คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3595/2532

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

ความผิดฐานยักยอกทรัพย์ไม่ใช่ความผิดเฉพาะตัวของผู้ครอบครองทรัพย์เพียงผู้เดียว ผู้อื่นก็อาจร่วมกระทำความผิดกับผู้ครอบครองในการยักยอกทรัพย์ได้หากได้ร่วมมือร่วมใจกันกระทำการยักยอกกับผู้ได้รับมอบหมายให้ครอบครองทรัพย์ ข้อที่ว่า “ผู้ใดครอบครองทรัพย์”นั้น มิใช่คุณสมบัติเฉพาะตัวผู้กระทำ แต่เป็นเพียงองค์ประกอบความผิดในส่วนการกระทำอันหนึ่งเท่านั้น จำเลยซึ่งเป็นบุคคลภายนอกมิใช่ผู้มีอาชีพหรือธุรกิจอันย่อมเป็นที่ไว้วางใจของประชาชนได้ร่วมกับผู้จัดการและสมุห์บัญชีของธนาคารยักยอกทรัพย์ของธนาคาร จำเลยย่อมมีความผิดฐานเป็นตัวการยักยอกทรัพย์ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 352 ประกอบด้วยมาตรา 83 แม้จำเลยจะร่วมกระทำผิดกับผู้มีอาชีพหรือธุรกิจอันย่อมเป็นที่ไว้วางใจของประชาชนก็เป็นเหตุเฉพาะตัวผู้กระทำผิดแต่ละคน จำเลยจึงไม่มีความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุนในการที่ผู้อื่นกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 354 ประกอบด้วยมาตรา 86 (วินิจฉัยโดยที่ประชุมใหญ่เฉพาะวรรคสอง)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 352,353, 354, 83, 91 ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 11 ลงวันที่21 พฤศจิกายน 2514 ข้อ 2 และให้จำเลยคืนหรือใช้เงินจำนวน1,620,000 บาท แก่ผู้เสียหายด้วย จำเลยให้การปฏิเสธ ระหว่างพิจารณาธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด ขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาต ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง โจทก์และโจทก์ร่วมอุทธรณ์ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 354 ประกอบด้วยมาตรา 86 และมาตรา 91 ให้เรียงกระทงลงโทษจำคุกกระทงละ 1 ปี รวม 5 กระทง จำคุก 5 ปี ให้จำเลยคืนหรือใช้เงินจำนวน 1,620,000 บาท แก่โจทก์ร่วม โจทก์ฎีกาขอให้ลงโทษจำเลยฐานเป็นตัวการโดยการกระทำความผิดฐานยักยอกตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 352 ประกอบด้วยมาตรา 83 ส่วนจำเลยฎีกาขอให้ยกฟ้องโจทก์
