คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3022/2552

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

การพิจารณาคดีแรงงานมีวิธีพิจารณาต่างกับคดีแพ่งทั่วๆ ไป โดยมี พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานฯ บัญญัติไว้เป็นพิเศษ กรณีที่ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานฯ ได้บัญญัติไว้แล้วอย่างไรก็ต้องบังคับไปตามนั้น จะนำ ป.วิ.พ. มาใช้บังคับไม่ได้ เพราะ พ.ร.บ. จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานฯ มาตรา 31 ให้นำบทบัญญัติแห่ง ป.วิ.พ. มาใช้บังคับแก่การดำเนินกระบวนพิจารณาในศาลแรงงานโดยอนุโลมได้เท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งกับบทบัญญัติแห่ง พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานฯ เท่านั้น
คดีนี้เมื่อศาลแรงงานกลางมีคำสั่งรับฟ้องของโจทก์ไว้พิจารณาแล้ว ศาลแรงงานกลางได้กำหนดเวลานัดพิจารณาและสืบพยาน โดยออกหมายเรียกให้จำเลยมาศาลในเวลานัด พร้อมกับส่งสำเนาคำฟ้องให้จำเลยโดยวิธีปิดหมายโดยชอบแล้วจึงต้องถือว่าจำเลยได้รับหมายเรียกให้มาศาลตามพ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานฯ มาตรา 37 แล้ว เมื่อจำเลยไม่มาตามกำหนด โดยไม่แจ้งให้ศาลแรงงานกลางทราบเหตุที่ไม่มา และศาลแรงงานกลางได้มีคำสั่งว่าจำเลยขาดนัดและพิจารณาตัดสินคดีของโจทก์ไปฝ่ายเดียว จึงเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาตามมาตรา 40 จำเลยขอให้เพิกถอนกระบวนพิจารณาดังกล่าวจึงต้องปฏิบัติตามมาตรา 41 คือต้องดำเนินการภายใน 7 วัน นับแต่วันที่ศาลแรงงานมีคำสั่งว่าจำเลยขาดนัดเมื่อจำเลยยื่นคำร้องพ้นกำหนด กรณีจึงต้องยกคำร้อง ที่ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งให้ยกคำร้องของจำเลยโดยไม่ไต่สวนจึงเป็นการถูกต้องแล้ว

