คำวินิจฉัยที่ 63/2553

แหล่งที่มา : ส่วนเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ

ย่อสั้น

ไม่มีย่อสั้น

ย่อยาว

(สำเนา)

คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
ที่ ๖๓/๒๕๕๓

วันที่ ๑๔ ธันวาคม ๒๕๕๓

เรื่อง คดีเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน

ศาลปกครองเชียงใหม่
ระหว่าง
ศาลจังหวัดแม่ฮ่องสอน

การส่งเรื่องต่อคณะกรรมการ
ศาลปกครองเชียงใหม่โดยสำนักงานศาลปกครองส่งเรื่องให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลพิจารณาวินิจฉัยชี้ขาดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๐ วรรคหนึ่ง (๓) ซึ่งเป็นกรณีคู่ความฝ่ายที่ถูกฟ้องคดีโต้แย้งอำนาจศาลที่รับฟ้องคดี และศาลที่ส่งความเห็นและศาลที่รับความเห็นมีความเห็นแตกต่างกันในเรื่องอำนาจศาลในคดีนั้น

ข้อเท็จจริงในคดี
เมื่อวันที่ ๔ มีนาคม ๒๕๕๒ นางพรนิภา อัมระรงค์ ผู้ฟ้องคดี ยื่นฟ้องเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดแม่ฮ่องสอน ที่ ๑ ผู้ว่าราชการจังหวัดแม่ฮ่องสอน ที่ ๒ กรมที่ดิน ที่ ๓ กรมบังคับคดี ที่ ๔ ผู้ถูกฟ้องคดี ต่อศาลปกครองเชียงใหม่ เป็นคดีหมายเลขดำที่ ๕๕/๒๕๕๒ ความว่า ผู้ฟ้องคดีประมูลซื้อที่ดินโฉนดเลขที่ ๖๖๙ ตำบลจองคำ อำเภอเมืองแม่ฮ่องสอน จังหวัดแม่ฮ่องสอน พร้อมบ้านไม้ ๒ ชั้น ไม่ปรากฏเลขทะเบียน จำนวน ๑ หลัง และอาคารคอนกรีตเสริมเหล็กชั้นเดียว ไม่ปรากฏเลขทะเบียน จำนวน ๑ หลัง ในราคา ๔๖๐,๐๐๐ บาท จากการขายทอดตลาดตามประกาศเจ้าพนักงานบังคับคดีสำนักงานบังคับคดีจังหวัดแม่ฮ่องสอน เรื่อง ขายทอดตลาดที่ดินและที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้าง ลงวันที่ ๑๙ มกราคม ๒๕๔๘ ในคดีแพ่งของศาลจังหวัดแม่ฮ่องสอน คดีหมายเลขแดงที่ ๓๓/๒๕๔๓ ระหว่าง ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) โจทก์ นายราชินทร์ จันทร์สิงหกุล หรือราเชน จันทรสิงหชาญ จำเลย ผู้ฟ้องคดีได้เสียค่าธรรมเนียมจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างดังกล่าว จำนวน ๑๑,๔๑๕ บาท และภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา จำนวน ๑๔,๒๖๑ บาท ให้แก่สำนักงานที่ดินจังหวัดแม่ฮ่องสอนแล้ว ต่อมาได้มีการตรวจสอบพบว่าบ้านไม้ ๒ ชั้น ไม่ได้อยู่บนที่ดินโฉนดเลขที่ ๖๖๙ และศาลจังหวัดแม่ฮ่องสอนได้มีคำสั่งเพิกถอนการขายทอดตลาดที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างดังกล่าว ซึ่งสำนักงานบังคับคดีจังหวัดแม่ฮ่องสอนได้คืนเงิน จำนวน ๔๖๐,๐๐๐ บาท ให้แก่ผู้ฟ้องคดีแล้ว ต่อมา ผู้ฟ้องคดีได้ขอรับค่าธรรมเนียมจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรม จำนวน ๑๑,๔๑๕ บาท คืนจากสำนักงานที่ดินจังหวัดแม่ฮ่องสอน แต่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ มีคำสั่งไม่คืนค่าธรรมเนียมจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมให้แก่ผู้ฟ้องคดี ผู้ฟ้องคดีได้อุทธรณ์คำสั่งต่อผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ต่อมาผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ในฐานะผู้มีอำนาจพิจารณาอุทธรณ์ได้วินิจฉัยให้ยกอุทธรณ์ ในขณะเดียวกันผู้ฟ้องคดีก็ได้มีหนังสือร้องขอความเป็นธรรมต่อผู้อำนวยการสำนักงานบังคับคดีจังหวัดแม่ฮ่องสอน เนื่องจากผู้ฟ้องคดีได้เสียค่าใช้จ่ายในการซ่อมแซมปรับปรุงบ้านทั้งสองหลังเป็นเงิน ๑๐๐,๐๐๐ บาท แต่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๔ พิจารณายกคำร้องของผู้ฟ้องคดี ทำให้ผู้ฟ้องคดีได้รับความเดือดร้อนเสียหาย ขอให้ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งเพิกถอนคำสั่งของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ และให้สำนักงานที่ดินจังหวัดแม่ฮ่องสอนคืนค่าธรรมเนียมจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรม จำนวน ๑๑,๔๑๕ บาท รวมทั้งให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๔ ชดใช้เงินค่าซ่อมแซมบ้าน จำนวน ๑๐๐,๐๐๐ บาท ให้แก่ผู้ฟ้องคดี
ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสี่ให้การว่า การเพิกถอนรายการจดทะเบียนที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ เป็นไปตามคำสั่งของศาลจังหวัดแม่ฮ่องสอน มิได้เกิดจากความผิดพลาดคลาดเคลื่อนหรือการกระทำที่มิชอบด้วยกฎหมายและเงินค่าธรรมเนียมจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมเกี่ยวกับที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างเป็นค่าธรรมเนียมตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา ๑๐๓ ซึ่งได้เรียกเก็บโดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว แม้ต่อมาศาลมีคำสั่งเพิกถอนการขายทอดตลาดที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างดังกล่าว ทั้งไม่มีกฎหมายให้อำนาจพนักงานเจ้าหน้าที่ที่จะคืนเงินค่าธรรมเนียมที่ได้เก็บจากราษฎรโดยชอบด้วยกฎหมาย ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ และที่ ๓ จึงไม่มีหน้าที่คืนเงินค่าธรรมเนียม จำนวน ๑๑,๔๑๕ บาท ให้แก่ผู้ฟ้องคดี ส่วนผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ เป็นเพียงผู้พิจารณาอุทธรณ์คำสั่งทางปกครอง ซึ่งได้กระทำโดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว ในส่วนเจ้าพนักงานบังคับคดี สำนักงานบังคับคดีจังหวัดแม่ฮ่องสอน เจ้าหน้าที่ของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๔ ได้ดำเนินการบังคับคดีตามคำพิพากษาของศาล และได้กระทำการตามอำนาจหน้าที่โดยชอบด้วยกฎหมาย ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสี่จึงไม่ได้กระทำละเมิดต่อผู้ฟ้องคดี ส่วนความเสียหายของผู้ฟ้องคดีสามารถฟ้องเรียกร้องเอากับโจทก์ หรือเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาในคดีแพ่งของศาลยุติธรรม ที่แถลงนำยึดทรัพย์ดังกล่าวออกขายทอดตลาดโดยผิดพลาดได้ ขอให้ยกฟ้อง ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสี่ยื่นคำร้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลว่า มูลเหตุคดีนี้อยู่ในขั้นตอนการยึดทรัพย์ในคดีแพ่งตามคำพิพากษาของศาลยุติธรรม ซึ่งเป็นการบังคับคดีตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งอันเป็นขั้นตอนในกระบวนการยุติธรรมทางแพ่ง ซึ่งอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม คดีจึงไม่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง

ความเห็นระหว่างศาล
ศาลปกครองเชียงใหม่พิจารณาแล้วเห็นว่า ผู้ฟ้องคดีฟ้องรวม ๒ ข้อหา ดังนี้
ข้อหาที่หนึ่ง ผู้ฟ้องคดีฟ้องว่า ผู้ฟ้องคดีขอคืนค่าธรรมเนียมจดทะเบียนสิทธิและ
นิติกรรมซึ่งศาลได้มีคำสั่งเพิกถอนการขายทอดตลาด แต่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ไม่คืนค่าธรรมเนียมจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมให้แก่ผู้ฟ้องคดี ทำให้ผู้ฟ้องคดีได้รับความเดือดร้อนและเสียหาย จึงฟ้องคดีต่อศาลปกครองและมีคำขอให้คืนค่าธรรมเนียมจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรม จำนวน ๑๑,๔๑๕ บาท ให้แก่ผู้ฟ้องคดี เห็นว่า ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ เป็นกรมในสังกัดกระทรวงมหาดไทย จึงเป็นหน่วยงานทางปกครอง ส่วนผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ เป็นข้าราชการในสังกัดของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ จึงเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ การที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ เรียกเก็บค่าธรรมเนียมจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างจากการขายทอดตลาดตามคำสั่งศาล เป็นการปฏิบัติตามอำนาจหน้าที่ตามมาตรา ๑๐๓ แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน ประกอบกับกฎกระทรวงฉบับที่ ๔๗ (พ.ศ. ๒๕๔๑) ออกตามความในพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ. ๒๔๙๗ ต่อมาศาลมีคำสั่งเพิกถอนการขายทอดตลาด ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ จึงจดแจ้งรายการเพิกถอนการจดทะเบียนตามคำสั่งศาล แต่ไม่คืนค่าธรรมเนียมการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมตามคำขอของผู้ฟ้องคดี ข้อพิพาทในข้อหาที่หนึ่ง จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ซึ่งศาลปกครองมีอำนาจสั่งให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ คืนเงินค่าธรรมเนียมการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมได้ตามมาตรา ๗๒ วรรคหนึ่ง (๓) แห่งพระราชบัญญัติเดียวกัน
ข้อหาที่สอง ผู้ฟ้องคดีฟ้องว่า เจ้าพนักงานบังคับคดีซึ่งเป็นข้าราชการในสังกัด ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๔ ดำเนินการขายทอดตลาดที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายเป็นผลให้ศาลจังหวัดแม่ฮ่องสอนมีคำสั่งเพิกถอนการขายทอดตลาดดังกล่าว ทำให้ผู้ฟ้องคดีได้รับความเดือดร้อนหรือเสียหาย เนื่องจากผู้ฟ้องคดีได้ซ่อมแซมบ้านที่ซื้อมาจากการขายทอดตลาดเป็นเงิน ๑๐๐,๐๐๐ บาท จึงนำคดีมาฟ้องขอให้ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๔ ชดใช้เงินค่าซ่อมแซมบ้าน จำนวน ๑๐๐,๐๐๐ บาท ให้แก่ผู้ฟ้องคดีนั้น เห็นว่า ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๔ เป็นกรมในสังกัดกระทรวงยุติธรรม จึงเป็นหน่วยงานทางปกครอง เมื่อคำฟ้องในข้อหานี้เป็นกรณีที่ผู้ฟ้องคดีกล่าวอ้างว่า ผู้ฟ้องคดีได้รับความเดือดร้อนหรือเสียหายจากการกระทำละเมิดในการดำเนินการขายทอดตลาดที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายของเจ้าพนักงานบังคับคดีซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ ผู้ฟ้องคดีจึงฟ้องผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๔ ซึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครองที่เจ้าพนักงานบังคับคดีสังกัดให้รับผิดต่อผู้ฟ้องคดีในผลแห่งละเมิดที่เจ้าหน้าที่ของตนได้กระทำในการปฏิบัติหน้าที่ และเมื่อความเสียหายในคดีนี้เกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมายของเจ้าพนักงานบังคับคดี คำฟ้องในข้อหานี้จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ซึ่งอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง
ศาลจังหวัดแม่ฮ่องสอนพิจารณาแล้วเห็นว่า มูลความแห่งคดีเกิดจากการดำเนินการของเจ้าพนักงานของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๔ ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานบังคับคดีตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ว่าด้วยการบังคับคดีตามคำพิพากษาหรือคำสั่งศาลที่บัญญัติให้เจ้าพนักงานบังคับคดี ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐเข้าไปดำเนินการขายทอดตลาดทรัพย์สินของลูกหนี้ตามคำพิพากษา เพื่อนำเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดทรัพย์สินดังกล่าวไปชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้ตามคำพิพากษา ซึ่งเป็นขั้นตอนของการบังคับคดีภายหลังจากศาลได้วินิจฉัยชี้ขาดข้อพิพาทของคู่ความในทางแพ่งแล้ว อันเป็นขั้นตอนและกระบวนการทางแพ่งที่กฎหมายบัญญัติไว้โดยเฉพาะเพื่อให้เกิดความเรียบร้อยแก่ประชาชน การดำเนินการของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสี่ก็เป็นการดำเนินการสืบเนื่องจากการบังคับคดีทางแพ่งที่ดำเนินการก่อนศาลมีคำพิพากษาให้เพิกถอนการขายทอดตลาด ดังนั้นเมื่อเกิดข้อพิพาทอันสืบเนื่องมาจากกระบวนวิธีบังคับคดีในทางแพ่ง ข้อพิพาทในคดีนี้จึงอยู่ในอำนาจการพิจารณาของศาลยุติธรรม

