แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
การจ่ายเงินค่าทดแทนการใช้ที่ดินตาม พ.ร.บ.การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยฯ มาตรา 30 บัญญัติไว้เพียงว่า ให้จำเลยจ่ายเงินค่าทดแทนตามความเป็นธรรมแก่เจ้าของหรือผู้ครอบครองทรัพย์สิน แต่มิได้บัญญัติถึงรายละเอียดของหลักเกณฑ์ที่จะให้นำมาใช้ในการกำหนด และจ่ายเงินค่าทดแทนอย่างเป็นธรรมไว้เหมือนอย่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ฯ มาตรา 21 วรรคหนึ่ง ที่บัญญัติหลักเกณฑ์ไว้ว่า ให้กำหนดโดยคำนึงถึง (1) ถึง (5) แต่โดยที่ พ.ร.บ.ทั้งสองฉบับดังกล่าวต่างมีเจตนารมณ์ที่จะจ่ายเงินค่าทดแทนที่เป็นธรรมให้แก่เจ้าของหรือผู้ครอบครองทรัพย์สินเช่นเดียวกัน ดังนั้น การที่จะกำหนดและจ่ายเงินค่าทดแทนการใช้ที่ดินตามความเป็นธรรมตาม พ.ร.บ.การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยฯ มาตรา 30 ก็ควรคำนึงถึงหลักเกณฑ์ทำนองเดียวกับที่บัญญัติไว้ใน พ.ร.บ.ว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ฯ มาตรา 21 วรรคหนึ่ง (1) ถึง (5) เพื่อใช้เป็นฐานในการกำหนดเงินค่าทดแทนการใช้ที่ดินแก่เจ้าของหรือผู้ครอบครองทรัพย์สิน
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงินค่าทดแทน จำนวน 3,730,103 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ในต้นเงิน 3,655,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยให้การว่า ราคาที่คณะกรรมการกำหนดค่าทดแทนทรัพย์สินจังหวัดนนทบุรีกำหนดให้แก่โจทก์มีราคาสูงกว่าราคาที่ซื้อขายกันโดยทั่วไป เงินค่าทดแทนการใช้ที่ดินที่จำเลยกำหนดให้โจทก์เหมาะสมและเป็นธรรมแล้ว ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน จำนวน 1,790,640 บาท แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยในอัตราสูงสุดของดอกเบี้ยเงินฝากประเภทฝากประจำของธนาคารออมสินในจำนวนเงินดังกล่าวนับแต่วันที่ 8 มิถุนายน 2542 จนกว่าจะชำระเสร็จ ทั้งนี้อัตราดอกเบี้ยต้องไม่เกินอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ตามคำขอของโจทก์กับให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ เฉพาะค่าขึ้นศาลให้ใช้แทนตามทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดีโดยกำหนดค่าทนายความ 5,000 บาท
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษากลับให้ยกฟ้อง ให้โจทก์ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลแทนจำเลย โดยกำหนดค่าทนายความรวม 10,000 บาท
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาคณะคดีปกครองวินิจฉัยว่า “…พิเคราะห์แล้ว ศาลชั้นต้นไม่ได้กำหนดเงินค่าทดแทนการใช้ที่ดินนอกเขตเดินสายไฟฟ้าเนื้อที่ 93.40 ตารางวา เพิ่มขึ้นให้แก่โจทก์ และโจทก์มิได้อุทธรณ์ในประเด็นดังกล่าว ในชั้นฎีกาคงมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า โจทก์ควรได้รับเงินค่าทดแทนการใช้ที่ดินที่ถูกเขตเดินสายส่งไฟฟ้าพาดผ่านเนื้อที่ 1 ไร่ 3 งาน 56.60 ตารางวา เท่ากับอัตราเงินค่าทดแทนการใช้ที่ดินที่ศาลชั้นต้นกำหนดให้หรือไม่เพียงใด เห็นว่า การจ่ายเงินค่าทดแทนการใช้ที่ดินพระราชบัญญัติการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2511 มาตรา 30 บัญญัติไว้เพียงว่า ให้จำเลยจ่ายเงินค่าทดแทนตามความเป็นธรรมแก่เจ้าของหรือผู้ครอบครองทรัพย์สินแต่มิได้บัญญัติถึงรายละเอียดของหลักเกณฑ์ที่จะให้นำมาใช้ในการกำหนดและจ่ายเงินค่าทดแทนอย่างเป็นธรรมไว้เหมือนอย่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 