คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6286/2553

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

พ.ร.บ.มาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 มาตรา 3 และมาตรา 27 มิได้บัญญัติถึงรายละเอียดที่เกี่ยวกับเงินหรือทรัพย์สินเกี่ยวกับการกระทำผิดว่าจะต้องระบุว่าเป็นเงินจำนวนเท่าใดแน่นอนลงไป ดังนั้น โจทก์จึงไม่จำเป็นที่ต้องบรรยายถึงจำนวนเงินที่เหลืออยู่ในบัญชีเงินฝากในคำร้อง แต่เป็นรายละเอียดที่สามารถนำสืบในชั้นพิจารณา คำร้องของโจทก์จึงสมบูรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158 (5)

ย่อยาว

โจทก์ทั้งสองสำนวนฟ้องและยื่นคำร้องขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 4, 7, 8, 15, 66, 102 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 58, 83, 91 ริบของกลาง บวกโทษจำคุกจำเลยที่ 2 ที่รอการลงโทษไว้ในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 51/2544 ของศาลจังหวัดสุราษฎร์ธานี เข้ากับโทษของจำเลยที่ 2 ในคดีนี้ และขอให้ริบทรัพย์สินของจำเลยที่ 1 จำนวน 8 รายการ ตามเอกสารท้ายคำร้องตามพระราชบัญญัติมาตการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 มาตรา 27, 29, 31
จำเลยทั้งสองให้การขอให้ยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาและมีคำสั่งว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคสาม (2), 66 วรรคสาม พระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 มาตรา 29, 31 จำเลยที่ 2 มีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคสาม (2), 66 วรรคสอง ลงโทษประหารชีวิตจำเลยที่ 1 ส่วนจำเลยที่ 2 ให้จำคุก 12 ปี และปรับ 450,000 บาท จำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพในชั้นจับกุมและชั้นสอบสวนเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ลดโทษให้คนละหนึ่งในสาม สำหรับจำเลยที่ 1 ประกอบมาตรา 52 (1) แห่งประมวลกฎหมายอาญาแล้ว คงจำคุกจำเลยที่ 1 ตลอดชีวิต ส่วนจำเลยที่ 2 คงจำคุก 8 ปี และปรับ 300,000 บาท บวกโทษจำคุก 6 เดือน ที่รอการลงโทษไว้ในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 51/2544 ของศาลจังหวัดสุราษฎร์ธานี เข้ากับโทษของจำเลยที่ 2 ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 58 วรรคหนึ่ง คงจำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 8 ปี 6 เดือน และปรับ 300,000 บาท ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 ริบเมทแอมเฟตามีนของกลาง และให้ริบทรัพย์สินรายการที่ 2 ถึงที่ 6 ตามเอกสารท้ายคำร้องให้ตกเป็นของกองทุนป้องกันและปราบปรามยาเสพติด ส่วนทรัพย์สินรายการที่ 1 และที่ 7 ตามเอกสารท้ายคำร้องให้คืนแก่จำเลยที่ 1 และให้ยกคำร้องขอของโจทก์ในคดีหมายเลขดำที่ ม.157/2546 เฉพาะส่วนทรัพย์สินรายการที่ 8
โจทก์และจำเลยที่ 1 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดฐานร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีนจำนวน 370 เม็ด ไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายด้วย และให้ริบทรัพย์สินรายการที่ 8 ตามเอกสารท้ายคำร้องให้ตกเป็นของกองทุนป้องกันและปราบปรามยาเสพติด นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยที่ 1 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ตามพระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 มาตรา 3 ให้คำนิยามคำว่า ทรัพย์สินที่เกี่ยวเนื่องกับการกระทำความผิด หมายความว่า เงินหรือทรัพย์สินที่ได้รับมาเนื่องจากการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด และให้หมายความรวมถึงเงินหรือทรัพย์สินที่ได้มาโดยการใช้เงินหรือทรัพย์สินดังกล่าว ซื้อหรือกระทำไม่ว่าด้วยประการใด ๆ ให้เงินหรือทรัพย์สินนั้นเปลี่ยนสภาพไปจากเดิม ไม่ว่าจะมีการเปลี่ยนสภาพกี่ครั้ง และไม่ว่าเงินหรือทรัพย์สินนั้นจะอยู่ในความครอบครองของบุคคลอื่นโอนไปเป็นของบุคคลอื่นหรือปรากฏตามหลักฐานทางทะเบียนว่าเป็นของบุคคลอื่นก็ตามและมาตรา 27 บัญญัติว่า เมื่อพนักงานอัยการมีคำสั่งฟ้อง และทรัพย์สินที่คณะกรรมการมีคำสั่งให้ยึดหรืออายัดตามมาตรา 22 เป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวเนื่องกับการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด ก็ให้พนักงานอัยการยื่นคำร้องเพื่อขอให้ศาลสั่งริบทรัพย์สินนั้นโดยจะยื่นคำร้องไปพร้อมกับคำฟ้องหรือในเวลาใด ๆ ก่อนศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาก็ได้… ดังนั้น โจทก์จึงไม่จำเป็นที่ต้องบรรยายถึงจำนวนเงินที่เหลืออยู่ในบัญชีดังกล่าวในคำร้องแต่เป็นรายละเอียดที่สามารถนำสืบในชั้นพิจารณา คำร้องของโจทก์จึงสมบูรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158 (5)
พิพากษายืน

Share