คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2041/2552

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

หน้าที่หลักของเครื่องหมายการค้า คือ หน้าที่บอกแหล่งที่มาของสินค้า และหน้าที่บอกความแตกต่างระหว่างสินค้า หมายความว่า เครื่องหมายการค้าจะต้องบ่งบอกได้ว่า สินค้าภายใต้เครื่องหมายการค้าดังกล่าวมีแหล่งกำเนิดมาจากที่ใด และสินค้าภายใต้เครื่องหมายการค้านั้นแตกต่างจากสินค้าภายใต้เครื่องหมายการค้าอีกเครื่องหมายหนึ่ง
การที่นายทะเบียนเครื่องหมายการค้าหยิบยกเครื่องหมายการค้าหลายเครื่องหมายมาพิจารณาประกอบกันในการพิจารณารับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าย่อมจะต้องกระทำด้วยความระมัดระวังและอยู่ภายใต้กรอบหน้าที่ของเครื่องหมายการค้า
ที่จำเลยทั้งสองอุทธรณ์ว่า เครื่องหมายการค้าของโจทก์มีอักษรโรมันคำว่า “California” และ “WOW” ซึ่งเป็นคำเหมือนหรือคล้ายกับเครื่องหมายการค้าของผู้อื่นที่ได้จดทะเบียนไว้แล้ว ย่อมจะเกิดความสับสนหลงผิดได้ แต่เมื่อพิจารณาเครื่องหมายการค้าดังกล่าวจะเห็นได้ว่า อักษรโรมันคำว่า “California” และ “WOW” เป็นคำสามัญทั่วไปที่มีความหมายในพจนานุกรมโดยคำว่า “California” เป็นชื่อมลรัฐในประเทศสหรัฐอเมริกา ส่วนคำว่า “WOW” เป็นคำอุทานแสดงความสำเร็จยอดเยี่ยม ดังนั้น บุคคลทั่วไปจึงสามารถนำคำไปใช้เป็นเครื่องหมายการค้าได้ตราบเท่าที่ไม่เป็นการลอกเลียนเครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่น หรือเหมือนหรือคล้ายกันจนเป็นเหตุให้สาธารณชนสับสนหลงผิดในความเป็นเจ้าของหรือแหล่งกำเนิดของสินค้า
ส่วนเครื่องหมายการค้าของโจทก์ทั้งเครื่องหมายมีรูปลักษณะและเสียงเรียกขานแตกต่างจากเครื่องหมายการค้าทั้งสองเครื่องหมายที่นายทะเบียนเครื่องหมายการค้ายกขึ้นเปรียบเทียงเป็นอย่างมาก แม้เครื่องหมายการค้าเหล่านี้มีคำซ้ำกันอยู่บ้าง ซึ่งก็เป็นคำสามัญที่มีการใช้อยู่ทั่วไป ไม่ได้เป็นคำเฉพาะพิเศษและไม่ทำให้สาธารณชนสับสนหลงผิดในความเป็นเจ้าของหรือแหล่งกำเนิดของสินค้าสำหรับเสียงเรียกขาน การจะถือว่าเสียงเรียกขานบางคำซ้ำกันจนเป็นเหตุให้เครื่องหมายการค้าดังกล่าวเหมือนหรือคล้ายกันจนไม่อาจรับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าให้น่าจะไม่ได้ เพราะการเรียกขานสินค้าย่อมขึ้นอยู่กับผู้บริโภคว่าจะเรียกขานเช่นใด ทั้งการเรียกขานก็ไม่ใช่สาระสำคัญประการเดียวที่จะใช้ในการพิจารณา