มาตรา 21 วรรคหนึ่งที่บัญญัติหลักเกณฑ์ไว้ว่าให้กำหนดโดยคำนึงถึง (1) ถึง (5) แต่โดยที่พระราชบัญญัติทั้งสองฉบับดังกล่าวต่างมีเจตนารมณ์ที่จะจ่ายเงินค่าทดแทนที่เป็นธรรมให้แก่เจ้าของหรือผู้ครอบครองทรัพย์สินเช่นเดียวกัน ดังนั้น การที่จะกำหนดและจ่ายเงินค่าทดแทนการใช้ที่ดินตามความเป็นธรรมตามพระราชบัญญัติการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2511 มาตรา 30 ก็ควรคำนึงถึงหลักเกณฑ์ทำนองเดียวกับที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 มาตรา 21 วรรคหนึ่ง (1) ถึง (5) เพื่อใช้เป็นหลักฐานในการกำหนดเงินค่าทดแทนการใช้ที่ดินแก่เจ้าของหรือผู้ครอบครองทรัพย์สิน ที่โจทก์ฎีกาว่า แม้โจทก์จะไม่เสียไปซึ่งกรรมสิทธิ์ในที่ดินแต่ก็ไม่สามารถใช้ประโยชน์ในที่ดินที่ได้มีการพัฒนาให้มีสาธารณูปโภคขึ้น หากไม่มีการเวนคืนที่ดินจากจำเลย ที่ดินของโจทก์ทั้งหกแปลงจะต้องมีราคาสูงขึ้นเรื่อย ๆ ความเสียหายของโจทก์จึงมากกว่าความเสียหายที่เกิดจากการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ที่ต้องสูญเสียไปซึ่งกรรมสิทธิ์ในที่ดินนั้น เห็นว่า เป็นการคาดคะเนของโจทก์เองซึ่งเป็นเรื่องของอนาคตไม่แน่นอนว่าจะเป็นดังที่โจทก์ว่า หรือที่ดินอาจจะมีราคาตกต่ำลงก็เป็นได้ทั้งที่ดินยังเป็นของโจทก์อยู่จึงไม่ควรที่โจทก์จะได้รับเงินค่าทดแทนการใช้ที่ดินเต็มราคาที่ดินทั้งหมด ส่วนที่โจทก์ฎีกาว่า การที่คณะกรรมการกำหนดค่าทดแทนทรัพย์สินจังหวัดนนทบุรี กำหนดเงินค่าทดแทนการใช้ที่ดินให้ตามราคาประเมินทุนทรัพย์เพื่อเรียกเก็บค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมเกี่ยวกับที่ดินของสำนักงานที่ดินจังหวัดนนทบุรีที่ประกาศใช้ในปี 2539 ถึงปี 2542 และปรับเพิ่มอีกร้อยละ 50 เพื่อเป็นฐานในการคำนวณกำหนดเงินค่าทดแทนการใช้ที่ดินของโจทก์นั้น ไม่ใช่ราคาซื้อขายที่แท้จริง เพราะตามสัญญาซื้อขายซึ่งเป็นการซื้อขายที่ดินที่ตั้งอยู่ใกล้เคียงกันกับที่ดินของโจทก์ ระหว่างนายเสรี ผู้ขาย กับนางสาวรัตน์ชนก ผู้ซื้อ เมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2540 ราคาตารางวาละ 5,000 บาทนั้น เห็นว่า กรณีการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์วันอันเป็นฐานที่ตั้งในการพิจารณาราคาของอสังหาริมทรัพย์และสภาพและที่ตั้งของอสังหาริมทรัพย์ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 มาตรา 21 วรรคหนึ่ง (1) ถึง (4) วันใช้บังคับพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืน อันเป็นวันเริ่มต้นของการกำหนดแนวเขตที่ดินที่จะเวนคืนมีผลใช้บังคับ เมื่อเทียบกันกับกรณีในคดีนี้วันอันเป็นฐานที่ตั้งในการพิจารณาราคาของอสังหาริมทรัพย์และสภาพและที่ตั้งของอสังหาริมทรัพย์ที่อยู่ในแนวเขตเดินสายส่งไฟฟ้าคือวันที่ประกาศกำหนดเขตสำรวจทั่วไปเพื่อเลือกแนวหรือที่ตั้งระบบไฟฟ้าในราชกิจจานุเบกษาตามมาตรา 28 (2) (ข) แห่งพระราชบัญญัติการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2511 ซึ่งจำเลยได้ประกาศเรื่องกำหนดเขตสำรวจสายส่งไฟฟ้าขนาด 500 กิโลโวลต์ จากสถานีไฟฟ้าย่อยราชบุรี 3 ไปยังสถานีไฟฟ้าย่อยไทรน้อย ในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2537 และประกาศเรื่อง กำหนดเขตสำรวจสายสงไฟฟ้าขนาด 500 กิโลโวลต์ จากจุดแยกสถานีไฟฟ้าย่อยไทรน้อย (บริเวณอำเภอไทรน้อย