คำวินิจฉัย
ปัญหาที่ต้องพิจารณา คดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมหรือศาลปกครองคณะกรรมการพิจารณาแล้วเห็นว่า คดีนี้เป็นกรณีที่ผู้ฟ้องคดียื่นฟ้องผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสี่ เนื่องจากได้รับความเสียหายจากการที่ผู้ฟ้องคดีได้ประมูลซื้อที่ดินโฉนดเลขที่ ๖๖๙ ตำบลจองคำ อำเภอเมืองแม่ฮ่องสอน จังหวัดแม่ฮ่องสอน พร้อมบ้านไม้ ๒ ชั้น ไม่ปรากฏเลขทะเบียน จำนวน ๑ หลัง และอาคารคอนกรีตเสริมเหล็กชั้นเดียว ไม่ปรากฏเลขทะเบียน จำนวน ๑ หลัง ในราคา ๔๖๐,๐๐๐ บาท จากการขายทอดตลาดตามประกาศเจ้าพนักงานบังคับคดีสำนักงานบังคับคดีจังหวัดแม่ฮ่องสอน ผู้ฟ้องคดีได้เสียค่าธรรมเนียมจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้าง จำนวน ๑๑,๔๑๕ บาท และภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา จำนวน ๑๔,๒๖๑ บาท ให้แก่สำนักงานที่ดินจังหวัดแม่ฮ่องสอนแล้ว ต่อมาศาลจังหวัดแม่ฮ่องสอนมีคำสั่งให้เพิกถอนการขายทอดตลาดดังกล่าว สำนักงานบังคับคดีจังหวัดแม่ฮ่องสอนได้คืนเงินค่าประมูลจำนวน ๔๖๐,๐๐๐ บาท แล้ว แต่ไม่คืนค่าธรรมเนียมจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมให้แก่ผู้ฟ้องคดี อีกทั้งผู้ฟ้องคดีได้ซ่อมแซมปรับปรุงบ้านไม้ ๒ ชั้น ดังกล่าว เป็นเงินจำนวน ๑๐๐,๐๐๐ บาท ขอให้ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งเพิกถอนคำสั่งของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ และให้สำนักงานที่ดินจังหวัดแม่ฮ่องสอนคืนค่าธรรมเนียมจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรม จำนวน ๑๑,๔๑๕ บาท รวมทั้งให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๔ ชดใช้เงินค่าซ่อมแซมบ้าน จำนวน ๑๐๐,๐๐๐ บาท ให้แก่ผู้ฟ้องคดีนั้น เห็นว่า มูลความแห่งคดีเกิดจากการดำเนินการของเจ้าพนักงานของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๔ ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานบังคับคดีตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ว่าด้วยการบังคับคดีตามคำพิพากษาหรือคำสั่งศาลที่บัญญัติให้เจ้าพนักงานบังคับคดี ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐเข้าไปดำเนินการขายทอดตลาดทรัพย์สินของลูกหนี้ตามคำพิพากษา เพื่อนำเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดทรัพย์สินดังกล่าวไปชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้ตามคำพิพากษา ซึ่งเป็นขั้นตอนของการบังคับคดีภายหลังจากศาลได้วินิจฉัยชี้ขาดข้อพิพาทของคู่ความในทางแพ่งแล้ว การดำเนินการของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสี่ก็เป็นการดำเนินการที่สืบเนื่องจากการบังคับคดีทางแพ่งที่ดำเนินการก่อนศาลมีคำสั่งให้เพิกถอนการขายทอดตลาด ดังนั้นเมื่อเกิดข้อพิพาทอันสืบเนื่องมาจากการบังคับคดีในทางแพ่งของศาลยุติธรรม ข้อพิพาทในคดีนี้จึงอยู่ในอำนาจการพิจารณาของศาลยุติธรรม
จึงวินิจฉัยชี้ขาดว่า คดีระหว่างนางพรนิภา อัมระรงค์ ผู้ฟ้องคดี เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดแม่ฮ่องสอน ที่ ๑ ผู้ว่าราชการจังหวัดแม่ฮ่องสอน ที่ ๒ กรมที่ดิน ที่ ๓ กรมบังคับคดี ที่ ๔ ผู้ถูกฟ้องคดี อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

(ลงชื่อ) สบโชค สุขารมณ์ (ลงชื่อ) สุวัฒน์ วรรธนะหทัย
(นายสบโชค สุขารมณ์) (นายสุวัฒน์ วรรธนะหทัย)
ประธานศาลฎีกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลยุติธรรม

(ลงชื่อ) หัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล (ลงชื่อ) จรัญ หัตถกรรม
(นายหัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล) (นายจรัญ หัตถกรรม)
ประธานศาลปกครองสูงสุด กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลปกครอง

(ลงชื่อ) พลโท ศิลปชัย สรภักดี (ลงชื่อ) พลโท อาชวัน อินทรเกสร
(ศิลปชัย สรภักดี) (อาชวัน อินทรเกสร)
หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลทหาร

(ลงชื่อ) จิระ บุญพจนสุนทร
(นายจิระ บุญพจนสุนทร)
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ

Share