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยมีว่า จำเลยได้กระทำความผิดและเป็นตัวการในการกระทำความผิดตามฟ้องโจทก์หรือไม่โจทก์มีนายศรีทัศน์ ไชยกำเนิด และนายประเสริฐ รุ่งเรืองรัตนกุลเบิกความว่า เมื่อประมาณเดือนมีนาคม 2524 นายประเสริฐฝ่ายตรวจสอบของธนาคารโจทก์ร่วม ประจำสำนักงานใหญ่ ได้ไปตรวจสอบการดำเนินกิจการของธนาคารโจทก์ร่วม สาขาท่าดินแดง ซึ่งในขณะนั้นมีนายบุญเทียม จีรภัทร์ เป็นผู้จัดการสาขา นายบรรศักดิ์ พานิชเป็นสมุห์บัญชีและนายจิตติ อินทรกฤษ เป็นแคชเชียร์ ปรากฏว่ายอดค้างของบัญชีอันเคลียร์ ไอ.ที.เอฟ. สูงผิดปกติ นายประเสริฐได้รายงานให้โจทก์ร่วมทราบ โจทก์ร่วมจึงให้นายศรีทัศน์ ไชยกำเนิดฝ่ายตรวจสอบไปทำการตรวจสอบ ปรากฏว่า บัญชีอันเคลียร์ ไอ.ที.เอฟ.และบัญชีของสำนักงานใหญ่มีรอยขูดลบและมีการเขียนตัวเลขขึ้นใหม่ในช่องจำนวนเงิน นายศรีทัศน์จึงเรียกนายบรรศักดิ์มาสอบถามนายบรรศักดิ์แจ้งว่า บัญชีอันเคลียร์ ไอ.ที.เอฟ. ตั้งขึ้นลอย ๆโดยไม่มีการฝากเงินสดเข้าบัญชี และตรวจสอบพบว่ามีการนำเงินที่ระบุไว้ในใบรับฝาก (สีขาว) เข้าบัญชีของลูกค้าหลายคน คือเข้าบัญชีของนายแดง หัสสา นายไพศาล พัฒนะพงศ์พร นายสมเกียรติรัตนแสงชัย นายสมชาย รัตนแสงชัย รัตนชัยการ์เมนท์ และนายกมลกัลลยะนนท์ชัย สำหรับนายไพศาลได้เปิดบัญชีกับธนาคารโจทก์ร่วมสาขาท่าดินแดง เมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2522 บัญชีเลขที่ 703และต่อมาวันที่ 2 มกราคม 2523 นายไพศาลมอบอำนาจให้จำเลยลงลายมือชื่อเบิกจ่ายเงินในบัญชีของนายไพศาลได้ด้วย และนายแดงเปิดบัญชีไว้กับธนาคารโจทก์ร่วม สาขาท่าดินแดง เมื่อวันที่18 พฤศจิกายน 2523 บัญชีเลขที่ 886 นายแดงให้มอบอำนาจให้จำเลยลงลายมือชื่อเบิกจ่ายเงินในบัญชีของนายแดงได้เช่นเดียวกันส่วนจำเลยเปิดบัญชีเงินฝากกระแสรายวันไว้กับธนาคารโจทก์ร่วมสาขาท่าดินแดง 2 บัญชี คือบัญชีเลขที่ 640 ใช้ชื่อเจ้าของบัญชีว่า นายสันทัด มาประเสริฐสุข และบัญชีเลขที่ 915 ใช้ชื่อเจ้าของบัญชีว่า นายบู๊ แซ่เบ๊ และตรวจสอบพบว่าในวันที่6 มกราคม 2524 นายบุญเทียม นายบรรศักดิ์ และจำเลยร่วมกันสร้างหลักฐานเท็จว่า นายไพศาลเจ้าของบัญชีเลขที่ 703 นำเงินสดไปฝากเข้าบัญชีที่ธนาคารโจทก์ร่วม สาขาสี่แยกวิสุทธิ์กษัตริย์250,000 บาท และธนาคารโจทก์ร่วม สาขาสี่แยกวิสุทธิ์กษัตริย์ออกเช็ค ไอ.ที.เอฟ. เลขที่ 174623 มาให้กับธนาคารโจทก์ร่วมสาขาท่าดินแดง แต่ความจริงเช็ค ไอ.ที.เอฟ. เลขที่ 174623ธนาคารโจทก์ร่วม สาขาสี่แยกวิสุทธิ์กษัตริย์ ออกให้แก่ธนาคารโจทก์ร่วม สาขาสี่แยกเสือป่า เพื่อเข้าบัญชีเลขที่ 384 จำนวนเงิน11,000 บาท หลักฐานเท็จที่จำเลยกับพวกร่วมกันทำขึ้นคือใบนำเงินเข้าบัญชี (ใบเปอิน) นำเข้าบัญชีเลขที่ 703 ของนายไพศาลบัญชีอันเคลียร์ ไอ.ที.เอฟ. และเช็ค ไอ.ที.