แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
จำเลยซึ่งเป็นนายวงแชร์มีหน้าที่นำเช็คทั้งหกฉบับจากลูกวงแชร์ที่ยังประมูลแชร์ไม่ได้ไปมอบให้ผู้เสียหาย การที่จำเลยเอาเช็คตามฟ้องทั้งหกฉบับที่ลูกวงแชร์สั่งจ่ายให้ไปเรียกเก็บเงินในบัญชีของตนเอง เพื่อประโยชน์ของจำเลยโดยที่จำเลยไม่มีสิทธิ จึงเป็นความผิดฐานเอาไปเสียซึ่งเอกสารของผู้อื่นตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 188
จำเลยในฐานะนายวงแชร์มีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามข้อตกลงการเล่นแชร์ว่า เมื่อจำเลยได้เช็คจากลูกวงแชร์แล้วจะต้องนำเช็คไปมอบให้ ส. ซึ่งประมูลแชร์ได้ ดังนั้น การที่จำเลยรับเช็คตามฟ้องจึงเป็นการรับไว้แทน ส. เมื่อจำเลยนำเช็คไปเรียกเก็บเงินออกจากบัญชีจึงเป็นการครอบครองเงินของ ส. แล้วเบียดบังเอาเงินนั้นไป ส. จึงเป็นผู้เสียหายในความผิดฐานยักยอกเงินตามเช็ค
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยกระทำความผิดต่อกฎหมายหลายกรรมต่างกันกล่าวคือ เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2539 เวลากลางวัน ถึงวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2540 เวลากลางวันต่อเนื่องกัน จำเลยเป็นนายวงแชร์จัดให้มีการเล่นแชร์ที่มีทุนกองกลางต่อหนึ่งงวดรวมกันทุกวงเป็นมูลค่า 1,300,000 บาท ซึ่งมากกว่าจำนวน 300,000 บาท ตามที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวงอันเป็นการฝ่าฝืนกฎหมาย และเมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2540 เวลากลางวัน จำเลยเอาไปเสียซึ่งเอกสารเช็คจำนวน 6 ฉบับ ได้แก่ เช็คของธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) สาขาคลองสาน จำนวนเงิน 85,200 บาท ซึ่งนายวิเชียร สั่งจ่ายชำระเงินค่าแชร์ให้แก่นายสมชาย ผู้เสียหายเช็คธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) สาขาบรรทัดทอง จำนวนเงิน 85,200 บาท ซึ่งนายองอาจ สั่งจ่ายชำระเงินค่าแชร์ให้แก่ผู้เสียหาย เช็คของธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) สาขาตรอกจันทร์ จำนวนเงิน 85,200 บาท ซึ่งนายสุชาติสั่งจ่ายชำระค่าแชร์ให้แก่ผู้เสียหาย เช็คของธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) สาขาวังบูรพา จำนวนเงิน 85,200 บาท ซึ่งนายนิพนธ์ ตั้งจิตมุ่งมั่นสั่งจ่ายชำระเงินค่าแชร์ให้แก่ผู้เสียหาย เช็คของธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) สาขาตากสิน-ท่าพระ จำนวนเงิน 85,200 บาท ซึ่งผู้มีชื่อสั่งจ่ายชำระเงินค่าแชร์ให้แก่ผู้เสียหาย และเช็คของธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) สาขาถนนสุขสวัสดิ์ จำนวนเงิน 85,200 บาท ซึ่งผู้มีชื่อสั่งจ่ายชำระเงินค่าแชร์ให้แก่ผู้เสียหาย ในประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้เสียหายและบุคคลผู้สั่งจ่ายเช็ค จากนั้นจำเลยนำเอาเช็คทั้งหกฉบับดังกล่าวไปเข้าบัญชีของจำเลยเพื่อเรียกเก็บเงิน แล้วจำเลยซึ่งเป็นผู้ครอบครองเงินจำนวน 511,200 บาท ของผู้เสียหายได้เบียดบังเอาเป็นของจำเลยโดยทุจริต ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91, 188, 352 พระราชบัญญัติเล่นแชร์ พ.ศ.2534 มาตรา 6, 17 ให้จำเลยคืนเงินจำนวน 511,200 บาท แก่ผู้เสียหาย
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติการเล่นแชร์ พ.ศ.2534 มาตรา 6 (3), 17 วางโทษจำคุก 6 เดือน คำให้การชั้นจับกุม ชั้นสอบสวน และคำเบิกความของจำเลยเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ลดโทษให้หนึ่งในสามคงจำคุก 4 เดือน ข้อหาอื่นและคำขออื่นให้ยก
