แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
ท. มีเจตนายกที่ดินให้แก่จำเลยแต่จดทะเบียนนิติกรรมเป็นการขาย ดังนี้ ถือได้ว่าเป็นการจดทะเบียนนิติกรรมการขายที่ดินเพื่ออำพรางนิติกรรมให้ ดังนั้น นิติกรรมขายที่ดินย่อมเป็นการแสดงเจตนาด้วยสมรู้กันระหว่างคู่กรณี ย่อมเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 155 วรรคหนึ่ง ส่วนนิติกรรมต้องบังคับตามบทบัญญัติของกฎหมายที่ถูกอำพรางตาม ป.พ.พ. มาตรา 155 วรรคสอง การที่ ท. จดทะเบียนนิติกรรมขายมีวัตถุประสงค์ในการโอนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินคือที่ดินเช่นเดียวกับนิติกรรมให้ต่างกันเพียงว่ามีค่าตอบแทนแก่กันหรือไม่เท่านั้น ย่อมถือได้ว่าการจดทะเบียนขายดังกล่าวเป็นการทำหนังสือและจดทะเบียนสำหรับการให้ที่ถูกอำพรางด้วยโดยอนุโลม นิติกรรมการให้ที่ดินระหว่าง ท. และจำเลยจึงไม่เป็นโมฆะและมีผลบังคับตาม ป.พ.พ. มาตรา 155 วรรคสอง
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยส่งมอบที่ดินทั้งห้าแปลงคืนกองมรดกของนางสาวเทียม ให้จำเลยไปจดทะเบียนเปลี่ยนชื่อผู้ถือกรรมสิทธิ์ที่ดินทั้งห้าแปลงจากชื่อจำเลยเป็นชื่อนางสาวเทียม มิฉะนั้นให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลย
จำเลยให้การและฟ้องแย้งขอให้ยกฟ้องและบังคับโจทก์ชำระค่าเสียหาย 1,600,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี กับให้ชำระค่าเสียหายอัตราเดือนละ 400,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องแย้งจนกว่าจะชำระเสร็จและให้เพิกถอนการอายัดที่ดินทั้งห้าแปลง
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับฟ้องแย้ง คืนค่าขึ้นศาลให้จำเลยทั้งหมด
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์
ระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ นายเจื่อม ผู้จัดการมรดกของนางสาวเทียมถึงแก่ความตาย ร้อยเอกสันทัดยื่นคำร้องขอเข้าเป็นคู่ความแทน ศาลอุทธรณ์อนุญาต
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงรับฟังได้เป็นยุติในชั้นนี้โดยคู่ความไม่ได้โต้แย้งคัดค้านว่า โจทก์เป็นบุตรของนายเลื่อนและนางเล็กซึ่งถึงแก่ความตายแล้ว โจทก์มีพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน 7 คน คือ นางสาวเทียม นางสาวผ่อน นายผิว นางสาวผาด นายสุชาติ นางสาวผุสดีและโจทก์ ส่วนจำเลยเป็นบุตรของนายผิวและนางถวิล เมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2537 นางสาวเทียมทำพินัยกรรมแบบเอกสารฝ่ายเมืองยกที่ดินตามสำเนาโฉนดที่ดินเอกสารหมาย จ.7 จ.10 ถึง จ.13 