จังหวัดนนทบุรี) ไปยังสถานีไฟฟ้าย่อยวังน้อย เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2537 ดังนั้น วันที่พิจารณาถึงราคาของอสังหาริมทรัพย์และสภาพและที่ตั้งของที่ดินของโจทก์ซึ่งอยู่ในเขตสำรวจสายส่งไฟฟ้าสองสายนี้ คือ วันที่ 8 พฤศจิกายน 2537 และวันที่ 1 ธันวาคม 2537 ตามลำดับ จึงไม่อาจนำราคาซื้อขายที่ดินที่ซื้อขายกันเมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2540 อันเป็นเวลาภายหลังประกาศราชกิจจานุเบกษาทั้งสองฉบับดังกล่าวนานถึง 3 ปี มาเป็นฐานในการกำหนดเงินค่าทดแทนการใช้ที่ดินของโจทก์เลยทีเดียว และที่โจทก์อ้างว่า คณะอนุกรรมการตรวจสอบทรัพย์สินอำเภอไทรน้อย จังหวัดนนทบุรี ยังกำหนดเงินค่าทดแทนการใช้ที่ดินแก่โจทก์ตารางวาละ 6,000 บาท ซึ่งคณะอนุกรรมการฯ ดังกล่าวแต่งตั้งโดยคณะกรรมการการกำหนดเงินค่าทดแทนทรัพย์สิน จังหวัดนนทบุรี คณะอนุกรรมการฯ ดังกล่าวประกอบด้วยนายอำเภอไทรน้อย นายช่างโยธาสุขาภิบาล เกษตรอำเภอไทรน้อย กำนันตำบลคลองขวาง กำนันตำบลราษฎร์นิยม กำนันตำบลขุนศรี กำนันตำบลไทรน้อย กำนันตำบลไทรใหญ่ และพนักงานวิชาชีพระดับ 6 (กฟผ.) ฯลฯ บุคคลเหล่านั้นอยู่ใกล้ชิดกับท้องที่ที่ดินตั้งอยู่ การกำหนดเงินค่าทดแทนจึงน่าจะใกล้เคียงกับราคาที่แท้จริง ราคาที่ดินของโจทก์จึงน่าจะมีราคาตารางวาละ 6,000 บาท นั้น เห็นว่า การพิจารณาของคณะอนุกรรมการฯ เป็นเพียงการพิจารณาในเบื้องต้นยังต้องนำเข้าพิจารณาในระดับคณะกรรมการฯ และการอนุมัติของจำเลยอีกเพราะยังมีปัจจัยอื่นที่ต้องพิจารณาทั้งโครงการซึ่งผ่านหลายท้องที่ จึงต้องพิจารณาถึงคณะอนุกรรมการฯ ชุดอื่นหรือท้องที่อื่นที่สายไฟฟ้าพาดผ่านด้วย เหตุผลตามฎีกาของโจทก์เพียงเท่านี้จึงไม่สามารถที่จะยืนยันแน่ชัดว่าที่ดินของโจทก์มีราคาที่ซื้อขายกันตามปกติในท้องตลาดในราคาดังกล่าวเช่นกัน แต่อย่างไรก็ตามเมื่อพิจารณาจากพยานหลักฐานของคู่ความที่นำสืบในสำนวนปรับเข้ากับหลักเกณฑ์ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 มาตรา 21 วรรคหนึ่ง (1) ถึง (5) ดังที่กล่าวมาแล้ว เห็นว่า ราคาที่เหมาะสมและเป็นธรรมต่อโจทก์และสังคมคือตารางวาละ 4,100 บาท มาเป็นฐานในการคำนวณกำหนดเงินค่าทดแทนการใช้ที่ดินให้แก่โจทก์โดยที่ที่ดินนั้นยังเป็นของโจทก์อยู่ ศาลฎีกาจึงเห็นด้วยกับที่จำเลยให้ถือจ่ายในอัตราร้อยละ 90 ของราคาที่ดินที่กำหนด เมื่อศาลฎีกากำหนดให้ตารางวาละ 4ล100 บาท โจทก์จึงมีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทนการใช้ที่ดินในอัตราตารางวาละ 3,690 บาท ที่ดินของโจทก์ถูกสายไฟฟ้าพาดผ่านเนื้อที่ 1 ไร่ 3 งาน 56.60 ตารางวา เป็นเงิน 2,791,854 บาท จำเลยชำระเงินส่วนนี้แล้ว เป็นเงิน 2,042,820 บาท ดังนั้น จำเลยต้องชำระเพิ่มแก่โจทก์อีก 749,034 บาท”
พิพากษากลับ ให้จำเลยชำระเงินจำนวน 749,034 บาท แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยในอัตราสูงสุดของดอกเบี้ยเงินฝากประเภทฝากประจำของธนาคารออมสินแต่ไม่เกินอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ตามคำขอของโจทก์ นับแต่วันที่ 8 มิถุนายน 2542 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ กับให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมในศาลชั้นต้นและในชั้นฎีกาแทนโจทก์ เฉพาะค่าขึ้นศาลให้ใช้ตามทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดีในชั้นฎีกา โดยกำหนดค่าทนายความรวม 15,000 บาท ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