคำพิพากษานั้น ย่อมไม่กระทบกระทั่งถึงบุริมสิทธิหรือสิทธิอื่น ๆ ซึ่งบุคคลภายนอกอาจร้องขอให้บังคับเหนือทรัพย์สินนั้นได้ตามกฎหมาย” ส่วนมาตรา 289 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “ถ้าบุคคลใดชอบที่จะบังคับการชำระหนี้เอาจากทรัพย์สินของลูกหนี้ตามคำพิพากษาที่เจ้าพนักงานบังคับคดีได้ยึดไว้ หรือชอบที่จะได้เงินที่ขายหรือจำหน่ายทรัพย์สินเหล่านั้นได้โดยอาศัยอำนาจแห่งการจำนองที่อาจบังคับได้ก็ดี หรืออาศัยอำนาจแห่งบุริมสิทธิก็ดี บุคคลนั้นอาจยื่นคำร้องขอต่อศาลที่ออกหมายบังคับคดีให้เอาเงินที่ได้มานั้นชำระหนี้ตนก่อนเจ้าหนี้อื่น ๆ ตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์…” และประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 702 วรรคสอง บัญญัติว่า “ผู้รับจำนองชอบที่จะได้รับชำระหนี้จากทรัพย์สินที่จำนองก่อนเจ้าหนี้สามัญ มิพักต้องพิเคราะห์ว่ากรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินจะได้โอนไปยังบุคคลภายนอกแล้วหรือหาไม่” เมื่อพิเคราะห์ตามคำร้องของผู้ร้องที่ยื่นต่อศาลก่อนเอาทรัพย์สินจำนองออกขายทอดตลาดแล้วการที่ผู้ร้องขอให้กันเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดทรัพย์สินจำนองโดยปลอดจำนองมาชำระหนี้แก่ผู้ร้องตามจำนวนภาระหนี้จำนองที่จำเลยมีต่อผู้ร้อง ถือได้ว่าเป็นการที่ผู้ร้องขอรับชำระหนี้จำนองจากการขายทอดตลาดทรัพย์จำนองโดยอาศัยอำนาจแห่งการจำนองตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 702 วรรคสอง ซึ่งผู้ร้องมีบุริมสิทธิในการที่จะได้รับชำระหนี้ก่อนเจ้าหนี้รายอื่น ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 289 แม้ผู้ร้องจะอ้างว่าเป็นการร้องขอกันส่วนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 287 แต่เมื่อคำร้องของผู้ร้องต้องด้วยบทบัญญัติมาตรา 289 ก็ไม่ทำให้คำร้องของผู้ร้องเสียไป ศาลมีอำนาจรับคำร้องของผู้ร้องไว้พิจารณาได้ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้องของผู้ร้องนั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วยและเห็นสมควรให้ศาลชั้นต้นพิจารณามีคำสั่งใหม่ตามรูปคดี อุทธรณ์ของผู้ร้องฟังขึ้น”
พิพากษายกคำสั่งศาลชั้นต้น ให้ศาลชั้นต้นพิจารณาและมีคำสั่งตามรูปคดี ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นนี้ให้เป็นพับ

Share