คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 555/2553

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

รถยนต์กระบะคันพิพาทเข้าซ่อมที่อู่ของจำเลยที่ 2 และในระหว่างที่ทำการซ่อมรถยนต์ได้ถูกคนร้ายลักไป ถือได้ว่ารถยนต์กระบะพิพาทอยู่ในความครอบครองของจำเลยที่ 2 ดังนั้น จำเลยที่ 2 จะต้องเก็บรักษารถยนต์กระบะคันพิพาทไว้ในที่ปลอดภัยในระหว่างการซ่อม ทั้งต้องใช้ความระมัดระวังตามสมควรเพื่อมิให้รถยนต์กระบะคันพิพาทต้องสูญหายหรือเสียหาย เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้อย่างแน่ชัดว่าจำเลยที่ 2 นำรถยนต์กระบะคันพิพาทไปจอดไว้บริเวณที่ว่างหน้าอู่โดยไม่มีรั้วรอบขอบชิดอันเป็นเครื่องป้องกันการเคลื่อนย้ายรถยนต์และไม่ได้จัดให้มีผู้ดูแลรักษารถยนต์แต่อย่างใด ทั้งเมื่อรถยนต์คันพิพาทหายไปจำเลยที่ 2 ก็ได้ชดใช้ค่าเสียหายให้แก่ ช. เจ้าของรถยนต์กระบะคันพิพาทเป็นเงินจำนวน 100,000 บาท ซึ่งเท่ากับว่าจำเลยที่ 2 ยอมรับผิดในเหตุที่รถยนต์กระบะคันพิพาทหายไปในระหว่างที่อยู่ในความครอบครองของตน ตามพฤติการณ์ดังกล่าวนับได้ว่า เป็นความประมาทเลินเล่อของจำเลยที่ 2 ที่ไม่ใช้ความระมัดระวังตามสมควรเพื่อป้องกันมิให้รถยนต์กระบะคันพิพาทต้องสูญหาย การปฏิบัติต่อลูกค้าของจำเลยที่ 2 ในการนำรถยนต์ที่นำมาซ่อมแล้วไม่เสร็จจอดไว้บริเวณหน้าอู่ มิได้เป็นการแสดงให้เห็นว่าจำเลยที่ 2 ได้ใช้ความระมัดระวังตามสมควรเพื่อป้องกันมิให้รถยนต์สูญหายแต่อย่างใดและการที่ไม่เคยมีรถยนต์สูญหายหรือได้รับความเสียหายมิได้เป็นหลักประกันว่าจำเลยที่ 2 ได้ใช้ความระมัดระวังตามสมควรแล้ว

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันชำระค่าเสียหายเป็นเงิน 477,250 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 460,000 บาท นับแต่วันถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 และที่ 3 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
จำเลยที่ 2 ให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันชำระเงิน 460,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 26 กันยายน 2540 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ แต่ดอกเบี้ยถึงวันฟ้องต้องไม่เกิน 17,250 บาท ให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์โดยกำหนดค่าทนายความ 6,000 บาท ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 3 ค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 3 ให้เป็นพับ
จำเลยที่ 2 อุทธรณ์
ระหว่างพิจารณาของศาลอุทธรณ์ภาค 8 จำเลยที่ 2 ถึงแก่กรรม โจทก์ยื่นคำร้องขอให้หมายเรียกจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายของจำเลยที่ 2 เข้าเป็นคู่ความแทน ศาลอุทธรณ์ภาค 8 อนุญาต
ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
