คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7819/2552

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

โจทก์ที่ 1 ฝากเงินไว้กับธนาคารจำเลยที่ 1 เงินจำนวนดังกล่าวจึงตกเป็นกรรมสิทธิ์และอยู่ในความครอบครองของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้รับฝากย่อมมีสิทธิที่จะบริหารจัดการเงินฝากนั้นประการใดก็ได้ คงมีหน้าที่เพียงต้องคืนเงินฝากตามจำนวนที่โจทก์ทั้งสองซึ่งเป็นลูกค้านำเข้าฝากไว้เท่านั้น โดยไม่จำต้องส่งคืนเป็นเงินจำนวนอันเดียวกับที่ฝากไว้ การที่จำเลยที่ 1 เบิกถอนเงินออกจากบัญชีเงินฝากของโจทก์ที่ 1 จึงมิใช่เป็นการเอาทรัพย์ของโจทก์ทั้งสองไป ไม่ครบองค์ประกอบความผิดฐานลักทรัพย์
พ.ร.บ.การธนาคารพาณิชย์ พ.ศ.2505 มาตรา 12 (9) บัญญัติขึ้นเพื่อควบคุมและกำกับการประกอบธุรกิจธนาคารพาณิชย์ กับเพื่อคุ้มครองประโยชน์ของประชาชนเป็นส่วนรวม อันเป็นความผิดที่รัฐเท่านั้นเป็นผู้เสียหาย โจทก์ทั้งสองซึ่งเป็นเอกชนไม่ใช่ผู้เสียหายในกรณีธนาคารพาณิชย์กระทำความผิดตาม พ.ร.บ.การธนาคารพาณิชย์ พ.ศ.2505 มาตรา 12 (9) โจทก์ทั้งสองจึงไม่มีอำนาจฟ้อง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ที่ 1 เป็นนิติบุคคล มีโจทก์ที่ 2 เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ โจทก์ที่ 1 เป็นบุคคลล้มละลายตามคำพิพากษาของศาลแพ่ง คดีหมายเลขแดงที่ ล.31/2544 จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคล มีวัตถุประสงค์ประกอบกิจการธนาคารพาณิชย์ โจทก์ทั้งสองเปิดบัญชีเงินฝากกับจำเลยที่ 1 สาขาสำนักพลับพลาไชย ซึ่งมีจำเลยที่ 2 เป็นผู้จัดการ เมื่อระหว่างวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2526 เวลากลางวัน จนถึงวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2550 เวลากลางวัน ต่อเนื่องเกี่ยวพันกัน จำเลยทั้งสองร่วมกับพวกกระทำความผิดด้วยการใช้กลอุบายลักทรัพย์เอาเงินจำนวน 500,000 บาท ของโจทก์ที่ 1 ไปโดยทุจริต โดยลงข้อความเท็จในบัญชีเงินฝากกระแสรายวันของโจทก์ที่ 1 และจัดทำเอกสารอันเป็นเท็จว่า โจทก์ที่ 1 นำเช็คของบุคคลอื่นจำนวน 500,000 บาท มาขายลดให้แก่จำเลยที่ 1 แล้วนำเงินจำนวนดังกล่าวมาชำระหนี้ขายลดเช็คฉบับอื่นจำนวนเงิน 500,000 บาท แล้วจำเลยทั้งสองเบิกถอนเงินจำนวนดังกล่าวและเอาไปโดยสุจริต ทำให้โจทก์เสียหายไม่มีเงินคงเหลืออยู่ในบัญชี การกระทำของจำเลยเป็นการเอาเปรียบโจทก์ทั้งสองซึ่งเป็นลูกค้าอย่างไม่เป็นธรรม เหตุเกิดที่ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) สาขาสำนักพลับพลาไชย แขวงป้อมปราบ เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กรุงเทพมหานคร และแขวงบางพลัด เขตบางพลัด กรุงเทพมหานคร เกี่ยวพันกัน ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335 (1) (7), 50, 83, 84, 90, 91 พระราชบัญญัติการธนาคารพาณิชย์ พ.ศ.2505 มาตรา 12 (9), 44, 46, 46 ทวิ, 46 นว (1), (3) ให้มีคำสั่งห้ามจำเลยที่ 1 ประกอบการธนาคารพาณิชย์เป็นเวลา 5 ปี
