คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 560/2553

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

หลังจากจำเลยได้รับเงินค่ามัดจำไปจากโจทก์แล้ว จำเลยมีหน้าที่ส่งเครื่องจักรไปให้โจทก์ภายใน 60 วัน นับแต่วันที่ได้รับเงินมัดจำ แต่จำเลยมิได้ส่งมอบเครื่องจักรให้โจทก์ โจทก์ก็มิได้ทวงถามแต่อย่างใด จนกระทั่งวันที่ 28 พฤษภาคม 2541 หลังครบกำหนดประมาณ 1 ปี 4 เดือน โจทก์จึงมีหนังสือบอกเลิกสัญญาและให้จำเลยคืนเงินมัดจำภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ได้รับหนังสือแม้ไม่ปรากฏว่าจำเลยได้รับหนังสือดังกล่าวเมื่อใด แต่จำเลยก็เคยมีมีหนังสือลงวันที่ 7 มกราคม 2541 แจ้งโจทก์ว่าไม่สามารถคืนเงินมัดจำให้ได้ แต่จะยังขายเครื่องจักรให้โจทก์โดยเพิ่มราคาขึ้นจากเดิม แสดงว่าก่อนหน้าที่โจทก์จะมีหนังสือบอกเลิกสัญญาดังกล่าว โจทก์เคยบอกเลิกสัญญาและให้จำเลยคืนเงินมัดจำมาแล้ว แต่จำเลยไม่คืนยืนยันว่าจะติดตั้งเครื่องจักรให้โจทก์และขอเพิ่มราคา ซึ่งไม่ปรากฏว่าโจทก์ตกลงยินยอมด้วย แต่ได้มีหนังสือบอกเลิกสัญญาและให้จำเลยคืนเงินมัดจำอีก จากนั้นโจทก์และจำเลยไม่ได้ติดต่อกันอีก จนกระทั่งโจทก์มีหนังสือลงวันที่ 24 เมษายน 2544 บอกเลิกสัญญาและให้จำเลยคืนเงินมัดจำพร้อมค่าเสียหาย พฤติการณ์ดังกล่าวถือว่าโจทก์และจำเลยตกลงเลิกสัญญาซื้อขายต่อกันโดยปริยายตั้งแต่จำเลยเสนอติดตั้งเครื่องจักรให้แก่โจทก์โดยขอเพิ่มราคาจากเดิม เมื่อสัญญาเลิกต่อกันคู่สัญญาจึงต้องกลับคืนสู่ฐานะเดิม จำเลยต้องคืนเงินมัดจำให้แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยตามกฎหมายนับแต่วันที่รับเงินไป เมื่อฟังว่าโจทก์และจำเลยสมัครใจเลิกสัญญาต่อกันแล้ว โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกค่าเสียหายจากจำเลยอีก

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน 1,163,625 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 870,000 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การและแก้ไขคำให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้จำเลยคืนเงินมัดจำ 470,000 บาท และชำระค่าเสียหาย 400,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จากต้นเงิน 870,000 บาท นับแต่วันที่ 11 พฤษภาคม 2544 ไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์โดยกำหนดเป็นค่าทนายความ 12,000 บาท
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด ในการดำเนินการจดทะเบียนจัดตั้งบริษัทของโจทก์ได้มีการยื่นคำขอจดทะเบียนบริษัทต่อสำนักงานทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทจังหวัดเพชรบูรณ์เมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน 2539 ต่อมาวันที่ 9 ธันวาคม 2539 จึงจดทะเบียนจัดตั้งขึ้นเป็นบริษัท จำกัด มีนายสนอง นางยุพิน และนางสาวสุวเพ็ญ เป็นกรรมการ กรรมการหนึ่งในสามคนดังกล่าวมีอำนาจลงนามและประทับตราสำคัญของโจทก์กระทำการแทนโจทก์ได้ ก่อนที่จะมีการดำเนินการจดทะเบียนจัดตั้งบริษัทโจทก์เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2539 นายวีรวัฒน์ ผู้จัดการฝ่ายขายของจำเลยมีหนังสือเสนอราคาเครื่องผสมคอนกรีต โดยผู้ซื้อต้องจัดหาแผงกั้นหินทราย