จำเลยที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีพาณิชย์และเศรษฐกิจวินิจฉัยว่า “…พิเคราะห์พยานหลักฐานของโจทก์และจำเลยที่ 2 แล้ว ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 8 และคู่ความมิได้โต้เถียงกันในชั้นฎีกาว่า โจทก์เป็นผู้รับประกันภัยรถยนต์กระบะหมายเลขทะเบียน บ-0796 พังงา จากนายชาญผู้เอาประกันภัย จำเลยที่ 2 เป็นเจ้าของและผู้จัดการอู่อาร์ซีเซอร์วิส ซึ่งประกอบกิจการเคาะพ่นสีรถยนต์ เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2540 นายชาญได้นำรถยนต์กระบะคันดังกล่าวซึ่งได้รับความเสียหายเข้าซ่อมที่อู่ของจำเลยที่ 2 ในระหว่างที่ทำการซ่อมและอยู่ในความครอบครองของจำเลยที่ 2 รถยนต์กระบะคันดังกล่าวได้ถูกคนร้ายลักไป โจทก์จึงได้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนกรณีรถยนต์หายให้แก่นายชาญเป็นเงินจำนวน 460,000 บาท โจทก์จึงรับช่วงสิทธิในอันที่จะเรียกร้องค่าเสียหายเอาแก่จำเลยที่ 2 คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 2 ว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ โจทก์มีนายอนุพรผู้รับมอบอำนาจช่วงเบิกความเป็นพยานโจทก์ว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด กรรมการสองคนลงลายมือชื่อร่วมกันและประทับตราสำคัญของบริษัทมีอำนาจกระทำการแทนโจทก์ได้ปรากฏตามหนังสือรับรอง โจทก์มอบอำนาจให้นายบัลลังก์เป็นผู้ดำเนินคดีแทนและให้มีอำนาจมอบอำนาจช่วงได้ด้วย นายบัลลังก์มอบอำนาจช่วงให้นายอนุพรเป็นผู้ฟ้องและดำเนินคดีแทนโจทก์ ปรากฏตามหนังสือมอบอำนาจและหนังสือมอบอำนาจช่วง เห็นว่า โจทก์นำสืบในประเด็นเกี่ยวกับอำนาจฟ้อง โดยนายอนุพรผู้รับมอบอำนาจช่วงเบิกความประกอบหนังสือรับรองบริษัท หนังสือมอบอำนาจและหนังสือมอบอำนาจช่วงถึงบุคคลที่มีอำนาจในการลงนามผูกพันบริษัท และการมอบอำนาจในการฟ้องคดีก็กระทำโดยถูกต้องและไม่ปรากฏข้อพิรุธของการมอบอำนาจแต่อย่างใด ส่วนจำเลยที่ 2 นำสืบในประเด็นดังกล่าวแต่เพียงว่า การมอบอำนาจและมอบอำนาจช่วงจะทำโดยผู้ที่มีอำนาจที่แท้จริงหรือไม่ ไม่ทราบ เท่านั้น ถือได้ว่าจำเลยที่ 2 ไม่สามารถนำสืบหักล้างให้ศาลเห็นได้ว่า การมอบอำนาจและมอบอำนาจช่วงของโจทก์กระทำโดยไม่ชอบอย่างไร กรณีจึงรับฟังได้ว่าการมอบอำนาจและมอบอำนาจช่วงของโจทก์กระทำโดยชอบ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องฎีกาข้อนี้ของจำเลยที่ 2 ฟังไม่ขึ้น
คดีมีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยต่อไปตามฎีกาของจำเลยที่ 2 ว่า จำเลยที่ 2 กระทำการโดยประมาทเลินเล่อเป็นเหตุให้รถยนต์กระบะคันพิพาทหายหรือไม่ เห็นว่า เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติแล้วว่า รถยนต์กระบะคันพิพาทซึ่งได้รับความเสียหายและเข้าซ่อมที่อู่ของจำเลยที่ 2 และในระหว่างที่ทำการซ่อมรถยนต์กระบะคันดังกล่าวได้ถูกคนร้ายลักไป กรณีดังกล่าวถือได้ว่า รถยนต์กระบะคันพิพาทอยู่ในความครอบครองของจำเลยที่ 2 ดังนั้น จำเลยที่ 2 จะต้องเก็บรักษารถยนต์กระบะคันพิพาทไว้ในที่ปลอดภัยในระหว่างการซ่อม ทั้งต้องใช้ความระมัดระวังตามสมควรเพื่อมิให้รถยนต์กระบะคันพิพาทต้องสูญหายหรือเสียหาย แต่เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้อย่างแน่ชัดว่า จำเลยที่ 2 นำรถยนต์กระบะคันพิพาทไปจอดไว้บริเวณที่ว่างหน้าอู่โดยไม่มีรั้วรอบขอบชิดอันเป็นเครื่องป้องกันการเคลื่อนย้ายรถยนต์และไม่ได้จัดให้มีผู้ดูแลรักษารถยนต์แต่อย่างใด อีกทั้งเมื่อรถยนต์คันพิพาทหายไปจำเลยที่ 2 ก็ได้ชดใช้ค่าเสียหายให้แก่นายชาญ เจ้าของรถยนต์กระบะคันพิพาท เป็นเงินจำนวน 100,000 บาท ซึ่งเท่ากับว่าจำเลยที่ 2 