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนคำสั่งของนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าที่ พณ 0704/5007 ลงวันที่ 9 กันยายน 2547 และคำวินิจฉัยของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าที่ 1571/2548 ลงวันที่ 15 ธันวาคม 2548 และให้นายทะเบียนเครื่องหมายการค้ารับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า ตามคำขอเลขที่ 555626 ของโจทก์
จำเลยทั้งสองให้การว่า เครื่องหมายการค้าของโจทก์มีรูปลักษณะและเสียงเรียกขานใกล้เคียงกับเครื่องหมายการค้าของผู้อื่นที่ได้จดทะเบียนไว้แล้ว จนอาจทำให้สาธารณชนสับสนหลงผิดในความเป็นเจ้าของหรือแหล่งกำเนิดของสินค้า ขอให้ยกฟ้อง
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาให้เพิกถอนคำสั่งของนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าที่ พณ 0704/5007 และคำวินิจฉัยของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าที่ 1571/2548 ที่ไม่รับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์ และให้นายทะเบียนเครื่องหมายการค้าดำเนินการเกี่ยวกับคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์ ตามคำขอเลขที่ 555626 ต่อไป ให้จำเลยทั้งสองใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 2,000 บาท คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า “…พิเคราะห์แล้ว มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสองว่า เครื่องหมายการค้าของโจทก์เหมือนหรือคล้ายกับเครื่องหมายการค้าของผู้อื่นที่ได้จดทะเบียนไว้แล้ว จนอาจทำให้สาธารณชนสับสนหลงผิดในความเป็นเจ้าของหรือแหล่งกำเนิดของสินค้าหรือไม่ เห็นว่า หน้าที่หลักของเครื่องหมายการค้า คือ หน้าที่บอกแหล่งกำเนิดของสินค้าหรือไม่ เห็นว่า หน้าที่หลักของเครื่องหมายการค้า คือ หน้าที่บอกแหล่งที่มาของสินค้า และหน้าที่บอกความแตกต่างระหว่างสินค้า หมายความว่า เครื่องหมายการค้า จะต้องบ่งบอกได้ว่า สินค้าภายใต้เครื่องหมายการค้าดังกล่าวมีแหล่งกำเนิดมาจากที่ใด และสินค้าภายใต้เครื่องหมายการค้านั้นแตกต่างจากสินค้าภายใต้เครื่องหมายการค้าอีกเครื่องหมายหนึ่ง ดังนั้น การที่นายทะเบียนเครื่องหมายการค้าหยิบยกเครื่องหมายการค้าหลายเครื่องหมายมาพิจารณาประกอบกันในการพิจารณารับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์เช่นนี้ ย่อมจะต้องกระทำด้วยความระมัดระวัง และอยู่ภายใต้กรอบหน้าที่ของเครื่องหมายการค้า คดีนี้จำเลยทั้งสองอุทธรณ์ว่า เครื่องหมายการค้าของโจทก์มีอักษรโรมันคำว่า “California” และ “WOW” ซึ่งเป็นคำเหมือนหรือคล้ายกับเครื่องหมายการค้าของผู้อื่นที่ได้จดทะเบียนไว้แล้ว สาธารณชนคนไทยส่วนใหญ่ไม่คุ้นเคยกับภาษาต่างประเทศ ย่อมจะเกิดความสับสนหลงผิดได้ ข้อแตกต่างระหว่างเครื่องหมายเป็นเพียงรายละเอียดปลีกย่อย ผู้บริโภคทั่วไปสังเกตเฉพาะส่วนสำคัญหรือส่วนหลักของเครื่องหมาย เมื่อมีคำบางคำในเครื่องหมายออกเสียงเหมือนกัน ก็แสดงว่าเสียงเรียกขานทั้งส่วนนั้นเหมือนกัน แต่เมื่อพิจารณาเครื่องหมายการค้าดังกล่าวแล้วจะเห็นได้ว่า อักษรโรมันคำว่า “California” และ “WOW” เป็นคำสามัญทั่วไปที่มีความหมายในพจนานุกรมโดยคำว่า “California” และ “WOW” เป็นคำสามัญทั่วไปที่มีความหมายในพจนานุกรมโดยคำว่า “California” เป็นชื่อมลรัฐในประเทศสหรัฐอเมริกา ส่วนคำว่า “WOW” เป็นคำอุทาน แสดงความสำเร็จยอดเยี่ยม บุคคลทั่วไปจึงสามารถนำไปใช้เป็นเครื่องหมายการค้าได้ตราบเท่าที่ไม่เป็นการลอกเลียนเครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่นหรือเหมือนหรือคล้ายกันจนเป็นเหตุให้สาธารณชนสับสนหลงผิดในความเป็นเจ้าของหรือแหล่งกำเนิดของสินค้า เมื่อเครื่องหมายการค้าของโจทก์เป็นอักษรโรมันคำว่า ในขณะที่เครื่องหมายการค้าอื่นเป็นอักษรโรมันคำว่า และคำว่า California Angels ซึ่งเมื่อพิจารณาต่อไปจะเห็นว่า เครื่องหมายการค้าของโจทก์ทั้งเครื่องหมายมีรูปลักษณะและเสียงเรียกขานแตกต่างจากเครื่องหมายกาค้าทั้งสองเครื่องหมายที่นายทะเบียนเครื่องหมายการค้ายกขึ้นมาเปรียบเทียบเป็นอย่างมาก เพราะเครื่องหมายการค้าของโจทก์มีส่วนอื่นๆ ประกอบนอกเหนือจากอักษรโรมันที่ซ้ำกันอยู่ โดยไม่ใช่เป็นเพียงรายละเอียดปลีกย่อยตามที่จำเลยทั้งสองอุทธรณ์ด้วย ดังนั้น ลำพังการที่เครื่องหมายการค้าเหล่านี้มีคำซ้ำกันอยู่บ้าง ซึ่งก็เป็นคำสามัญที่มีการใช้อยู่ทั่วไป ไม่ได้เป็นคำเฉพาะพิเศษเช่นใดจนถึงขนาดที่จะทำให้สาธารณชนโดยทั่วไปในสังคมไทยไม่รู้ไม่เข้าใจในคำดังกล่าว และทำให้สาธารณชนสับสนหลงผิดในความเป็นเจ้าของหรือแหล่งกำเนิดของสินค้าดังที่จำเลยทั้งสองอุทธรณ์แต่อย่างใด สำหรับในเรื่องเสียงเรียกขานนั้น การจะถือว่าเสียงเรียกขานบางคำซ้ำกันจะเป็นเหตุให้เครื่องหมายการค้าดังกล่าวเหมือนหรือคล้ายกันจนไม่อาจรับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าให้น่าจะไม่ได้ เพราะการเรียกขานสินค้าย่อมจะขึ้นอยู่กับผู้บริโภคว่าจะเรียกขานเช่นใด ทั้งการเรียกขานก็ไม่ใช่สาระสำคัญประการเดียวที่จะใช้ในการพิจารณา ถือว่าเครื่องหมายการค้าของโจทก์สามารถทำหน้าที่บ่งบอกว่าสินค้าภายใต้เครื่องหมายการค้าของโจทก์มีแหล่งกำเนิดมาจากที่ใด และสินค้าภายใต้เครื่องหมายการค้านั้นแตกต่างจากสินค้าภายใต้เครื่องหมายการค้าอีกเครื่องหมายหนึ่งเช่นใด ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางวินิจฉัยมาจึงชอบแล้ว ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศเห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของจำเลยทั้งสองฟังไม่ขึ้น กรณีไม่จำต้องวินิจฉัยประเด็นอื่นๆ ตามอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสองอีกต่อไป เพราะไม่ทำให้ผลคดีเปลี่ยนแปลง”
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นนี้ให้เป็นพับ

Share