ฐานรากตามแบบที่จำเลยกำหนด รถเครนในการยกเครื่องจักรลงจากรถบรรทุกและติดตั้งเครื่องจักรจัดทำระบบไฟฟ้า ประปา และปั้มน้ำเข้าสู่พื้นที่งาน ต่อมาวันที่ 26 พฤศจิกายน 2539 มีการทำสัญญาซื้อขายเครื่องผสมคอนกรีตระหว่างจำเลยผู้ขายกับบริษัทเพิ่มทรัพย์ จำกัด โดยนายสนองกรรมการผู้จัดการบริษัทโจทก์เป็นผู้ซื้อ ในราคารวมภาษีมูลค่าเพิ่ม 2,514,500 บาท โดยผู้ซื้อตกลงชำระเงินให้ผู้ขาย 3 งวด ขณะทำสัญญานั้นโจทก์ใช้ชื่อว่าบริษัทเพิ่มทรัพย์ จำกัด เนื่องจากอยู่ระหว่างการดำเนินการขอจดทะเบียนจัดตั้งบริษัทแต่เนื่องจากชื่อบริษัทเพิ่มทรัพย์ จำกัด ซ้ำกับบริษัทอื่นที่ได้จดทะเบียนจัดตั้งไว้แล้วโจทก์จึงต้องใช้ชื่อในการจดทะเบียนเป็นบริษัทเพิ่มทรัพย์ คอนกรีต จำกัด และจำเลยได้รับเงินมัดจำ 470,000 บาท จากโจทก์ไปเรียบร้อยแล้วในวันทำสัญญา ต่อมาวันที่ 9 ธันวาคม 2539 โจทก์จดทะเบียนจัดตั้งบริษัทต่อสำนักงานทะเบียนหุ้นส่วนบริษัท จังหวัดเพชรบูรณ์เสร็จ เมื่อครบ 60 วันนับแต่วันที่จำเลยได้รับเงินมัดจำตามสัญญาซื้อขาย จำเลยมิได้จัดส่งเครื่องผสมคอนกรีต วันที่ 7 มกราคม 2541 นายวีรวัฒน์ ผู้จัดการฝ่ายขายของจำเลยทำหนังสือถึงนายสนองกรรมการผู้มีอำนาจของโจทก์แจ้งเรื่องการคืนเงินมัดจำค่าเครื่องจักรว่าจำเลยไม่สามารถคืนเงินค่ามัดจำได้ แต่จำเลยยินดีจะติดตั้งเครื่องจักรในพื้นที่ของโจทก์ หากโจทก์สร้างฐานรากเครื่องผสมคอนกรีตให้เป็นที่เรียบร้อย พร้อมกับชำระเงินค่าเครื่องจักรแก่จำเลยอีก 2,044,500 บาท วันที่ 28 พฤษภาคม 2541 นายสนองมอบให้ทนายความมีหนังสือแจ้งบอกเลิกสัญญากับจำเลยอ้างเหตุว่า จำเลยไม่ได้ส่งทรัพย์สินมายังหน่วยงานของผู้ซื้อภายใน 60 วัน นับแต่วันรับเงินมัดจำ ขอให้จำเลยคืนเงินมัดจำ 470,000 บาท แก่นายสนองภายใน 15 วัน จำเลยเพิกเฉย วันที่ 14 มิถุนายน 2544 นายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทจังหวัดเพชรบูรณ์มีคำสั่งให้คัดชื่อโจทก์ออกจากทะเบียน ต่อมาวันที่ 31 พฤษภาคม 2545 ศาลจังหวัดเพชรบูรณ์มีคำสั่งให้นายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทจังหวัดเพชรบูรณ์จดชื่อบริษัทโจทก์คืนสู่ทะเบียนหุ้นส่วนบริษัท ที่จำเลยฎีกาประการแรกว่า ขณะทำสัญญาโจทก์ไม่มีฐานะเป็นนิติบุคคลและตามรายงานการประชุมตั้งบริษัท ผู้ร่วมประชุมมิได้ให้สัตยาบันสัญญาซื้อขายจึงไม่มีอำนาจฟ้องนั้น เห็นว่า แม้ขณะโจทก์ทำสัญญาซื้อขายพิพาทกับจำเลย โจทก์ยังไม่มีฐานะเป็นนิติบุคคล โดยอยู่ระหว่างการจดทะเบียนก่อตั้งบริษัท ซึ่งผู้เริ่มก่อการสามารถดำเนินการก่อหนี้หรือทำสัญญาใดๆ ได้ ยกเว้นกรณีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1102 แต่เมื่อจดทะเบียนเสร็จจนมีสภาพเป็นนิติบุคคลแล้วโจทก์ก็ยอมรับผลแห่งสัญญา โดยต่อมาที่ประชุมของโจทก์ได้มีมติรับรองการทำสัญญาซื้อขายระหว่างนายสนองกรรมการผู้จัดการของโจทก์และจำเลย การทดรองจ่ายเงินจำนวน 500,000 บาท ในการปรับปรุงที่ดินตลอดจนการดำเนินคดีแก่จำเลย โดยมีรายงานการประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นครั้งที่ 1/2543 เอกสารหมาย จ.14 มาแสดง จึงเป็นการให้สัตยาบันแก่สัญญาที่ผู้เริ่มก่อการได้ทำไว้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1108 (2) แล้ว แม้ต่อมาจะถูกนายทะเบียนคัดชื่อโจทก์ออกจากทะเบียนเป็นบริษัทร้างก็ตาม แต่ก็ไม่กระทบถึงการที่นายสนองได้กระทำการแทนโจทก์ไป โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลย ฎีกาข้อนี้ของจำเลยฟังไม่ขึ้น
