คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12525/2553

แหล่งที่มา :

ย่อสั้น

การที่โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยเป็นสมาชิกนิคมสหกรณ์และได้รับอนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทตาม พ.ร.บ.จัดที่ดินเพื่อการครองชีพ พ.ศ.2511 แต่จำเลยไม่เคยเข้าทำประโยชน์ในที่ดินพิพาท โดยจำเลยได้ขายสิทธิและส่งมอบการครอบครองที่ดินพิพาทให้แก่ บ. ทำให้จำเลยขาดจากการเป็นสมาชิกนิคมสหกรณ์และหมดสิทธิในที่ดินพิพาท ต่อมาเมื่อ บ. ขายสิทธิและส่งมอบการครอบครองที่ดินพิพาทให้แก่บิดาโจทก์ บิดาโจทก์ได้เข้าทำประโยชน์ในที่ดินพิพาท จนเมื่อบิดาโจทก์ถึงแก่กรรม โจทก์ซึ่งเป็นทายาทจึงเข้าทำประโยชน์ในที่ดินพิพาท การบรรยายฟ้องดังกล่าวเท่ากับเป็นการยืนยันว่าโจทก์เป็นผู้มีสิทธิครอบครองในที่ดินพิพาท ส่วนจำเลยไม่มีคุณสมบัติที่จะมีสิทธิไปออกโฉนดที่ดินพิพาทได้ แม้ตาม พ.ร.บ.จัดที่ดินเพื่อการครองชีพ พ.ศ.2511 มาตรา 11 และมาตรา 12 ได้กำหนดให้ทางราชการออกหนังสือแสดงการทำประโยชน์ให้แก่สมาชิกนิคมที่ได้เข้าทำประโยชน์ในที่ดิน ซึ่งสมาชิกสามารถนำหนังสือดังกล่าวไปขอออกโฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์ที่ดิน แต่ภายในห้าปีนับแต่วันได้รับโฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์ ผู้ได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์ในที่ดินจะโอนที่ดินไปยังผู้อื่นไม่ได้ นอกจากตกทอดทางมรดกหรือโอนไปยังสหกรณ์ที่ตนเป็นสมาชิกอยู่แล้วแต่กรณี แต่เมื่อที่ดินพิพาทยังไม่มีการออกโฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์ตาม พ.ร.บ.ดังกล่าว ที่ดินพิพาทจึงยังเป็นที่ดินของรัฐซึ่งราษฎรสามารถมีสิทธิครอบครองได้ และไม่มีกฎหมายห้ามโอนสิทธิครอบครองระหว่างราษฎรด้วยกันเพียงแต่ราษฎรไม่สามารถยกการครอบครองขึ้นอ้างต่อรัฐได้เท่านั้น แต่สามารถใช้ยันกันระหว่างราษฎรด้วยกันได้ โจทก์จึงสามารถมีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทได้ เมื่อจำเลยซึ่งไม่มีสิทธิในที่ดินพิพาทไปขอออกโฉนดที่ดินพิพาทจึงเป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้พิพากษาว่า ที่ดินพิพาทเป็นสิทธิครอบครองของโจทก์ ให้จำเลยถอนคำขอออกโฉนดที่ดินพิพาท ห้ามจำเลยและบริวารเข้ายุ่งเกี่ยวในที่ดินพิพาท หากจำเลยไม่ถอนคำขอออกโฉนดที่ดินให้ถือคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลย
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์
ระหว่างพิจารณาของศาลอุทธรณ์ภาค 7 จำเลยถึงแก่ความตาย นางสาวเฉลิมขวัญทายาทยื่นคำร้องขอเข้าเป็นคู่ความแทน ศาลอุทธรณ์ภาค 7 มีคำสั่งอนุญาต
ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยปัญหาตามฎีกาของโจทก์ว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องจำเลยหรือไม่ เห็นว่า ตามพระราชบัญญัติจัดที่ดินเพื่อการครองชีพ พ.ศ.2511 มาตรา 11 สมาชิกนิคมที่ได้รับการคัดเลือกและอนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในที่ดินของนิคมนั้นจะต้องเข้าทำประโยชน์ในที่ดินแล้วและได้เป็นสมาชิกนิคมมาเป็นเวลาเกินกว่าห้าปี ทั้งได้ชำระเงินช่วยทุนที่รัฐบาลได้ลงไปและชำระหนี้เกี่ยวกับกิจการของนิคมให้แก่ทางราชการเรียบร้อยแล้ว จึงจะมีสิทธิได้รับหนังสือแสดงการทำประโยชน์ และสมาชิกนิคมที่ได้รับหนังสือแสดงการทำประโยชน์ดังกล่าวสามารถนำหนังสือแสดงการทำประโยชน์ไปขอออกโฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์สำหรับที่ดินนั้นตามประมวลกฎหมายที่ดินได้ โดยสมาชิกนิคมสหกรณ์ต้องได้รับความเห็นชอบจากสหกรณ์ที่ตนเป็นสมาชิกอยู่ด้วยตามมาตรา 40 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว ดังนั้น สมาชิกนิคมที่ได้รับคัดเลือกจะมีสิทธิได้รับหนังสือแสดงการทำประโยชน์เพื่อนำไปขอออกโฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์ต้องเป็นสมาชิกนิคมที่เข้าทำประโยชน์ในที่ดินด้วย