ยอมรับผิดในเหตุที่รถยนต์กระบะคันพิพาทหายไปในระหว่างที่อยู่ในความครอบครองของตน ตามพฤติการณ์ดังกล่าวนับได้ว่า เป็นความประมาทเลินเล่อของจำเลยที่ 2 ที่ไม่ใช้ความระมัดระวังตามสมควรเพื่อป้องกันมิให้รถยนต์กระบะคันพิพาทต้องสูญหาย แม้จำเลยที่ 2 จะนำสืบต่อสู้คดีในทำนองว่า เมื่อรถยนต์กระบะคันพิพาทซ่อมไม่เสร็จได้นำไปจอดไว้บริเวณหน้าอู่โดยล๊อกกุญแจไว้ เป็นการปฏิบัติเช่นเดียวกับลูกค้ารายอื่นที่นำรถยนต์มาซ่อม และตั้งแต่เปิดอู่ซ่อมรถมาไม่เคยมีรถยนต์หายหรือรถยนต์ได้รับความเสียหายแต่อย่างใดนั้น เห็นว่า การปฏิบัติต่อลูกค้าของจำเลยที่ 2 ในการนำรถยนต์ที่นำมาซ่อมแล้วไม่เสร็จจอดไว้บริเวณหน้าอู่นั้น มิได้เป็นการแสดงให้เห็นว่าจำเลยที่ 2 ได้ใช้ความระมัดระวังตามสมควรเพื่อป้องกันมิให้รถยนต์สูญหายหรือเสียหายแต่อย่างใด และการที่ไม่เคยมีรถยนต์สูญหายหรือได้รับความเสียหายมิได้เป็นหลักประกันว่า จำเลยที่ 2 ได้ใช้ความระมัดระวังตามสมควรแล้ว ส่วนการที่จำเลยที่ 2 กล่าวอ้างในฎีกาว่า การที่โจทก์รับอู่ของจำเลยที่ 2 เป็นอู่ในเครือซ่อมรถยนต์ที่โจทก์รับประกันภัย โจทก์ย่อมทราบสภาพอู่ของจำเลยที่ 2 ว่าไม่สามารถนำรถยนต์ที่นำมาซ่อมเก็บไว้ในอู่ได้และทราบถึงสภาพการจอดรถยนต์บริเวณหน้าอู่ถือว่าโจทก์เชื่อถืออู่ของจำเลยที่ 2 อันเป็นการแสดงว่า จำเลยที่ 2 ไม่มีความประมาทในการระมัดระวังรถยนต์ของลูกค้านั้น เห็นว่า การที่โจทก์รับอู่ของจำเลยที่ 2 ซ่อมรถยนต์ที่โจทก์รับประกันภัยนั้นเป็นเรื่องที่โจทก์พิจารณาถึงผลงานที่จำเลยที่ 2 ทำการซ่อมรถยนต์ออกมาเป็นที่พอใจแก่โจทก์และลูกค้าของโจทก์ ส่วนการดูแลรถยนต์ที่นำมาซ่อมมิให้ได้รับความเสียหายหรือสูญหายในระหว่างการซ่อมย่อมเป็นหน้าที่ของจำเลยที่ 2 ที่จะต้องใช้ความระมัดระวังตามพฤติการณ์ของผู้มีวิชาชีพเพื่อป้องกันทรัพย์ที่อยู่ในความครอบครองของตนมิให้เสียหายหรือสูญหาย ฎีกาของจำเลยที่ 2 ในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
คดีมีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยต่อไปตามฎีกาของจำเลยที่ 2 ว่า โจทก์ได้รับความเสียหายเพียงใด เห็นว่า นายชาญได้เช่าซื้อรถยนต์กระบะคันพิพาทมาในราคา 610,000 บาท และนำมาประกันภัยกับโจทก์กรณีรถยนต์สูญหายในวงเงิน 460,000 บาท อีกทั้งรถยนต์กระบะคันพิพาทได้สูญหายหลังจากนายชาญได้เช่าซื้อมาเป็นเวลาประมาณ 1 ปี กรณีจึงถือได้ว่า รถยนต์กระบะคันพิพาทไม่ใช่รถเก่าที่ใช้งานมาหลายปี การที่โจทก์ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเต็มตามทุนประกันภัยในกรมธรรม์ประกันภัยจำนวน 460,000 บาท นับว่าเหมาะสมแล้วตามพฤติการณ์ ส่วนการที่จำเลยที่ 2 กล่าวอ้างในฎีกาว่า รถยนต์กระบะคันพิพาทมีราคาไม่เกิน 300,000 บาท นั้น เห็นว่า จำเลยที่ 2 เพียงแต่ให้การว่ารถยนต์กระบะคันดังกล่าวมีราคาซื้อขายกันไม่เกิน 300,000 บาท แต่ก็มิได้นำพยานหลักฐานมานำสืบแสดงให้เห็นว่าเป็นจริงตามที่กล่าวอ้าง ข้ออ้างตามฎีกาของจำเลยที่ 2 ในข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน กรณีจึงต้องถือว่าโจทก์ได้รับความเสียหายตามทุนประกันภัยในกรมธรรม์ประกันภัยจำนวน 460,000 บาท ที่ได้ชดใช้ให้แก่นายชาญ ฎีกาของจำเลยที่ 2 ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share