คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2351/2552

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

ความผิดตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี พ.ศ.2539 มาตรา 9 วรรคหนึ่ง ที่พนักงานสอบสวนแจ้งเป็นข้อหาแก่จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 ในชั้นสอบสวนมีองค์ประกอบครอบคลุมความผิดตาม ป.อ. มาตรา 282 วรรคแรกอยู่แล้ว ดังนั้น การที่พนักงานสอบสวนแจ้งข้อหาดังกล่าวจึงถือได้ว่า พนักงานสอบสวนได้แจ้งข้อหาตาม ป.อ. มาตรา 282 วรรคแรกด้วยแล้ว จึงมีการสอบสวนความผิดฐานนี้โดยชอบเป็นผลให้พนักงานอัยการฟ้องจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 ในความผิดดังกล่าวในคดีนี้ได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 282, 83, 91 พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี พ.ศ.2539 มาตรา 4, 9 พระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ.2522 มาตรา 64
จำเลยทั้งสี่ให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสี่มีความผิดตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี พ.ศ.2539 มาตรา 9 วรรคหนึ่ง และวรรคห้า ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 282, 86, 83 เป็นความผิดกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบทลงโทษตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี พ.ศ.2539 ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุกจำเลยทั้งสี่คนละ 3 ปี ข้อหาอื่นสำหรับจำเลยที่ 1 ให้ยก
จำเลยทั้งสี่อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยทั้งสี่มีความผิดตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี พ.ศ.2539 มาตรา 9 วรรคท้าย ประกอบวรรคหนึ่ง ประมวลกฎหมายอาญา มาตา 282 วรรคแรก ประกอบมาตรา 86 จำคุกจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 คนละ 1 ปี จำเลยที่ 3 ลดมาตราส่วนโทษลงหนึ่งในสาม ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 76 จำคุกจำเลยที่ 3 มีกำหนด 8 เดือน โทษจำคุกสำหรับจำเลยที่ 3 ให้รอการลงโทษไว้ 2 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 ฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงในเบื้องต้นรับฟังเป็นยุติได้ว่าตามวันเวลาเกิดเหตุในฟ้อง เจ้าพนักงานตำรวจได้ไปที่ร้านอาหารโพธิ์พระยาปลาเผาที่เกิดเหตุของนายดำหริ และจับกุมจำเลยทั้งสี่กับหญิงสาวซึ่งเป็นคนต่างด้าวอีกหลายคนที่อยู่ในที่เกิดเหตุไปสถานีตำรวจกล่าวหาว่า จำเลยทั้งสี่ร่วมกันเป็นธุระจัดหา ล่อไป หรือชักพาไปซึ่งบุคคลใดเพื่อให้บุคคลนั้นกระทำการค้าประเวณีแม้บุคคลนั้นจะยินยอมก็ตาม ชั้นจับกุมและชั้นสอบสวนจำเลยทั้งสี่ให้การปฏิเสธ มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 ข้อแรกว่า เจ้าหนักงานตำรวจและพนักงานสอบสวนไม่ได้แจ้งข้อหาความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 282 ในชั้นจับกุมและชั้นสอบสวนตามเอกสารบันทึกการจับกุมและคำให้การผู้ต้องหาชั้นสอบสวน พนักงานอัยการจึงไม่มีอำนาจฟ้องในความผิดฐานนี้ เห็นว่าความผิดตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี พ.