เมื่อโจทก์อ้างว่าจำเลยไม่เคยเข้าทำประโยชน์ในที่ดินพิพาท ต่อมาปี 2530 จำเลยได้ขายสิทธิครอบครองและส่งมอบการครองครองที่ดินพิพาทให้แก่นายบัญชาแล้วจำเลยไปจากที่ดินของนิคม ทำให้จำเลยขาดจากการเป็นสมาชิกนิคมและหมดสิทธิในที่ดินพิพาท เท่ากับโจทก์ยืนยันว่าจำเลยไม่มีคุณสมบัติที่จะมีสิทธิไปขอออกโฉนดที่ดินพิพาทนั่นเอง เพราะจำเลยไม่ได้เข้าทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทและยังขาดจากการเป็นสมาชิกนิคมอีกด้วย ที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยทำนองว่าแม้จำเลยไม่เคยเข้าทำประโยชน์ในที่ดินพิพาท เมื่อจำเลยยังเป็นสมาชิกนิคมอยู่จำเลยมีสิทธิขอออกโฉนดที่ดินพิพาทได้นั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย เมื่อโจทก์อ้างว่าจำเลยซึ่งได้รับการจัดสรรที่ดินพิพาทให้ไม่ได้เข้าทำประโยชน์แต่จำเลยกลับนำสิทธิครอบครองในที่ดินพิพาทไปขายและส่งมอบการครอบครองให้แก่นายบัญชา และต่อมานายบัญชาได้ขายสิทธิครอบครองในที่ดินพิพาทและส่งมอบการครอบครองให้แก่นายวิโรจน์บิดาของโจทก์ซึ่งเป็นสมาชิกนิคมสหกรณ์ทองผาภูมิ บิดาของโจทก์และบริวารได้ครอบครองและเข้าทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทโดยปลูกต้นไม้และปลูกบ้านอยู่อาศัยในที่ดินพิพาท เมื่อบิดาของโจทก์ถึงแก่กรรมโจทก์ซึ่งเป็นทายาทโดยธรรมได้รับสิทธิครอบครองในที่ดินพิพาทโดยชอบด้วยกฎหมาย โจทก์ครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทโดยไม่มีผู้ใดคัดค้านเท่ากับโจทก์ยืนยันว่าโจทก์มีสิทธิครอบครองในที่ดินพิพาทนั่นเอง แม้ว่าตามพระราชบัญญัติจัดที่ดินเพื่อการครองชีพ พ.ศ.2511 มาตรา 12 จะมีบทบัญญัติว่า ภายในห้าปีนับแต่วันที่ได้รับโฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์ในที่ดิน ผู้ได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์ในที่ดินจะโอนที่ดินนั้นไปยังผู้อื่นไม่ได้นอกจากตกทอดโดยทางมรดกหรือโอนไปยังสหกรณ์ที่ตนเป็นสมาชิกอยู่แล้วแต่กรณี แต่เมื่อที่ดินพิพาทยังไม่ได้มีการออกโฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์ตามพระราชบัญญัติดังกล่าว ที่ดินพิพาทยังเป็นที่ดินของรัฐซึ่งราษฎรสามารถมีสิทธิครอบครองได้และไม่มีกฎหมายห้ามโอนสิทธิครอบครองระหว่างราษฎรด้วยกัน เพียงแต่ราษฎรนั้นไม่สามารถยกการครอบครองขึ้นอ้างต่อรัฐได้เท่านั้น แต่สามารถใช้ยันกันระหว่างราษฎรด้วยกันได้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 เห็นว่า ที่ดินพิพาทจะต้องให้มีการออกโฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์จนพ้นห้าปีแล้วจึงจะสามารถโอนกันได้นั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย โจทก์สามารถมีสิทธิครอบครองในที่ดินพิพาทได้ เมื่อโจทก์อ้างว่าโจทก์เป็นผู้มีสิทธิครอบครองในที่ดินพิพาทและจำเลยซึ่งไม่มีสิทธิในที่ดินพิพาทไปขอออกโฉนดที่ดินในที่ดินพิพาทจนกระทั่งเจ้าพนักงานที่ดินต้องทำการไกล่เกลี่ยและไม่สามารถตกลงกันได้จึงแจ้งให้โจทก์ฟ้องคดีต่อศาลตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 60 ก็เพื่อให้ศาลพิจารณาพิพากษาว่าผู้ใดมีสิทธิดีกว่ากัน การที่จำเลยไปขอออกโฉนดที่ดินในที่ดินพิพาทจึงเป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ในที่ดินพิพาทแล้ว โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยได้ ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น
พิพากษายกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 7 และคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้ส่งสำนวนไปให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาและพิพากษาใหม่ตามรูปคดี ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลให้ศาลชั้นต้นรวมสั่งเมื่อมีคำพิพากษาใหม่

Share