คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2906/2535

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

แม้โจทก์จะบรรยายฟ้องว่าจำเลยและสามีได้ขออนุญาตปลูกบ้านพิพาทจากโจทก์และเจ้าของกรรมสิทธิ์ร่วม แต่โจทก์นำสืบว่า สามีจำเลยได้ขออนุญาต ร. ปลูกบ้านเมื่อประมาณ 30 ปี ก่อนโจทก์เบิกความคดีนี้ ต่อมา ร. ได้โอนกรรมสิทธิ์ที่ดินที่บ้านพิพาทปลูกอยู่ให้แก่โจทก์และผู้อื่นเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ร่วมกันก็ตามก็ถือไม่ได้ว่าเป็นการนำสืบแตกต่างไปจากฟ้อง เพราะเมื่อ ร.โอนกรรมสิทธิ์ที่ดินให้แก่โจทก์และบุคคลอื่นแล้ว การที่จำเลยยังคงอาศัยอยู่ในบ้านพิพาทก็เท่ากับโจทก์และเจ้าของร่วมในที่ดินได้อนุญาตให้จำเลยปลูกบ้านอยู่ต่อไปนั่นเอง กฎหมายสันนิษฐานว่าผู้มีชื่อในโฉนดเป็นเจ้าของที่ดินในโฉนดเมื่อจำเลยกล่าวอ้างว่าโจทก์และผู้มีชื่อถือกรรมสิทธิ์แทนบุคคลอื่นจำเลยจึงมีภาระการพิสูจน์ แต่ในทางนำสืบนั้น จำเลยคงมีแต่ตัวจำเลย พ.บุตรสาวของจำเลยและส. มาเบิกความลอย ๆ ว่าร. ถือกรรมสิทธิ์แทนบุคคลอื่น โดยปราศจากพยานหลักฐานอื่นสนับสนุนจึงมีน้ำหนักน้อย ไม่สามารถหักล้างข้อสันนิษฐานของกฎหมายดังกล่าวได้ เมื่อข้อเท็จจริงฟังไม่ได้ว่าจำเลยหรือสามีจำเลยมีส่วนเป็นเจ้าของร่วมในที่พิพาท การที่จำเลยอยู่ในที่ดินพิพาทจึงเป็นการอยู่โดยอาศัยสิทธิของโจทก์ เมื่อโจทก์ไม่ประสงค์จะให้จำเลยอาศัยอยู่ต่อไปและได้บอกกล่าวให้จำเลยออกไปจากที่พิพาทแล้วแต่จำเลยไม่ออกไปจึงเป็นการละเมิดและต้องใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์บางส่วนในที่ดินโฉนดเลขที่ 1266 และ 3751 จำเลยและสามีได้ขออนุญาตปลูกบ้านเลขที่ 152/6 อยู่อาศัยในที่ดินตามโฉนดทั้งสองแปลง และให้บุคคลภายนอกเข้าอยู่อาศัย โดยส่งเสียเอะอะสร้างความเดือดร้อนรำคาญแก่โจทก์ โจทก์แจ้งให้จำเลยรื้อถอนบ้านเรือนดังกล่าวออกจากที่ดินทั้งสองแปลงนี้แล้วแต่จำเลยเพิกเฉย การกระทำของจำเลยทำให้โจทก์เสียหายเพราะหากจำเลยรื้อออกไป โจทก์อาจให้บุคคลอื่นเช่าจะได้ค่าเช่าไม่น้อยกว่าเดือนละ 2,500 บาท ขอให้บังคับจำเลยออกไปจากที่ดินของโจทก์ พร้อมทั้งรื้อถอนบ้านเลขที่152/6 ออกไปจากที่ดินทั้งสองแปลงหากจำเลยไม่รื้อถอนให้โจทก์เป็นผู้รื้อถอนเองโดยให้จำเลยเสียค่าใช้จ่าย ให้จำเลยชำระค่าเสียหายให้โจทก์เดือนละ 2,500 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยและบริวารจะออกไปจากที่ดินทั้งสองแปลง
จำเลยให้การว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องเพราะโจทก์มิใช่เจ้าของกรรมสิทธิ์ในที่ดินโฉนดเลขที่ 1266 และ 3751 ผู้เดียว แต่ที่ดินทั้งสองแปลงเป็นที่ดินมรดกซึ่งทายาทยังมิได้แบ่งปันกันตามกฎหมายนายสมาน ชูวิทย์ สามีจำเลยซึ่งเป็นทายาทคนหนึ่งของขุนกระสินธิ์ทวารานุรักษ์ได้ปลูกบ้านเลขที่ 152/6 เป็นบ้านไม้สองชั้นถาวรมีรั้วรอบอยู่ในที่ดินโฉนดเลขที่ 1266 มาประมาณ 30 ปีแล้วทั้งนี้โดยอาศัยสิทธิในฐานะเป็นทายาทคนหนึ่งของผู้มีสิทธิได้รับมรดกดังกล่าว ต่อมาเมื่อนายสมานถึงแก่กรรม จำเลยก็ครอบครองบ้านพร้อมที่ดินตลอดมาจนกระทั่งบัดนี้ โจทก์ไม่มีสิทธิฟ้องขับไล่หากโจทก์จะมีชื่อเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ในโฉนดก็เป็นการถือแทนทายาททั้งหลายของขุนกระสิทธิ์ทวารานุรักษ์ กับนางแฉ่ง ชูวิทย์เพราะที่ดินโฉนดเลขที่ 1266 และ 3751 ยังมิได้มีการแบ่งปันกันในระหว่างทายาท