ให้แก่โจทก์และตั้งโจทก์เป็นผู้จัดการมรดกตามพินัยกรรมปรากฏตามพินัยกรรมเอกสารหมาย จ.4 วันที่ 2 สิงหาคม 2538 นางสาวเทียมทำนิติกรรมจดทะเบียนขายที่ดินตามสำเนาโฉนดที่ดินดังกล่าวให้แก่จำเลยโดยแยกทำสัญญาซื้อขาย 2 ฉบับ ฉบับหนึ่งขายที่ดินตามสำเนาโฉนดที่ดินเอกสารหมาย จ.10 จ.11 จ.13 และ จ.14 ปรากฏตามสำเนาสัญญาซื้อขายเอกสารหมาย จ.24 หรือ ล.12 อีกฉบับหนึ่งขายที่ดินตามสำเนาโฉนดที่ดินเอกสารหมาย จ.12 ปรากฏตามสำเนาสัญญาซื้อขายเอกสารหมาย จ.25 หรือ ล.11 ในการชำระค่าธรรมเนียมการขายที่ดินจำนวน 24,000,000 บาท นางสาวผุสดีเป็นผู้ชำระแทนจำเลย ต่อมาวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2539 นางสาวเทียมถึงแก่ความตาย นอกจากนี้ขณะนางเล็กถึงแก่ความตายมีทรัพย์มรดกตกทอดแก่ทายาทเป็นที่ดินหลายแปลง นายสุชาติและนางสาวผุสดีเป็นผู้จัดการมรดกของนางเล็กตามคำสั่งศาลแพ่ง คดีหมายเลขแดงที่ 21348/2531 ลงวันที่ 28 ธันวาคม 2533 ที่ดินมรดกของนางเล็กบางแปลงได้โอนใส่ชื่อนายสุชาติและนางสาวผุสดีในฐานะผู้จัดการมรดก ปรากฏตามสำเนาโฉนดที่ดินเอกสารหมาย จ.16 จ.17 และ จ.18 แต่ยังไม่ได้โอนให้ทายาทเนื่องจากที่ดินบางส่วนถูกเวนคืนเพื่อสร้างทางพิเศษ (ทางด่วน) ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่านางสาวเทียมถูกฉ้อฉลให้ทำนิติกรรมขายที่ดินตามสำเนาโฉนดที่ดินเอกสารหมาย จ.10 ถึง จ.14 แก่จำเลยอันทำให้นิติกรรมเป็นโมฆียะหรือไม่ โจทก์มีตัวโจทก์เพียงปากเดียวเบิกความว่า วันที่ 1 สิงหาคม 2538 ตอนเย็นพยานกับนางสาวเทียมอยู่ที่บ้าน นางสาวเทียมบอกว่าพรุ่งนี้จะไปตรวจสุขภาพที่โรงพยาบาล โดยจำเลยจะเป็นผู้พาไป ต่อมาวันที่ 2 สิงหาคม 2538 เวลาประมาณ 8 นาฬิกา จำเลยมารับนางสาวเทียมไปจนกระทั่งเวลาประมาณ 15 นาฬิกา ครั้นตอนเย็นนางสาวเทียมได้บอกพยานว่าไม่ได้ไปที่โรงพยาบาลเนื่องจากจำเลยพาไปที่สำนักงานที่ดินขอให้นางสาวเทียมลงลายมือชื่อขายที่ดินของนางเล็กให้แก่การทางพิเศษแห่งประเทศไทย โดยจำเลยบอกว่าทายาทของนางเล็กที่ยังมีชีวิตอยู่จะต้องลงลายมือชื่อด้วยกันทุกคนรวมทั้งพยานด้วย แต่ไม่จำเป็นต้องไปพร้อมกันทุกคน นางสาวเทียมได้ถามพยานว่า จำเลยบอกเรื่องการโอนขายที่ดินของนางเล็กหรือยัง พยานตอบว่ายังไม่ทราบเรื่อง ที่ดินของนางเล็กซึ่งจะต้องถูกการทางพิเศษแห่งประเทศไทยเวนคืนคือที่ดินตามโฉนดเลขที่ 3121 3124 และที่ 899 ตามสำเนาโฉนดที่ดินเอกสารหมาย จ.16 ถึง จ.18 ที่ดินตามโฉนดเลขที่ 3121 ถูกเวนคืนเพื่อสร้างทางด่วนหลายครั้งและต่อมาได้มีการแบ่งออกเป็นโฉนดเลขที่ 52627 เพื่อแบ่งขายให้แก่การทางพิเศษแห่งประเทศไทยอีกปรากฏตามสำเนาโฉนดที่ดินเอกสารหมาย จ.19 