คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 805/2552

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

แม้เจ้าหนี้ขอรับชำระหนี้ในคดีนี้มูลหนี้เงินยืมและอาวัลที่เจ้าหนี้ได้รับภาระใช้หนี้แทนลูกหนี้ตามเช็คที่ลูกหนี้สั่งจ่ายไปแล้วหลายครั้งก่อนวันที่ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้เด็ดขาดในคดีล้มละลายหมายเลขแดงที่ ล.28/2529 ของศาลจังหวัดนนทบุรี และเจ้าหนี้มิได้นำมูลหนี้ดังกล่าวไปขอชำระหนี้ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ จนกระทั่งศาลจังหวัดนนทบุรีมีคำสั่งเห็นชอบด้วยการประนอมหนี้ก่อนล้มละลายของลูกหนี้ และมีผลให้ลูกหนี้หลุดพ้นจากหนี้ดังกล่าวแล้วนั้น แต่เมื่อภายหลังลูกหนี้หลุดพ้นจากภาวะล้มละลายแล้ว ลูกหนี้ได้ทำหนังสือฉบับลงวันที่ 24 เมษายน 2542 ตกลงยอมชำระหนี้เงินต้นตามจำนวนในเช็คที่ลูกหนี้เป็นหนี้เจ้าหนี้อยู่จริงคืนให้แก่เจ้าหนี้ จึงเป็นนิติกรรมที่ลูกหนี้ทำขึ้นด้วยความสมัครใจและมีผลสมบูรณ์ใช้บังคับกันได้ตามกฎหมายมิใช่เป็นเอกสารรับสภาพหนี้ที่ฝ่าฝืนต่อ พ.ร.บ. ล้มละลายฯ มาตรา 24 ซึ่งเป็นโมฆะ แต่ข้อตกลงเกี่ยวกับดอกเบี้ยที่ให้ดอกเบี้ยย้อนหลังแก่เจ้าหนี้ไปถึงวันที่ลูกหนี้สั่งจ่ายเช็คมอบให้แก่เจ้าหนี้เมื่อวันที่ 24 เมษายน 2532 ซึ่งอยู่ในระหว่างที่ลูกหนี้อยู่ในภาวะล้มละลายในคดีหมายเลขแดงที่ ล.28/2529 เป็นการถือเอาเช็คที่ลูกหนี้สั่งจ่ายให้แก่เจ้าหนี้ซึ่งเป็นโมฆะมาเป็นมูลเรียกดอกเบี้ยจากลูกหนี้ข้อตกลงดอกเบี้ยส่วนนี้จึงตกเป็นโมฆะ และพฤติการณ์แห่งกรณี คู่กรณีมีเจตนาจะให้ส่วนเงินต้นที่ลูกหนี้จะใช้คืนแก่เจ้าหนี้ที่สมบูรณ์แยกออกจากข้อตกลงในเรื่องดอกเบี้ยที่เป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 173 เจ้าหนี้จึงมีสิทธิได้รับชำระหนี้เงินต้นพร้อมดอกเบี้ยระหว่างผิดนัดนับแต่วันที่ 15 สิงหาคม 2542 จนถึงวันที่ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้เด็ดขาดในคดีนี้

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้ (จำเลย) เด็ดขาดเมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2544
เจ้าหนี้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ในมูลหนี้เงินยืมและอาวัล จำนวน 100,687,500 บาท จากกองทรัพย์สินของลูกหนี้
เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์นัดตรวจคำขอรับชำระหนี้ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 104 แล้ว ปรกฏว่าลูกหนี้โต้แย้งคำขอรับชำระหนี้ของเจ้าหนี้
เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์สอบสวนแล้วเสนอความเห็นว่าควรยกคำขอรับชำระหนี้ของเจ้าหนี้เสียทั้งสิ้นตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 107 (1)
ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งอนุญาตให้เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้เต็มจำนวน
เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์และลูกหนี้อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ยกคำขอรับชำระหนี้จของเจ้าหนี้ ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลให้เป็นพับ
เจ้าหนี้ฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีล้มละลายวินิจฉัยว่า “..ปัญหาตามฎีกาของเจ้าหนี้ที่ว่า เจ้าหนี้มีสิทธิได้ชำระหนี้จากกองทรัพย์สินของลูกหนี้หรือไม่ เพียงใด เห็นว่า แม้เจ้าหนี้ขอรับชำระหนี้ในมูลหนี้เงินยืมและอาวัล แต่เจ้าหนี้ได้ให้การสอบสวนถึงที่มาในเรื่องหนี้สินดังกล่าวตลอดจนอ้างส่งหลักฐานประกอบหนี้ที่ขอรับชำระหนี้ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ ซึ่งตามทางสอบสวนของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้ความว่า หนี้ที่เจ้าหนี้ขอรับชำระหนี้มีหนังสือเอกสารหมาย จ.4 ในสำนวนคำขอรับชำระหนี้ของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เป็นหลักฐานซึ่งลูกหนี้ได้ทำไว้ให้แก่เจ้าหนี้เมื่อวันที่ 24 เมษายน 2542 มีข้อความว่า ตามที่เจ้าหนี้ได้รับภาระใช้หนี้แทนลูกหนี้นั้น ลูกหนี้ยินยอมชำระหนี้คืนให้เจ้าหนี้เป็นเงินต้นจำนวน 22,750,000 บาท ตามเช็คหมายเลขที่ 2499xxx ธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) สาขาราชดำเนิน พร้อมทั้งดอกเบี้ยที่เจ้าหนี้ได้จ่ายแทนให้อัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับจากวันที่ 24 เมษายน 2532 จนกว่าจะชำระเสร็จ ดอกเบี้ยที่ลูกหนี้จะชำระคืนจนถึงวันที่ 24 เมษายน 2542 เป็นเงิน 72,250,000 บาท โดยลูกหนี้จะชำระหนี้ทั้งหมดให้เสร็จสิ้นภายในวันที่ 15 สิงหาคม 2542 และลงลายมือชื่อของลูกหนี้ไว้เอกสารดังกล่าวลูกหนี้ได้ทำขึ้นภายหลังเมื่อลูกหนี้หลุดพ้นจากภาวะล้มละลายในคดีล้มละลายหมายเลขแดงที่ 28/2529 ของศาลจังหวัดนนทบุรี เมื่อวันที่ 27 เมษายน 2533 แล้ว เนื่องจากศาลมีคำสั่งเห็นชอบด้วยการประนอมหนี้ก่อนล้มละลายของลูกหนี้ แม้ตามทางสอบสวนของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้ความว่า หนี้เงินต้นตามจำนวนในเช็ค 22,750,000 บาท ดังกล่าวมีมูลหนี้มาจากเจ้าหนี้ซึ่งมีความผูกพันที่จะต้องชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้ของลูกหนี้และได้ชำระหนี้ดังกล่าวแทนลูกหนี้ไปก่อนวันที่ลูกหนี้ถูกศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดในคดีล้มละลายหมายเลขแดงที่ ล.28/2529 ของศาลจังหวัดนนทบุรี และเจ้าหนี้มิได้นำหนี้ดังกล่าวไปขอรับชำระหนี้ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ จนกระทั่งศาลจังหวัดนนทบุรีมีคำสั่งเห็นชอบด้วยการประนอมหนี้ก่อนล้มละลายของลูกหนี้ ซึ่งการประนอมหนี้ดังกล่าวผูกมัดเจ้าหนี้ทั้งหมดในเรื่องหนี้ซึ่งอาจขอรับชำระได้ แต่ก็มีผลผูกพันหนี้เดิมของเจ้าหนี้ที่ได้ชำระหนี้แทนลูกหนี้นั้นและมีผลให้ลูกหนี้หลุดพ้นจากหนี้ดังกล่าวเท่านั้น