คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2975/2552

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

การที่ผู้ร้องครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทเป็นการครอบครองโดยอาศัยสิทธิการเช่าจากเจ้าของที่ดินพิพาทเดิมและเมื่อมีการโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทต่อไป ผู้ร้องก็ครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทต่อโดยอาศัยสิทธิการเช่าจากเจ้าของที่ดินพิพาทรายต่อๆ ไป การครอบครองที่ดินพิพาทในลักษณะดังกล่าวของผู้ร้องไม่ว่าจะนานเพียงใดก็ไม่ใช่การครอบครองโดยสงบและโดยเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของ แม้ภายหลัง ส. เจ้าของที่ดินพิพาทถึงแก่กรรม ก็ต้องถือว่าผู้ร้องครอบครองที่ดินพิพาทโดยอาศัยสิทธิการเช่าจากทายาทของ ส. อยู่ตลอดไปจนกว่าผู้ร้องจะได้บอกกล่าวเปลี่ยนลักษณะแห่งการยึดถือไปยังเจ้าของที่ดินพิพาทว่าไม่เจตนาจะยึดถือแทนต่อไปตาม ป.พ.พ. มาตรา 1381 เมื่อไม่มีพยานหลักฐานแสดงว่าผู้ร้องได้บอกกล่าวเปลี่ยนลักษณะแห่งการยึดถือครอบครองที่ดินพิพาทแล้วจึงรับฟังไม่ได้ว่าผู้ร้องครอบครองปรปักษ์ที่ดินพิพาทจนได้กรรมสิทธิ์

ย่อยาว

คดีทั้งสองสำนวนนี้ ศาลชั้นต้นสั่งให้รวมพิจารณาเป็นคดีเดียวกัน โดยให้เรียกผู้ร้องสำนวนแรกซึ่งเป็นจำเลยในสำนวนที่สองว่า ผู้ร้อง และเรียกผู้คัดค้านที่ 2 สำนวนแรกซึ่งเป็นโจทก์ในสำนวนที่สองว่า ผู้คัดค้านที่ 2 ส่วนผู้คัดค้านที่เหลือ คงให้เรียกชื่อตามลำดับในสำนวนแรก
ผู้ร้องยื่นคำร้องขอสำนวนแรกว่า เดิมที่ดินพิพาทอยู่ในโฉนดเลขที่ 3297 ตำบลบางเสาธง อำเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ มีเนื้อที่ประมาณ 99 ไร่ 1 งาน 66 ตารางวา มีชื่อนางสุงิ้ม มารดาผู้คัดค้านทั้งหกถือกรรมสิทธิ์ร่วมกับนายอนันต์ โดยแบ่งแยกการครอบครองกันเป็นสัดส่วนที่ดินส่วนของมารดาผู้คัดค้านทั้งหกอยู่ทางฝั่งทิศตะวันตก ส่วนที่ดินของนายอนันต์อยู่ฝั่งทิศตะวันออก ต่อมามีถนนสายสำโรง – บางพลี – บางบ่อ ตัดผ่านที่ดินแบ่งเป็นฝั่งทิศเหนือและทิศใต้ ที่ดินพิพาทอยู่ในส่วนที่ดินของมารดาผู้คัดค้านทั้งหกทางด้านฝั่งทิศเหนือ เนื้อที่ประมาณ 17 ไร่ นับแต่มารดาผู้คัดค้านทั้งหกมีชื่อถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินโฉนดดังกล่าวเป็นต้นมา มารดาผู้คัดค้านทั้งหกไม่ได้เข้าไปครอบครองดูแลทำประโยชน์ในที่ดินดังกล่าวด้วยตนเอง แต่มอบให้ผู้ร้องเป็นผู้ดูแลที่ดินแทนตลอดมา ต่อมาปี 2520 มารดาผู้คัดค้านทั้งหกได้ยกกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทให้เป็นกรรมสิทธิ์แก่ผู้ร้อง