ปัจจุบันที่ดินโฉนดเลขที่ 3121 ยังมีเหลือจากการแบ่งโฉนดและมีชื่อโจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ประมาณ 2 ไร่ 2 งาน 32 ตารางวา การขายที่ดินที่ถูกเวนคืนที่ดินตามสำเนาโฉนดที่ดินเอกสารหมาย จ.16 ถึง จ.19 กระทำในนามของกองมรดกของนางเล็กซึ่งนางสาวผุสดีในฐานะผู้จัดการมรดกได้แบ่งเงินให้แก่ทายาททุกคน (รวม 6 คน) จำนวน 4 ครั้ง โดยครั้งสุดท้ายได้รับเมื่อวันที่ 16 มิถุนายน 2538 คนละ 370,000 บาทเศษ โดยจ่ายเป็นแคชเชียร์เช็ค และโจทก์เบิกความตอบคำถามค้านทนายจำเลยว่า ผู้มีอำนาจทำนิติกรรมเกี่ยวกับที่ดินมรดกของนางเล็กคือนายสุชาติและนางสาวผุสดีผู้จัดการมรดกเท่านั้น ต่อมามีการฟ้องร้องเพื่อขอแบ่งมรดกแล้วมีการทำสัญญาประนีประนอมยอมความกัน (โจทก์คดีนี้เป็นโจทก์ในคดีดังกล่าว) ทายาททุกคนได้ทำการตรวจสอบทรัพย์สินมรดกแล้วก่อนที่จะทำสัญญาประนีประนอมยอมความ ที่ดินตามสำเนาโฉนดที่ดินเอกสารหมาย จ.19 ระบุชื่อนายสุชาติและนางสาวผุสดีผู้จัดการมรดกของนางเล็กถือกรรมสิทธิ์และพยานทราบว่าผู้ที่มีอำนาจทำนิติกรรมเกี่ยวกับที่ดินแปลงนี้เป็นของผู้จัดการมรดก นางสาวเทียมไม่ได้พูดกับพยานว่าจำเลยใช้อุบายหลอกลวงนางสาวเทียมแต่อย่างใด ต่อมาพยานได้พบกับจำเลยแต่ก็ไม่ได้ถามสาเหตุที่จำเลยพานางสาวเทียมไปสำนักงานที่ดิน นายสุชาติและนางสาวผุสดีเป็นผู้มีอำนาจจัดการทรัพย์มรดกของนางเล็ก จากคำเบิกความของโจทก์ดังกล่าวบ่งชี้ชัดว่าโจทก์ทราบดีว่าการจัดการมรดกของนางเล็กนั้น นายสุชาติและนางสาวผุสดีเป็นผู้มีอำนาจกระทำการโดยลำพัง ดังนั้น การโอนที่ดินให้แก่การทางพิเศษแห่งประเทศไทยจึงเป็นอำนาจหน้าที่ของนายสุชาติและนางสาวผุสดีผู้จัดการมรดกเท่านั้นโดยไม่จำต้องให้ทายาทนางเล็กไปลงลายมือชื่อแต่อย่างใด คำเบิกความของโจทก์ที่ว่านางสาวเทียมบอกพยานว่าจำเลยไม่ได้พาไปโรงพยาบาลแต่พาไปที่สำนักงานที่ดินเพื่อขอให้ลงลายมือชื่อขายที่ดินของนางเล็กให้แก่การทางพิเศษแห่งประเทศไทย โดยทายาททุกคนต้องลงลายมือชื่อจึงไม่มีน้ำหนักให้รับฟังว่านางสาวเทียมได้บอกกับโจทก์ดังที่โจทก์เบิกความเพราะหากนางสาวเทียมบอกเล่าแก่โจทก์ดังที่เบิกความแล้วโจทก์ก็น่าจะสะดุดใจและควรสอบถามกับจำเลยหรือสอบถามกับนายสุชาติและนางสาวผุสดีผู้จัดการมรดกของนางเล็ก แต่จำเลยก็ไม่ได้สอบถามแต่ประการใด นอกจากนี้พยานของโจทก์คือนางอัญชลี (นางสาวอัญชลี) นางราณี นายบุญเชิด และนายสมชายซึ่งเป็นเจ้าพนักงานที่ดินที่เกี่ยวข้องกับการจดทะเบียนนิติกรรมขายที่ดินตามสำเนาโฉนดที่ดินเอกสารหมาย จ.10 ถึง จ.14 ระหว่างนางสาวเทียมกับจำเลยตามสำเนาสัญญาซื้อขายเอกสารหมาย จ.24 หรือ ล.12 และ จ.25 