เอฟ. และมีการนำเงิน250,000 บาท ไปลงในบัญชีของนายไพศาล ยอดเงินดังกล่าวเป็นการนำเข้าบัญชีลอย ๆ โดยไม่มีตัวเงินจริง ในวันเดียวกันมีการสั่งจ่ายเงินออกจากบัญชีเลขที่ 703 ของนายไพศาลเป็นจำนวน390,000 บาท โดยจ่ายเป็นเช็ค 4 ฉบับ ข้อความที่เขียนในเช็คเป็นลายมือของจำเลย เช็ค 3 ฉบับ นายไพศาลเป็นผู้สั่งจ่ายส่วนเช็คฉบับที่ 4 จำเลยเป็นผู้สั่งจ่าย จำนวนเงินที่สั่งจ่าย390,000 บาท มีเงินของโจทก์ร่วมอยู่ด้วย 250,000 บาท วันที่8 มกราคม 2524 มีการนำใบนำเงินเข้าบัญชีเท็จเข้าบัญชีเลขที่ 703ของนายไพศาล โดยฝากเงินผ่านธนาคารโจทก์ร่วม สาขาคลองเตยเป็นเงิน 250,000 บาท ซึ่งในใบนำเงินเข้าบัญชีนั้นระบุว่า ธนาคารโจทก์ร่วม สาขาคลองเตย ได้ออกเช็ค ไอ.ที.เอฟ. เลขที่ 009233ให้แต่ความจริงเช็ค ไอ.ที.เอฟ. ดังกล่าวธนาคารโจทก์ร่วม สาขาคลองเตย ออกให้แก่ธนาคารโจทก์ร่วม สาขาวงเวียนใหญ่ เพื่อเข้าบัญชีของการประปานครหลวง เป็นเงิน 31.50 บาท และในวันดังกล่าวได้มีการสั่งจ่ายเงินออกจากบัญชีเลขที่ 703 ของนายไพศาลเป็นจำนวน 250,000 บาท โดยจ่ายเป็นเช็ค 2 ฉบับ เช็คทั้งสองฉบับข้อความที่เขียนเป็นลายมือของจำเลย ส่วนลายมือชื่อผู้สั่งจ่ายฉบับหนึ่งเป็นลายมือชื่อของนายไพศาล แต่อีกฉบับหนึ่งเป็นลายมือชื่อของจำเลยวันที่ 3 มีนาคม 2524 มีการนำใบนำเงินเข้าบัญชีเท็จเข้าบัญชีเลขที่ 703 ของนายไพศาลเป็นเงิน 400,000 บาท ในใบนำเงินเข้าบัญชีดังกล่าวระบุว่า นายไพศาลนำเงินเข้าบัญชีที่ธนาคารโจทก์ร่วมสาขาสุขุมวิท 35 เป็นเงิน 400,000 บาท ธนาคารโจทก์ร่วม สาขาสุขุมวิท 35 ได้ออกเช็ค ไอ.ที.เอฟ. เลขที่ 180157 มาเข้าบัญชีของนายไพศาลที่ธนาคารโจทก์ร่วม สาขาท่าดินแดง แต่ความจริงเช็ค ไอ.ที.เอฟ. ดังกล่าวธนาคารโจทก์ร่วม สาขาสุขุมวิท 35ออกให้แก่ธนาคารโจทก์ร่วม สาขาลาดพร้าว เพื่อเข้าบัญชีเลขที่ 276ของเจ้าของบัญชีชื่อเอส.มัตสุด้า จำนวนเงิน 5,000 บาท ต่อมาเมื่อวันที่ 4 เดือนเดียวกัน มีการออกเช็ค 1 ฉบับ สั่งจ่ายเงิน400,000 บาท ออกจากบัญชีเลขที่ 703 ของนายไพศาล ข้อความในเช็ครวมทั้งลายมือชื่อผู้สั่งจ่ายเป็นลายมือของจำเลย แต่ระบุชื่อผู้สั่งจ่ายเป็นชื่อของนายไพศาล สำหรับบัญชีเลขที่ 886 ซึ่งเป็นบัญชีของนายแดงนั้น ตรวจพบว่าวันที่ 3 มีนาคม 2524 มีการนำเงินฝากเข้าบัญชี 330,000 บาท โดยฝากผ่านธนาคารโจทก์ร่วม สาขาเอกมัยและธนาคารโจทก์ร่วมสาขาเอกมัยได้ออกเช็ค ไอ.ที.เอฟ. เลขที่ 188370จำนวนเงิน 330,000 บาท มาเข้าบัญชีของนายแดงที่ธนาคารโจทก์ร่วมสาขาท่าดินแดง แต่ความจริงเช็ค ไอ.ที.