ศาลชั้นต้นตรวจคำฟ้องแล้ว เห็นว่า การกระทำของจำเลยทั้งสองตามที่โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยทั้งสองเบิกถอนเงิน 500,000 บาท จากบัญชีเงินฝากกระแสรายวันของโจทก์ที่ 1 ไปชำระหนี้ขายลดเช็คฉบับอื่นโดยไม่มีสิทธิ ทำให้โจทก์ทั้งสองได้รับความเสียหายนั้นเป็นการโต้แย้งสิทธิในทางแพ่ง ไม่มีมูลความผิดทางอาญา ไม่เป็นความผิดฐานลักทรัพย์และโจทก์ทั้งสองมิใช่ผู้เสียหายตามพระราชบัญญัติการธนาคารพาณิชย์ พ.ศ.2505 จึงไม่มีอำนาจฟ้อง พิพากษายกฟ้อง
โจทก์ทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า เงินในบัญชีเงินฝากเป็นกรรมสิทธิ์และตกอยู่ในความครอบครองของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 สามารถบริหารจัดการเงินในบัญชีเงินฝากด้วยประการใดๆ ก็ได้ เพียงแต่ต้องคืนเงินให้ลูกค้าครบจำนวนตามที่ลูกค้านำเงินเข้าฝากในบัญชีเท่านั้น การเบิกถอนเงินออกจากบัญชีเงินฝากของโจทก์ที่ 1 จึงมิใช่การเอาทรัพย์ของโจทก์ที่ 1 ไป ไม่มีมูลเป็นความผิดฐานลักทรัพย์ และสำหรับข้อหาความผิดตามพระราชบัญญัติการธนาคารพาณิชย์ พ.ศ.2505 มาตรา 12 (9) รัฐเป็นผู้เสียหาย โจทก์ทั้งสองไม่ใช่ผู้เสียหาย จึงไม่มีอำนาจฟ้อง พิพากษายืน
โจทก์ทั้งสองฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อกฎหมาย
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาข้อกฎหมายต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ทั้งสองประการแรกว่า การกระทำของจำเลยทั้งสองครบองค์ประกอบความผิดฐานลักทรัพย์หรือไม่ โดยโจทก์ทั้งสองฎีกาว่า เงินที่จำเลยทั้งสองเบิกถอนไปจากบัญชีเงินฝากของโจทก์ที่ 1 นั้นเป็นกรรมสิทธิ์และอยู่ในความครอบครองของโจทก์ทั้งสอง มิได้เป็นกรรมสิทธิ์และอยู่ในความครอบครองของจำเลยทั้งสองแต่อย่างใด การกระทำของจำเลยทั้งสองจึงเป็นการเอาทรัพย์ของผู้อื่นหรือที่ผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วยไปโดยทุจริต จึงมีมูลความผิดอาญาฐานลักทรัพย์นั้น เห็นว่า การกระทำที่จะครบองค์ประกอบความผิดฐานลักทรัพย์ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 334 นั้น จะต้องเป็นการเอาทรัพย์ของผู้อื่นหรือที่ผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วยไปโดยทุจริต แต่กรณีตามฟ้องของโจทก์ทั้งสองในคดีนี้ปรากฏว่า