หรือ ล.11 กลับเบิกความสอดคล้องต้องกันว่าในการขอจดทะเบียนทำนิติกรรมขายที่ดินผู้มาขอทำนิติกรรมต้องติดต่อกับประชาสัมพันธ์ของสำนักงานที่ดินซึ่งมีหลายคนก่อนเพื่อทำการตรวจสอบเอกสารเบื้องต้น หลังจากนั้นประชาสัมพันธ์จะจ่ายลำดับที่จะต้องติดต่อกับเจ้าพนักงานสอบสวนสิทธิเพื่อป้องกันผู้มาติดต่อเลือกบุคคลที่สอบสวนสิทธิซึ่งมีหลายคน เมื่อเจ้าพนักงานที่สอบสวนสิทธิตรวจสอบเอกสารและสอบถามวัตถุประสงค์ของผู้มาติดต่อแล้วบันทึกลงในแบบคำขอบันทึกข้อมูลต่างๆ แล้วส่งให้เจ้าพนักงานพิมพ์ดีดซึ่งมีหลายคนเช่นกัน เพื่อพิมพ์สัญญาโดยเจ้าพนักงานพิมพ์ดีดไม่ต้องไปพบผู้มาติดต่อเมื่อพิมพ์สัญญาตามรายการที่เจ้าพนักงานสอบสวนสิทธิบันทึกมาเสร็จแล้วก็ส่งกลับมาให้เจ้าพนักงานที่สอบสวนสิทธิเพื่อให้ผู้มาติดต่อลงลายมือชื่อในสัญญาแล้วให้ผู้มาติดต่อไปประเมินราคาเพื่อเสียภาษีและเมื่อชำระค่าธรรมเนียมครบถ้วนต้องนำมาให้เจ้าพนักงานสอบสวนสิทธิตรวจสอบความถูกต้องของนิติกรรมสัญญาอีกครั้ง หลังจากนั้นส่งไปให้หัวหน้างานหรือหัวหน้าฝ่ายจดทะเบียนเพื่อทำการจดทะเบียนสิทธิและหน้าที่ตามนิติกรรมสัญญาต่อไป ซึ่งในการทำนิติกรรมสัญญาขายที่ดินในคดีนี้นั้น นางอัญชลีลงลายมือชื่อเป็นพยานในสัญญาซื้อขายตามสำเนาสัญญาซื้อขายเอกสารหมาย จ.24 นางราณีเป็นผู้พิมพ์และลงลายมือชื่อเป็นพยานในสัญญาซื้อขายดังกล่าว ส่วนสัญญาซื้อขายตามสำเนาสัญญาซื้อขายเอกสารหมาย จ.25 นางราณีเบิกความว่า นางศรีสุดาเป็นผู้พิมพ์ โดยสัญญาซื้อขายทั้งสองฉบับมีนายสมชายเป็นเจ้าพนักงานผู้สอบสวนสิทธิและนายบุญเชิดเป็นหัวหน้าฝ่ายจดทะเบียน พยานโจทก์ดังกล่าวไม่เคยรู้จักกับโจทก์และจำเลย ทั้งปฏิบัติไปตามอำนาจหน้าที่และตามระเบียบแบบแผน ประกอบกับตามคำของพยานโจทก์ดังกล่าวก็ไม่ปรากฏว่ามีการกำหนดตัวเจ้าพนักงานผู้สอบสวนสิทธิเนื่องจากฝ่ายจำเลยติดต่อเพื่อเลือกเจ้าพนักงานผู้สอบสวนสิทธิแต่อย่างใด จึงเชื่อได้ว่าเบิกความไปตามจริงโดยเฉพาะนายสมชายซึ่งเป็นเจ้าพนักงานสอบสวนสิทธิเบิกความยืนยันว่าเป็นผู้สอบสวนนางสาวเทียมผู้ขายในวันที่ 1 สิงหาคม 2538 และมีการพิมพ์สัญญาในวันดังกล่าว แต่เนื่องจากนำค่าธรรมเนียมมาไม่ครบจึงได้กลับมาในวันรุ่งขึ้นคือวันที่ 2 สิงหาคม 2538 อีกครั้ง พยานจำนางสาวเทียมได้เนื่องจากวันที่ 2 สิงหาคม 2538 มีข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ของกระทรวงมหาดไทยมาตรวจเยี่ยมสำนักงานที่ดินกรุงเทพมหานครได้เข้าไปทักทายพูดคุยกับนางสาวเทียมซึ่งพยานก็อยู่ด้วยในขณะนั้นและต่อมาภายหลังได้มีการมาขอแก้ไขวันที่ทำสัญญาให้ถูกต้องตรงกับความเป็นจริงกับวันที่จดทะเบียนนิติกรรมซึ่งเป็นวันที่ชำระค่าธรรมเนียมครบถ้วน