คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 415/2502

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

เช็คมีชื่อผู้สลักหลังหลายคน ผู้สลักหลังแต่ละคนย่อมมีความรับผิดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 989,914,959,967 เมื่อนำเช็คไปขึ้นเงินไม่ได้ผู้สลักหลังคนใดคนหนึ่งย่อมเป็นผู้เสียหายที่จะดำเนินการร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2497 ได้
วันออกเช็คตาม พระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2497 มาตรา 3(2)(3) คือ วันที่ลงในเช็คนั้น

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยได้ออกเช็คธนาคารไทยพาณิชย์ 1 ฉบับ สั่งจ่ายวันที่ 8 กรกฎาคม 2498 จำนวนเงิน 50,000 บาท ให้แก่นางประนอ ดุลนัยถึงกำหนดวันจ่ายเงิน นางประนอไปเบิกเงินธนาคารปฏิเสธไม่จ่ายเงินเนื่องจากจำเลยสั่งห้ามไว้ และจำเลยไม่มีเงินเพียงพอ ขอให้ลงโทษตาม พระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2497 มาตรา 3

จำเลยให้การว่า ได้ออกเช็คให้นางประนอจริง แต่ต่อสู้ว่าไม่ต้องรับผิด และนางประนอไม่ใช่ผู้เสียหาย

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตาม พระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2497 มาตรา 3 ให้จำคุก 6 เดือน คำให้การมีประโยชน์แก่ทางพิจารณา ลดให้ 1 ใน 3 จำคุก 4 เดือน และให้รอการลงโทษจำคุกไว้ 2 ปี

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน แต่มีผู้พิพากษานายหนึ่งทำความเห็นแย้งว่า ควรพิพากษายกฟ้อง

จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาเห็นว่า เช็ครายนี้มีผู้สลักหลังคือ นางประนอนายพิภพและนายอาร์จัง ดังนี้ นางประนอย่อมมีความรับผิดตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 989, 914, 959, 967 เมื่อนำเช็คไปขึ้นเงินไม่ได้ นางประนอจึงเป็นผู้เสียหายตามกฎหมายที่จะร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีอาญาได้

วัตถุประสงค์อันแท้จริงของการลงวันล่วงหน้าในเช็ค เป็นการผ่อนกำหนดเวลาชำระหนี้ของผู้สั่งจ่าย ซึ่งหมายความว่าวันที่ลงในเช็คนั้น เป็นวันถึงกำหนดที่จะต้องชำระเงินคืน สำหรับผลแห่งเช็คตามกฎหมายนั้นมีว่า ธนาคารต้องจ่ายเงินโดยพลันเมื่อถูกทวงถาม (ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 987) ฉะนั้น เมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม 2498 ซึ่งเป็นวันที่ลงในเช็ค คือ วันออกเช็คของจำเลย เงินฝากของจำเลยมีไม่พอจ่ายตามจำนวนในเช็ค โดยจำเลยไม่มีข้อแก้ตัวที่จะฟังได้แต่ประการใดกรณีก็เข้ามาตรา 3(2) (3)

พิพากษายืน

Share