เป็นการตอบแทนที่ผู้ร้องดูแลที่ดินให้ โดยไม่ได้จดทะเบียนการยกให้ แต่มารดาผู้คัดค้านทั้งหกได้สละการครอบครองที่ดินพิพาทให้ผู้ร้องเข้าไปครอบครองทำประโยชน์ปลูกบ้านอยู่อาศัย ขุดบ่อเลี้ยงปลา นับแต่นั้นเป็นต้นมาด้วยความสงบ เปิดเผยและด้วยเจตนาเป็นเจ้าของจนถึงปัจจุบันเป็นเวลา 20 ปีเศษ ผู้ร้องจึงได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาท ซึ่งปัจจุบันที่ดินพิพาทได้แบ่งแยกจากโฉนดเดิมเป็นโฉนดเลขที่ 41986 ตำบลบางเสาธง อำเภอบางพลี (บางพลีใหญ่) จังหวัดสมุทรปราการ มีชื่อผู้คัดค้านทั้งหกเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์รวม โดยรับโอนมรดกมาจากมารดาผู้คัดค้านทั้งหก ขอให้มีคำสั่งว่าผู้ร้องได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทด้วยการครอบครองปรปักษ์
ผู้คัดค้านทั้งหกยื่นคำคัดค้านว่าผู้คัดค้านทั้งหกเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของนายเล็ก กับนางสุงิ้ม เมื่อปี 2510 นายเล็กบิดาผู้คัดค้านทั้งหกได้ซื้อที่ดินโฉนดพิพาทเดิมเนื้อที่ 99 ไร่เศษ เฉพาะส่วนของนายสำราญ ที่ถือกรรมสิทธิ์คนละกึ่งรวมกับนางสาวเพี้ยน ต่อมีปี 2512 นางสาวเพี้ยน ได้ขายที่ดินส่วนของตนให้แก่นายอนันต์ พร้อมกันนั้น บิดาผู้คัดค้านทั้งหกได้จดทะเบียนยกที่ดินส่วนของตนให้แก่มารดาผู้คัดค้านทั้งหก นับแต่นั้นเป็นต้นมามารดาผู้คัดค้านทั้งหกก็ได้เข้าครอบครองและเสียภาษีบำรุงท้องที่ที่ดินเฉพาะส่วนดังกล่าวเรื่อยมาจนถึงปี 2518 มารดาผู้คัดค้านทั้งหกกับนายอนันต์ได้แบ่งขายที่ดินโฉนดเดิมบางส่วนให้แก่กรมทางหลวงเพื่อทำถนนสายสำโรง – บางพลี – บางบ่อ ตัดผ่านที่ดินดังกล่าว ทำให้ที่ดินส่วนของมารดาผู้คัดค้านทั้งหกต้องจดทะเบียนแบ่งแยกเป็นสองโฉนด โดยที่ดินด้านทิศเหนือของถนนแบ่งแยกเป็นที่ดินพิพาทโฉนดเลขที่ 41986 เนื้อที่ 17 ไร่ 3 งาน 50 ตารางวา ส่วนที่ดินด้านทิศใต้ของถนนยังอยู่ในโฉนดเดิมเนื้อที่ 31 ไร่ 1 งาน 3 ตารางวา มารดาผู้คัดค้านทั้งหกได้ครอบครองดูแลที่ดินทั้งสองโฉนดเรื่อยมาจนถึงแก่กรรมเมื่อปี 2534 ต่อมาปี 2535 นางสาวสุนันท์ ผู้คัดค้านที่ 4 ซึ่งเป็นผู้จัดการมรดกของมารดาผู้คัดค้านทั้งหกตามคำสั่งศาลได้จดทะเบียนรับโอนมรดกที่ดินทั้งสองโฉนดแล้วจดทะเบียนใส่ชื่อผู้คัดค้านทั้งหกถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินทั้งสองโฉนดดังกล่าวเมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2535 นับแต่นั้นเป็นต้นมาผู้คัดค้านทั้งหกจึงได้ร่วมกันครอบครองที่ดินมรดกทั้งสองโฉนดสืบทอดต่อจากมารดาผู้คัดค้านทั้งหกมาจึนถึงปัจจุบัน