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากโจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าจ้างค้างจ่ายพร้อมดอกเบี้ยศาลแรงงานกลางกำหนดวันนัดพิจารณาและสืบพยานโจทก์วันที่ 1 ตุลาคม 2550 เวลา 9 นาฬิกา โดยออกหมายเรียกให้จำเลยมาศาลในวันเวลาดังกล่าวส่งให้จำเลยพร้อมสำเนาคำฟ้องโดยวิธีปิดหมาย ณ บ้านเลขที่ 38/12 หมู่ 12 ถนนบางนา – ตราด ซอยพารุ่งเรืองตรงข้ามข้ามสะพานยูเทิร์นไบเทค แขวงบางนา เขตบางนา กรุงเทพมหานคร ตามที่โจทก์ระบุไว้ในคำฟ้องว่าเป็นภูมิลำเนาของลำเลย ครั้นถึงวันเวลานัดปรากฏว่าจำเลยไม่มาศาลโดยไม่แจ้งเหตุขัดข้อง ศาลแรงงานกลางจึงมีคำสั่งว่า จำเลยขาดนัดแล้วพิจารณาคดีของโจทก์ไปฝ่ายเดียว และพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าจ้างค้างจ่ายค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าพร้อมดอกเบี้ยให้แก่โจทก์ตามคำฟ้อง วันที่ 22 ตุลาคม 2550 จำเลยยื่นคำร้องว่า การดำเนินคดีของโจทก์ตั้งแต่ฟ้องจนถึงการบังคับคดีจำเลยไม่ทราบ เพราะไม่ได้รับหมายเรียกและสำเนาคำฟ้อง จำเลยไม่คิดว่าโจทก์จะฟ้องจำเลยเนื่องจากโจทก์ละทิ้งหน้าที่ตั้งแต่วันที่ 23 ถึง 27 มกราคม 2550 เป็นเวลาเกินกว่า 3 วันทำงานติดต่อกัน โดยไม่มีเหตุอันสมควรถือว่าเป็นความผิดร้ายแรงซึ่งจำเลยเลิกจ้างโจทก์ได้ทันทีโดยไม่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้าตามข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลย และจำเลยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยและเงินใดๆ แก่โจทก์ ในการส่งหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องให้แก่จำเลยเมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม 2550 ส่งได้โดยวิธีปิดหมายไว้ ณ อาคารสำนักงานของจำเลย ซึ่งคณะกรรมการผู้มีอำนาจของจำเลยและเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องไม่ได้อยู่ที่สำนักงานของจำเลย จำเลยจึงไม่ทราบและไม่ได้ไปศาลตามกำหนดนัดในวันที่ 1 ตุลาคม 2550 กรณีดังกล่าวมิใช่ความผิดของจำเลยแต่เป็นพฤติการณ์นอกเหนือซึ่งจำเลยไม่อาจหยั่งรู้และไม่อาจบังคับได้ จำเลยจึงไม่ได้จงใจขาดนัดพิจารณาแต่อย่างใด จำเลยเพิ่งทราบว่าถูกฟ้องเมื่อวันที่ 18 ตุลาคม 2550 เนื่องจากพนักงานบริษัทอื่นซึ่งไม่มีหน้าที่เกี่ยวข้องนำหมายเรียกพร้อมสำเนาคำฟ้องและคำบังคับมาให้จำเลย จึงต้องถือว่าพฤติการณ์นอกเหนือไม่อาจบังคับได้เพิ่งสิ้นสุดลง และจำเลยเพิ่งทราบถึงคดีที่จำเลยขาดนัดในวันดังกล่าวซึ่งจะครบกำหนดยื่นคำร้องขอพิจารณาใหม่ภายใน 7 วัน ในวันที่ 25 ตุลาคม 2550 คำร้องขอให้พิจารณาคดีใหม่ของจำเลยจึงชอบด้วยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 41 ขอให้ศาลมีคำสั่งนัดไต่สวนคำร้องของจำเลยและมีคำสั่งให้พิจารณาคดีใหม่ แล้วพิพากษาใหม่ไปตามรูปคดี
ศาลแรงงานกลางนัดไต่สวนคำร้องขอพิจารณาคดีใหม่วันที่ 6 พฤศจิกายน 2550 เวลา 13 นาฬิกา เมื่อถึงกำหนดนัดศาลแรงงานกลางได้สอบถามจำเลย จำเลยยอมรับว่าบ้านเลขที่ 38/12 หมู่ที่ 12 ถนนบางนา – ตราด ซอยรถรุ่งเรือง (ที่ถูกคือซอยพารุ่งเรือง) ใกล้เคียงตรงข้ามสะพานยูเทิร์นไบเทค แขวงบางนา เขตบางนา กรุงเทพมหานคร เป็นภูมิลำเนาของจำเลย ศาลแรงงานกลางเห็นว่าคดีพอวินิจฉัยได้แล้วให้งดการไต่สวน
ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่า เจ้าพนักงานเดินหมายของศาลนำหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องไปส่งให้จำเลยโดยวิธีปิดหมายที่ภูมิลำเนาของจำเลยตามคำสั่งศาลโดยชอบแล้วตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 74 ประกอบมาตรา 79 จำเลยไม่มาศาลตามนัดโดยไม่แจ้งให้ทราบเหตุที่ไม่มา และจำเลยยื่นคำร้องขอพิจารณาคดีใหม่เกินกำหนด 7 วัน นับแต่ศาลมีคำสั่งว่าจำเลยขาดนัดแล้วมีคำสั่งให้ยกคำร้อง
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “…การพิจารณาคดีแรงงานมีวิธีพิจารณาต่างกับคดีแพ่งทั่วๆ ไป โดยมีพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 บัญญัติไว้เป็นพิเศษ กรณีที่พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 ได้บัญญัติไว้แล้วอย่างไรก็ต้องบังคับไปตามนั้น จะนำประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาใช้บังคับไม่ได้ เพราะพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 31 ให้นำบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาใช้บังคับแก่การดำเนินกระบวนพิจารณาในศาลแรงงานโดยอนุโลมได้เท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งกับบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 เท่านั้น
คดีนี้เมื่อศาลแรงงานกลางมีคำสั่งรับฟ้องของโจทก์ไว้พิจารณาแล้ว ศาลแรงงานกลางได้กำหนดวันเวลานัดพิจารณาและสืบพยาน โดยออกหมายเรียกให้จำเลยมาศาลในวันเวลานัด พร้อมกับส่งสำเนาคำฟ้องให้จำเลยโดยวิธีปิดหมายโดยชอบแล้ว จึงต้องถือว่าจำเลยได้รับหมายเรียกให้มาศาลตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 37 แล้ว เมื่อจำเลยไม่มาตามกำหนด โดยไม่แจ้งให้ศาลแรงงานกลางทราบเหตุที่ไม่มา และศาลแรงงานกลางได้มีคำสั่งว่าจำเลยขาดนัดและพิจารณาตัดสินคดีของโจทก์ไปฝ่ายเดียว จึงเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 40 จำเลยขอให้เพิกถอนกระบวนพิจารณาดังกล่าวจึงต้องปฏิบัติตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 41 คือต้องดำเนินการภายใน 7 วัน นับแต่วันที่ศาลแรงงานมีคำสั่งว่าจำเลยขาดนัด เมื่อจำเลยยื่นคำร้องพ้นกำหนด กรณีต้องยกคำร้อง ที่ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งให้ยกคำร้องของจำเลยโดยไม่ไต่สวนจึงเป็นการถูกต้องแล้ว อุทธรณ์ของจำเลยฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share