เงินจำนวนที่จำเลยทั้งสองเบิกถอนไปเป็นเงินที่อยู่ในบัญชีเงินฝากของโจทก์ที่ 1 ที่ฝากไว้กับจำเลยทั้งสอง เงินจำนวนดังกล่าวจึงตกเป็นกรรมสิทธิ์และอยู่ในความครอบครองของจำเลยทั้งสอง จำเลยทั้งสองซึ่งเป็นผู้รับฝากย่อมมีสิทธิที่จะบริหารจัดการเงินฝากจำนวนดังกล่าวนั้นประการใดก็ได้จำเลยทั้งสองคงมีหน้าที่เพียงต้องคืนเงินฝากตามจำนวนที่โจทก์ทั้งสองซึ่งเป็นลูกค้านำเข้าฝากไว้เท่านั้น โดยจำเลยทั้งสองไม่จำต้องส่งคืนเป็นเงินจำนวนอันเดียวกับที่ฝากไว้ ดังนั้น การที่จำเลยทั้งสองเบิกถอนเงินออกจากบัญชีเงินฝากของโจทก์ที่ 1 จึงมิใช่เป็นการเอาทรัพย์ของโจทก์ทั้งสองไป การกระทำของจำเลยทั้งสองจึงไม่ครบองค์ประกอบความผิดฐานลักทรัพย์ตามฟ้อง ฎีกาของโจทก์ทั้งสองในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
สำหรับฎีกาในปัญหาข้อกฎหมายของโจทก์ทั้งสองประการต่อมาว่า โจทก์ทั้งสองเป็นผู้เสียหายและมีอำนาจฟ้องตามพระราชบัญญัติการธนาคารพาณิชย์ พ.ศ.2505 มาตรา 12 (9) หรือไม่ โดยโจทก์ทั้งสองฎีกาว่า การกระทำของจำเลยทั้งสองกับพวกเป็นการกระทำอันเป็นการเอาเปรียบโจทก์ทั้งสองอย่างไม่เป็นธรรม ทำให้โจทก์ทั้งสองได้รับความเสียหายไม่มีเงินคงเหลืออยู่ในบัญชีเงินฝากดังกล่าวทั้งตามพระราชบัญญัติการธนาคารพาณิชย์ พ.ศ.2505 มาตรา 12 (9) ก็ไม่ได้บัญญัติให้รัฐเป็นผู้เสียหายแต่อย่างใด ดังนั้น โจทก์ทั้งสองซึ่งเป็นลูกค้าของจำเลยทั้งสอง และเป็นผู้ได้รับความเสียหายจากการกระทำของจำเลยทั้งสองย่อมได้รับความคุ้มครองตามพระราชบัญญัติดังกล่าว จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสองได้นั้น เห็นว่า ข้อหาความผิดตามพระราชบัญญัติการธนาคารพาณิชย์ พ.ศ.2505 มาตรา 12 (9) บัญญัติห้ามมิให้ธนาคารพาณิชย์กระทำการอย่างใดอย่างหนึ่งอันเป็นความผิดไว้ว่า “กระทำการใดๆ อันอาจก่อให้เกิดความเสียหายทางเศรษฐกิจของประเทศหรือแก่ประโยชน์ของประชาชน หรือเป็นการเอาเปรียบลูกค้าหรือบุคคลที่เกี่ยวข้องอย่างไม่เป็นธรรม หรือเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาหรือต่อการแข่งขันในระบบสถาบันการเงิน หรือเป็นการผูกขาดหรือจำกัดตัดตอนทางเศษฐกิจ…” เป็นการบัญญัติขึ้นเพื่อควบคุมและกำกับการประกอบธุรกิจธนาคารพาณิชย์ กับเพื่อคุ้มครองประโยชน์ของประชาชนเป็นส่วนรวม อันเป็นความผิดที่รัฐเท่านั้นเป็นผู้เสียหาย โจทก์ทั้งสองซึ่งเป็นเอกชนไม่ใช่ผู้เสียหายในกรณีธนาคารพาณิชย์กระทำความผิดตามพระราชบัญญัติการธนาคารพาณิชย์ พ.ศ.2505 มาตรา 12 (9) โจทก์ทั้งสองจึงไม่มีอำนาจฟ้องที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษามานั้นชอบแล้ว ฎีกาของโจทก์ทั้งสองในข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน”
พิพากษายืน

Share