แต่เมื่อภายหลังลูกหนี้หลุดพ้นจากภาวะล้มละลายแล้ว ลูกหนี้ได้ทำหนังสือเอกสารหมาย จ.4 ดังกล่าวให้แก่เจ้าหนี้ โดยตกลงจะยอมชำระหนี้เงินต้นจำนวนในเช็ค 22,750,000 บาท ที่ลูกหนี้เป็นหนี้เจ้าหนี้อยู่จริงและลูกหนี้ยังมิได้ชำระคืนให้แก่เจ้าหนี้หนังสือเอกสารหมาย จ.4 จึงเป็นนิติกรรมที่ลูกหนี้ทำขึ้นด้วยความสมัครใจมุ่งโดยตรงต่อการผูกนิติสัมพันธ์กับเจ้าหนี้ว่าจะใช้เงินคืนแก่เจ้าหนี้และมีผลสมบูรณ์ใช้บังคับกันได้ตามกฎหมาย มิใช่เป็นเอกสารรับสภาพหนี้ตามเช็คธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) สาขาราชดำเนิน ที่ลูกหนี้สั่งจ่ายมอบให้แก่เจ้าหนี้ในระหว่างที่ลูกหนี้ยังอยู่ในภาวะล้มละลายอันเป็นการกระทำเกี่ยวกับกิจการและทรัพย์สินของลูกหนี้ที่ฝ่าฝืนต่อพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 24 ซึ่งตกเป็นโมฆะ ดังความเห็นศาลอุทธรณ์ไม่ แต่ข้อตกลงเกี่ยวกับดอกเบี้ยที่ลูกหนี้จะชำระให้แก่เจ้าหนี้อัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับจากวันที่ 24 เมษายน 2532 จนกว่าจะชำระเสร็จ ตามเอกสารหมาย จ.4 ดังกล่าวเป็นข้อตกลงให้ดอกเบี้ยย้อนหลังแก่เจ้าหนี้ไปถึงลูกหนี้สั่งจ่ายเช็คมอบให้แก่เจ้าหนี้เมื่อวันที่ 24 เมษายน 2532 ซึ่งอยู่ในระหว่างที่ลูกหนี้อยู่ในภาวะล้มละลาย ข้อตกลงดังกล่าวเห็นได้ชัดว่าเป็นการถือเอาเช็คที่ลูกหนี้สั่งจ่ายมอบให้แก่เจ้าหนี้ซึ่งเป็นโมฆะมาเป็นมูลเรียกดอกเบี้ยจากลูกหนี้ ข้อตกลงในเรื่องดอกเบี้ยส่วนนี้ จึงตกเป็นโมฆะเช่นกัน ตามพฤติการณ์แห่งกรณี คู่กรณีมีเจตนาจะให้ส่วนเงินต้นที่ลูกหนี้จะใช้คืนให้แก่เจ้าหนี้จำนวน 22,750,000 บาท ที่สมบูรณ์ดังกล่าวแยกออกจากข้อตกลงในเรื่องดอกเบี้ยที่เป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 173 เจ้าหนี้จึงมีสิทธิได้รับชำระหนี้เงินต้นจำนวน 22,750,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยระหว่างผิดนัดอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 15 สิงหาคม 2542 อันเป็นวันครบกำหนดตามหนังสือเอกสารหมาย จ.4 จนถึงวันที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้เด็ดขาดที่ศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษายกคำขอรับชำระหนี้ของเจ้าหนี้เสียทั้งสิ้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของเจ้าหนี้ฟังขึ้นบางส่วน เมื่อวินิจฉัยดังนี้แล้ว ปัญหาอื่นไม่จำต้องวินิจฉัย”
พิพากษาแก้เป็นว่า อนุญาตให้เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้จำนวน 22,750,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 15 สิงหาคม 2542 จนถึงวันที่ 12 มีนาคม 2544 ซึ่งเป็นวันที่ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้เด็ดขาด ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 130 (7) นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นนี้ให้เป็นพับ

Share