คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2251/2552

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

การที่จำเลยหลอกลวง ส. ให้ส่งมอบบัตรเครดิตให้แก่ตน จากนั้นนำบัตรเครดิตไปแสดงต่อผู้เสียหายว่าเป็นของตน แล้วดำเนินการปลอมบันทึกรายการขายและใช้บันทึกรายการขายกับผู้เสียหายในคดีนี้เป็นจำนวนมากถึง 28 ฉบับ แม้จะทำเพียง 5 วัน ในแต่ละวันจะกระทำต่อผู้เสียหายคนเดียวกันก็จะถือว่าการกระทำแต่ละวันเป็นการกระทำกรรมเดียวไม่ใช่การกระทำหลายกรรม เป็นการกระทำ 5 กรรมดังที่ศาลชั้นต้นพิพากษาไม่ เพราะโดยสภาพของการกระทำจำเลยต้องทำบันทึกรายการขายทีละฉบับ ทั้งจำเลยยังได้แสดงเจตนาต่อผู้เสียหายว่าประสงค์ที่จะทำแต่ละฉบับแยกประเภทสินค้าต่างหากจากกันโดยไม่ประสงค์ที่จะทำบันทึกรายการขายรวมสินค้าในแต่ละวันทั้งๆ ที่สามารถทำได้ การกระทำของจำเลยจึงเป็นการกระทำหลายกรรมในแต่ละวันรวม 28 กรรม
การกระทำของจำเลยในแต่ละวันเป็นการกระทำกรรมเดียวหรือหลายกรรมเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้โจทก์จะมิได้ฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบด้วยมาตรา 225 การกระทำของจำเลยเป็นการกระทำ 28 กรรม มิใช่ 5 กรรม แต่โจทก์มิได้ฎีกาในปัญหานี้ ศาลฎีกาเห็นสมควรปรับบทลงโทษจำเลยให้ถูกต้อง แต่ไม่อาจกำหนดโทษเพิ่มเติม เพราะจะเป็นการพิพากษาเพิ่มเติมโทษจำเลยซึ่งต้องห้ามตาม ป.วิ.อ. มาตรา 212 ประกอบด้วยมาตรา 225