โดยขณะที่มารดาผู้คัดค้านทั้งหกยังมีชีวิตอยู่ไม่เคยยกที่ดินส่วนหนึ่งส่วนใดของที่ดินทั้งสองโฉนดดังกล่าวให้แก่ผู้ร้อง ที่ผู้ร้องอ้างว่ามารดาผู้คัดค้านทั้งหกยกที่ดินพิพาทให้แก่ผู้ร้องเพื่อตอบแทนที่ผู้ร้องดูแลที่ดินให้นั้นจึงไม่เป็นความจริง ที่ผู้ร้องเข้ามาปลูกบ้านอยู่อาศัยในที่ดินพิพาทนั้น ก็โดยขออนุญาตจากมารดาผู้คัดค้านทั้งหกเข้ามาอยู่ชั่วคราวในที่ดินพิพาท เนื่องจากผู้ร้องถูกขับไล่ออกจากที่ดินของสุเหร่าบ้านไร่ มารดาผู้คัดค้านทั้งหกยังไม่ทันอนุญาตก็ถึงแก่กรรมเสียก่อน ส่วนที่ผู้ร้องเคยเข้ามาจับปลาหรือปลูกต้นกล้วยไม้ในที่ดินก็เป็นครั้งเป็นคราวและให้ค่าตอบแทนเป็นปลาแห้งบ้าง กล้วยบ้าง แต่ผู้ร้องก็เลิกจับปลาและปลูกกล้วยไป 6 ถึง 7 ปีแล้ว การเข้ามาทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทของผู้ร้องจึงเป็นการเข้ามาโดยการขออนุญาตจากมารดาผู้คัดค้านทั้งหกและให้ค่าตอบแทนเป็นรายปี ผู้ร้องจึงไม่ได้เข้าครอบครองที่ดินพิพาทในลักษณะเป็นการครอบครองโดยความสงบและโดยเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของ ทั้งไม่ได้ครอบครองเกินกว่า 10 ปี ผู้ร้องจึงไม่ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทด้วยการครอบครองปรปักษ์ ขอให้ยกคำร้องขอ
สำนวนที่สองผู้คัดค้านที่ 2 ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่า ผู้คัดค้านที่ 2 เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทร่วมกับพี่น้องรวม 6 คน เมื่อปี 2532 ผู้ร้องได้บุกรุกเข้ามาปลูกบ้านอยู่อาศัยและขุดบ่อในที่ดินพิพาททำให้ที่ดินพิพาทได้รับความเสียหายซึ่งค่าเสียหายจากการบุกรุกเข้ามาปลูกบ้านในที่ดินพิพาท เป็นค่าเสียหายเดือนละ 20,000 บาท นับแต่เดือนมกราคม 2532 ไปจนถึงวันฟ้องเป็นเวลา 116 เดือน เป็นเงิน 2,320,000 บาท และค่าเสียหายในกรณีที่เข้าไปขุดบ่อเลี้ยงปลาในที่ดินพิพาททำให้ผู้คัดค้านที่ 2 ต้องว่าจ้างผู้อื่นนำดินมาถมบ่อเลี้ยงปลาที่ผู้ร้องขุดขึ้นให้อยู่ในสภาพเดิม ต้องเสียค่าใช้จ่ายเป็นเงิน 1,100,000 บาท รวมเป็นค่าเสียหายที่ผู้ร้องต้องชดใช้ทั้งสิ้นจำนวน 3,420,000 บาท ขอให้บังคับผู้ร้องรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างพร้อมกับขนย้ายทรัพย์สินและบริวารออกไปจากที่ดินพิพาท และชดใช้ค่าเสียหายจำนวนดังกล่าวพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ กับให้ผู้ร้องชดใช้ค่าเสียหายรายเดือน เดือนละ 20,000 บาท นับแต่เดือนกันยายน 2541 ไปจนกว่าผู้ร้องจะขนย้ายทรัพย์สินและบริวารออกไปจากที่ดินพิพาท
