แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
เมื่อโจทก์ไม่สามารถนำผู้เสียหายและ ส. ซึ่งเป็นประจักษ์พยานมาเบิกความต่อศาลต่อหน้าจำเลย จำเลยย่อมไม่มีโอกาสถามค้านเพื่อให้ข้อเท็จจริงเป็นที่กระจ่างแก่ศาลได้ นอกจากนี้ที่ ส. พยานโจทก์ไม่สามารถมาศาลได้ ก็ปรากฏว่าพนักงานสอบสวนได้ส่งหมายเรียกให้ ส. โดยมี จ. มารดา ส. เป็นผู้รับหมายเรียกแทน พยานโจทก์ปาก ส. มีที่อยู่และสถานที่ทำงานที่แน่นอน โดยพักอาศัยกับภริยาและบุตร ทำงานเป็นคนขับรถของบริษัท ท. เชื่อว่าอยู่ในวิสัยที่จะยังติดตามพยานปากนี้มาเบิกความได้ จึงมิใช่กรณีที่มีเหตุจำเป็นเนื่องจากไม่สามารถนำบุคคลซึ่งเป็นผู้ได้เห็น ได้ยิน หรือทราบข้อความเกี่ยวในเรื่องที่จะให้การเป็นพยานนั้นด้วยตนเองโดยตรงมาเป็นพยานได้ และมีเหตุสมควรเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมที่จะรับฟังพยานบอกเล่านั้นตาม ป.วิ.อ. มาตรา 226/3 (2) ทั้งปรากฏว่าศาลลงโทษ ก. ข้อหาทำร้ายร่างกาย ยกฟ้องข้อหาพยายามฆ่า ทำให้มีความจำเป็นที่ต้องมีประจักษ์พยานที่รู้เห็นเหตุการณ์เกี่ยวกับการกระทำความผิดของจำเลยมาสืบเพื่อให้รับฟังได้โดยปราศจากสงสัยว่าจำเลยกระทำความผิดตามฟ้อง เมื่อโจทก์ไม่สามารถนำผู้เสียหายและ ส. ซึ่งเป็นประจักษ์พยานมาเบิกความต่อศาลได้ คงมีพันตำรวจตรี ป. พนักงานสอบสวนเพียงปากเดียวมาเบิกความโดยที่จำเลยให้การปฏิเสธมาโดยตลอด พยานหลักฐานของโจทก์ย่อมไม่พอให้รับฟังลงโทษจำเลยได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288, 80, 83, 58 และบวกโทษของจำเลยที่รอการลงโทษไว้ในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 1385/2544 ของศาลชั้นต้น เข้ากับโทษของจำเลยในคดีนี้
จำเลยให้การปฏิเสธ แต่รับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีที่โจทก์ขอให้บวกโทษ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288, 80 ให้จำคุก 10 ปี บวกโทษจำคุก 6 เดือน ที่รอการลงโทษไว้ในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 1385/2544 ของศาลชั้นต้นเป็นจำคุก 10 ปี 6 เดือน
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ปัญหาพยานหลักฐานโจทก์รับฟังลงโทษจำเลยตามฟ้องได้หรือไม่ คดีนี้ โจทก์ไม่มีประจักษ์พยานมาเบิกความว่า จำเลยเป็นคนร้ายที่ได้กระทำความผิดตามฟ้อง เมื่อโจทก์ไม่สามารถนำตัวผู้เสียหายและนายสุรสิทธิ์ ซึ่งเป็นประจักษ์พยานมาเบิกความต่อศาลต่อหน้าจำเลย จำเลยย่อมไม่มีโอกาสถามค้านเพื่อให้ข้อเท็จจริงเป็นที่กระจ่างแก่ศาลได้ นอกจากนี้ในส่วนที่นายสุรสิทธิ์พยานโจทก์ไม่สามารถมาศาลได้นั้น ปรากฏตามหนังสือของสถานีตำรวจภูธรอำเภอสวี ลงวันที่ 28 เมษายน 2547 เรื่อง แจ้งผลการส่งหมายเรียกแก่พยาน พนักงานสอบสวนซึ่งปฏิบัติราชการแทนผู้กำกับการสถานีตำรวจภูธรอำเภอสวี แจ้งมายังศาลชั้นต้นว่า ได้ดำเนินการส่งหมายเรียกให้แก่นายสุรสิทธิ์พยานโจทก์แล้ว โดยมีนางจินดา มารดาของนายสุรสิทธิ์เป็นผู้รับหมายเรียกแทนนายสุรสิทธิ์ ตามเอกสารใบรับหมายเรียกพยานบุคคล ลงวันที่ 20 เมษายน 2547 พยานโจทก์ปากนายสุรสิทธิ์มีที่อยู่และสถานที่ทำงานที่แน่นอน โดยพักอาศัยอยู่กับภริยาและบุตรที่จังหวัดชุมพร และทำงานเป็นคนขับรถของบริษัท ทุ่งคาคอนกรีต จำกัด เชื่อว่าอยู่ในวิสัยที่จะยังติดตามพยานปากนี้มาเบิกความได้ จึงมิใช่กรณีที่มีเหตุจำเป็น เนื่องจากไม่สามารถนำบุคคลซึ่งเป็นผู้ที่ได้เห็น ได้ยิน หรือทราบข้อความเกี่ยวในเรื่องที่จะให้การเป็นพยานนั้นด้วยตนเองโดยตรงมาเป็นพยานได้ และมีเหตุผลสมควรเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมที่จะรับฟังพยานบอกเล่านั้น ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 226/3 (2) ยิ่งกว่านั้นยังปรากฏตามเอกสารคำแก้อุทธรณ์ของโจทก์ฉบับลงวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2548 ว่า ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษนายสมจิตร ในข้อหาทำร้ายร่างกายตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 295 ให้จำคุก 6 เดือน ยกฟ้องข้อหาพยายามฆ่าด้วยแล้ว ก็ยิ่งทำให้เห็นว่า มีความจำเป็นที่ต้องมีประจักษ์พยานที่รู้เห็นเหตุการณ์เกี่ยวกับการกระทำความผิดของจำเลยมาสืบเพื่อให้รับฟังได้โดยปราศจากสงสัยว่าจำเลยกระทำความผิดตามฟ้องจริง เมื่อโจทก์ไม่สามารถนำผู้เสียหายและนายสุรสิทธิ์ซึ่งเป็นประจักษ์พยานมาเบิกความต่อศาล คงมีแต่พันตำรวจตรีปรีชาพนักงานสอบสวนเพียงปากเดียวมาเบิกความ โดยที่จำเลยให้การปฏิเสธมาโดยตลอด พยานหลักฐานของโจทก์ย่อมไม่พอให้รับฟังลงโทษจำเลยได้ ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดและลงโทษจำเลยมานั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของจำเลยฟังขึ้น
พิพากษากลับให้ยกฟ้อง