คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5666/2552

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

ระหว่างพิจารณาของศาลฎีกามี พ.ร.บ.ธุรกิจนำเที่ยวและมัคคุเทศก์ พ.ศ. 2551 มาตรา 3 บัญญัติว่า “ให้ยกเลิก (1) พ.ร.บ.ธุรกิจนำเที่ยวและมัคคุเทศก์ พ.ศ. 2535 (2) พ.ร.บ.ธุรกิจนำเที่ยวและมัคคุเทศก์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2545” โดยยกเลิกบทบัญญัติตามมาตรา 26 วรรคสอง, 60 ดังนั้นการฝ่าฝืนมาตรา 26 วรรคสอง, 60 แห่ง พ.ร.บ.ธุรกิจนำเที่ยวและมัคคุเทศก์ พ.ศ. 2535 จึงไม่ถือเป็นความผิดอีกต่อไปตาม ป.อ. มาตรา 2 วรรคสอง
พ.ร.บ. ธุรกิจนำเที่ยวและมัคคุเทศก์ พ.ศ. 2551 มาตรา 15, 80 ยังบัญญัติให้ความผิดฐานร่วมกันประกอบธุรกิจนำเที่ยวโดยไม่ได้รับใบอนุญาตตาม พ.ร.บ.ธุรกิจนำเที่ยวและมัคคุเทศก์ พ.ศ. 2535 มาตรา 14, 59 เป็นความผิดอยู่ แต่โทษปรับตามกฎหมายใหม่เป็นคุณมากกว่า จึงต้องใช้กฎหมายในส่วนที่เป็นคุณแก่จำเลยไม่ว่าในทางใด ตาม ป.อ. มาตรา 3