ผู้ร้องขาดนัดยื่นคำให้การ
ระหว่างพิจารณา ศาลชั้นต้นเห็นว่า คดีนี้ผู้ร้องและผู้คัดค้านทั้งหกพิพาทด้วยเรื่องกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาท เป็นคดีมีทุนทรัพย์ จึงมีคำสั่งให้ผู้ร้องและผู้คัดค้านทั้งหกประเมินราคาที่ดินพิพาทเพื่อกำหนดเป็นทุนทรัพย์และให้ผู้ร้องเสียค่าขึ้นศาลให้ถูกต้องก่อนมีคำพิพากษา
ผู้ร้องยื่นคำร้องขอดำเนินคดีอย่างคนอนาถา ศาลชั้นต้นอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า ให้ผู้ร้องรื้อถอนบ้านพร้อมกับขนย้ายทรัพย์สินและบริวารออกไปจากที่ดินโฉนดเลขที่ 41986 เลขที่ดิน 406 ที่ดินพิพาทของผู้คัดค้านทั้งหก ห้ามจำเลย (ที่ถูกคือผู้ร้อง) และบริวารเข้ามายุ่งเกี่ยวในที่ดินพิพาทดังกล่าวอีกต่อไป และให้ผู้ร้องชดใช้ค่าเสียหายเป็นเงิน 300,000 บาท กับค่าเสียหายอีกเดือนละ 3,000 บาท (ที่ถูก แก่ผู้คัดค้านที่ 2) นับแต่วันฟ้องไปจนกว่าผู้ร้องจะขนย้ายทรัพย์สินและบริวารออกไปจากที่ดินพิพาทเสร็จสิ้น และให้ผู้ร้องใช้ค่าฤชาธรรมเนียมศาลทั้งสองสำนวนแทนผู้คัดค้านทั้งหก ส่วนค่าทนายความเห็นสมควรให้เป็นพับ คำขอของผู้คัดค้านทั้งหกนอกจากนี้ให้ยก และให้ยกคำร้องขอของผู้ร้อง
ก่อนศาลชั้นต้นมีคำสั่งรับอุทธรณ์ผู้ร้องถึงแก่กรรม นายปรีชา ทายาทของผู้ร้อง ยื่นคำร้องขอเข้าเป็นคู่ความแทน ศาลชั้นต้นอนุญาต
ผู้ร้องอุทธรณ์โดยได้รับอนุญาตให้ดำเนินคดีอย่างคนอนาถา
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน ให้ผู้ร้องใช้ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ทั้งสองสำนวนแทนผู้คัดค้านทั้งหก โดยกำหนดค่าทนายความชั้นอุทธรณ์ทั้งสองสำนวนรวม 50,000 บาท
ผู้ร้องฎีกาโดยได้รับอนุญาตให้ดำเนินคดีอย่างคนอนาถา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงฟังยุติตามที่คู่ความไม่โต้แย้งกันว่า เดิมที่ดินโฉนดเลขที่ 3297 ตำบลบางเสาธง อำเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ เนื้อที่ 99 ไร่ 1 งาน 66 ตารางวา มีชื่อนางโต๊ะ เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ ต่อมานางโต๊ะถึงแก่กรรม นางสาวเพี้ยน กับนายสำราญ ได้ร่วมกันรับโอนมรดกที่ดินดังกล่าวเมื่อวันที่ 28 สิงหาคม 2506 ต่อมาวันที่ 1 สิงหาคม 2510 นายสำราญขายที่ดินดังกล่าวเฉพาะส่วนของตนให้แก่นายเล็ก บิดาผู้คัดค้านทั้งหก นายเล็กจึงถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินดังกล่าวร่วมกับนางสาวเพี้ยน ต่อมาวันที่ 4 มีนาคม 2512 นางสาวเพี้ยนขายที่ดินเฉพาะส่วนของตนให้นายอนันต์ และในวันเดียวกันนั้นนายเล็กได้ยกที่ดินดังกล่าวส่วนของตนให้แก่นางสุงิ้ม มารดาผู้คัดค้านทั้งหก นางสุงิ้มกับนายอนันต์จึงถือกรรมสิทธิ์ที่ดินดังกล่าวร่วมกัน ต่อมาวันที่ 22 พฤษภาคม 2518 นางสุงิ้มกับนายอนันต์ได้จดทะเบียนขายที่ดินดังกล่าวบางส่วนเนื้อที่ 1 ไร่ 2 งาน 68 ตารางวา ให้แก่กรมทรงหลวงเพื่อตัดถนนสายสำโรง – บางพลี – บางบ่อ ต่อมาวันที่ 3 มิถุนายน 2530 นางสุงิ้มกับนายอนันต์ได้แบ่งกรรมสิทธิ์รวมที่ดินโฉนดเดิมออกเป็น 4 โฉนด ตามแนวถนนที่ตัดผ่านที่ดินเป็นฝั่งเหนือและฝั่งใต้ของที่ดินเดิมเป็นคนละ 2 โฉนด ที่ดินพิพาทคือที่ดินด้านทิศเหนือส่วนของนางสุงิ้มซึ่งเป็นที่ดินโฉนดเลขที่ 41986 ตำบลบางเสาธง กิ่งอำเภอบางเสาธง จังหวัดสมุทรปราการ เนื้อที่ 17 ไร่ 3 งาน 50 ตารางวา ที่ดินด้านทิ้งใต้ยังอยู่ในโฉนดเดิม ต่อมาวันที่ 30 พฤศจิกายน 2535 ผู้คัดค้านที่ 4 ในฐานะผู้จัดการมรดกของนางสุงิ้มได้จดทะเบียนรับโอนมรดกที่ดินทั้งสองโฉนด และในวันเดียวกันผู้คัดค้านที่ 4 ได้จดทะเบียนระบุชื่อผู้คัดค้านทั้งหกเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินทั้งสองโฉนดตามสำเนาโฉนดที่ดิน
ประเด็นต้องวินิจฉัยตามฎีกาของผู้ร้องประการแรกคือ ผู้ร้องได้กรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทโดยการครอบครองปรปักษ์หรือไม่ ได้ความจากคำเบิกความของผู้ร้องตอบคำถามค้านของทนายผู้คัดค้านทั้งหกสรุปว่า ผู้ร้องเข้ามาอยู่ในที่ดินพิพาทเพราะแต่งงานกับนางสมยา โดยขณะนั้นผู้ร้องทราบว่าที่ดินพิพาทมารดาของนางสมยาเช่ากับนางโต๊ะ ต่อมาเมื่อนางโต๊ะถึงแก่กรรมที่ดินพิพาทตกได้แก่นางสาวเพี้ยน ผู้ร้องได้เช่าและจ่ายค่าเช่าที่ดินพิพาทให้แก่นางสาวเพี้ยนเรื่อยมา ต่อมาปี 2520 ผู้ร้องพบกับนางสุงิ้มมารดาผู้คัดค้านทั้งหก ผู้ร้องจึงทราบว่านางสุงิ้มเป็นภริยาของนายเล็กผู้ซื้อที่ดินพิพาทจากนางสาวเพี้ยน และนางสุงิ้มบอกให้ผู้ร้องดูแลและทำกินในที่ดินพิพาทต่อไป เมื่อถึงปีนางสุงิ้มก็ไปดูที่ดินพิพาท ผู้ร้องได้จ่ายค่าเช่าให้นางสุงิ้มแต่นางสุงิ้มไม่รับค่าเช่า หลังจากนั้นผู้ร้องได้นำค่าเช่าที่ดินพิพาทไปให้แก่นางสุงิ้มที่บ้านพระโขนงทุกปีจนกระทั่งนางสุงิ้มถึงแก่กรรม เห็นว่า การที่ผู้ร้องเข้าไปครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทตั้งแต่ต้นและเรื่อยมาเป็นการเข้าไปครอบครองและใช้ประโยชน์ในที่ดินพิพาทโดยอาศัยสิทธิการเช่าจากเจ้าของที่ดินพิพาทเดิม และเมื่อมีการโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทต่อไป ผู้ร้องก็ครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทต่อโดยอาศัยสิทธิการเช่าจากเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทรายต่อๆ ไป การครอบครองที่ดินพิพาทในลักษณะดังกล่าวของผู้ร้องไม่ว่าจะนานเพียงใดก็ไม่ใช่การครอบครองโดยสงบและโดยเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของแม้ภายหลังนางสุงิ้มจะถึงแก่กรรมแล้วตามกฎหมายก็ต้องถือว่าผู้ร้องครอบครองที่ดินพิพาทโดยอาศัยสิทธิการเช่าจากทายาทของนางสุงิ้มอยู่ตลอดไปจนกว่าผู้ร้องจะได้บอกกล่าวเปลี่ยนลักษณะแห่งการยึดถือไปยังเจ้าของที่ดินพิพาทว่าไม่เจตนาจะยึดถือทรัพย์สินแทนผู้ครอบครองต่อไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1381 แต่ตามข้อเท็จจริงที่ปรากฏจากทางนำสืบของผู้ร้องไม่มีพยานหลักฐานใดที่แสดงว่าผู้ร้องได้บอกกล่าวเปลี่ยนลักษณะแห่งการยึดถือครอบครองที่ดินพิพาทนอกจากนั้นจากคำเบิกความของผู้ร้องว่า เมื่อนางสุงิ้มถึงแก่กรรมแล้ว ผู้คัดค้านที่ 2 และผู้คัดค้านที่ 4 ไปดูที่ดินพิพาททุกปี ก็ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าผู้ร้องได้บอกกล่าวแสดงเจตนาต่อบุคคลทั้งสองว่าผู้ร้องเปลี่ยนลักษณะแห่งการยึดถือที่ดินพิพาทเป็นการยึดถือเพื่อตน ในส่วนที่ผู้ร้องเบิกความอ้างว่านางสุงิ้มยกที่ดินพิพาททั้งหมดให้แก่ผู้ร้องเป็นการตอบแทนที่ผู้ร้องดูแลที่ดินทางด้านทิศเหนือนั้น เห็นว่า เป็นการเบิกความลอยๆ โดยไม่มีเอกสารหลักฐานสนับสนุน จึงไม่มีน้ำหนักให้รับฟังว่าผู้ร้องได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทโดยการครอบครองปรปักษ์ อนึ่ง คดีทั้งสองสำนวนมีประเด็นหลักคือผู้ร้องได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทโดยการครอบครองปรปักษ์หรือไม่ ที่ดินพิพาทเป็นที่ดินมีโฉนด ผู้ร้องกล่าวอ้างว่าตนครอบครองที่ดินพิพาทจนได้กรรมสิทธิ์ ผู้ร้องจึงมีภาระการพิสูจน์ เมื่อพยานหลักฐานของผู้ร้องรับฟังไม่ได้ว่าผู้ร้องได้ครอบครองที่ดินพิพาทโดยสงบและโดยเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของติดต่อกันเป็นเวลาสิบปี ผู้ร้องจึงไม่ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาท กรณีจึงไม่ต้องวินิฉัยพยานหลักฐานอื่นของผู้ร้องและผู้คัดค้านทั้งหก และไม่จำเป็นต้องวินิจฉัยฎีกาในข้ออื่นๆ ของผู้ร้องที่เหลือเพราะไม่ทำให้ผลแห่งคดีเปลี่ยนแปลงไป ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของผู้ร้องฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน ให้ผู้ร้องใช้ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาทั้งสองสำนวนแทนผู้คัดค้านทั้งหก โดยกำหนดค่าทนายความทั้งสองสำนวนรวม 50,000 บาท

Share