โจทก์และจำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดฐานเอาไปเสียซึ่งเอกสารของผู้อื่น และฐานยักยอกทรัพย์ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 188, 352 วรรคแรก อีกสถานหนึ่ง แต่ความผิดทั้งสองฐานนี้มีเจตนาเดียวกัน ผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามมาตรา 188 ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 วางโทษจำคุก 1 ปี เมื่อรวมกับโทษฐานเป็นนายวงแชร์หรือจัดให้มีการเล่นแชร์ตามที่ศาลชั้นต้นกำหนดแล้วเป็นวางโทษจำคุกรวม 1 ปี 6 เดือน ลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 หนึ่งในสาม คงจำคุก 1 ปี ให้จำเลยคืนเงินจำนวน 511,200 บาท แก่ผู้เสียหาย
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ในความผิดตามพระราชบัญญัติการเล่นแชร์ ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับฎีกาจำเลย เพราะต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ความผิดตามพระราชบัญญัติการเล่นแชร์ จึงเป็นอันยุติตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้ว่า เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2539 เวลากลางวัน จำเลยเป็นนายวงแชร์จัดให้มีการเล่นแชร์โดยมีสมาชิกรวม 12 คน ลูกวงแชร์ชำระเงินงวดแรก 200,000 บาท งวดต่อไป 100,000 บาท มีทุนกองกลางต่อหนึ่งงวดรวมกันเป็นเงิน 1,300,000 บาท ต่อมาวันที่ 20 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2540 เวลากลางวัน นายสมชายผู้เสียหายซึ่งเป็นลูกแชร์ได้ในงวดที่ 5 โดยจ่ายดอกเบี้ย 14,800 บาท จำเลยรับเช็คตามฟ้องรวม 6 ฉบับ ได้แก่เช็คของธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) สาขากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) สาขาตรอกจันทร์ ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) สาขาวังบูรพา ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) สาขาตากสิน-ท่าพระ และธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) สาขาถนนสุขสวัสดิ์ สั่งจ่ายเงินฉบับละ 85,200 บาท จากลูกวงแชร์ที่ยังประมูลแชร์ไม่ได้โดยสั่งจ่ายเช็คทั้งหกฉบับมอบให้จำเลยเพื่อนำไปมอบให้ผู้เสียหาย แต่จำเลยกลับนำเช็คทั้งหกฉบับไปเข้าบัญชีของจำเลยเพื่อเรียกเก็บเงินที่ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) สาขาวุฒากาศ ตามสำเนาใบนำฝาก เอกสารหมาย จ.11 เมื่อเรียกเก็บเงินได้แล้ว จำเลยได้เบิกเงินออกจากบัญชีไป ผู้เสียหายไม่ได้รับเงินตามเช็คทั้งหกฉบับรวมเป็นเงิน 511,200 บาท คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า จำเลยได้กระทำความผิดเอาไปเสียซึ่งเอกสารของผู้อื่นและยักยอกทรัพย์ตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์หรือไม่ โจทก์มีผู้เสียหาย นายวิเชียร นายองอาจ นายนิพนธ์ และนายสุชาติ ซึ่งเป็นลูกวงแชร์เป็นพยานเบิกความตรงกันว่า วิธีการประมูลและการชำระเงินค่าแชร์นั้น ผู้ที่ประมูลแชร์ได้คือผู้ที่ให้ดอกเบี้ยสูงสุด สมาชิกที่ประมูลแชร์ได้จะต้องสั่งจ่ายเช็ค 100,000 บาท หักด้วยเงินค่าดอกเบี้ยที่ผู้ประมูลแชร์ได้ในงวดนั้น แล้วนำเช็คดังกล่าวส่งมอบให้แก่จำเลยผู้เป็นนายวงแชร์ จำเลยมีหน้าที่นำเช็คทั้งหมดไปมอบให้แก่ผู้ประมูลแชร์ได้ ในข้อนี้จำเลยไม่ได้นำสืบปฏิเสธถึงวิธีการประมูลและชำระเงินค่าแชร์ พยานหลักฐานของโจทก์จึงมีน้ำหนักให้รับฟัง ดังนั้น ข้อที่จำเลยฎีกาว่า การเล่นแชร์ดังกล่าวจำเลยได้รับมอบหมายให้เป็นผู้เก็บเงินสด แต่บางรายออกเป็นเช็ค จำเลยมีหน้าที่เรียกเก็บเป็นเงินสดเสียก่อน จึงนำเงินไปมอบให้แต่ละคน การที่จำเลยนำเช็คไปเรียกเก็บเงิน จึงไม่เป็นความผิดนั้น จึงเป็นฎีกาข้อเท็จจริงที่ไม่ปรากฏในทางนำสืบของจำเลย ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่า จำเลยซึ่งเป็นนายวงแชร์มีหน้าที่นำเช็คทั้งหกฉบับจากลูกวงแชร์ที่ยังประมูลแชร์ไม่ได้ไปมอบให้ผู้เสียหาย การที่จำเลยเอาเช็คตามฟ้องทั้งหกฉบับที่ลูกวงแชร์สั่งจ่ายให้ผู้เสียหายไปเรียกเก็บเงินในบัญชีของตนเอง