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม 2542 จำเลยที่ 1 ได้รับอนุญาตจากนายทะเบียนธุรกิจท่องเที่ยวและมัคคุเทศก์ จังหวัดภาคเหนือ ให้ประกอบธุรกิจท่องเที่ยว ประเภทในประเทศ แต่จะดำเนินธุรกิจดังกล่าวได้จะต้องวางเงินประกันเป็นเงิน 50,000 บาท ภายในวันที่ 24 มิถุนายน 2542 ก่อน แต่จำเลยที่ 1 ไม่ได้วางเงินประกันภายในกำหนดเวลาดังกล่าว นายทะเบียนธุรกิจท่องเที่ยวและมัคคุเทศก์จังหวัดภาคเหนือ จึงมีคำสั่งให้ยกเลิกการออกใบอนุญาตโดยได้แจ้งคำสั่งให้จำเลยทั้งสองทราบแล้ว ต่อมาระหว่างวันที่ 24 สิงหาคม 2542 ถึงวันที่ 7 กันยายน 2542 เวลากลางวันและกลางคืนต่อเนื่องกัน จำเลยที่ 2 ในฐานะกรรมการผู้จัดการของจำเลยที่ 1 ในฐานะส่วนตัวได้ร่วมกันประกอบธุรกิจนำเที่ยว ที่เลขที่ 191 ห้องที่ 5 ชั้น 2 อาคารสถานีรถไฟหัวลำโพง ถนนจรัสเมือง แขวงรองเมือง เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร โดยไม่ได้รับอนุญาตจากนายทะเบียน และในระหว่างวันที่ 1 มกราคา 2542 ถึงวันที่ 10 พฤศจิกายน 2542 เวลากลางวันต่อเนื่องกัน จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นผู้ประกอบธุรกิจนำเที่ยวได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจนำเที่ยว เลขที่ 22/0061 ใช้ชื่อเป็นภาษาไทยว่า เอส.เค.ทัวร์ และทราเวล ไม่ยื่นเอกสารในการโฆษณาการจัดบริการนำเที่ยวและรายละเอียดในการนำเทียวที่จะจัดในปี 2542 ให้แก่นายทะเบียนก่อนเผยแพร่ อันเป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมาย ต่อมาวันที่ 7 กันยายน 2542 เจ้าพนักงานทำการตรวจค้นและยึดได้ใบเสร็จรับเงินจำนวน 3 เล่ม แผ่นใบโฆษณารูปภาพสถานที่ท่องเที่ยว 1 แผ่น สมุดภาพแสดงสถานที่ท่องเที่ยว 1 เล่ม รายงานนำเที่ยว 1 เล่ม ที่จำเลยทั้งสองใช้ในการกระทำความผิดดังกล่าวเป็นของกลาง ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติธุรกิจนำเที่ยวและมัคคุเทศก์ พ.ศ. 2535 มาตรา 14,26, 59, 60 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33 ริบของกลาง
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดฐานร่วมกันประกอบธุรกิจนำเที่ยวโดยไม่ได้รับใบอนุญาต ตามพระราชบัญญัติธุรกิจนำเที่ยวและมัคคุเทศก์ พ.ศ. 2535 มาตรา 14, 59 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 ให้ลงโทษปรับจำเลยคนละ 100,000 บาท ส่วนจำเลยที่ 2 ยังมีความผิดฐานไม่ยื่นเอกสารในการโฆษณาการจัดบริการนำเที่ยวและรายละเอียดในการนำเที่ยวตามพระราชบัญญัติธุรกิจนำเที่ยวและมัคคุเทศก์ พ.ศ. 2535 มาตรา 26, 60 อีกกระทงหนึ่งด้วย ให้ปรับ 5,000 บาท รวมปรับจำเลยที่ 2 จำนวน 105,000 บาท หากจำเลยทั้งสองไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 แต่มิให้กักขังจำเลยที่ 2 แทนค่าปรับเกิน 2 ปี ริบของกลาง
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 เฉพาะเกี่ยวกับความผิดฐานไปยื่นเอกสารในการโฆษณาการจัดบริการนำเที่ยวหรือรายละเอียดในการนำเที่ยว ตามพระราชบัญญัติธุรกิจนำเที่ยวและมัคคุเทศก์ พ.ศ. 2535 มาตรา 26, 60 นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาโจทก์ว่า จำเลยที่ 2 กระทำความผิดฐานไม่ยื่นเอกสารในการโฆษณาการจัดบริการนำเที่ยวหรือรายละเอียดในการนำเที่ยวตามฟ้องหรือไม่ เห็นว่า ระหว่างพิจารณาของศาลฎีกามีพระราชบัญญัติธุรกิจนำเที่ยวและมัคคุเทศก์ พ.ศ. 2551 มาตรา 3 บัญญัติว่า “ให้ยกเลิก (1) พระราชบัญญัติธุรกิจนำเที่ยวและมัคคุเทศก์ พ.ศ. 2535 (2) พระราชบัญญัติธุรกิจนำเที่ยวและมัคคุเทศก์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2545″ โดยยกเลิกบทบัญญัติตามมาตรา 26 วรรคสอง, 60 ซึ่งเป็นบทบัญญัติที่เป็นความผิดตามฟ้องที่โจทก์ฎีกาขอให้ลงโทษจำเลยที่ 2 ดังนั้นการฝ่าฝืนมาตรา 26 วรรคสอง, 60 แห่งพระราชบัญญัติธุรกิจนำเที่ยวและมัคคุเทศก์ พ.ศ. 2535 จึงไม่ถือเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 2 วรรคสอง กรณีไม่จำต้องวินิจฉัยปัญหาตามฎีกาโจทก์อีกต่อไป
อนึ่ง พระราชบัญญัติธุรกิจนำเที่ยวและมัคคุเทศก์ พ.ศ. 2551 มาตรา 15, 80 ยังบัญญัติให้ความผิดฐานร่วมกันประกอบธุรกิจนำเที่ยวโดยไม่ได้รับใบอนุญาตตามพระราชบัญญัติธุรกิจนำเที่ยวและมัคคุเทศก์ พ.ศ. 2535 มาตรา 14, 59 เป็นความผิดอยู่แต่โทษปรับตามกฎหมายใหม่เป็นคุณมากกว่า จึงต้องใช้กฎหมายในส่วนที่เป็นคุณแก่จำเลยทั้งสองไม่ว่าในทางใด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 3 ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นอ้างและแก้ไขโดยปรับบทให้ถูกต้องได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามพระราชบัญญัติธุรกิจนำเที่ยวและมัคคุเทศก์ พ.ศ. 2551 มาตรา 15, 80 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share