ส่วนกรณีที่พิมพ์ชื่อบิดามารดาของนางสาวเทียมผิดพลาดก็เนื่องจากพยานดูสำเนาทะเบียนบ้านผิดพลาดแล้วบันทึกไปให้เจ้าพนักงานพิมพ์สัญญาพิมพ์จึงพิมพ์มาผิดพลาดด้วย ทั้งยังเบิกความด้วยว่าครั้งแรกนางสาวเทียมลงลายมือชื่อด้วยตนเองแต่เมื่อพยานตรวจสอบดูหลักฐานเดิมที่นางสาวเทียมเคยมาทำนิติกรรมแล้ว นางสาวเทียมลงลายมือชื่อด้วยการพิมพ์ลายนิ้วมือ พยานจึงให้นางสาวเทียมพิมพ์ลายนิ้วมืออีกครั้ง คำขอนายสมชายมีเหตุมีผลทั้งมีเหตุให้เชื่อว่าจดจำเรื่องและจำผู้มาทำนิติกรรมคือนางสาวเทียมได้กล่าวคือมีข้าราชการผู้ใหญ่ของกระทรวงมหาดไทยมาตรวจงานและเข้าไปทักทายนางสาวเทียม การจดทะเบียนนิติกรรมการขายไม่เสร็จในวันเดียวและต่อมามีการขอแก้ไขวันที่จดทะเบียนให้ถูกต้องดังนี้ แสดงให้เห็นว่านางสาวเทียมมิได้ถูกจำเลยฉ้อฉลแต่อย่างใด ยิ่งกว่านั้นคำของนายสมชายเจือสมกับคำของจำเลยและนางสาวผุสดีพยานของจำเลย ซึ่งเบิกความสอดคล้องต้องกันยืนยันว่านางสาวเทียมมีเจตนายกที่ดินให้จำเลยซึ่งเป็นหลานแต่ไม่ต้องการให้โจทก์ทราบ ไม่มีการฉ้อฉลนางสาวเทียมแต่อย่างใด สำหรับค่าธรรมเนียมในการโอนนางสาวผุสดีเป็นผู้ออกให้ เนื่องจากจำเลยเป็นหลานไม่มีเงินค่าธรรมเนียมแต่ไม่ติดใจที่จะเอาคืน ในวันจดทะเบียนนายสุชาติ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทยได้มาสอบถามนางสาวเทียมว่ามาทำอะไร นางสาวเทียมตอบว่ามาโอนที่ดินให้หลาน นางสาวผุสดีเป็นอาของจำเลยและเป็นพี่สาวของโจทก์ ไม่มีสามีและบุตร จากทางนำสืบได้รับทรัพย์มรดกจากบิดามารดาจำนวนมากและมีฐานะดี การออกเงินค่าธรรมเนียมให้หลานเป็นเหตุผลให้รับฟังได้ นอกจากนี้ที่ดินบางแปลงที่นางสาวเทียมจดทะเบียนขายให้แก่จำเลยไม่ได้ทำพินัยกรรมไว้ ดังนั้น หากมีการฉ้อฉลจริงแล้วที่ดินดังกล่าวต้องตกเป็นมรดกแก่ทายาทโดยธรรมซึ่งนางสาวผุสดีก็เป็นทายาทโดยธรรมมีสิทธิรับมรดกนางสาวเทียมด้วยคนหนึ่ง การที่นางสาวผุสดีมาเบิกความเป็นพยานจำเลยจึงเป็นปฏิปักษ์กับส่วนได้เสียของนางสาวผุสดี คำของนางสาวผุสดีจึงมีน้ำหนักให้รับฟัง ส่วนการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินได้ทำเป็นสัญญาซื้อขายโดยมิได้ชำระราคากันจริง ทั้งที่เป็นการให้จึงเป็นพิรุธนั้น เห็นว่า ขณะนางสาวฟ้อนซึ่งมีศักดิ์เป็นน้าของนางสาวเทียมยกที่ดินตามสำเนาโฉนดที่ดินเอกสารหมาย จ.10 จ.11 จ.13 และ จ.14 ให้แก่นางสาวเทียมก็ได้ทำเป็นสัญญาซื้อขายกันและพี่น้องของนางสาวเทียมก็เคยปฏิบัติเช่นนั้น ดังที่ศาลอุทธรณ์ได้ให้เหตุผลโดยละเอียดชัดแจ้ง ศาลฎีกาไม่จำต้องวินิจฉัยซ้ำอีกและไม่ถือว่าเป็นพิรุธแต่อย่างใด