คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6479/2553

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องเรียกค่าเสียหายรวมทั้งสิ้น 1,074,692 บาท โดยเป็นค่าซ่อมรถยนต์บรรทุกของโจทก์และค่าจ้างรถยนต์บรรทุกมาใช้งานแทนรวมจำนวนเงิน 309,800 บาท กับค่ารักษาพยาบาลและจัดงานศพของลูกจ้างทั้งสี่คนของโจทก์ที่เสียชีวิตจากเหตุคดีนี้รวมเป็นเงิน 764,892 บาท ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องเรียกค่ารักษาพยาบาลและจัดงานศพของลูกจ้างทั้งสี่และพิพากษายกฟ้องในส่วนนี้มาแต่ต้น ดังนี้แม้ตามตาราง 6 อัตราค่าทนายความท้าย ป.วิ.พ. (เดิม) จะบัญญัติให้ศาลมีอำนาจกำหนดอัตราค่าทนายความขั้นสูงในศาลชั้นต้นสำหรับทุนทรัพย์เกิน 25,000 บาท ร้อยละ 5 ก็ตาม แต่สำหรับคดีนี้เมื่อโจทก์มีอำนาจฟ้องเรียกค่าเสียหายได้เฉพาะโจทก์เท่านั้น ทุนทรัพย์ที่จะนำมาเป็นหลักในการใช้ดุลพินิจกำหนดให้จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ใช้ค่าทนายความแทนโจทก์จึงต้องใช้ฐานจากทุนทรัพย์ที่โจทก์มีอำนาจฟ้องคือ 309,800 บาท

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสี่ร่วมกันชำระเงินจำนวนดังกล่าว พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
จำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 ให้การและแก้ไขคำให้การขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณา โจทก์ยื่นคำบอกกล่าวขอถอนฟ้องจำเลยที่ 1 เนื่องจากจำเลยที่ 1 ถึงแก่กรรม ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าให้จำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 ร่วมกันชำระเงินแก่โจทก์ จำนวน 217,900 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีนับแต่วันที่ 12 เมษายน 2540 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์โดยกำหนดค่าทนายความ 35,000 บาท คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ให้จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ใช้ค่าทนายความในชั้นอุทธรณ์แทนโจทก์ 5,000 บาท
จำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า …คดีนี้โจทก์ฟ้องเรียกค่าเสียหายรวมทั้งสิ้น 1,074,692 บาท โดยเป็นค่าซ่อมรถยนต์บรรทุกของโจทก์และค่าจ้างรถยนต์บรรทุกมาใช้งานแทนรวมจำนวนเงิน 309,800 บาท กับค่ารักษาพยาบาลและจัดงานศพของลูกจ้างทั้งสี่คนของโจทก์ที่เสียชีวิตจากเหตุคดีนี้รวมเป็นเงิน 764,892 บาท ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องเรียกค่ารักษาพยาบาลและจัดงานศพของลูกจ้างทั้งสี่และพิพากษายกฟ้องในส่วนนี้มาแต่ต้น ดังนี้ แม้ตามตาราง 6 อัตราค่าทนายความท้ายประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (เดิม) จะบัญญัติให้ศาลมีอำนาจกำหนดอัตราค่าทนายความขั้นสูงในศาลชั้นต้นสำหรับทุนทรัพย์เกิน 25,000 บาท ร้อยละ 5 ก็ตาม แต่สำหรับคดีนี้เมื่อโจทก์มีอำนาจฟ้องเรียกค่าเสียหายได้เฉพาะโจทก์เท่านั้น ทุนทรัพย์ที่จะนำมาเป็นหลักในการใช้ดุลพินิจกำหนดให้จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ใช้ค่าทนายความแทนโจทก์จึงต้องใช้ฐานจากทุนทรัพย์ที่โจทก์มีอำนาจฟ้องคือ 309,800 บาท เป็นสำคัญ ฉะนั้น ที่ศาลชั้นต้นกำหนดค่าทนายความให้โจทก์ 35,000 บาท จึงไม่ถูกต้อง ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไขและกำหนดให้เสียใหม่
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 ใช้ค่าทนายความในศาลชั้นต้น จำนวน 10,000 บาท แทนโจทก์ คืนค่าขึ้นศาลชั้นฎีกาทั้งหมดแก่จำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์.

Share