ศ.2539 มาตรา 9 วรรคหนึ่ง ที่พนักงานสอบสวนแจ้งเป็นข้อหาแก่จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 ในชั้นสอบสวนมีองค์ประกอบครอบคลุมความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 282 วรรคแรกอยู่แล้ว ดังนั้น การที่พนักงานสอบสวนแจ้งข้อหาดังกล่าวจึงถือได้ว่าพนักงานสอบสวนได้แจ้งข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 282 วรรคแรกด้วยแล้ว จึงมีการสอบสวนความผิดฐานนี้โดยชอบ เป็นผลให้พนักงานอัยการฟ้องจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 ในความผิดดังกล่าวในคดีนี้ได้ และเห็นว่าโจทก์ได้บรรยายในฟ้องด้วยว่า เหตุคดีนี้เกิดที่ตำบลวังยาว อำเภอศรีประจันต์ จังหวัดสุพรรณบุรี ก็เป็นที่เข้าใจได้โดยทั่วไปแล้วว่าเหตุเกิดในประเทศไทย จึงไม่จำต้องบรรยายถ้อยคำว่า “และไม่ว่า การกระทำต่างๆ อันประกอบเป็นความผิดนั้นจะได้กระทำภายในหรือนอกราชอาณาจักร” ให้ครบถ้วนตามประราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี พ.ศ.2539 มาตรา 9 วรรคหนึ่ง อีก
มีปัญหาต้องวินิจฉัยต่อไปว่า จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 กระทำความผิดตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 7 หรือไม่ โจทก์มีร้อยตำรวจเอกชำนาญ สิบตำรวจเอกชาญวิทย์ และสิบตำรวจตรีเอนก เจ้าพนักงานตำรวจที่ร่วมวางแผนและจับกุมจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 มาเบิกความในทำนองเดียวกันว่า เจ้าพนักงานตำรวจวางแผนให้สิบตำรวจเอกชาญวิทย์ สิบตำรวจตรีเอนก และพลตำรวจอุเทน ปลอมตัวเข้าไปซื้อบริการทางเพศในร้านอาหารโพธิ์พระยาปลาเผาที่เกิดเหตุ สิบตำรวจเอกชาญวิทย์และสิบตำรวจตรีเอนกเบิกความทำนองเดียวกันว่า พยานทั้งสองกับพลตำรวจอุเทนเข้าไปนั่งที่โต๊ะอาหารในร้านเกิดเหตุ จำเลยที่ 4 นำเบียร์และน้ำแข็งมาให้แล้วถามว่าต้องการหญิงบริการหรือไม่ แล้วพาหญิงสาว 2 คนมานั่งที่โต๊ะของพยานทั้งสองกับพวก สิบตำรวจเอกชาญวิทย์แสดงอาการไม่ถูกใจ จำเลยที่ 4 ไปหาจำเลยที่ 3 ที่นั่งอยู่โต๊ะใกล้ๆ จำเลยที่ 3 พาหญิงสาว 3 คนมานั่งแทนหญิงสาว 2 คนเดิมที่ลุกออกไป เมื่อพยานทั้งสองกับพวกยังแสดงอาการว่าไม่พอใจอยู่อีก จำเลยที่ 3 จึงลุกไปหาจำเลยที่ 2 ที่นั่งอยู่ใกล้ๆ จำเลยที่ 2 พาหญิงสาวอีก 3 คนมานั่งแทนหญิงสาว 3 คนเดิมที่ลุกออกไปอีก จำเลยที่ 2 แจ้งว่าค้างคืนคิดค่าบริการ 1,500 บาท ค่าบริการชั่วคราว 400 บาท สิบตำรวจตรีเอนกเลือกนางสาวฝน พลตำรวจอุเทนเลือกนางสาวอิ๋ว สิบตำรวจเอกชาญวิทย์ได้มอบธนบัตรฉบับละ 500 บาท 2 ฉบับ ที่ได้ถ่ายสำเนาและลงบันทึกประจำวันไว้เป็นหลักฐานก่อนแล้วให้จำเลยที่ 2 ที่นำไปให้จำเลยที่ 1 ซึ่งนั่งอยู่ที่เคาน์เตอร์ จำเลยที่ 1 มอบเงิน 200 บาท ให้จำเลยที่ 2 นำมาทอนคืนให้กับสิบตำรวจเอกชาญวิทย์ จากนั้นนางสาวฝนกับนางสาวอิ๋วพาสิบตำรวจตรีเอนกและพลตำรวจอุเทนไปที่ห้องเล็กๆ ภายในมีเตียง ฟูก และโต๊ะเครื่องแป้งที่มีอยู่หลายห้องด้านหลังร้านเกิดเหตุ สิบตำรวจเอกชาญวิทย์เบิกความอีกว่า