ส่วนที่โจทก์ฎีกาว่าจำเลยต้องนำสืบให้ได้ตามสิทธิตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1299 วรรคสองนั้น เห็นว่า คดีนี้เป็นเรื่องที่โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมที่ทำขึ้นเพราะถูกกลฉ้อฉลตามมาตรา 159 ทั้งโจทก์ก็มิได้เป็นบุคคลที่มีสิทธิจดทะเบียนได้ก่อนดังที่บัญญัติไว้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1299 ดังนั้น จำเลยจึงไม่มีหน้าที่นำสืบตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1299 วรรคสอง แต่ประการใด พยานหลักฐานที่จำเลยนำสืบมีน้ำหนักกว่าพยานหลักฐานโจทก์ คดีรับฟังได้ว่านางสาวเทียมมิได้ถูกจำเลยฉ้อฉลให้ทำนิติกรรมขายที่ดินตามสำเนาโฉนดที่ดินเอกสารหมาย จ.10 ถึง จ.14 ให้แก่จำเลย อันจะทำให้นิติกรรมเป็นโมฆียะดังที่โจทก์ฎีกา ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่านิติกรรมการให้ที่ดินตามสำนาโฉนดที่ดินเอกสารหมาย จ.10 ถึง จ.14 ไม่มีผลบังคับหรือไม่ ปัญหานี้ศาลล่างทั้งสองไม่ได้วินิจฉัย ศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยไปเลยโดยไม่ต้องย้อนสำนวน ข้อเท็จจริงได้ความดังวินิจฉัยมาแล้วว่านางสาวเทียมมีเจตนายกที่ดินตามสำเนาโฉนดที่ดินดังกล่าวให้แก่จำเลยแต่จดทะเบียนนิติกรรมเป็นการขาย ดังนี้ ถือได้ว่าเป็นการจดทะเบียนนิติกรรมขายที่ดินเพื่ออำพรางนิติกรรมให้ ดังนั้น นิติกรรมขายที่ดินย่อมเป็นการแสดงเจตนาด้วยสมรู้กันระหว่างคู่กรณี นิติกรรมดังกล่าวย่อมเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 155 วรรคหนึ่ง ส่วนนิติกรรมให้ต้องบังคับตามบทบัญญัติของกฎหมายที่ถูกอำพรางตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 155 วรรคสอง การที่นางสาวเทียมจดทะเบียนนิติกรรมขายมีวัตถุประสงค์ในการโอนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินคือที่ดินเช่นเดียวกับนิติกรรมให้ต่างกันเพียงว่ามีค่าตอบแทนแก่กันหรือไม่เท่านั้น ย่อมถือได้ว่าการจดทะเบียนขายดังกล่าวเป็นการทำหนังสือและจดทะเบียนสำหรับการให้ที่ถูกอำพรางด้วยโดยอนุโลม นิติกรรมการให้ที่ดินระหว่างนางสาวเทียมและจำเลยจึงไม่เป็นโมฆะและมีผลบังคับตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 155 วรรคสอง ฎีกาของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
อนึ่ง เมื่อวินิจฉัยดังนี้แล้วปัญหาที่ว่าคดีโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ ตามฎีกาของโจทก์และตามคำแก้ฎีกาของจำเลยจึงไม่จำต้องวินิจฉัยเพราะไม่ทำให้ผลคดีเปลี่ยนแปลงไป”
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาเห็นสมควรเป็นพับ