เอฟ. ดังกล่าวเป็นเช็คที่ธนาคารโจทก์ร่วม สาขาเอกมัย ออกให้แก่ธนาคารโจทก์ร่วมสาขาเสือป่า เพื่อเข้าบัญชีเลขที่ 603 ของนายวิรัตน์จำนวน65,000 บาท จากการตรวจบัญชีกระแสรายวันของนายแดงพบว่าก่อนนำเงิน 330,000 บาท เข้าบัญชีมีการเบิกเงินออกจากบัญชีเป็นเงิน 450,000 บาท โดยใช้เช็ค 1 ฉบับ โดยจำเลยลงชื่อเป็นผู้สั่งจ่าย ส่วนข้อความที่เขียนในเช็คไม่ปรากฏว่าเป็นลายมือของผู้ใดเงินที่เบิกออกไปนั้นมีเงินของโจทก์ร่วมอยู่ด้วย 330,000บาท และยังตรวจพบต่อไปว่า ในวันที่ 4 มีนาคม 2524 มีการทำหลักฐานเท็จเพื่อแสดงว่ามีการนำเงินฝากเข้าบัญชีของนายแดงโดยผ่านธนาคารโจทก์ร่วม สาขาสุขุมวิท 35 ซึ่งธนาคารโจทก์ร่วมสาขาสุขุมวิท 35 ได้ออกเช็ค ไอ.ที.เอฟ. เลขที่ 180159 จำนวนเงิน390,000 บาท มาเข้าบัญชีของนายแดงที่ธนาคารโจทก์ร่วม สาขาท่าดินแดง ซึ่งความจริงเช็ค ไอ.ที.เอฟ.ดังกล่าวเป็นเช็คที่ธนาคารโจทก์ร่วม สาขาสุขุมวิท 35 ออกให้แก่ธนาคารโจทก์ร่วมสาขาสะพานใหม่ดอนเมือง เพื่อเข้าบัญชีของนายสุเทพ ถุงสุวรรณจำนวนเงิน 2,100 บาท ในวันเดียวกันนั้นมีการสั่งจ่ายเบิกเงินจากบัญชีของนายแดงเป็นเงิน 390,000 บาท โดยจำเลยลงชื่อเป็นผู้สั่งจ่ายนายวิชิต ตุวอานนท์ พยานโจทก์ซึ่งเป็นพนักงานของโจทก์ร่วม สาขาท่าดินแดง เบิกความว่า รู้จักกับจำเลยมาตั้งแต่ปี 2522 เวลาที่จำเลยไปติดต่อที่ธนาคารโจทก์ร่วม สาขาท่าดินแดงจำเลยจะเข้าทางประตูด้านหลังและมักจะไปนั่งที่หน้าโต๊ะนายบรรศักดิ์ เมื่อจำเลยเปิดบัญชีแล้ว จำเลยได้มาติดต่อกับธนาคารโจทก์ร่วมสาขาดังกล่าวทุกวัน และส่วนมากมาคุยอยู่กับนายบรรศักดิ์ และนายบุญเทียม สมุห์บัญชีและผู้จัดการธนาคารโจทก์ร่วม ลายเซ็นผู้รับเงินด้านหลังเช็คตามเอกสารหมาย จ.15จ.16 จ.18 จ.20 จ.21 และ จ.27 เป็นลายเซ็นของจำเลย ทั้งยังได้ความจากคำเบิกความของพันตำรวจโทอดิศร จินตนะพัฒน์ พยานโจทก์ซึ่งเป็นผู้สอบสวนคดีนี้ว่า เมื่อได้รับคำร้องทุกข์จากโจทก์ร่วมแล้วพยานได้ทำการสอบสวนพยานหลักฐานต่าง ๆ แล้วคดีมีหลักฐานว่านายบุญเทียม และนายบรรศักดิ์ พร้อมด้วยลูกค้าจำนวน 9 คนได้ยักยอกเงินของธนาคารโจทก์ร่วมโดยร่วมกันเปิดบัญชีขึ้นที่ธนาคารโจทก์ร่วม สาขาท่าดินแดง ด้วยความร่วมมือกับนายบุญเทียมและนายบรรศักดิ์ทำเอกสาร ไอ.ที.เอฟ. ของธนาคารโจทก์ร่วมสาขาต่าง ๆแล้วนำจำนวนเงินตามที่ปรากฏในเอกสารเท็จนั้นไปเข้าบัญชีของลูกค้าที่ร่วมมือ และลูกค้าเจ้าของบัญชีจะมาเบิกเงินออกไป พิเคราะห์แล้วเห็นว่า การที่จำเลยให้นายไพศาลและนายแดงเปิดบัญชีเงินฝากกระแสรายวันไว้กับธนาคารโจทก์ร่วม สาขาท่าดินแดง แล้วจำเลยดำเนินการจนสามารถให้ตนเองมีอำนาจสั่งจ่ายเงินจากบัญชีดังกล่าวของนายไพศาลและนายแดงได้ ทั้ง ๆ ที่นายไพศาลและนายแดงไม่มีสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีไว้กับธนาคารโจทก์ร่วม สาขาท่าดินแดงแต่อย่างใดและเมื่อได้มีการดำเนินการโอนเงินของโจทก์ร่วมสาขาท่าดินแดง ไปเข้าบัญชีที่จำเลยกับพวกขอเปิดไว้แล้ว จำเลยยังได้ดำเนินการให้มีการออกเช็คโดยจำเลยเป็นผู้เขียนบ้าง และจำเลยเป็นผู้สั่งจ่ายเองบ้าง และทั้งจำเลยยังได้ลงลายมือชื่อเป็นผู้รับเงินที่ด้านหลังเช็คจำนวนหลายฉบับ การสั่งจ่ายเงินตามเช็คแต่ละครั้งหรือแต่ละฉบับก็เป็นเงินจำนวนมากเช่นนี้เป็นการแสดงให้เห็นได้โดยแจ้งชัดว่า จำเลยต้องร่วมรู้เห็นกับนายบุญเทียมและนายบรรศักดิ์ผู้จัดการและสมุห์บัญชีของธนาคารโจทก์ร่วม สาขาท่าดินแดง ในแผนการทำหลักฐานอันเป็นเท็จขึ้นเพื่อให้ได้มีการเบิกจ่ายเงินของธนาคารโจทก์ร่วมจากสาขาดังกล่าวทั้งนี้โดยจำเลยกับพวกประสงค์ที่จะเบียดบังเอาเงินเหล่านั้นของโจทก์ร่วมไปเป็นของตนกับพวกโดยทุจริตมาแต่ต้น ความผิดฐานยักยอกทรัพย์นั้น ไม่ใช่ความผิดเฉพาะตัวของผู้ครอบครองทรัพย์เพียงผู้เดียว ผู้อื่นก็อาจร่วมกระทำความผิดกับผู้ครอบครองในการยักยอกทรัพย์ได้หากได้ร่วมมือร่วมใจกันกระทำการยักยอกกับผู้ได้รับมอบหมายให้ครอบครองทรัพย์ ข้อที่ว่า “ผู้ใดครอบครองทรัพย์”นั้น มิใช่คุณสมบัติเฉพาะตัวของผู้กระทำ แต่เป็นเพียงองค์ประกอบความผิดในส่วนการกระทำอันหนึ่งเท่านั้น คงมีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยต่อไปว่า การที่จำเลยซึ่งเป็นบุคคลภายนอกได้ร่วมกับผู้จัดการและสมุห์บัญชีของสาขาธนาคารโจทก์ร่วมยักยอกทรัพย์ของธนาคารโจทก์ร่วม จำเลยจะมีความผิดฐานใด ศาลฎีกาโดยมติที่ประชุมใหญ่เห็นว่า เมื่อจำเลยมิใช่ผู้มีอาชีพหรือธุรกิจอันย่อมเป็นที่ไว้วางใจของประชาชน จำเลยย่อมมีความผิดฐานเป็นตัวการยักยอกทรัพย์ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 352 ประกอบด้วยมาตรา 83 แม้จำเลยจะร่วมกระทำผิดกับผู้มีอาชีพหรือธุรกิจอันย่อมเป็นที่ไว้วางใจของประชาชนก็เป็นเหตุเฉพาะตัวผู้กระทำผิดแต่ละคน จำเลยจึงไม่มีความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุนในการที่ผู้อื่นกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 354 ประกอบด้วยมาตรา 86 ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 354ประกอบด้วย มาตรา 86 ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย”
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 352 ประกอบด้วย มาตรา 83 นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share