จากนั้นพยานไปเข้าห้องน้ำและใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่แจ้งให้ร้อยตำรวจเอกชำนาญกับพวกพากันเข้าตรวจค้นจับกุมจำเลยทั้งสี่กับหญิงสาว 8 ถึง 9 คน ในร้านเกิดเหตุ กับยึดได้ธนบัตรฉบับละ 500 บาท 2 ฉบับ ที่สิบตำรวจเอกชาญวิทย์มอบให้จำเลยที่ 2 ไปอยู่ในลิ้นชักโต๊ะแคชเชียร์ที่เคาน์เตอร์เป็นของกลางเห็นว่า พยานโจทก์ทั้งสามปากเป็นเจ้าพนักงานตำรวจไม่ปรากฏว่าเคยมีสาเหตุโกรธเคืองกับจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 มาก่อน ได้เบิกความถึงการปฏิบัติหน้าที่ราชการของตนตามที่รับมอบหมายจากผู้บังคับบัญชา ไม่มีเหตุอันควรสงสัยว่าจะกลั่นแกล้งจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 จึงเชื่อว่าเบิกความตามจริง จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 เบิกความว่า ได้เข้าทำงานในร้านเกิดเหตุตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2544 ซึ่งเป็นวันก่อนเกิดเหตุถึง 2 วัน จึงน่าที่จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 จะได้เห็นพฤติการณ์และรู้ได้ว่าหญิงสาวที่ถูกจับกุมในร้านเกิดเหตุพร้อมกันด้วยนั้นค้าประเวณี เมื่อพิจารณาประกอบกับพฤติกรรมของจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 ในวันเกิดเหตุตามที่พยานโจทก์เบิกความมาแล้วข้างต้นเชื่อได้ว่าจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 ได้รู้เห็นสนับสนุนการจัดหาเพื่อการค้าประเวณีของหญิงสาวเหล่านั้นในที่เกิดเหตุด้วย และที่จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 ฎีกาว่า คดีนี้โจทก์ไม่ได้ฟ้องนายดำหริ เจ้าของร้านที่เกิดเหตุ และข้อเท็จจริงในทางพิจารณาฟังได้ว่า นายดำหริกระทำความผิดตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี พ.ศ.2539 มาตรา 11 จึงไม่อาจลงโทษจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 ในความผิดตามมาตรา 9 ได้ เห็นว่า นายดำหริไม่ได้ถูกจับกุมดำเนินคดีด้วยจึงไม่จำต้องบรรยายฟ้องเกี่ยวกับนายดำหริในคำฟ้องคดีนี้และเนื่องจากการกระทำผิดตามมาตรา 9 เกลื่อนกลืนอยู่ในความผิดตามมาตรา 11 อยู่แล้ว ดังนั้น แม้โจทก์ไม่ได้ฟ้องนายดำหริมาด้วย ศาลก็ลงโทษจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 ในความผิดตามที่พิจารณาได้ความได้
มีปัญหาต่อไปว่า สมควรรอการลงโทษจำคุกจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 หรือไม่ เห็นว่า การกระทำความผิดคดีนี้มีผลกระทบต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน ขณะเกิดเหตุจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 อายุเกิน 20 ปีบริบูรณ์ถือได้ว่ามีความรู้สึกผิดชอบดีแล้ว ได้กระทำความผิดไปเพื่อประโยชน์ส่วนตนโดยไม่คำนึงถึงผลเสียหายที่จะกระทบต่อสังคมโดยส่วนรวม จึงไม่มีเหตุอันควรที่จะรอการลงโทษจำคุกให้ ส่วนฎีกาข้ออื่นๆ ของจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 ไม่ทำให้ผลของคำพิพากษาเปลี่ยนแปลงไป ศาลฎีกาจึงไม่วินิจฉัยในคำพิพากษา ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share