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341, 342, 264, 265, 268, 91 และสั่งให้จำเลยคืนหรือใช้ราคาทรัพย์ที่ยังไม่ได้คืนแก่ผู้เสียหายจำนวน 54,228 บาท
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 265, 268 วรรคแรก ประกอบมาตรา 265, 342 (1) การกระทำของจำเลยเป็นการกระทำกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท และจำเลยเป็นผู้ปลอมเอกสารสิทธิและใช้เอกสารสิทธิปลอม จึงให้ลงโทษฐานใช้เอกสารสิทธิปลอม ซึ่งเป็นกฎหมายที่มีโทษหนักที่สุดเพียงมาตราเดียว ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 และมาตรา 268 วรรคสอง (ที่ถูก ความผิดฐานปลอมเอกสารสิทธิและใช้เอกสารสิทธิปลอมให้ลงโทษตามมาตรา 268 วรรคแรก ประกอบด้วยมาตรา 265 ตามมาตรา 268 วรรคสอง แต่กระทงเดียว และความผิดฐานฉ้อโกงกับความผิดฐานใช้เอกสารสิทธิปลอมเป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามมาตรา 268 วรรคแรก ประกอบด้วยมาตรา 265 ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90) จำเลยกระทำความผิด 5 วัน รวมเป็นสินค้าจำนวน 28 รายการ จึงเป็นความผิด 5 กรรมต่างกัน ไม่ใช่ความผิด 28 กรรมดังโจทก์ฟ้อง ให้เรียงกระทงลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไป ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 รวม 5 กระทง จำคุกกระทงละ 3 ปี รวมเป็นจำคุก 15 ปี คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำคุกกระทงละ 1 ปี รวมจำคุก 5 ปี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งลงชื่อในคำพิพากษาศาลอุทธรณ์อนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงรับฟังได้เป็นยุติในชั้นนี้โดยคู่ความไม่โต้แย้งคัดค้านว่า จำเลยกระทำผิดตามที่ศาลอุทธรณ์พิพากษา มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า มีเหตุสมควรรอการลงโทษให้แก่จำเลยหรือไม่ เห็นว่า ธุรกรรมบัตรเครดิตต้องอาศัยความไว้เนื้อเชื่อใจต่อกัน เพื่อให้เงินทุนหมุนเวียนเกิดสภาพคล่องทางเศรษฐกิจเป็นผลดีแก่ประเทศชาติ การที่จำเลยหลอกลวงนางสาวสุวิมล ให้ส่งมอบบัตรเครดิตของนางสาวสุวิมลให้แก่ตนจากนั้นนำบัตรเครดิตของนางสาวสุวิมลไปแสดงต่อผู้เสียหายว่าเป็นของตน แล้วดำเนินการปลอมบันทึกรายการขายและใช้บันทึกรายการขายกับผู้เสียหายในคดีนี้เป็นจำนวนมากถึง 28 ฉบับ และทางพิจารณาปรากฏว่าจำเลยนำบัตรเครดิตของนางสาวสุวิมลไปใช้กับร้านค้าอื่น ทั้งยังนำบัตรเครดิตของผู้อื่นไปใช้ทำนองเดียวกับการนำบัตรเครดิตของนางสาวสุวิมลไปใช้ดังเช่นนี้ การกระทำของจำเลยดังกล่าวมีผลกระทบต่อธุรกรรมบัตรเครดิตทำให้ธุรกรรมบัตรเครดิตขาดความเชื่อถือส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศนอกจากนี้การกระทำของจำเลยที่ปลอมบันทึกรายการขายและใช้บันทึกรายการขาย 28 ฉบับ แม้จะทำเพียง 5 วัน โดยกระทำการเมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 2539 จำนวน 5 ฉบับ วันที่ 16 สิงหาคม 2539 จำนวน 4 ฉบับ วันที่ 17 สิงหาคม 2539 จำนวน 7 ฉบับ วันที่ 18 สิงหาคม 2539 จำนวน 8 ฉบับ และวันที่ 20 สิงหาคม 2539 จำนวน 4 ฉบับ แม้ในแต่ละวันจะกระทำต่อผู้เสียหายคนเดียวกันก็จะถือว่าการกระทำแต่ละวันเป็นการกระทำกรรมเดียวไม่ใช่การกระทำหลายกรรม เป็นการกระทำ 5 กรรมดังที่ศาลชั้นต้นพิพากษาไม่ เพราะโดยสภาพของการกระทำจำเลยต้องทำบันทึกรายการขายทีละฉบับ ทั้งจำเลยยังได้แสดงเจตนาต่อผู้เสียหายว่าประสงค์ที่จะทำแต่ละฉบับแยกประเภทสินค้าต่างหากจากกันโดยไม่ประสงค์ที่จะทำบันทึกรายการขายรวมสินค้าในแต่ละวันทั้งๆ ที่สามารถทำได้ การกระทำของจำเลยจึงเป็นการกระทำหลายกรรมในแต่ละวันรวม 28 กรรม ที่ศาลชั้นต้นลงโทษจำเลยเพียง 5 กรรม และศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ให้ลงโทษเพียงกระทงละ 1 ปี นับว่าเป็นคุณแก่จำเลยมากแล้ว ข้อที่จำเลยอ้างว่ามีบุตรต้องเลี้ยงดู 2 คน และต้องอุปการะเลี้ยงดูบิดามารดานั้น เห็นว่า บุตร 2 คนซึ่งมีบิดารับราชการเป็นทหารมียศถึงพลตรี ส่วนบิดามารดาก็ยังมีพี่น้องของจำเลย ซึ่งบุคคลเหล่านั้นย่อมสามารถจะอุปการะเลี้ยงดูบุตรและบิดามารดาของจำเลยได้ ข้ออ้างของจำเลยดังกล่าวจึงไม่มีเหตุผลและน้ำหนักเพียงพอที่จะรอการลงโทษ ที่ศาลล่างทั้งสองไม่รอการลงโทษให้แก่จำเลยชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น
อนึ่ง ปัญหาว่าการกระทำของจำเลยในแต่ละวันเป็นการกระทำกรรมเดียวหรือหลายกรรมเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้โจทก์จะมิได้ฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบด้วยมาตรา 225 การกระทำของจำเลยเป็นการกระทำ 28 กรรม มิใช่ 5 กรรม ดังวินิจฉัยมาแล้วข้างต้น แต่โจทก์มิได้ฎีกาในปัญหานี้ศาลฎีกาเห็นสมควรปรับบทลงโทษจำเลยให้ถูกต้อง แต่ไม่อาจกำหนดโทษเพิ่มเติมเพราะจะเป็นการพิพากษาเพิ่มเติมโทษจำเลยซึ่งต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 212 ประกอบด้วยมาตรา 225”
พิพากษาแก้เป็นว่า การกระทำของจำเลยเป็นการกระทำ 28 กรรม นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share