ก็เพื่อประโยชน์ของจำเลย โดยที่จำเลยไม่มีสิทธิ การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานเอาไปเสียซึ่งเอกสารของผู้อื่นตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 188 ส่วนข้อที่จำเลยฎีกาว่านายสมชาย มิใช่ผู้เสียหายในความผิดฐานยักยอกนั้น ข้อเท็จจริงฟังยุติว่า เมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2540 นายสมชายซึ่งเป็นลูกวงแชร์ ประมูลแชร์ได้ในงวดที่ 5 จำเลยได้รับเช็คตามฟ้องจากลูกวงแชร์ที่ยังประมูลไม่ได้เพื่อนำไปมอบให้แก่นายสมชาย แต่จำเลยมิได้นำไปมอบให้นายสมชาย กลับนำเช็คดังกล่าวไปเรียกเก็บเงินในบัญชีของตนเอง และถอนเงินไป เห็นว่า จำเลยในฐานะนายวงแชร์มีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามข้อตกลงการเล่นแชร์ว่า เมื่อจำเลยได้เช็คจากลูกวงแชร์แล้วจะต้องนำเช็คไปมอบให้นายสมชายซึ่งประมูลแชร์ได้ ดังนั้น การที่จำเลยรับเช็คตามฟ้องจึงเป็นการรับไว้แทนนายสมชาย เมื่อจำเลยนำเช็คไปเรียกเก็บเงินออกจากบัญชี จึงเป็นการครอบครองเงินของนายสมชายแล้วเบียดบังเอาเงินนั้นไป นายสมชายจึงเป็นผู้เสียหายในความผิดฐานยักยอกเงินตามเช็ค ข้อที่จำเลยฎีกาประการต่อไปว่า ความผิดฐานยักยอกเป็นความผิดอันยอมความได้ เมื่อผู้เสียหายร้องทุกข์เกิน 3 เดือน คดีจึงขาดอายุความ ในข้อนี้ผู้เสียหายอ้างตนเองเป็นพยานเบิกความว่า เมื่อผู้เสียหายประมูลแชร์ได้จำเลยบ่ายเบี้ยงว่ายังได้เช็คมาไม่ครบ จนกระทั่งวันที่ 1 สิงหาคม 2540 ลูกวงแชร์บางคนแจ้งว่าได้ให้เช็คแก่จำเลยแล้ว หลังจากนั้นลูกวงแชร์ที่มอบเช็คให้จำเลยบอกกับผู้เสียหายว่าจำเลยนำเช็คไปเข้าบัญชีของจำเลยแล้ว ส่วนจำเลยไม่ได้นำสืบโต้แย้งข้อเท็จจริงดังกล่าวแสดงว่าผู้เสียหายทราบเรื่องที่จำเลยยักยอกเงินตามเช็คไป หลังจากวันที่ 1 สิงหาคม 2540 แม้ได้ความว่าจำเลยนำเช็คตามฟ้องไปเข้าบัญชีของตนเมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2540 แต่ผู้เสียหายเพิ่งทราบเรื่องดังกล่าวในวันที่ 1 สิงหาคม 2540 เมื่อผู้เสียหายร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนวันที่ 24 ตุลาคม 2540 จึงไม่เกิน 3 เดือน นับแต่วันที่ผู้เสียหายรู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิด คดีจึงไม่ขาดอายุความ คงมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยในประการต่อไปว่า สมควรรอการลงโทษให้จำเลยหรือไม่ เห็นว่า แม้จำเลยเอาเช็คตามฟ้องไปเป็นเหตุให้ผู้เสียหายไม่ได้รับเงินตามเช็ครวม 511,200 บาท แต่ระหว่างพิจารณาของศาลฎีกาจำเลยได้บรรเทาผลร้ายโดยนำเงินจำนวน 340,800 บาท มาวางที่ศาลชั้นต้น และผู้เสียหายได้รับเงินจำนวนนี้ไปเรียบร้อยแล้ว จำเลยมีภาระต้องเลี้ยงดูบุตรและภริยารวม 6 คน และไม่ปรากฏว่าจำเลยเคยได้รับโทษจำคุกมาก่อน เห็นควรให้โอกาสจำเลยกลับตนเป็นพลเมืองดีสักครั้ง จึงให้รอการลงโทษจำคุกจำเลย ฎีกาของจำเลยในข้อนี้ฟังขึ้น และเพื่อให้จำเลยเข็ดหลาบไม่หวนกลับไปกระทำความผิดอีก จึงให้ลงโทษปรับและคุมความประพฤติจำเลยด้วย เมื่อจำเลยใช้เงินแก่ผู้เสียหายแล้ว 340,800 บาท จึงเหลือเงินที่ต้องคืนผู้เสียหาย 170,400 บาท”
พิพากษาแก้เป็นว่า ความผิดตามพระราชบัญญัติการเล่นแชร์ พ.ศ.2534 มาตรา 6 (3), 17 ปรับ 15,000 บาท ฐานเอาไปเสียซึ่งเอกสารของผู้อื่น ปรับ 6,000 บาท รวมปรับ 21,000 บาท อีกสถานหนึ่ง ลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 แล้ว คงปรับ 14,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้ 2 ปี และคุมความประพฤติโดยให้จำเลยไปรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติทุก 3 เดือน ตลอดระยะเวลาที่รอการลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 ให้จำเลยคืนเงิน 170,400 บาท แก่ผู้เสียหาย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์