ฟ้องของโจทก์เคลือบคลุมเพราะมิได้บรรยายให้เห็นชัดแจ้งถึงสภาพแห่งข้อหาของโจทก์ว่าจำเลยโต้แย้งสิทธิของโจทก์อย่างใดจำเลยปลูกบ้านเลขที่เท่าใด กว้างยาวเป็นเนื้อที่เท่าใดจำเลยไม่เคยได้รับหนังสือบอกกล่าวจากโจทก์ให้รื้อถอนบ้านออกไปจากที่ดินของโจทก์แต่อย่างใด ฟ้องของโจทก์จึงไม่อาจบังคับได้ตามกฎหมาย โจทก์มิได้เสียหายตามฟ้องที่ดินพิพาท จะให้เช่าได้ไม่เกินเดือนละ 300 บาท ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยออกจากที่ดินโฉนดเลขที่ 1266และ 3751 โดยรื้อถอนบ้านเลขที่ 152/6 ออกไปจากที่ดินของโจทก์ทั้งสองแปลงให้จำเลยชำระค่าเสียหายให้โจทก์เดือนละ 300 บาทนับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยและบริวารจะออกไปจากที่ดินของโจทก์
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยต่อไปตามฎีกาของจำเลยข้อที่สองมีว่า โจทก์นำสืบข้อเท็จจริงแตกต่างจากฟ้องหรือไม่พิเคราะห์แล้วเห็นว่า แม้โจทก์จะบรรยายฟ้องว่าจำเลยและสามีได้ขออนุญาตปลูกบ้านพิพาทจากโจทก์และเจ้าของกรรมสิทธิ์ร่วม แต่โจทก์นำสืบว่า สามีจำเลยได้ขออนุญาตนางสาวรื่น ชูวิทย์ปลูกบ้านพิพาทเมื่อประมาณ 30 ปี ก่อนโจทก์เบิกความคดีนี้ ต่อมานางสาวรื่นได้โอนกรรมสิทธิ์ที่ดินที่บ้านพิพาทปลูกอยู่ให้แก่โจทก์และผู้อื่นเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ร่วมกันก็ตาม ก็ถือไม่ได้ว่าเป็นการนำสืบแตกต่างไปจากฟ้อง เพราะเมื่อนางสาวรื่นโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินให้แก่โจทก์และบุคคลอื่นแล้ว การที่จำเลยยังคงอาศัยอยู่ในบ้านพิพาทก็เท่ากับโจทก์และเจ้าของร่วมในที่ดิน ได้อนุญาตให้จำเลยปลูกบ้านอยู่ต่อไปนั่นเอง ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น…
ส่วนที่จำเลยฎีกาอ้างว่า โจทก์และบุคคลอื่นที่มีชื่อในที่ดินโฉนดทั้งสองเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์แทนทายาทอื่นซึ่งรวมถึงสามีจำเลยด้วยนั้น เห็นว่ากฎหมายสันนิษฐานว่าผู้มีชื่อในโฉนดเป็นเจ้าของที่ดินในโฉนด เมื่อจำเลยกล่าวอ้างว่าโจทก์และผู้มีชื่อถือกรรมสิทธิ์แทนทายาทอื่น จำเลยจึงมีภาระการพิสูจน์ แต่ในทางนำสืบนั้นจำเลยคงมีแต่ตัวจำเลย นางพิมลวดี ค้าขาย บุตรสาวของจำเลยและนางสาวสุพร ชูวิทย์ มาเบิกความลอย ๆ ว่า นางสาวรื่น ชูวิทย์ถือกรรมสิทธิ์แทนทายาทอื่น โดยปราศจากพยานหลักฐานอื่นสนับสนุนจึงมีน้ำหนักน้อยไม่สามารถหักล้างข้อสันนิษฐานของกฎหมายดังกล่าวได้ข้อเท็จจริงฟังไม่ได้ว่าโจทก์และผู้มีชื่อในโฉนดที่พิพาทถือกรรมสิทธิ์แทนสามีโจทก์ ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้นปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยต่อไปตามฎีกาข้อสุดท้ายของจำเลยมีว่า จำเลยต้องใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์หรือไม่ โดยจำเลยฎีกาว่าจำเลยมีสิทธิที่จะอยู่และครอบครองที่พิพาทโดยอาศัยสิทธิทายาทโดยธรรมในทรัพย์มรดกที่ยังมิได้แบ่งปันกันจำเลยจึงไม่ต้องชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์นั้น เมื่อข้อเท็จจริงฟังไม่ได้ว่าจำเลยหรือสามีจำเลยมีส่วนเป็นเจ้าของร่วมในที่พิพาทดังได้วินิจฉัยมาแล้ว การที่จำเลยอยู่ในที่ดินพิพาทจึงเป็นการอยู่โดยอาศัยสิทธิของโจทก์ เมื่อโจทก์ไม่ประสงค์จะให้จำเลยอาศัยอยู่ต่อไปและได้บอกกล่าวให้จำเลยออกไปจากที่พิพาทแล้ว แต่จำเลยไม่ออกไปจึงเป็นการละเมิดต่อโจทก์ และต้องใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน”
พิพากษายืน.

Share