ประเด็นที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยในข้อต่อไปมีว่า โจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญาหรือไม่ เห็นว่า โจทก์และจำเลยทำสัญญาซื้อขายกันในวันที่ 26 พฤศจิกายน 2539 โดยโจทก์ชำระเงินมัดจำให้แก่จำเลยเป็นเช็ค ลงวันที่ 1 ธันวาคม 2539 จำเลยได้เบิกเงินตามเช็คไปแล้ว จึงมีหน้าที่ส่งเครื่องจักรไปให้โจทก์ภายใน 60 วัน นับจากวันที่ได้รับเงินมัดจำคือภายในวันที่ 30 มกราคม 2540 แต่จำเลยมิได้ส่งมอบเครื่องจักรให้แก่โจทก์ โจทก์ก็มิได้ทวงถามแต่อย่างใด ที่อ้างว่าเคยทวงถามพนักงานจำเลยเพียงครั้งเดียวและทวงถามทางโทรศัพท์ก็เป็นการเบิกความลอยๆ ไม่มีน้ำหนักรับฟังจนกระทั่งวันที่ 28 พฤษภาคม 2541 หลังครบกำหนดประมาณ 1 ปี 4 เดือน โจทก์จึงมีหนังสือแจ้งบอกเลิกสัญญาและให้จำเลยคืนเงินมัดจำ 470,000 บาท ภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ได้รับหนังสือ แม้ไม่ปรากฏว่าจำเลยได้รับหนังสือดังกล่าว เมื่อใด แต่จำเลยเคยมีหนังสือลงวันที่ 7 มกราคม 2541 แจ้งโจทก์ว่าไม่สามารถคืนเงินมัดจำให้แก่โจทก์ได้แต่จะยังขายเครื่องจักรให้แก่โจทก์โดยการเพิ่มราคาขึ้นจากเดิม แสดงว่าก่อนหน้าที่โจทก์มีหนังสือบอกเลิกสัญญาดังกล่าวโจทก์เคยบอกเลิกสัญญาและให้จำเลยคืนเงินมัดจำมาแล้วแต่จำเลยไม่คืนยืนยันว่าจะติดตั้งเครื่องจักรให้แก่โจกท์ แต่ขอเพิ่มราคาซึ่งไม่ปรากฏว่าโจทก์ตกลงยินยอมด้วย แต่ได้มีหนังสือบอกเลิกสัญญาและให้จำเลยคืนเงินมัดจำอีก หลังจากนั้นโจทก์และจำเลยมิได้ติดต่อกันอีก จนกระทั่งโจทก์มีหนังสือลงวันที่ 24 เมษายน 2544 บอกเลิกสัญญาและให้จำเลยคืนเงินมัดจำพร้อมค่าเสียหายพฤติการณ์ของโจทก์และจำเลยดังกล่าวถือได้ว่าตกลงเลิกสัญญาซื้อขายต่อกันโดยปริยายตั้งแต่จำเลยเสนอติดตั้งเครื่องจักรให้แก่โจทก์โดยขอเพิ่มราคาขึ้นจากเดิม แต่โจทก์ไม่ตกลง เมื่อสัญญาเลิกต่อกันคู่สัญญาจึงต้องกลับคืนสู่ฐานะเดิม จำเลยต้องคืนเงินมัดจำให้แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยตามกฎหมายนับแต่วันที่รับเงินคือวันที่ 1 ธันวาคม 2539 แต่ศาลอุทธรณ์กำหนดให้นับแต่วันที่ 11 พฤษภาคม 2544 โจทก์ไม่ฎีกาคัดค้านจึงกำหนดให้จำเลยรับผิดชำระดอกเบี้ยนับแต่วันดังกล่าว เมื่อฟังว่าโจทก์และจำเลยสมัครใจเลิกสัญญาต่อกันแล้ว โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกค่าเสียหายจากจำเลยอีก ฎีกาข้อนี้ของจำเลยฟังขึ้นบางส่วน อนึ่ง ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับคำพิพากษาศาลชั้นโดยมิได้สั่งค่าฤชาธรรมเนียมในศาลชั้นต้น ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไขเสียให้ถูกต้อง”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระดอกเบี้ยจากต้นเงิน 470,000 บาท และให้ยกคำขอในส่วนที่ให้จำเลยชำระค่าเสียหาย 400,000 บาท แก่โจทก์ ค่าฤชาธรรมเนียมในศาลชั้นต้นและชั้นฎีกาให้เป็นพับ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามที่คำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share